“คนเฮา ขั่นตายไปบ่มีไผเฮ็ดบุญแจกข้าวหา กะสิบ่ฮู้ว่าเจ้าของได้ตายไปแล้ว”

หนึ่งในคำบอกเล่าของพระครูสถิตบูรพาภิวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดบูรพา หมู่บ้านสะพือ ที่ได้เล่าถึงการทำบุญแจกข้าว ประเพณีอันดีงามของคนภาคอีสาน เป็นการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว เพื่อไม่ให้คนตายอยู่อย่างทุกข์ทรมาณในภพภูมิอื่น

พระครูสถิตบูรพาภิวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดบูรพา หมู่บ้านสะพือ

กว่า 121 ปี หากเล่าขานถึงศึกโนนโพธิ์ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2544 ศึกที่เกิดขึ้นระหว่างทหารสยาม และกลุ่มผู้มีบุญบริเวณโนนโพธิ์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 300 คน และส่วนใหญ่เป็นผู้มีบุญ หรือผู้ที่มีความเชื่อตามหลักของพระศรีอริยเมตไตรย ตั้งตนเป็นผู้วิเศษ ที่ไม่ต้องการถูกกดขี่ อยากปลดปล่อยตนเองจากอำนาจของรัฐ 

พระครูสถิตบูรพาภิวัฒน์ เล่าย้อนไปถึงการจัดงานศพคนตายในสมัยโบราณว่า แต่ก่อนจะใช้ผ้าไหมน้อย หรือไหมเส้นเล็ก ซึ่งเป็นราชาของไหมแห่งอิสาน เนื่องจากมีความใส ความงาม จึงนำมาใช้ห่อศพเพื่อเป็นการให้เกียรติคนตาย และอีกหนึ่งอย่างคือนำมาใช้ในการห่อหนังสือธรรม นำไม้มาผ่าเป็นฐานไว้กลางบ้าน และนำศพวางไว้ด้านบน จากนั้นก็เอาผ้าไหมห่อ

สำหรับการสวดอภิธรรม ในสมัยโบราณจะไม่ใช้คำนี้ แต่จะเรียกว่าการสวดมาติกา บังสุกุล คือพระสงฆ์จะสวดมาติกาก่อนแล้วบังสุกุลต่อกันไป การสวดศพแบบโบราณ และในแบบปัจจุบันก็มีข้อแตกต่างกันอยู่มาก แบบโบราณคือ ญาติโยมจะมานิมนต์พระไปสวดกี่โมงก็ต้องไปตามเวลานั้น ตายกี่โมงก็ไปตามเวลานั้น ถ้าสวดครบสามคืนก็จะเผาศพ ช่วงบ่ายก็จะมีลูกหลานมาบวชหน้าไฟ เพื่อเป็นการให้เกียรติคนตาย และช่วงเวลาในการนำศพออกป่าก็จะเป็นช่วงเย็น กระทั่งช่วง 2 ทุ่มก็จะมีการเทศนาธรรม  ปัญญาบารมี

ตามประเพณีแล้วเมื่อมีคนตายก็จะมีการแต่งพาเวร หรือการหงายพาข้าว คือพาข้าวสำหรับอุทิศแก่ผู้ตาย ตามคำโบราณคือตายวันไหนก็แต่งพาเวรในวันนั้น นำไปวางไว้ข้างศพ ตามความเชื่อเพื่อให้ผู้ตายได้กิน และเรียกชื่อผู้ตาย 

“ถ้าจะกล่าวถึงบุญแจกข้าวถึงผู้มีบุญที่เสียชีวิตไปกว่า 121 ปีแล้ว ที่ไม่มีการทำบุญถึงพวกเขาเลย ที่ผ่านมาพวกเขาก็จะเป็นวิญญาณที่หลงทาง อาจไม่รู้ว่าตนเองตาย ไม่ได้ไปผุดไปเกิด ยังคงวนเวียนทนทุกข์ทรมานไม่จบไม่สิ้น” พระครูสถิตบูรพาภิวัฒน์ กล่าว 

เสียงจากชาวบ้านสะพือ ต่อผู้มีบุญ 

แม้ไม่สามารถระบุได้ว่าชาวบ้านสะพือนั้น มีความเกี่ยวข้องกับผีบุญอย่างไร แต่ความเกี่ยวข้องโดยตรงก็คือสถานที่เกิดเหตุ โนนโพธิ์ อาจไม่มีหลักฐานที่บ่งบอกว่าชาวบ้านเหล่านี้เป็นลูกหลานของกลุ่มผู้มีบุญ แต่ชาวบ้านเมื่อทราบว่าจะมีการทำบุญแจกข้าวถึงคนตายจากศึกโนนโพธิ์ ทุกคนก็ได้มาเตรียมงานบุญช่วยกันเสียงพูดคุยกันของเหล่าแม่ออกที่กำลังล้อมวงล้างจาน แทรกสลับกับเสียงของต้นตาลที่มีอายุกว่าร้อยปีบริเวณโนนโพธิ์ เมื่อลมพัดผ่าน

บ้านสะพือ
บริเวณโนนโพธิ์ พื้นที่ ที่เคยเป็นสถานที่สู้รบของผู้มีบุญกับเจ้าหน้าที่รัฐเมื่อ 121 ปีที่แล้ว

“ปู่กับย่าเล่าให้ฟังว่า เคยมีคนมาฆ่ากันตายที่ตรงโนนโพธิ์ บอกว่ามีการตัดคอ ยิงปืนใหญ่ แต่ไม่รู้ว่ามาฆ่ากันเพราะอะไร เล่าขานต่อกันมาว่ามีคนตายเป็นพัน หัวกะโหลกเต็มไปหมด มีคนตายเยอะขนาดนี้ ก็ดีใจที่วันที่จะมีคนทำบุญให้คนตาย ให้เขาได้ไปผุดไปเกิด” แม่แป๊ก หนึ่งในทีมงานแม่ออก เล่าขณะที่กำลังล้างจานไปด้วย

“ชาวบ้านถึงขนาดต้องขุดหลุมหลบภัยกันเลยนะ ขึ้นมาตำข้าว แล้วก็เอาลงไปกินในหลุมหลบภัยข้างล่าง” แม่นงค์ กล่าวเสริมขึ้นมาขณะที่กำลังจะยกตระกร้าจานไปเก็บ 

จิรศักดิ์ วัฒนราษฎร์ ผู้ใหญ่บ้านสะพือ หมู่ 5 หนึ่งในทีมกวาดลานวัดเพื่อเตรียมงานบุญ เล่าว่า เคยได้พูดคุยกับพระอาจารย์สถิตย์บูรพาภิวัฒน์ ซึ่งท่านเองก็มีความเห็นว่าอยากทำบุญแจกข้าวให้กับผีบุญที่ตายตรงจุดนี้เหมือนกัน ผ่านมาเป็นร้อยปี แต่ไม่มีใครเคยทำบุญให้ พอทราบว่าจะมีการทำบุญให้กับคนตายทุกคนก็มาร่วมด้วยช่วยกันเตรียมงานที่วัด 

จิรศักดิ์ วัฒนราษฎร์ ผู้ใหญ่บ้านสะพือ หมู่ 5

ไม่มีแล้วกะโหลก มีแต่กบโตเอ้บ 

ฟังจากพ่อกับแม่มาอีกที ท่านจะเตือนตลอดว่าอย่าไปตรงโนนโพธิ์ แต่ก่อนเราทำมาหากินก็คือไปขุดกุดจี่เพื่อมาทำอาหาร จะไปขุดตรงโนนโพธิ์ไม่ได้ เขาบอกกันว่ากุดจี่ตรงจุดนั้นมันอยู่กับซากศพ บางคนก็บอกว่าเจออาวุธที่เขาเคยใช้สู้รบกันในตอนนั้น มีด ดาบ พร้า บ้างก็เอาไปบูชา แต่บางคนก็นำกลับมาคืนที่เดิม เขาบอกว่าโดนเข้าฝัน ไม่รู้ว่าคนตายมากแค่ไหน รู้แค่ว่ามีคนตายที่นี่

“ทุกมื้อนี้กะบ่พ้อโครงกระดูก บ่พ้อหัวกะโหลก พ้อแต่กบเอ้บ แต่จับจั่งได๋กะจับบ่ได้” แม่นาง หนึ่งในชาวบ้านสะพือกล่าว ซึ่งกบเอ้บในภาษาลาวที่คนในภาคอิสานเรียกกันนั้น หมายถึง กบตัวใหญ่ที่เจอบ่อย ตรงโนนโพธิ์แต่ไม่สามารถจับได้ 

“ดีใจที่ได้ร่วมทำบุญถึงผีบุญ มีแต่คนเล่า มีแต่คนกล่าวถึง แต่ไม่เคยมีใครทำบุญให้ ตามความเชื่อคือเราจะได้ปลดปล่อยดวงวิญญาณพวกเขา ให้ได้รับบุญ กุศล พ้นทุกข์เสียที”

หากเทียบรุ่นอายุคนที่เล่าขานเรื่องผีบุญสืบต่อกันมานั้นคือรุ่นที่สามแล้ว เหตุการณ์สำคัญที่เคยเกิดขึ้นจะไม่ถูกลืมเลือนไปจากผู้คนหากคำบอกเล่าเหล่านี้ได้รับการบันทึก จารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์อย่างไม่บิดเบือน 

ประวัติศาสตร์ที่เหลือเพียงคำบอกเล่า

“เขากะมาตั้งทัพกันอยู่นี่ล่ะ เฮ็ดครัวเฮ็ดหยังกินยุนี่ แต่ก่อนไถนายุนี่มันสิมีถ้วยมีบ่วงคับทีบยุแถวนี่ ได้ยินแต่พ่อแต่แม่ว่า เขามาฝังยุนี่ ไห่หัวผีหล่อน” คำบอกเล่าจากพ่ออ้วน เจ้าของไร่ที่ติดกับบริเวณโนนโพธิ์ สนามรบระหว่างทหารสยามและผู้มีบุญกว่า 121 ปีที่แล้ว

พ่ออ้วน เจ้าของไร่ที่ติดกับบริเวณโนนโพธิ์

ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นครั้งสำคัญของจังหวัดอุบลราชธานีเหลือเป็นแค่เพียงคำบอกเล่าต่อกันมา จากรุ่นสู่รุ่น ไม่มีการจารึกใดๆ นอกจากนี้พระครูสถิตบูรพาภิวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดบูรพา หมู่บ้านสะพือ ยังได้เล่าอีกว่า สมัยก่อนมีการบันทึกประวัติศาสตร์ของหมู่บ้านไว้ที่วัดสิงหาญ ในรูปแบบของศิลปะเช่น ภาพจิตกรรมฝาผนัง และพระไม้ เป็นพระโบราณที่ชาวบ้านแกะสลักและนำมาถวายวัดเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ แต่หลังจากที่มีการเปลี่ยนเจ้าอาวาส ก็ได้มีการทุบอุโบสถ์หลังเก่าที่เก็บรวมรวมหลังฐานเหล่านั้นไว้ และสร้างหลังใหม่ขึ้นมา จึงทำให้หลักฐานเหล่านั้นหายไปตลอดกาล

หลักฐานที่เกี่ยวกับศึกโนนโพธิ์ที่ยังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบันนั้น เห็นจะเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถ์หลังเก่าที่วัดบูรพา บ้านสะพือ ที่ถูกวาดขึ้นใหม่จากเรื่องที่เล่าขานสืบต่อกันมา

ภาพวาดจิตรกรรมฝาผนัง บันทึกเหตุการณ์ศึกโนนโพธิ์ พ.ศ.2444