ณ เมืองกระดูกที่ถูกเลาะเนื้อออกไป

“อยากมีรถไฟฟ้านั่งเหมือนอย่างที่กรุงเทพมี” เสียงจากเด็กหญิงผู้มาจากต่างจังหวัด กับการตั้งคำถามจากสิ่งรอบตัวที่ดูเหมือนจะธรรมดา แต่สำหรับพวกเรา มันช่างเหมือนการเพ้อฝัน ในจังหวัดที่มีพื้นที่กว้างขวางแต่ความรู้สึกคับแคบ ไม่หวือหวา ไม่วุ่นวาย หาความสุขได้จากอะไรง่ายๆ ที่ไม่ได้แลกมาด้วยเงิน มีท้องนาให้วิ่งเล่นตากลมเย็น อากาศบริสุทธิ์ อยู่อย่างพอเพียงพึ่งพาตนตามคำของคนเมืองกรุงเขานิยาม คิดแบบนี้สิ…เพ้อฝันยิ่งกว่าคนต่างจังหวัดอยากได้ความเจริญ

ทำไมประเทศไทยถึงดูเจริญอยู่แค่ที่เดียว คือ เมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร ทั้งที่คนไทยเสียภาษีทั่วทั้งประเทศ แต่สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ กลับไม่เท่าเทียมกัน ในที่นี้ความเจริญไม่ได้หมายถึงการที่กรุงเทพฯ มีรถไฟฟ้า มีตัวเลือกในการเดินทางเยอะกว่าผู้คนต่างจังหวัดเสียอย่างเดียว แต่ความเจริญในที่นี้ยังหมายถึง สถานที่ที่เป็นอาหารสมอง เช่น สวนสาธารณะ สถานที่รวมงานศิลปะ และงานเทศกาลต่างๆ หลากหลายอย่างที่หาไม่ได้จากต่างจังหวัด

ประเทศไทยเมื่อหนึ่งร้อยห้าสิบกว่าปีที่ผ่านมา ก็ไม่ได้แตกต่างจากปัจจุบันมากนัก เห็นได้ชัดว่ายังเป็นประเทศที่เอาเงินภาษีของประชาชนทั่วประเทศไปบำเรอให้เฉพาะคนบางกลุ่ม ย้อนไปในช่วงการปกครองของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ รัชกาลที่ 5 ช่วงนั้นมีการเปลี่ยนแปลงการเก็บภาษี โดยเปลี่ยนแปลงจากการเก็บภาษีแบบผลผลิตมาเป็นเงิน เพิ่มจำนวนภาษี ยกเลิกการเกณฑ์แรงงานไพร่ แต่ใช้การเก็บภาษี 4 บาทแทน

การเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลกระทบกับราษฎรเป็นอย่างมาก เพราะการกล่าวอ้างว่าต้องการเก็บภาษีเข้ากองกลางให้ได้มากที่สุด เพื่อที่ไทยจะได้กลายเป็นรัฐสมัยใหม่ จึงต้องยอมจ่าย การกระทำเช่นนี้ มิต่างจากการรีดเลือดกับปู การสวมบทบาทเป็นเจ้าอาณานิคมของรัฐตามหัวเมืองต่างๆ ทั้งเมืองเหนือและดินแดนอีสาน ใต้ก็เช่นกัน กอบโกยเป็นเจ้าอาณานิคมให้ได้มากเพียงใด ก็จะได้เงินเข้ากองกลางมากเพียงนั้น

แต่ทว่าหัวเมืองต่างๆ เหล่านั้นได้อะไรจากการเสียภาษีรีดเลือดกับปูนี้ “แม้ภาษีชนิดต่างๆ ได้เรียกเก็บจากชาวเมือง ก็ไม่มีอะไรเป็นประโยชน์แก่เมืองเลย เงินถูกไหลลงท่อส่งไปยังกรุงเทพฯ หมด การปกครองแบบใหม่จะเริ่มใช้มากกว่า ๒ ปีแล้วก็ตาม ก็ยังไม่มีการกระทำใดๆ ในรูปงานสารธารณประโยชน์เลย เงินในพื้นบ้านก็มีน้อย ยากจนลงทุกปี” ประโยคของกงสุลฝรั่งเศสที่วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลสยามในช่วงนั้น

ถือเป็นการตอกย้ำว่าภาษีมิได้คืนประโยชน์แก่ผู้เสียภาษี ความคับแค้นใจต่อสยามจึงนำมาสู่การต่อต้านสยามครั้งแรกในหัวเมืองเหนือ นั่นคือเหตุการณ์กบฏพญาผาบ (พญาปราบสงคราม) กบฏเงี้ยว หัวเมืองทางภาคอีสานคือ กบฏผู้มีบุญหรือกบฏผีบุญ และกบฏแขกเจ็ดหัวเมืองของทางภาคใต้ เหตุการณ์เหล่านี้ล้วนเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากช่วงการปฏิรูปการปกครองแบบใหม่ ที่เจ้าหัวเมืองต่างๆ เริ่มสูญเสียอำนาจปกครองเมืองของตนไปให้รัฐส่วนกลาง

ยิ่งไปกว่านั้นคือเสียอำนาจทางเศรษฐกิจ จากที่เคยเป็นเมืองที่มีผลผลิต สามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องใช้เงิน กลับกลายเป็นว่าวันนึงต้องเอาผลผลิตไปแลกเงินเพื่อส่งภาษีเข้าเมืองกรุง และยังมีการแย่งที่ทำกินอีกด้วย จากที่ไม่มีอยู่แล้ว ก็ยิ่งลำบากและถูกกดขี่กว่าเดิม จึงเกิดความแนวคิดเรียกร้องให้คนเท่ากัน ไม่มีเจ้า ไม่มีผู้ที่เรียกตนว่าเป็นกษัตริย์ แต่สุดท้ายรัฐสยามก็ใช้เครื่องมืออย่างพระสงฆ์ที่เป็นเหมือนที่พึ่งทางจิตใจของผู้คนในสมัยนั้น สร้างความเชื่อ ความศรัทธาว่ากษัตริย์นั้นเป็นผู้ที่ต้องเคารพ ไปพร้อมๆ กับการรักชาติ ศาสนา แม้ผู้ที่เคารพรักจะไม่เคยรักก็ตาม

ต้นตอของปัญหาถูกสะสมมานานหลายปี คงเป็นความเคยชินไปเสียแล้วว่าเงินของเรา ต้องให้เขาใช้ หรือทางแก้ไข อาจจะต้องเริ่มจากการที่รัฐมอบอำนาจให้ผู้ปกครองท้องถิ่นเสียบ้าง ภาษีที่เก็บได้จากจังหวัดนั้น พัฒนาจังหวัดนั้น นี่คือสิ่งที่ควรจะทำตั้งนานแล้วหรือเปล่า ไม่ใช่ต้องรองบประมาณจากส่วนกลาง กว่าจะถึง เมื่อไหร่จะได้พัฒนา หรือว่าประเทศไทยควรยุติการมีอยู่ของสถาบันกษัตริย์ นอกจากจะสื่อถึงความล้าหลังคนไม่เท่ากันแล้ว หนำซ้ำ…เจ็บปวดนักกับเด็กน้อยตาดำๆ ต้องจำนนยอมให้ ‘เขา’ เอางบการศึกษาไปบรรณาการความฟุ่มเฟือยของตนเอง

อ่านมาถึงตรงนี้แล้วช่างน่าประหลาดใจที่เมื่อก่อนของสยามกับปัจจุบันของประเทศไทย คงเปลี่ยนไปแค่ชื่อเรียก แต่หลายๆ อย่างราวกับถูกหยุดไว้เมื่อกว่าร้อยปีที่แล้ว ทั้งความคิด ความเชื่อ และการปกครอง กับการที่คนทั้งประเทศต้องดิ้นรนทำงานหนักเพื่อเอาเงินอันน้อยนิดที่มี แบ่งไปจ่ายภาษีให้รัฐ และเหลือเก็บไม่มาก คนรวยจ่ายภาษีมาก หากแต่เทียบกับรายได้ต่อปี ก็นับว่าพอกิน แต่ทว่าคนจนจ่ายภาษีเท่าคนรวย แต่รายได้ต่อปี สามปีรวมกันยังไม่เท่ารายได้ของคนรวย

หากเมืองหลวงวุ่นวายไม่น่าอยู่ แล้วเหตุใดผู้คนถึงหลั่งไหลเข้าเมืองหลวงกันนัก เพราะที่นั่นเจริญ มิได้มีแค่สิ่งอำนวยความสะดวก แต่ยังมีงานและโอกาสในการทำงานมากกว่า ปัจจุบันก็ทบทวนความคิดได้จากการมองเห็น พูดคุย คนส่วนใหญ่จากที่เคยต้องการเข้าเมืองหลวงเพื่อหางานทำ กลายเป็นต้องการออกไปขายแรงงานในต่างประเทศ เพราะไม่ว่าจะทำงานหลังขดหลังงอมากเพียงใด ค่าตอบแทนก็ไม่คุ้ม สวัสดิการของประเทศก็ไม่ตอบโจทย์ เสียภาษี แล้วยังต้องเสียค่าคุณภาพชีวิตเพิ่ม มันควรเป็นแบบนั้นหรือ เห็นทีประเทศนี้คงเหมาะกับเป็นรังของครุฑและนกแร้ง

เด็กหญิงคร่ำครวญในขณะที่นั่งนิ่งอยู่บนรถสองแถวที่อัดแน่นไปด้วยผู้คน บางคนนั่งเบียดกันอยู่ข้างๆ ในระดับสายตาบางคนต้องยืนจับราวทั้งที่รถกระบะมุงหลังคาแบบนี้ไม่ควรยืนขึ้นหรือยืนโหนเสียด้วยซ้ำ การตื่นเช้าเพื่อที่จะได้นั่งสบาย ดูไม่ใช่สิ่งที่คิดเสียเท่าไหร่ หากจะใช้บริการอะไรของสาธารณะ จะต้องตื่นเช้าเพื่อมานั่งรอ ไม่เว้นแม้แต่เรื่องเร่งด่วนอย่างการรักษาโรคภัย จากเช้าตรู่จวบจนตะวันตรงหัว ท้องไส้ต้องการอาหาร รถโดยสารสาธารณะก็ยังไม่ถึงที่หมายเสียที

อ้างอิง