สุรินทร์ 3 เผ่า มนต์เสน่ห์อันน่าหลงใหลอีกอย่างหนึ่งของจังหวัดเล็กๆ ในแถบบริเวณอีสานใต้ ที่ไม่ได้มีชื่อเสียงเพียงแค่การเป็นหมู่บ้านเลี้ยงช้าง แต่เพราะด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรมและชนชาติพันธุ์ ประชากรจังหวัดสุรินทร์จึงสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ชนเผ่าใหญ่ๆ ได้แก่ เขมร กูยหรือส่วย และลาว อาศัยอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน ถึงแม้จะมีความต่าง แต่ทั้ง 3 ชนเผ่ากลับมีประวัติศาสตร์ร่วมกันยาวนานับร้อยปี และวันนี้ ‘เดอะลาวเด้อ’ จะพาทุกคนมารู้จักกับจังหวัดเล็กๆ นี้ให้มากยิ่งขึ้น

ประวัติศาสตร์จังหวัดสุรินทร์

นับตั้งแต่หลวงสุรินทร์ภักดี (เชียงปุม) ซึ่งเดิมเป็นหัวหน้าหมู่บ้านเมืองที (หนึ่งในหมู่บ้านของชาวกูยที่อพยพย้ายถิ่นฐานมาจากเมืองอัตตะปือ และเมืองแสนปาง ประเทศลาว) ได้ขอให้เจ้าเมืองพิมายกราบบังคมทูลขอพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จากพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยามรินทร์ ย้ายหมู่บ้านจากบ้านเมืองที มาตั้งอยู่ที่บริเวณบ้านคูประทาย เนื่องจากเห็นว่าบริเวณดังกล่าวมีกำแพงค่ายคูน้ำล้อมรอบ 2 ชั้น มีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การตั้งถิ่นฐานและเพาะปลูก

ต่อมาหลวงสุรินทร์ภักดีได้กระทำคุณงามความดีจนเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยามรินทร์ จึงได้รับการเลื่อนบรรดาศักดิ์ให้เป็น “พระสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง” และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านคูประทายเป็น “เมืองประทายสมันต์” ก่อนจะได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเป็น “เมืองสุรินทร์” อีกครั้ง ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อปี พ.ศ. 2329 ซึ่งจะเห็นได้ว่า ชนพื้นเมืองที่มาอาศัยอยู่ในจังหวัดสุรินทร์กลุ่มแรกคือชาวกูย ก่อนที่ชาวเขมรจากประเทศกัมพูชาและชาวลาวจะย้ายถิ่นฐานเข้ามาอาศัยอยู่ในภายหลัง

รูปปั้นช้างสุรินทร์
รูปปั้นช้าง สัญลักษณ์ประจำจังหวัดสุรินทร์

ปัจจุบันจังหวัดสุรินทร์สามารถแบ่งออกได้เป็น 17 อำเภอ มีประชากรอาศัยอยู่ทั้งหมดประมาณ 1.3 ล้านคน บนพื้นที่กว่า 8,124 ตารางกิโลเมตร ซึ่งหากใครที่ได้เคยมาเยือนจังหวัดนี้ คงจะได้เห็นหลักฐานทางวัฒนธรรมที่ยังหลงเหลืออยู่ ไม่ว่าจะเป็นโบราณสถานอย่างปราสาทต่างๆ เช่น ปราสาทตาเมือนธม อำเภอพนมดงรัก ปราสาทบ้านพลวง อำเภอปราสาท และปราสาทศีขรภูมิ อำเภอศีขรภูมิ เป็นต้น

ในด้านการขมวดเอาความเชื่อมาใช้ในการดำเนินชีวิต นับเป็นอีกหนึ่งความสวยงามที่ชวนให้หลงใหล การจุดบั้งไฟหรือแห่นางแมวเพื่อขอฝนในชนเผ่าลาว หรือรำแม่มด เพื่อรักษาอาการป่วยในชนเผ่าเขมรและกูย โดยประกอบเสียงเพลงของร่างทรง เพื่อเจรจาถึงความต้องการของภูตผีหรือเทพที่คอยดูแลมนุษย์ ตามความเชื่อที่ว่าหากมอบสิ่งของตามที่ตกลงกันไว้ อาการป่วยก็จะหายไปในที่สุด วัฒนธรรมร่วมที่มีความคล้ายคลึงกันของทั้ง 2 ชนเผ่า จะต่างก็เพียงแค่ชื่อเรียก มะม็วด คือชื่อทางฝั่งเขมร และแกลมอ คือชื่อทางฝั่งกูย

นอกจากนี้ ในแต่ละชนเผ่าล้วนแต่มีภาษาที่ใช้สื่อสารเป็นของตนเอง ลาว ภาษาที่หลายคนคงมีความคุ้นหูมากที่สุด เพราะพื้นที่จังหวัดตั้งอยู่ในภาคอีสานที่คนส่วนใหญ่ใช้กัน แต่ต่างออกไปจากเขมรและกูยโดยสิ้นเชิง ที่หากไม่เคยได้ยินมาก่อน อาจทำให้ผู้ฟังเกิดความไม่เข้าใจความหมาย เนื่องจากไม่สามารถเดาได้อย่างในภาษาลาว ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ล้วนแต่เป็นมนต์เสน่ห์ทางด้านวัฒนธรรม ที่สะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าของการเป็นคนชนพื้นเมืองเสมอ

อ้างอิง

ความเป็นมาของจังหวัดสุรินทร์

ประวัติศาสตร์ 3 เผ่า

จำนวนประชากรจังหวัดสุรินทร์