ถ้าคุณเห็นรถกระบะกำลังขนขวดพลาสติก เศษเหล็กหรือกองกระดาษขนาดใหญ่ วิ่งอยู่บนถนนบริเวณจังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ หรือจังหวัดใกล้เคียง อนุมานได้เลยว่า พวกเขากำลังมุ่งหน้าไปหมู่บ้านนาแก้ว แหล่งค้าของเก่าที่อาจเรียกได้ว่า “ใหญ่ที่สุดในอีสานใต้”

บ้านนาแก้ว ตั้งอยู่ในตำบลบ้านกอก อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี 

หากขับรถออกจากตัวเมืองอุบลฯ ตรงยาวราวหนึ่งชั่วโมงตามถนนแจ้งสนิท ก่อนเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ชุมชนราวสามกิโลเมตร จะถูกขนาบด้วยทุ่งนาและร้านรับซื้อของเก่าขนาดเล็กไปจนถึงโรงงานขนาดใหญ่ ร้านเหล่านี้รับซื้อของเก่า “ทุกประเภท” ตั้งแต่ขวดพลาสติก ท่อน้ำ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องยนต์ ไปจนถึง เศษเหล็ก ขวดแก้ว และกระดาษ

คนในชุมชนให้ข้อมูลว่า เดิมอาชีพหลักของบ้านนาแก้ว คือ การทำนาและเกษตรกรรม แต่ย้อนไปเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว เริ่มมีผู้ประกอบการรายเล็กนำร่องด้วยการใช้จักรยานปั่นหาซื้อนุ่นเก่า เศษกระดาษ และของเก่าอื่นๆ เพื่อมาจำแนกก่อนขายให้กับโรงงานในตัวเมืองอุบลฯ 

จากเคยทำนาผันเป็นเถ้าแก่

เมื่อธุรกิจสามารถทำกำไรได้มากขึ้น ต่อมาจึงพัฒนาจากโรงงานขนาดเล็กเป็นโรงงานขนาดใหญ่ ส่งขายโดยตรงกับโรงงานในแถบกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทำให้คนในชุมชนเริ่มมองเห็นช่องทางและทำต่อกันมาจนกลายเป็นอาชีพหลักของชุมชนในปัจจุบัน  

“แต่ก่อนทำกันแค่ 1-2 คน มีร้านใหญ่อยู่ 2 ร้าน พอคนอื่นเห็นก็เริ่มทำ บางบ้านมีรถไปรับซื้อจากต่างอำเภอ ต่างจังหวัด แต่ส่วนมากก็มีคนมาขายที่นี่ มีมาจากทุกที่ ทั้งจากอำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดยโสธร บางทีเราก็เอารถหกล้อไปขนมา ได้มาครั้งหนึ่งก็ 4-5 ตัน” หนึ่งในเจ้าของร้านรับซื้อของเก่าในบ้านนาแก้ว ที่ไม่สะดวกเปิดเผยชื่อจริงให้ข้อมูล 

เจ้าของร้านรับซื้อของเก่า เล่าอีกว่า ก่อนหน้านี้ประกอบอาชีพค้าขายและทำร้านอาหารเล็กๆ ในชุมชนคู่ไปกับการทำนา ก่อนจะหันมารับจ้างในร้านรับซื้อของเก่าและตัดสินใจทำร้านของตนเองในที่สุด ปัจจุบันเธอมีลูกจ้าง 5 คน และทำเงินได้ต่อเดือนมากกว่าหนึ่งแสนบาท

“มาทำอันนี้มีรายได้ทุกเดือน แต่ทำนาได้ปีละครั้ง ตอนนี้ก็จ้างคนมาช่วยชั่งของ รื้อของ เพราะบางทีซื้ออลูมีเนียมติดเหล็ก ก็ต้องรื้อทำให้สะอาด ส่งขายที่สมุทรปราการ กรุงเทพฯ นครปฐม แล้วแต่ประเภท แล้วแต่ช่วง มีทั้งเศษกระป๋อง อลูมีเนียมบาง อลูมิเนียมหนา รับไปแล้วเขาก็เอาไปหลอม”เธอเล่า  

เครื่องจักรที่ใช้สำหรับอัดกระป๋องให้ง่ายสำหรับการเคลื่อนย้าย 

ค้าของเก่าเสริมเศรษฐกิจชุมชน 

การค้าของเก่าช่วยเสริมเศรษกิจและสร้างงานให้กับคนในชุมชน ลูกจ้างส่วนใหญ่จึงเป็นคนในชุมชน ซึ่งได้รับค่าแรงอย่างต่ำวันละ 400-500 บาท หรืออาจมากกว่านั้นตามประสบการณ์ ควบคู่ไปกับการทำนา ขณะเดียวกันก็จ้างงานเยาวชนให้มีกิจกรรมและรายได้เสริมช่วงปิดเทอมอีกด้วย  

ระหว่างที่ทีมงานพูดคุยกับเอ ก็เห็นหนึ่งในลูกจ้างทำงานอย่างตั้งใจ แม้มือจะเปื้อนคราบน้ำมันเครื่อง แต่เขากลับทำไปพร้อมกับคลอเพลงและสีหน้าที่สดใส 

เขาเล่าว่า อาชีพนี้ทำให้ไม่ต้องดิ้นรนออกไปทำงานต่างถิ่น ได้อยู่ใกล้บ้าน ใกล้ครอบครัว 

“เลิกงานประมาณ 5 โมงก็ขับรถมอเตอร์ไซต์กลับบ้าน แต่ก่อนผมก็ทำนา แต่พอชุมชนเปลี่ยนมารับซื้อของเก่ากันเยอะ ผมก็มาทำงานนี้ด้วย ได้เงินทุกวันแต่ละวันก็เข้างานตอน 8 โมง ผมทำหน้าที่รื้อของหรือถ้ามีคนนำของมาขายก็ก็เอาไปชั่ง จะเอาของไปขายก็ขนขึ้นรถแล้วก็ขนลงไปขาย ผมเป็นคนบ้านนาแก้วอยู่มาตั้งแต่เกิด อยู่แถวนี้ก็อยู่กับพ่อแม่ ครอบครัว”เขากล่าวด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม 

ลูกจ้างในร้านรับซื้อของเก่า จ.อุบลราชธานี กำลังคัดแยกขยะ 

“ขยะ” สำหรับคนในชุมชนนาแก้ว จึงกลายเป็นทองคำที่สร้างอาชีพ นำรายได้เข้าสู่ชุมชน อาชีพรับซื้อของเก่าในชุมชนจึงเติบโตขึ้นทุกปี  

ธุรกิจรับซื้อของเก่าไม่เพียงเติบโตที่บ้านนาแก้วเท่านั้น ปัจจุบันมีกระแสการแยกและรีไซเคิลขยะมากขึ้นทั่วประเทศ เช่นเดียวกับมูลค่าธุรกิจขยะรีไซเคิลที่เติบโตขึ้นทำให้เมื่อปี 2564 มีการจัดตั้งธุรกิจรีไซเคิลเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 18.96% 

เปรม พฤกษ์ทยานนท์ เจ้าของเพจลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป อธิบายว่า การขยายตัวของธุรกิจรับซื้อของเก่า สามารถสะท้อนได้สองอย่างหลักๆ คือ ขยะในประเทศมีจำนวนมากขึ้นและคนตกงานมากขึ้น

“อาชีพนี้มันทำง่าย ต้นทุนในการประกอบอาชีพต่ำหรืออาจเรียกได้ว่า ไม่ต้องใช้เงินเลย แต่มันเป็นอาชีพรายวันก็อาจสื่อได้ว่า มีคนตกงานมากขึ้น หรืออีกทาง คือ ปริมาณขยะมีมากขึ้น คนก็เห็นช่องทางนี้ ทำให้มีการรับซื้อของเก่ามากขึ้น”

หลังโควิดปริมาณขยะลดลง 

กรมควบคุมมลพิษพบว่า เมื่อปี 2558 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพิ่มขึ้นทุกปี มีปริมาณขยะทั้งหมด 7.18 ล้านตัน ปี 2560 เพิ่มขึ้นเป็น 7.31 ล้านตัน และเมื่อปี 2561 เป็น 7.78 ล้านตัน ก่อนจะลดลงมาอยู่ที่ 6.17 ล้านตัน เมื่อปี 2564 เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ที่มีนักท่องเที่ยวลดลง รวมถึงการปิดประเทศและการจำกัดการเดินทางในประเทศ 

เปรม อธิบายเพิ่มเติมว่า เดิมอาชีพรับซื้อของเก่าเป็นอาชีพประจำถิ่น ขณะที่ร้านรับซื้อจะอยู่ในเขตเมืองกับเขตอุตสาหกรรม แต่จำนวนขยะที่เพิ่มขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในภูมิภาคเติบโตขึ้น ก่อนขยะเหล่านี้จะถูกนำส่งขายในโรงงานที่กระจายในภาคกลางและภาคตะวันออกตามประเภทของขยะ 

เมื่ออาชีพแยกขยะสร้างฝุ่น-ควัน 

แม้ขยะจะช่วยสร้างอาชีพและพัฒนามาสู่ชุมชน แต่ก็นำปัญหาสิ่งแวดล้อมมาสู่ชุมชน 

คนในชุมชนที่ไม่ขอเปิดเผยชื่อบอกว่า มีมลภาวะทางอากาศ เช่น ฝุ่น ควัน เป็นต้น ซึ่งมาจากการคัดแยกที่ไม่ถูกต้องและขยะบางส่วนก็ไม่สามารถทำลายก็ต้องนำไปฝังกลบ 

กรมควบคุมมลพิษระบุว่า เมื่อปี 2564 ในภาคอีสานมีสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยไม่ถูกต้องถึง 827 แห่ง ถูกต้องเพียง 35 แห่ง

ขณะเดียวกันก็มีข้อมูลว่า ระหว่างปี 2559 – 2561 พบการนำเข้าขยะพลาสติกในอาเซียนเติบโตถึงร้อยละ 171 จาก 836,529 ตันเป็น 2,265,962 ตัน เทียบเท่ากับตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุตประมาณ 423,544 ใบ

ข้อมูลจากเว็บไซต์มูลนิธิบูรณะนิเวศระบุว่า เมื่อปี 2561 ไทยนำเข้าขยะพลาสติกจากญี่ปุ่นสูงสุดเป็นอันดับ 1 จำนวน 173,371 ตัน ฮ่องกง 99,932 ตัน และสหรัฐอเมริกา 84,462 ตัน 

กังวลต่างชาติขนขยะเข้าไทย 

ประเด็นนี้อยู่ในความสนใจของ เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศที่ให้ข้อมูลว่า ในภาคอีสาน ผู้ประกอบการรายย่อยเริ่มทำอาชีพคัดแยกขยะตั้งแต่ปี 2548-2549 จากมีเพียงรายเดียวก็ขยายขึ้นเรื่อยๆ ถือเป็นอาชีพเสริมจากฤดูกาลเพาะปลูก 

เธอบอกอีกว่า จากนั้นการรับซื้อของเก่าภายในประเทศก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ประกอบการ กระทั่งมีคนแนะช่องทางการนำเข้าขยะจากต่างประเทศผ่านท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี 

“ความจริงมีกฎหมายห้ามนำเข้าขยะอยู่แล้วและมีการบังคับไม่ให้นำเข้าขยะจากต่างประเทศอย่างจริงจังเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีการลักลอบอยู่ ซึ่งกังวลว่า จะมีการนำเข้ามาเรื่อยๆ จึงอยากฝากไปยังหน่วยงานที่กำกับดูแลว่า ไม่ควรปล่อยให้มีการนำเข้าขยะพลาสติก ขยะอิเล็คทรอนิคส์ และขยะอุตสาหกรรมอันตรายเข้ามาประเทศไทย เพราะจะเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม” ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าว 

แม้คนในหมู่บ้านนาแก้วและหมู่บ้านอื่นๆ ใกล้เคียงจะเปลี่ยนสามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัวและชุมชน พร้อมทั้งทำให้สิ่งที่คนมองว่า เป็น “ภาระ” ให้เป็น “ทองคำ” แต่พวกเขาก็เห็นตรงกันว่า แม้จะมีความเจริญแต่ก็ต้องมีความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมที่จำต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งโรงงาน ผู้คนในชุมชน ไปจนถึงภาครัฐ

หมายเหตุ : สารคดีชิ้นนี้อยู่ในโครงการ Journalism that Builds Bridges (JBB) สนับสนุนโดย สถานทูตเนเธอร์แลนด์ สถานทูตฟินแลนด์ สถานทูตนิวซีแลนด์ UNDP และ UNESCO