ภาพของหญิงสาวที่หลับใหลคล้ายล่องลอยอยู่ในความฝัน ท่ามกลางท้องฟ้าตอนกลางคืน มีหมู่นกนานาชนิดบินอยู่เหนือศรีษะ ภาพนี้ถูกวาดโดย AI

จะเป็นยังไงถ้าเราสามารถควบคุมเรื่องราวในความฝันของตัวเอง โดยที่รู้ตัวว่าฝันอยู่ และความฝันนั้นก็ยังนำไปสู่การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของเราได้อีกด้วย

มีน้อยคนที่สามารถจำความฝันได้เป๊ะๆ 100% แม้จะเป็นความฝันสั้นๆ ก็ตาม เช่น อยู่ในบรรยากาศทั่วๆ ไป สถานที่คุ้นเคย พูดคุยกับคนในฝัน ใครหลายๆ คนก็คงคิดว่ามันก็แค่ฝันธรรมดาเรื่องหนึ่ง แต่มีความฝันประเภทหนึ่ง ที่ผู้ฝันส่วนใหญ่รู้ตัวว่ากำลังหลับ และกำลังฝัน จนสามารถนำมาเล่าในตอนตื่นได้เกือบจะทั้งหมด นั่นก็คือความฝันแบบ  “Lucid Dream”

เดิมที ตั้งแต่โบราณกาลมา ความฝันของคนเรา มักถูกมองในแง่เรื่องเหนือธรรมชาติ บ้างก็มองว่าเป็นนิมิต เป็นการดลบันดาลใจจากเทพยดาหรือภูตผีปิศาจ จนกระทั่งมีการมาถึงของวิทยาศาสตร์ ที่วิเคราะห์ทุกสิ่งทุกอย่างบนพื้นฐานของหลักการและเหตุผล ความฝันจึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาวิเคราะห์เช่นกัน

การวิเคราะห์ศึกษาเกี่ยวกับความฝันขึ้นมาอยู่ในจุดพีคในยุคของ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ บิดาแห่งทฤษฎีจิตวิเคราะห์ชาวออสเตรียเชื้อสายยิว เขาเขื่อว่าความฝันคือการแสดงออกของจิตใต้สำนึก ของคนๆ หนึ่ง มีความต้องการที่จะทำอะไร แต่ความต้องการนั้นไม่ได้รับการตอบสนองหรือไม่อาจทำสิ่งนั้นได้ในชีวิตจริง 

ความต้องการนั้นก็ยังไม่ได้หายไปไหน แต่มันจะถูกเก็บรวบรวมไว้ในจิตใต้สำนึก และแสดงออกมาในรูปแบบของจินตนาการในความฝันขณะนอนหลับแทน “เราจึงมักจะฝันเรื่องที่ไม่อาจเกิดขึ้นจริงได้”

แต่ทฤษฎีนี้ก็ถูกนักจิตวิเคราะห์รุ่นหลังมองว่าไม่ถูกต้องทั้งหมด เช่น คาร์ล ยุง (Carl Jung) ลูกศิษย์ของฟรอยด์เอง หรือ อัลเฟรด แอดเลอร์ (Alfred Adler) ลูกศิษย์อีกคนของฟรอยด์ ที่มองว่าความฝัน เป็นความต่อเนื่องของอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของคนตอนตื่นที่กลายไปเป็นความฝันต่อตอนนอนหลับมากกว่า หรือจะเป็นทฤษฎีความฝันในยุคหลังๆ ที่มองการทำงานของความฝัน ในแง่สรีรวิทยามากกว่าจะเป็นจิตใต้สำนึกว่า น่าเป็นผลจากการทำงานของสมองในการดึงเอาความทรงจำตกค้างกลับมาถ่ายทอดใหม่

ลูซิดดรีม (lucid dream) มีนิยามว่า ความฝันที่ผู้ฝัน รู้ตัว ว่าฝันอยู่เป็นศัพท์ที่เกิดขึ้นจากนายแพทย์ชาวดัตช์ชื่อ เฟร็ดเดอริก แวน อีเด็น (Frederik Van Eeden) ซึ่งเป็นผู้ศึกษาความฝันประเภทนี้เป็นคนแรก นอกจากจะรับรู้ว่าตัวเองกำลังอยู่ในความฝันแล้ว ยังสามารถมีส่วนร่วม จัดการ สร้างสรรค์ และเนรมิตสภาพแวดล้อมและเรื่องราวในความฝันที่ว่านั้นได้อีกด้วย โดยความฝันนั้นสามารถเกิดขึ้นได้อย่างสมจริงหรือแปลกประหลาดแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับสภาวะการรับรู้ของคนที่ฝันอยู่นั้นๆ

ลูซิดดรีมส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งที่เราปรารถนาให้เกิดขึ้นในความเป็นจริง (ตามหลักการของฟรอยด์) มักจะเกิดขึ้นในช่วงที่ร่างกายตกอยู่ในสภาวะหลับลึกที่สุด (R.E.M. – Rapid Eyes Movement) และมักจะเกิดขึ้นในช่วงกลางถึงปลายของความฝัน บางคนที่รู้สึกว่าตัวเองอยู่ในสภาพกึ่งหลับกึ่งตื่น หรืออาจอยู่ในสภาวะหลับหลายชั้นของการฝัน หรือเรียกง่ายๆ ว่าฝันซ้อนฝัน ผู้ฝันอาจรับรู้ว่า เรื่องราว เหตุการณ์ ผู้คน และสิ่งที่กำลังประสบพบเจออยู่นั้น มันไม่ใช่ความเป็นจริง หากแต่เป็นความฝัน 

เมื่อเรารู้ตัวว่านั่นเป็นความฝัน ผู้ฝันอาจสามารถที่จะควบคุมหรือแม้แต่เนรมิตความฝันนั้นให้เป็นดั่งที่ใจต้องการได้ แต่มันก็ได้เพียงแค่ชั่วขณะ เมื่อรู้สึกว่าฝันความฝันนั่นก็จะหายไป

ในขั้นสุดของ ลูซิดดรีม สามารถฝึกฝนกันได้ นอกจากนี้ยังมีเทคนิคหลายอย่างที่สามารถใช้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดความฝันเพื่อให้มีแนวโน้มว่าเข้าสู่ช่วงหลับลึกโดยที่ยังมีสติมากกว่าเดิม เช่น เช็กความจริง จดบันทึกความฝัน คุยกับตัวเองก่อนฝัน หรือแม้ตื่นแล้วไปนอนใหม่ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่จะประสบกับความฝันที่ชัดเจนได้ และอาจต้องใช้เวลาและการฝึกฝนเพื่อให้สำเร็จผล 

อย่างไรก็ตาม แต่สิ่งสำคัญสำหรับของการฝันอย่างรู้ตัวเลย คือการแยกแยะระหว่างความฝันกับความจริงได้ ไม่หมกมุ่นกับความฝัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้เพ้อฝันไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างสองสถานะได้ สิ่งนี้อาจนำมาซึ่งปัญหาภายหลังจนต้อง เข้ารับการปรึกษากับแพทย์ เนื่องจากเสพติดความฝันควบคุมได้ และในบางกรณี ผู้ฝันอาจหมกมุ่นอยู่กับการฝึกฝน ซึ่งอาจนำไปสู่การจัดลำดับความสำคัญของชีวิตไม่สมดุล สิ่งนี้อาจเป็นปัญหา หากผู้ฝันนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตและร่างกายได้ 

ลูซิดดรีมอาจเป็นความฝันที่สวยงาม และเป็นประสบการณ์ที่น่าประทับใจ แต่สิ่งหนึ่งที่เราควรตระหนักไว้ก็คือ นั่นเป็นเพียงแค่ความฝัน ไม่ใช่เรื่องจริง ซึ่งสิ่งที่เราทำได้ก็คือ เราสามารถนำความฝันในครั้งนี้มาใช้ประโยชน์อะไรกับชีวิตเราได้บ้าง

อ้างอิง

รู้ไหม Lucid Dream การควบคุม รู้ตัวตอนฝัน มันฝึกกันได้

Lucid Dream ในฝันฉันรู้ตัวว่าฝัน

รู้จักวิธีพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ด้วยการควบคุมความฝันในช่วง