KPOP

เมื่อมองย้อนกลับไป…เราถึงรู้ว่าเราเติบโตมากับสื่อบันเทิงและวัฒนธรรมเกาหลีอย่างไม่รู้ตัว กว่าสิบปีที่จำความได้ เด็กที่เกิดในยุค 2000s’ หรือที่ฮิตกันในชื่อ ยุค Y2K (1990-2000 ) เกิดมาพร้อมกับช่วงที่สื่อบันเทิงจากประเทศเกาหลีใต้กำลังฟีเวอร์ ประเทศไทยและเกาหลีแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันผ่านเสียงเพลงอยู่บ่อยครั้ง มีเวทีโชว์ของศิลปินทั้งไทยและเทศ เรียกได้ว่า ณ ช่วงเวลานั้น ต่อให้ใครที่ไม่อินกับเกาหลี ก็จะต้องเผลอฮัมเพลงเกาหลีออกมาบ้าง

ตลอดสิบกว่าปีผ่านมา เกาหลีก็ยังคงทำได้ดีเช่นเคย ในแง่ของการสร้างซอฟพาวเวอร์ สื่อบันเทิง อาหาร แฟชั่น และตัวบุคคล ทว่ากว่าประเทศเกาหลีจะผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากมาจนถึงปัจจุบันไม่ง่ายเลย ในช่วงเวลานั้นประเทศเกาหลีได้พยายามปลดตนเองออกจากการปกครองของรัฐบาลทหาร โดยการลงถนนประท้วงใหญ่ นำโดย ขบวนการแรงงาน นักเรียน นักศึกษา ชาวนา กลุ่มผู้มีรายได้น้อยในเขตเมือง และกลุ่มศาสนา ปฏิเสธไม่ได้ว่า สื่อมีความสำคัญอย่างมากในการนำเสนอข่าวในช่วงเวลานั้น เกาหลีจึงประสบความสำเร็จในที่สุด เนื่องจากมีบทเรียนจากการประท้วงในช่วงที่อยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่นมาแล้ว

จวบจนมาถึงปัจจุบันก็เป็นเวลาเกือบ 35 ปีแล้ว สิ่งที่เป็นข้อสังเกตได้อีกอย่างคือเกาหลีใต้อยู่ใกล้พื้นที่ประเทศมหาอำนาจอย่างรัสเซีย จีน ญี่ปุ่นและอเมริกาที่มีอำนาจฮาร์ดพาวเวอร์ค่อนข้างมาก เกาหลีใต้ถูกมองว่าด้อยกว่าเกาหลีเหนือด้วยซ้ำ เพราะเหตุนี้หรือไม่ที่ทำให้เกาหลีใต้พยายามอย่างมากที่จะส่งประเทศของตนเข้าสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตย และมองว่ารัฐบาลจากทหารไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีอีกต่อไปสำหรับเกาหลีใต้ (the June 10 Democratic Protest)

เมื่อพ้นผ่าน อุตสาหกรรมเกาหลีเริ่มมีอิสระมากขึ้น วงการบันเทิงก้าวหน้าและมีการแข่งขันค่อนข้างสูง ด้วยสิ่งนี้รัฐบาลเกาหลีในช่วงนั้นจึงเล็งเห็นความสำคัญและโอกาส เป้าหมายแรกที่จุดประกายความหวังคือ การที่วัฒนธรรมเกาหลีจะต้องขยายไปทั่วโลก แต่การตีตลาดเพลงอย่างตลาดอเมริกาก็ไม่ได้ง่ายสำหรับเกาหลีเลย หลายครั้งที่มีศิลปินจากเกาหลีใต้ไปเดบิวต์ที่อเมริกา ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ทว่าการสนับสนุนของรัฐบาลก็ยังคงมีต่อเนื่องแม้ผลลัพธ์จะไม่ดีก็ตาม

ใช้คำว่าโชคดีก็คงไม่ได้ และเกาหลีไม่เคยคว้าโอกาสพลาด นอกจากการประท้วงจะสำเร็จ ความตั้งใจที่จะตีตลาดเพลงอเมริกาก็สำเร็จในเวลาต่อมา ในช่วงปี 2012 ศิลปินเดี่ยวอย่าง PSY (พักแจซัง) จากค่ายเพลง YG entertainment ปัจจุบันสังกัดในค่ายของตนเอง สามารถนำเพลง Gangnam Style ทะยานสู้กับศิลปินระดับโลกมากมาย และแซงหน้าได้ เอกลักษณ์อยู่ที่ท่าเต้นและจังหวะเพลงที่ชวนโยก ถือเอาความประสบผลสำเร็จนี้เป็นใบเบิกทางให้ค่ายเพลงเกาหลีจับทางถูก

แม้ว่าเพลงของเกาหลีจะไม่ได้แปลกใหม่สำหรับโลกของวงการเพลง และดูเหมือนว่าเกาหลีจะฉกฉวยเพลงหรือดนตรีจากชาติตะวันมาเปลี่ยนเป็นคำร้องเกาหลีก็ตาม แต่ความแปลกใหม่ในการถ่ายทอดสิ่งเหล่านั้นออกมาก็ทำให้น่าสนใจ อย่างการสร้างเกมจนไปถึงการสร้างศิลปินจากโลกเสมือน เกาหลีมีนโยบายสร้างซอฟพาวเวอร์ชัดเจน ทั้งตัวบุคคล ศิลปิน ดารา เมื่ออยู่ในเวทีโลกจะต้องมีบางอย่างในร่างกาย ไม่ว่าจะเครื่องแต่งกายหรือเครื่องประดับที่สื่อถึงความเป็นเกาหลี ยกตัวอย่าง ศิลปินอย่าง CL ที่ได้เข้าร่วมงาน Met Gala ตั้งแต่หัวจรดเท้าได้รับแรงบันดาลใจในการรังสรรค์ชุดมาจากชุดฮันบก และเป็นทรงผมของพระราชินีที่ผู้หญิงสมัยก่อนเคยแต่ง

นอกจากนี้สิ่งที่ตอกย้ำว่าเกาหลีสร้างซอฟพาวเวอร์ได้น่าสนอีกอย่างคือ ลิซ่า แบล็คพิงค์ สืบเนื่องจากลิซ่าได้ออกอัลบั้มโซโล่เดี่ยว เมื่อได้มีเวลามาวิเคราะห์จะเห็นว่าทีมเกาหลีถือว่าทำการบ้านมาดีมากกับการสร้างสรรค์ความเป็นไทยผ่านมิวสิควิดีโอได้อย่างน่าเหลือเชื่อ ทั้งสถานที่ประวัติศาสตร์บ้านเกิดลิซ่า ชุดไทยร่วมสมัยเข้ากับตัวบุคลิกของศิลปิน ชฎา และเครื่องประดับจากแบรนด์คนไทย ที่เป็นรูปดอกพุดซ้อน ซึ่งเป็นแนวคิดเดียวกับ CL เพียงแต่น่าเสียดายที่มันถูกส่งผ่านโดยสื่อเกาหลี

สำหรับสื่อเกาหลีแล้ว การใส่ชุดฮันบกสั้น หรือการแต่งตามบุคคลในราชวงศ์ การเต้นในพระราชวัง ล้อเลียนการเมือง ถือเป็นเรื่องปกติความก้าวหน้า ความทันสมัย บางอย่างก็ควรที่จะทันสมัยตามไปด้วย และถือเป็นอีกมุมมองที่น่าสนใจในการสอดแทรกวัฒนธรรมที่อยากเห็นมันเกิดขึ้นในประเทศไทยสักวัน เพราะเกาหลีมักจะมีการสร้างความแตกต่างแบบใหม่ๆ ให้คนมักหันมาสนใจเสมอ

สื่อบันเทิงของประเทศเกาหลีใต้
ภาพ MV เพลง Thunderous ของศิลปินวง Starykids

ความทรงจำในช่วงเวลานั้นถือว่าเป็นช่วงสำคัญที่สามารถเปลี่ยนชีวิตเราไปได้เมื่ออินเทอร์เน็ตสามารถเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น เราจึงเริ่มสนใจที่จะเรียนภาษามากขึ้น เริ่มต้นด้วยการเรียนพิเศษภาษาอังกฤษจากโรงเรียนสอนภาษาโดยตรง ต่อมาจึงเริ่มเรียนภาษาเกาหลีด้วยตัวเอง ด้วยความคิดง่ายๆ ของเด็กมัธยมต้นที่อยากจะฟังเพลงที่ตัวเองฟังทุกวันรู้เรื่อง

และทุกครั้งที่มีคอนเสิร์ตจากศิลปินเกาหลี มันไม่เพียงเป็นการที่ร้องเพลง การพบเจอแฟนคลับ แต่ทุกครั้งที่การมาเล่นคอนเสิร์ตนั้น จะมีเด็กที่ใฝ่ฝันอยากจะเป็นศิลปินแบบคนบนเวทีอีกหลายคน และได้ก้าวเข้าสู่การเป็นเด็กฝึกของค่ายเพลงที่เกาหลี เพื่อที่ค่ายเพลงจะได้เอาไปพัฒนาศักยภาพต่อ และกลายเป็นไอคอนิก (ความโดดเด่น) ของเกาหลีใต้ในที่สุด เนื่องจากบทสัมภาษณ์ส่วนใหญ่ กล่าวว่าเด็กฝึกได้รับแรงบันดาลใจจากการเข้าชมคอนเสิร์ตกับครอบครัว ทำให้อยากเป็นศิลปิน และในปีที่ผ่านๆ มา ถึงได้มีศิลปินต่างชาติในวงไม่น้อยกว่าคนสองคน ถือว่าเป็นอำนาจอ่อนที่มาในรูปแบบของการสร้างความฝันและแรงบันดาลใจ

อ้างอิง

เส้นทางประชาธิปไตยกับการเมืองบนท้องถนนในสาธารณรัฐเกาหลี

เมื่อวันนั้นมาถึง: สามัญชนกับกระบวนการประชาธิปไตย (the101.world)

ไขความสำเร็จ K-POP กับหนทางสู่อันดับ 1 ในตลาดอเมริกา

เกาหลีฟีเวอร์! ถอดรหัส SOFT POWER อาวุธลับรัฐบาลเกาหลี