เรือมตร๊ด

เมษาต้องมาคู่กับสงกรานต์

เมื่อพูดถึงเดือนเมษายน ก็คงต้องมาคู่กับเทศกาลวันสงกรานต์ วันปีใหม่ไทยที่หลายคนตั้งตารอ และแน่นอนว่ากิจกรรมที่ไม่ควรพลาดเลย คือการเล่นสาดน้ำ สาดความสดชื่นให้กันในวันที่อุณหภูมิร้อนระอุ เพราะคงจะมีกิจกรรมไม่มากนักที่ผู้คนส่วนใหญ่จะมาคลายร้อนร่วมกันอย่างสนุกสนานเช่นนี้ อีกทั้งสงกรานต์ยังเป็นประเพณีที่ได้รับการสืบทอดต่อกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ จนกลายเป็นเทศกาลที่ต้องจัดขึ้นในทุกๆ ปี

แต่วันนี้ LOUDER จะขอพาทุกคนมารู้จักกับ “เรือมตร๊ด” กิจกรรมวันสงกรานต์ในแบบฉบับของชาวเขมรที่อาศัยอยู่ในแถบจังหวัดอีสานใต้ ประเพณีที่มีความสำคัญไม่แพ้กับการขนทรายเข้าวัดเลยแม้แต่น้อย เนื่องจากเป็นสิ่งที่เหล่าบรรพบุรุษได้ส่งมอบต่อกันมาอย่างช้านาน เป็นวัฒนธรรมที่ผนวกเอาความเชื่อมาเชื่อมโยงไว้ได้อย่างมีมนต์เสน่ห์

เรือมตร๊ดคืออะไร?

เรือมตร๊ด หรือรำตรด คือกิจกรรมการรำตรุษในช่วงสงกรานต์ของชาวไทยเชื้อสายเขมรที่อาศัยอยู่ในจังหวัดแถบภาคอีสานตอนล่าง ซึ่งเป็นความเชื่อที่ว่า รำเพื่อบวงสรวงให้เหล่าบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว อีกทั้งยังเป็นการสร้างบุญกุศลให้แก่ผู้ที่ร่วมกิจกรรมนี้ด้วย เนื่องจากมีการเชื่อมโยงเข้ากับพระพุทธศาสนาที่คนเหล่านี้ต่างพากันนับถือ แต่ถ้าหากยึดตามหลักของความเป็นจริง กิจกรรมนี้ก็มีขึ้นเพื่อสร้างความผ่อนคลายจากการตรากตรำทำงานมาอย่างหนักตลอดทั้งปี

เรือมตร๊ด นั้นมาจากภาษาเขมร โดย เรือม แปลว่ารำ และ ตร๊ด แปลว่าตรุษ และวันเวลาที่จัดกิจกรรมนี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงของเดือนเมษายน ที่ซึ่งบางปีนั้นจัดตรงกับวันสงกรานต์ของไทย

เรือมตร๊ดทำอะไรบ้าง?

การเรือมตร๊ดนั้นจะเป็นการร้องรำประกอบจังหวะของเสียงเพลงที่ได้จากเครื่องดนตรีพื้นบ้านอย่าง กลองยาว ฉิ่งและฉาบ รำไปตามหมู่บ้านที่มีชาวเขมรอาศัยอยู่ วนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะครบ ซึ่งถ้าหากขบวนไปหยุดที่บ้านของใคร นั่นหมายความว่าเจ้าบ้านมีหน้าที่ต้องออกมาต้อนรับ เตรียมแป้งหอมๆ น้ำเย็นๆ ไว้ให้เหล่าคนรำได้ดื่มเพื่อคลายร้อน และนอกเหนือไปกว่านั้น นับเป็นธรรมเนียมที่ทุกคนต่างรู้กันว่า เราจะต้องมอบปัจจัยให้เหล่าขบวนเรือมตร๊ดด้วย เพื่อจะได้นำไปทำบุญถวายวัดในช่วงท้ายของการทำกิจกรรม โดยปริมาณของสิ่งของที่มอบให้นั้นก็ขึ้นอยู่กับกำลังความสามารถและความศรัทธาของเจ้าบ้านเอง

ซึ่งโดยความเชื่อแล้ว บ้านหลังไหนที่ขบวนตร๊ดได้มาเยือน ก็จะมีความเป็นสิริมงคล สมาชิกในครอบครัวจะแคล้วคลาดจากโรคภัย ดำเนินการอะไรก็จะมีแต่คำว่ารุ่งเรือง

ปัจจุบันนี้กลุ่มคนที่ยังคงสานต่อการเรือมตร๊ดนั้นเริ่มมีลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย และความต่างวัยของเหล่าผู้สูงอายุกับเด็กวัยรุ่น กลุ่มคนในขบวนส่วนใหญ่จึงเป็นเหล่าคุณลุงคุณป้า และคนแก่ของหมู่บ้านที่ยังคงยึดถือเอาความเชื่อของบรรพบุรุษไว้เป็นที่ตั้ง อีกทั้งคนเหล่านี้ยังคงเชื่อว่าประเพณีเช่นนี้แหละ ที่จะเป็นการเชื่อมโยงให้คนในชุมชนได้ออกมาใช้เวลาร่วมกัน สนุกสนานไปกับเสียงเพลง พร้อมทั้งได้รับกุศลจากการทำบุญถวายวัด

แต่ถึงแม้ความนิยมจะเริ่มลดลงไปเรื่อยๆ แต่ LOUDER ก็อยากเป็นส่วนหนึ่งของการส่งต่อวัฒนธรรมให้เหล่าชาวเขมรในภาคอีสานได้ออกไปสู่ภายนอกมากยิ่งขึ้น เพราะในทุกๆ สังคม ล้วนประกอบไปด้วยวัฒนธรรมและเชื้อชาติที่มีความหลากหลาย อีกทั้งสิ่งเหล่านั้นยังมีมนต์เสน่ห์อันสวยงามอยู่ในตัวเองเสมอ

และถ้าหากใครอยากลองสัมผัสกับวิถีชีวิต และความสนุกสนานในแบบฉบับของชาวบ้าน ก็สามารถลองไปเรียนรู้ได้ตามชุมชนของชาวเขมรในจังหวัดต่างๆ ในแถบนี้ ไม่ว่าจะเป็นสุรินทร์ บุรีรัมย์ หรือศรีสะเกษเองก็ตาม

อ้างอิง

เรือมตร๊ด