ไม่กี่วันมานี้ หลายคนต่างประสบกับปัญหาเช่นเดียวกัน คือ ค่าไฟที่พุ่งสูงขึ้นจนน่าแปลกใจ ในบางราย จากเดิมที่เคยจ่ายเพียงแค่หลักร้อย แต่มาในเดือนนี้กลับต้องควักตังค์เพิ่มขึ้นมาเป็นหลักพัน สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ที่มีความต้องการใช้ไฟเป็นอย่างมาก และท่ามกลางอุณหภูมิที่ร้อนระอุในช่วงเดือนเมษายนเช่นนี้ คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปริมาณการใช้ไฟฟ้าของคนเราจะมีเพิ่มขึ้นจากเดิมเป็นอย่างมาก เพราะหากต้องการคลายร้อน การเปิดพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศที่บ่อยขึ้นก็เป็นทางออกที่ดูเหมือนจะสามารถทำได้ง่ายที่สุดแล้ว

ซึ่งดูเหมือนว่าปัญหาดังกล่าวนั้นเริ่มกระทบเป็นวงกว้างมากยิ่งขึ้น เมื่อเหล่าผู้คนบนโลกออนไลน์เริ่มออกมาถกเถียงกันในประเด็นนี้ โดยหนึ่งในแอปพลิเคชันยอดฮิตอย่างทวิตเตอร์ได้มีผู้คนออกมาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก จนเกิดเป็นแฮชแท็ก #ค่าไฟแพง ขึ้น บ้างบ่นถึงภาระที่ต้องแบกรับเพิ่มมากขึ้น เพราะถึงแม้จะใช้เท่าเดิม แต่กลับต้องจ่ายเงินแพงกว่าที่ผ่านมา หรือในบางรายตั้งคำถามถึงหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้อง พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการออกมาช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาดังกล่าว และนอกจากนี้บางคนได้ออกมาเตือนให้คอยเช็กบิลค่าไฟของตนเองให้ดี เนื่องจากบางพื้นที่ความผิดพลาดดังกล่าวเกิดจากตัวเลขของหน่วยไฟฟ้าบนเครื่องวัดกับใบแจ้งการใช้ไฟฟ้าไม่ตรงกัน

แฮชแท็ก #ค่าไฟแพง บนแอปพลิเคชันทวิตเตอร์

และจากปัญหาดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์​โอชา​ นายกรัฐมนตรี ​และ​รัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวง​กลาโหม ก็ได้ออกมาให้ความเห็นว่า ต้องดูสาเหตุของปัญหา ว่าทำไมถึงแพง และต้องดูต้นทุนการผลิตและการบริหารว่ามีอะไรที่ซับซ้อนอยู่ในนั้นหลายอย่าง ซึ่งหากมองว่าค่าไฟมันแพง หรือค่าแก๊สแพง แล้วประชาชนอยากให้ลดลง ยืนยันว่าต้องดูด้วยว่าสามารถทำได้หรือไม่ ซึ่งอะไรที่ทำได้ ไม่ต้องห่วง รัฐบาลจะทำให้หมด นับเป็นที่น่าสังเกต ในขณะประชาชนหลายคนต่างออกมาแสดงความคิดเห็น และถกประเด็นกันถึงผลกระทบที่ได้รับจากอัตราค่าไฟที่พุ่งสูงขึ้นอย่างน่าแปลกใจ แต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์ โอชากลับตอบเพียงว่าไม่ต้องเป็นห่วง ซึ่งจนถึงปัจจุบันก็ยังคงมีประชาชนผู้ที่ใช้งานไฟฟ้าออกมาพูดถึงราคาค่าไฟที่ตนต้องจ่ายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 

แล้วทำอย่างไรจะประหยัดไฟได้ในช่วงนี้ คำแนะนำจำนวนมากต่างถูกส่งต่อบนโลกโซเชียลมีเดีย บ้างแนะให้บ้านที่มีแอร์นั้นเพิ่มอุณหภูมิขึ้น พร้อมทั้งเปิดพัดลมร่วมด้วย เพื่อลดการทำงานของเครื่องปรับอากาศ หรือบ้างก็แนะให้ลดการใช้ไฟในช่วง Peak คือตั้งแต่ 09.00 น. – 22.00 น. ของวันจันทร์ – ศุกร์ และวันพืชมงคล แต่ในขณะเดียวกัน บางคนกลับใช้โอกาสนี้ออกไปใช้ชีวิตตามพื้นที่สาธารณะแทนการนั่งอยู่บ้านในวันหยุด เช่นไปเดินห้างเพื่อคลายร้อน หรือออกไปกาแฟทานตามร้านคาเฟ่ เพื่อลดปริมาณการใช้ไฟในบ้านของตัวเอง แต่ถึงเป็นเช่นนั้น ก็มีคำถามให้ชวนคิดต่อมาอีกว่า จะมีสักกี่คนที่สามารถทำเช่นนี้ได้ ในเมื่อภาระที่มีแต่ละคนนั้นไม่เท่า

รัฐบาลจึงมีโครงการออกมาช่วยเหลือการจ่ายค่าไฟเป็นเงินจำนวน 315 บาทต่อครัวเรือน ต่อเดือน แต่นั่นก็เป็นเพียงสิทธิที่จำกัดไว้สำหรับประชาชนผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเท่านั้น ไม่ได้ครอบครอบคลุมถึงคนไทยทุกคน กลายมาเป็นข้อสังเกตถึงความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นอีก เชื่อมโยงไปถึงการตั้งคำถามของผู้คนบนโลกออนไลน์ เพราะเมื่อไฟฟ้าเป็นปัจจัยพื้นฐานที่มีความจำเป็นต่อมนุษย์ คงไม่แปลกที่หน่วยงานภาครัฐจะมีส่วนเกี่ยวข้องในประเด็นการถกเถียงดังกล่าว ซึ่งก็คงจะดีไม่น้อยหากปริมาณการใช้ไฟและเงินที่จ่ายมีความสอดคล้องกัน เป็นความสบายใจในหน้าร้อนที่เราสามารถใช้ชีวิตได้อย่างไม่ต้องวิตกกังวล

อ้างอิง

ชาวเน็ตเตือนเช็กบิลค่าไฟเดือนเม.ย.66 ‘บิ๊กตู่’ ลั่นโครงสร้างค่าไฟซับซ้อน

คำชี้แจงเกี่ยวกับอัตราค่าไฟฟ้า TOU

รัฐบาลย้ำ 18 เม.ย. เงินงวดที่ 2 เข้าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ใช้จ่ายค่าน้ำค่าไฟ