ร้านค้าหมู่บ้าน

นับเป็นที่น่าสังเกต เมื่อการจะลงทุนทำธุรกิจอะไรสักอย่างในปัจจุบันนั้นเป็นเรื่องที่ต้องคิดแล้วคิดอีก เพราะด้วยสภาพทางเศรษฐกิจในสังคมที่ย่ำแย่ อีกทั้งอุปสรรคที่มาโดยไม่ได้ตั้งตัวรับไว้ อย่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างไปทั่วโลก หรือแม้แต่การที่ทุนผูกขาดเข้ามามีบทบาทสำคัญในการแข่งขันทางการค้า ก็อาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เหล่าบรรดาธุรกิจขนาดเล็กมีโอกาสเติบโตได้น้อยลง

เช่นเดียวกับร้านค้าตามหมู่บ้าน ที่ต้องปรับตัวอย่างหนักเพื่อให้ตนเองสามารถอยู่รอดได้ท่ามกลางทุนผูกขาดที่เริ่มเข้ามาแย่งฐานลูกค้าในทุกวัน เพราะด้วยกลยุทธ์ทางการตลาดที่สามารถกดราคาสินค้าลงได้มากกว่าร้านขายของชำ ธุรกิจที่มีขนาดใหญ่จึงมีความได้เปรียบมากกว่า และเหตุนี้เองจึงทำให้ผู้ประกอบการร้านค้าขนาดเล็กรายใหม่ไม่สามารถประคองตัวเองไว้ได้นานมากนัก อีกทั้งบางรายนั้นต้องแบกรับภาระหนี้สินที่เพิ่มพูนขึ้นมา เนื่องจากเงินลงทุนนั้นได้มาจากการกู้

ร้านค้าหมู่บ้าน
ภาพร้านค้าประจำหมู่บ้านหมู่บ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดร้อยเอ็ด

ทุนผูกขาดคืออะไร?

ทุนผูกขาดคือการที่เหล่านายทุนรวมกลุ่ม หรือกระจุกตัวกันไว้เพื่อทำธุรกิจ โดยมีจุดมุ่งหมายหลักคือผลกำไรที่ได้จากการขายสินค้าหรือบริการนั้นๆ โดยเป็นการรวมกลุ่มเพียงแค่นายทุนไม่กี่รายเท่านั้น เป็นการผูกขาดทางการค้า หรือในอีกแง่มุมหนึ่ง คือกลุ่มคนเหล่านี้ที่รวมตัวกัน นั้นเป็นกลุ่มคนที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจ เป็นกลุ่มหรือองค์กรนำรายใหญ่ที่อาจมีอำนาจในการกำหนดทิศทางของเศรษฐกิจ

การแข่งขันที่เหมือนถูกมัดมือชก

อีกหนึ่งตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนเลย คือร้านสะดวกซื้อต่างที่มีเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว กระจายไปอยู่ยังพื้นที่ต่างๆ ซึ่งในมุมของข้อดีนั้น อาจจะเป็นการสร้างความสะดวกสบาย และเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค เพราะด้วยปริมาณที่มีอยู่จำนวนมาก และการเข้าถึงที่สามารถทำได้ตลอดทั้งวัน อีกทั้งโปรโมชันมากมายที่มีออกมาตามเทศกาล ทั้งการลดราคา หรือให้สิทธิ์แลกซื้อที่ถูกลง ก็สามารถเป็นแรงจูงใจให้ผู้คนเข้าไปใช้บริการได้อยู่ไม่น้อย

แต่ถ้าหากมองในอีกมุมหนึ่ง ก็อาจบอกได้ว่าธุรกิจเหล่านี้กำลังจะเข้ามาแทนที่ร้านค้าตามหมู่บ้าน กลายเป็นการแข่งขันที่ผู้ประกอบการรายเล็กถูกมัดมือชก เนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่นั้นรับมาจากร้านค้าปลีกที่ต้นทุนก็ไม่ได้น้อยไปกว่าราคาสินค้าหน้าร้านมากนัก กำไรที่ขายได้จึงอาจไม่เพียงพอที่จะนำมาเป็นโปรโมชันเสริมการขาย ซึ่งหากต้องมาแข่งขันด้วยกลยุทธ์ที่เน้นการลด แลก แจก แถม ก็คงเป็นได้ได้อยากมากสำหรับกลุ่มคนเหล่านี้

และหากพูดถึงอีกปัจจัยที่เป็นส่วนสำคัญในการอยู่อดของร้านค้าหมู่บ้าน คือกลุ่มลูกค้าที่อาจไม่ได้พลุกพล่านมากนัก เมื่อเทียบกับปริมาณของจำนวนคนที่เดินเข้าออกร้านสะดวกซื้อ เพราะด้วยชื่อที่บ่งบอกอยู่ในตัวของมันเองอยู่แล้ว ‘ร้านค้าหมู่บ้าน’ นั่นย่อมหมายถึงผู้ที่จะเข้ามาใช้บริการส่วนใหญ่คือคนในชุมชน หรืออาจเป็นคนที่สัญจรไปมาในบางครั้ง ซึ่งก็เป็นจุดประสงค์หลักที่ผู้ประกอบการวางไว้ตั้งแต่ต้น หากร้านไร้ซึ่งลูกค้า โอกาสที่จะอยู่รอดต่อไปก็คงน้อยลงตามไปด้วย

เมื่อลองมาวิเคราะห์ดู ความเหลื่อมล้ำทางการค้าที่เกิดขึ้น ล้วนแต่มีสาเหตุมาจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ภาครัฐไม่ได้เข้ามาควบคุมการเติบโตของกลุ่มธุรกิจทุนผูกขาดอย่างจริงจัง จึงทำให้ผู้ประกอบการบางรายไม่สามารถไปต่อได้ในการแข่งขันนี้ และสำหรับผู้ที่ยังคงประคองอยู่ได้ก็ต้องแบกรับทุกอย่างอยู่บนความไม่แน่นอน  เพราะเมื่อผู้ค้ามีจำนวนน้อยลง การกำหนดราคาสินค้าอาจทำได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ในท้ายที่สุดอาจส่งผลโดยตรงไปยังตัวของผู้บริโภคเอง

อ้างอิง

หากทุนนิยมคือการแข่งขัน แล้วทำไมตอนนี้เราถึงเห็นทุนผูกขาดอยู่เต็มไปหมด?

ทุนนิยมผูกขาดครอบครองอำนาจรัฐ State Monopoly Capitalism