ท่วงคืนฝืนป่า

เดอะลาวเด้อ – นโยบายทวงคืนผืนป่าของคณะรักษาความสงบแห่งชาติส่งผลกระทบชาวบ้านในพื้นที่รอบอุทยานแห่งชาติผาแต้มเกือบ 40 ครอบครัว ส่วนใหญ่ยอมทิ้งที่ดินทำกินให้รัฐยืดไป เพราะกลัวอำนาจรัฐทหาร ‘ชนเผ่าบรู’ สู้ถึงฎีกา สุดท้ายต้องทุบบ้านครึ่งหลัง นักวิชาการชี้เป็นนโยบายที่มุ่งสร้างคาร์บอนเครดิตแต่เลือกบังคับใช้กับคนจนโดยไม่สนต้นเหตุที่โรงงานอุตสาหกรรม ฝ่ายหัวหน้าอุทยานฯผาแต้มรับทำตามนโยบาย คสช. เผยเตรียมหาทางช่วยเหลือครอบครัวที่ได้รับผลกระทบ

ด้วยข้ออ้างเรื่องการบุกรุกทำลายป่าไม้ของประเทศมีความรุนแรงและมีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อประเทศในระยะยาว ทำให้ป่าไม้ของประเทศถูกทำลายและครอบครองอย่างผิดกฎหมาย รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารจึงได้มีนโยบายในการหยุดยั้งการบุกรุกทำลายป่าทั่วประเทศ และทวงคืนพื้นที่ครอบครองโดยผิดกฎหมาย โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มี คำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2557 และที่ 66/2557 ลงวันที่ 17 มิถุนายน 2557 ได้มอบหมายให้กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปราบปรามและจับกุมผู้บุกรุก ยึดถือ ครอบครอง พื้นที่ป่าไม้ที่ผิดกฎหมาย เพื่อคงไว้ซึ่งป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติที่หลงเหลืออยู่ โดยมีเป้าหมายทวงคืนผืนป่าให้ได้ 27.2 ล้านไร่หรือประมาณร้อยละ 40 ของพื้นที่ป่า

นายนิติพล ผิวเหมาะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลกล่าวไว้เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2565 ว่า “โครงการสวยหรูนี้แลกมากับคราบน้ำตาและความทุกข์ยากของประชาชน ที่ทำให้ชาวบ้านถูกฟ้องคดีถึง 46,600 คดี เป็นกระบวนการไล่คนออกจากป่าอย่างเนียนๆ ด้วยการให้มีคดีทางกฎหมายติดตัวและมีที่ติดคุกจริง ทั้งที่กฎหมายหลายฉบับออกมาทีหลังแล้วทับไปบนที่ของประชาชน แต่ในทางกลับกันหากเป็นที่ของนายทุนกลับทำเป็นมองไม่เห็นแทบไม่มีการดำเนินการใดๆ เพื่อทวงคืนเหมือนที่ทำกับประชาชน”

เดอะลาวเด้อ (thelouder) นำเสนอผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าจากคำบอกเล่าของชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เขตอุทยานแห่งชาติผาแต้ม จังหวัดอุบลราชธานี

กฎหมายรัฐเผด็จการ กระทบชาวบ้าน

นายพฤทธิสิทธิ์ บุญทน ทนายความเปิดเผยว่า โครงการทวงคืนผืนป่าของคสช.ส่งผลให้ชาวบ้านในพื้นที่อุทยานแห่งชาติผาแต้ม ได้แก่ บ้านท่าล้ง บ้านตามุยและบ้านกุ่ม ต.ห้วยไผ่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานีได้รับผลกระทบทั้งที่ทำกินและที่อยู่อาศัยเกือบ 40 ราย 

“พื้นที่ทั้ง 3 หมู่บ้านอยู่บนความไม่ชัดเจนของแนวเขตทั้งเขตป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ และเมื่อมีนโยบายคสช.เข้ามาซ้อนอีกก็ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านท่าล้ง บ้านตามุยและบ้านกุ่ม ต.ห้วยไผ่ซึ่งอาศัยอยู่ก่อนจะมีการประกาศเหล่านั้น พอมีคำสั่ง คสช.ออกมาในปี 2557 ด้วยความกลัวอำนาจรัฐทหาร จึงทำให้ชาวบ้านจำนวนมากไม่กล้าต่อสู้เพื่อรักษาสิทธิของตน ต้องยอมให้ทางการยึดที่ทำกิน บางส่วนก็ต่อสู้ถึงชั้นศาล” นายพฤทธิสิทธิ์ เปิดเผยว่า มีชาวบ้านท่าล้งที่เป็นชนเผ่าบรูถูกดำเนินคดี 6 ราย และชาวบ้านตามุย 2 ราย

นายพฤทธิสิทธิ์กล่าวด้วยว่า หากจะเอาหลักนิติศาสตร์หรือเอากฎหมายมาจัดการกับชาวบ้าน คนหาเช้ากินค่ำก็ได้รับผลกระทบ แต่ปัญหานี้สามารถแก้ไขได้ด้วยหลักรัฐศาสตร์ที่ต้องมีรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยเท่านั้น ถึงจะมองเห็นประชาชนว่าสำคัญกว่าค่ำสั่งหรือประกาศ เพียงแต่ภายใต้รัฐบาลเผด็จการ ประชาชนไม่สามารถเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขประกาศหรือคำสั่ง คสช.ได้

ชนเผ่าบรูท่าล้งถูกฟ้อง ต้องทุบบ้านครึ่งหลัง

นายธีรเกียรติ แก้วใส ผู้ใหญ่บ้านท่าล้ง หมู่ที่ 5 ต.ห้วยไผ่เปิดเผยว่า บ้านท่าล้งเป็นหมู่บ้านเผ่าบรูก่อตั้งอย่างถูกต้องตามกฎหมายเมื่อ พ.ศ. 2460 หรือ 106 ปีมาแล้ว พื้นที่หมู่บ้านติดริมแม่น้ำโขง อีกฟากติดหลังเขา ชาวบ้านอาศัยทำกินจากการหาปลา ปลูกข้าวบนพื้นที่อันจำกัดและหาของป่า 

“ปี 2561 มีชาวบ้านท่าล้งถูกดำเนินคดีเพราะนโยบายทวงคืนผืนป่า 6 ราย โดยศาลชั้นต้นยกฟ้อง แต่ศาลอุทธรณ์กลับคำตัดสินฟ้องต่อ 4 ราย และในกระบวนการดำเนินคดีไม่ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการหมู่บ้านขึ้นมาไต่สวนข้อเท็จจริง แต่อาศัยภาพถ่ายทางอากาศแล้วฟ้องเอาผิดและขับไล่ออกจากที่ทำกินหรือแม้แต่บ้านของตนเอง”

ผู้ใหญ่บ้านท่าล้งกล่าวว่า ด้วยพื้นที่อันจำกัด ทางหมู่บ้านได้จัดแบ่งพื้นที่เป็นที่อยู่อาศัย ที่ทำกินและที่สาธารณประโยชน์ของหมู่บ้านอย่างชัดเจน และในพื้นที่สาธารณประโยชน์ของหมู่บ้านนั้นจะมีการประชุมคณะกรรมการหมู่บ้านว่าจะให้ ‘คนที่ยากจนที่สุดในหมู่บ้าน’ ได้สร้างเป็นที่อยู่อาศัยหรือเป็นที่ทำกินภายในขอบเขตที่ชาวบ้านร่วมกันกำหนดไว้แต่แรก

นายธีรเกียรติกล่าวถึงกรณีนายใหล ศิริมาตร์ ชาวบ้านท่าล้งที่ถูกดำเนินคดีและต้องทุบบ้านครึ่งหลัง ตามคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2566 เพราะถูกฟ้องว่ารุกล้ำเขตอุทยานว่า กรณีนายใหลนั้น ชาวบ้านท่าล้งมีมติให้เขาไปปลูกบ้านอยู่ในพื้นที่สาธารณะของหมู่บ้าน เมื่อ พ.ศ.2554 เพราะเป็นผู้มีฐานะยากจนที่สุดในหมู่บ้าน และเมื่อมีนโยบายทวงคืนผืนป่า จึงทำให้เขาถูกฟ้องดำเนินโดยเจ้าหน้าที่ใช้ภาพถ่ายทางอากาศเป็นหลักฐานในการฟ้องโดยไม่มีการมาสอบถามหรือตั้งคณะกรรมการสำรวจตรวจสอบกับชาวบ้านแต่อย่างใด

“ที่ผ่านมาเวลามีกิจกรรมท่องเทียวหรือกิจกรรมสำคัญของทางการหรือของจังหวัดที่อุทยานแห่งชาติผาแต้ม มักจะมีการแสดง หัตถกรรมฝีมือของชนเผ่าบรูบ้านท่าล้งก็จะถูกใช้เป็นจุดขาย แต่ต่อจากนี้ชนเผ่าบรูต้องทบทวนว่าเราเสียใจจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐเพียงใด หากมีงานจะให้ชนเผ่าบรูไปแสดง เราก็คงไม่ยิ้มแย้มแจ่มใสได้อีก เพราะคนบ้านท่าล้งต่างก็เสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น เราอาจจะรำไป แสดงไปและร้องไห้ไป”นายธีรเกียรติกล่าว

นายใหล ศิริมาตร์ เปิดเผยว่า บ้านหลังนี้เกิดจากข้อตกลงร่วมกันกับชาวบ้านให้นายใหลมาสร้างบ้านบนที่ดินแปลงนี้เมื่อปี 2554 โดยเงินก่อสร้างมาจากน้ำพักน้ำแรงของลูกสาวตน จนเมื่อปี 2557 มีนโยบายทวงคืนผืนป่าได้มีเจ้าหน้าที่นำแผนที่มาแสดงว่าที่ตรงนี้เป็นเขตอุทยาน โดยเจ้าหน้าที่แจ้งว่าภาพในแผนที่ก่อนหน้านี้ไม่มีบ้านของนายใหลและไม่ได้มีการเข้ามาตรวจสอบก่อนแต่อย่างใด มีเพียงการลงมาปักหลักเขตแล้วกลับไปเพียงเท่านั้น 

นายใหล ศิริมาตร์
นายใหล ศิริมาตร์

หลังคำพิพากษาเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2566 ให้ทุบบ้านครึ่งหลัง นายใหลกล่าวว่า ตนและครอบครัวก็ไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน สมาชิกในครอบครัว 6 คน ลูกสาวคนเล็กของบ้านยังเรียนอยู่ทำให้คนในบ้านเกิดความกังวลใจ

“นโยบายทวงคืนผืนป่าในตอนแรกนั้นว่าเป็นการไล่นายทุน แต่ท้ายที่สุดแล้วกลับเป็นชาวบ้านตัวเล็กๆ ที่ไม่มีกำลังจะต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของตน”

นายใหล

นายใหลยังกว่าต่อว่า ตนและครอบครัวทำใจไว้บ้างแล้วว่าต้องแพ้อยู่ดี หลังจากนี้จะเป็นอย่างไรทางครอบครัวจะต้องรอเข้าพบเพื่อไกล่เกลี่ยกับทางอุทยานฯ แต่หากมีคำสั่งให้รื้อถอนบ้านในส่วนที่อยู่ในเขตอุทยานก็ต้องจำใจทำ 

“หากเป็นไปได้เราก็อยากขอเขาว่าไม่ต้องรื้อเพราะมันแค่ครึ่งหลังเองอยากอยู่แบบไม่มีข้อครหาว่าที่ดินนี้เป็นของใคร อยากอยู่แบบไม่ต้องกังวล ตอนนี้คิดมาก ระแวงไม่รู้ว่าเขาจะมาเอาวันไหน นอนไม่หลับบางวันก็กินข้าวไม่ได้ แต่ถ้าต้องรื้อจริงๆ เราก็ไม่รู้ว่าจะไปอยู่ที่ไหน เราไม่ได้มีที่ ไม่มีเงินแล้ว งานก็ไม่ได้ทำ อยากให้เขามีงบในการทำบ้านใหม่ให้ มีที่ให้และอยากมีอาชีพ”  

พระภิกษุฤทธิ์ จันทร์สุข ชาวบ้านตามุย หมู่ที่ 4 ต.ห้วยไผ่ หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าของ คสช.กล่าวว่า หลังศาลตัดสินว่าตนมีความผิด ที่ดิน 2 ไร่ 3 งานที่ถูกทางการยืดไปเป็นที่ทำกินที่ได้มาจากมรดก มีหลักฐานการเสียภาษีดอกหญ้าที่เสียกับทาง อบต.อย่างสม่ำเสมอ แต่ทางเจ้าหน้าที่ปฏิเสธว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกัน

พระภิกษุฤทธิ์ จันทร์สุข

“การทวงคืนผืนป่าเป็นการเอาเปรียบคนเล็กคนน้อยที่มีที่ดินตกทอดกันมาโดยไม่มีเอกสารสิทธิ์ หลายรายต้องยอมคืนที่ดินโดยง่าย เพราะการใช้คำสั่ง คสช.ข่มขู่ ชาวบ้านหลายคนไม่อยากสู้ เพราะรู้ว่าสู้กับรัฐบาลทหารยังไงก็แพ้ หลังจากถูกยึดที่ทำกินไปแล้วก็ไม่มีการเยียวยา ไม่มีพื้นที่รองรับทำให้ชาวบ้านไม่มีพื้นที่ทำกิน” พระภิกษุฤทธิ์กล่าวว่า ตนอาจจะบวชตลอดชีวิต หลังจากสู้คดีตั้งแต่ พ.ศ.2561 และสุดท้ายตนไม่สามารถปกป้องที่ทำกินของบรรพบุรุษได้ ส่วนที่ดินที่เหลือก็เป็นพะลานหินไม่สามารถทำกินได้ 

นายชาติชาย จันทร์เทพ ผู้ใหญ่บ้านตามุย หมู่ที่ 4 ต.ห้วยไผ่กล่าวว่า เมื่อก่อนชาวบ้านตามุยทำกินกันเป็นปกติ แต่เมื่อมีนโยบายทวงคืนผืนป่าของ คสช. ทำให้มีชาวบ้านถูกจับกุมหลายคนหวาดกลัว เพราะไม่มีความรู้ด้านกฎหมาย ทางเจ้าหน้าที่ไม่มีการเข้ามาชี้แจง มีเพียงหนังสือแจ้งประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านได้ทราบว่าไม่สามารถตัดไม้ได้ เพราะเป็นเขตพื้นที่ของอุทยานฯ และชาวบ้านไม่มีเอกสารสิทธิ์ ผู้ใหญ่บ้านจะต้องคอยแจ้งเตือนชาวบ้าน

นายชาติชาย จันทร์เทพ ผู้ใหญ่บ้านตามุย

“ปัญหาหลัก ๆ คือ เขตอนุรักษ์และเขตอุทยานฯที่เป็นเส้นประกบกันทำให้ไม่มีอิสระ เพราะไม่ใช่เขตที่ดินของชาวบ้าน หากถัดลงไปทางแม่น้ำโขงอีกก็เป็นพื้นที่ของกรมเจ้าท่าซึ่งชาวบ้านตามุยไม่สามารถทำอะไรได้ อยากให้ทางรัฐอนุโลมสำหรับให้ชาวบ้านขึ้นไปหากินที่ตีนภู ให้ชาวบ้านได้อยู่ร่วมกับพื้นที่ป่าและช่วยดูแลรักษาป่าไปในตัว เพราะการทวงคืนผืนป่าทำให้ชาวบ้านที่ไม่รู้ข้อกฎหมายและไม่มีกำลังมากพอที่จะสู้เพื่อที่ดินของตัวเองขาดที่ทำกิน”

ทวงคืนป่าจากคนจน แก้ปัญหาคาร์บอนเครดิตให้ทุนใหญ่

นายวิเชียร อันประเสริฐ อาจารย์สาขาวิชาการพัฒนาสังคม คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เปิดเผยว่านโยบายทวงคืนผืนป่าไปผนวกกับมติรัฐมนตรีอื่น ๆ ทำให้มีผลและเกิดการยึดคืนพื้นที่ป่าที่กล่าวในตอนแรกว่าเป็นการทวงคืนจากนายทุน แต่ในภายหลังผู้ที่ถูกดำเนินคดีกว่า 46,000 กว่าคดีกลับเป็นคนจนหรือชาวบ้านเปราะปรางที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่ามากกว่า 

“การประกาศนโยบายดังกล่าวต้องมีการทราบมาก่อนแล้วว่ามีประชาชนอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าหลายล้านคน แน่นอนว่าต้องมีประชาชนหลายล้านคนได้รับผลกระทบจากการประกาศนโยบายอย่างแน่นอน ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และทางรัฐบาลเองก็ไม่ได้มีการบรรเทาหรือประนีประนอมและยังสร้างความหวาดกลัวตื่นตระหนก”

นายวิเชียรกล่าวว่า นโยบายทวงคืนผืนป่าเป็นการวางแผนรองรับกับนโยบายของนายกรัฐมนตรีในเรื่องของการเข้าไปสู่คาร์บอนเครดิต ที่หากต้องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สามารถทำได้ 2 วิธี คือ 1) การลดที่ต้นกำเนิด คือโรงงานอุตสาหกรรม ให้มีการปล่อยพลังงานสะอาด หรือให้มีการผลิตที่มีประสิทธิภาพ และ 2) เพิ่มพื้นที่ในการเก็บกักคาร์บอนไดออกไซด์หรือเพิ่มพื้นที่ป่า

“แต่การแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ไม่ตรงจุด แทนที่จะแก้จากต้นเหตุ แต่กลับไปแก่ที่ปลายเหตุ คือการเพิ่มพื้นที่เก็บกักแทน หากมองอีกมุมก็ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่การเพิ่มพื้นที่ป่าของนโยบายกลับเป็นมาตรการที่ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิ์มนุษยชน ค่อนข้างรุนแรงคือการที่ไล่ชาวบ้านออกจากที่ดินทำกิน แล้วยึดพื้นที่ไป ถือเป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่ค่อนข้างรุนแรง”

นายวิเชียรกล่าวด้วยว่า วิธีการที่รัฐบาล คสช.จะเพิ่มพื้นที่กักเก็บคาร์บอนและเป็นพื้นที่อนุรักษ์ก็คือการประกาศพื้นที่อุทยานฯ เพราะต้องการมีพื้นที่ป่า 40 % และเพิ่มให้ได้ 25 % ภายปี 2569 ทั้งนี้ในการจะเพิ่มพื้นที่คาร์บอนสามารถเชิญชวนชาวบ้านเข้าร่วมในการปลูกป่าหรือให้มีการทำป่าชุมชนโดยมีเงื่อนไขว่าหากมีการกักเก็บคาร์บอนได้มากจะได้รับเงินสนับสนุนรายปีในแต่ละชุมชนก็ได้

อุทยานฯรับ ทำตามนโยบาย คสช. พร้อมหาทางช่วยเหลือชาวบ้าน

นายประมวล รัตนวัน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติผาแต้ม เปิดเผยว่า ผาแต้มถูกประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ.2534 ในการประกาศอุทยานในช่วงแรกไม่ได้มีการมองว่าจะไปครอบคลุมกับเขตชุมชน จึงไม่ได้มีการลงรายละเอียดใดๆ และในผาแต้มปัจจัยหลัก คือ ป่า คน และชุมชน ในช่วงแรกของนโยบายเอาคนออกจากป่า คือ หากเป็นกรณีที่มีบ้านหรือชุมชนในป่า จะต้องทำการย้ายลงมา แต่ท้ายที่สุดก็ไม่สามารถทำได้เพราะด้วยเรื่องของความผูกพันกับพื้นที่ที่ชุมชนอยู่มาเป็นเวลานาน จึงมีการปรับเปลี่ยนนโยบายใหม่คือการให้คนอยู่กับป่าได้

ทางรัฐบาล คสช.ได้มีนโยบายเร่งให้ทวงคืนพื้นที่ การจัดการทุกอย่างไม่ว่าจะทวงคืนผืนป่า หรือการจัดการพื้นที่ชุมชนรอบอุทยานต้องจัดการตามข้อกฎหมายให้สิ้นสุดและทำการฝังหลักเขต เพื่อแบ่งพื้นที่ทำกินของชาวบ้านและเขตอุทยานอย่างชัดเจน

“ส่วนของคดีนายใหลนั้น กำลังอยู่ในช่วงดำเนินการ หลังจากคดีสิ้นสุดทางอุทยานจะต้องเจรจากับทางครอบครัวของนายใหลเพื่อดำเนินการต่อ ในส่วนของการช่วยเหลือเยียวยานั้นจะต้องดูกฎหมายว่าจะมีข้อห้ามสำหรับผู้ที่ต้องคดีรุกล้ำพื้นที่หรือไม่”นายประมวลกล่าว