“เฮ้ย! เฮ้ย! ศรีสะเกษโว้ย!”

เสียงตะโกนของ ‘ก้อง – กิตติศักดิ์ ศรีสอน’ แฟนบอลเดนตายของทีม ‘ศรีสะเกษ ยูไนเต็ด’ กำลังเชียร์ทีมรักที่กำลังลงแข่งขัน นอกจากเสียงตะโกนปลุกเร้าของเขาแล้ว กองเชียร์คนอื่น ๆ ในสนามต่างก็ตะโกนปลุกใจนักฟุตบอลกึกก้องไปทั่วสนาม  

ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนศรีสะเกษเขาคลั่งกีฬาฟุตบอลขนาดไหน? แล้วทำไมถึงเป็นอย่างนั้น? และความฝันที่จะทำให้ศรีสะเกษเป็นเมืองฟุตบอลนั้นเป็นได้จริงเพียงใด ‘เดอะลาวเด้อ’ จะพาไปค้นหาคำตอบ

คนศรีสะเกษ

ศรีสะเกษ มีประชากรราว 1.5 ล้านคน ในอดีตเคยเป็นจังหวัดที่ยากจนอันดับต้นๆ ของประเทศ แต่ทุกวันนี้กลายเป็นแหล่งผลิตสินค้าการเกษตรขึ้นชื่อ ทั้งทุเรียนภูเขาไฟ เงาะ หอมแดงและกระเทียม ตอนนี้ ศรีสะเกษกำลังสร้างวัฒนธรรมเมืองฟุตบอลให้เป็นจุดขายและได้รับความนิยมในจังหวัดอีกอย่างหนึ่ง

สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ นายกสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดศรีสะเกษ

สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ นายกสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดศรีสะเกษกล่าวว่า คนศรีสะเกษมีความเป็นท้องถิ่นนิยมค่อนข้างสูงมาก ฉะนั้น ในแต่ละการแข่งขันกีฬาที่มีตัวแทนหรือทีมของศรีสะเกษเข้าร่วม กองเชียร์ชาวศรีสะเกษไม่ว่าจะอยู่แห่งหนตำบลใดถ้ามีโอกาสก็จะไปเชียร์ นอกจากนี้ยังมีสปิริตชาตินิยมสูงด้วย อย่างปี 2022 ที่ฟุตบอลทีมชาติไทยมาแข่งที่ศรีสะเกษก็จะเห็นได้ว่า คนศรีสะเกษเต็มสนามตลอด ซึ่งต่างจากจังหวัดอื่น 

ภากร สามิภักดิ์ ประธานสโมสรฟุตบอลศรีสะเกษซิตี้กล่าวว่า วัฒนธรรมการเชียร์ฟุตบอลของคนศรีสะเกษเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กและเยาวชนมาเล่นฟุตบอล โดยเฉพาะครอบครัวที่พาลูกไปเชียร์กีฬาตั้งแต่เด็กจนโตและเป็นแบบนี้มานานพอสมควร และด้วยราคาตั๋วเข้าชมฟุตบอลก็ไม่ได้แพงเกินไปก็เลยเกิดกิจกรรมในครอบครัวและกลุ่มเพื่อนชวนกันมาดูฟุตบอลก่อนไปสังสรรค์ต่อ

สปิริตแห่งศรีสะเกษ

            “เพราะเราคือศรีสะเกษ ทีมชนะ เราเชียร์ เสมอเราก็เชียร์ แพ้เรายิ่งเชียร์” ก้อง – กิตติศักดิ์ กล่าวถึงทีมศรีสะเกษยูไนเต็ดที่ถึงแม้ตอนนี้จะอยู่ในดิวิชั่น 3 แต่แฟนบอลกลุ่มนี้ยังให้กำลังใจและตามไปเชียร์ทุก ๆ ที่ ไม่ว่าทีมจะไปเตะที่ไหน ต่อให้เกมนั้นศรีสะเกษไปเยือนก็ยังจะมีแฟนบอลนั่งเชียร์กันอยู่เต็มสนามฝั่งทีมเยือน บางนัดแฟนบอลทีมเยือนอย่างศรีสะเกษยังมีมากกว่าแฟนบอลทีมเจ้าบ้านเสียอีก 

ก้อง กิตติศักดิ์

สรวิชญ์ โรมรัตนพันธ์ ประธานสโมสรศรีสะเกษยูไนเต็ด เล่าถึงความเหนียวแน่นของแฟนบอลศรีสะเกษว่า ในสมัยที่ยังมีสโมสร ‘ศรีสะเกษเอฟซี’ ยังเล่นอยู่บนลีกสูงสุด ทางสโมสรเคยได้รับ ‘รางวัลกองเชียร์ยอดเยี่ยม’ ซึ่งถือเป็นวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของแฟนฟุตบอล ‘กูปรีอันตราย’ ซึ่งเป็นฉายาของสโมสร

“ตอนที่ทีมศรีสะเกษแข่งขันกับทีมอื่น กองเชียร์ก็จะมีทั้งส่งเสียงตะโกนเชียร์เพื่อกระตุ้นนักเตะตะโกนด่าผู้ตัดสินในช่วงที่ตัดสินไม่ค่อยตรงใจ หรือข่มขวัญคู่แข่งในขณะที่กำลังแข่งขัน แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเสียงเป่านกหวีดหมดเวลาการแข่งขันแล้ว เหล่าแฟนบอลต่างก็แสดงความมีน้ำใจนักกีฬาโดยส่งเสียงปรบมือให้ทั้งกับทีมฝั่งตรงข้ามรวมทั้งทีมผู้ตัดสิน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เห็นได้ว่าสปิริตของทั้งนักเตะและแฟนฟุตบอลของศรีสะเกษนั้นน่ารักและน่านับถือมาก”สรวิชญ์กล่าว

สรวิชญ์

ศรีสะเกษเมืองฟุตบอล

            “ศรีสะเกษไม่ได้มีความเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจมาก ไม่ได้มีสปอนเซอร์รายใหญ่เหมือนที่อื่น ดังนั้น การสร้างทีมกีฬาต่างๆ ก็จะเริ่มจากท้องถิ่น เอาเด็กในท้องถิ่น เอาอคาเดมีในท้องถิ่น แล้วก็สร้างเด็กของเราขึ้นมา กีฬาชนิดอื่น ๆ ก็เป็นลักษณะเดียวกัน ที่ผ่านมาศรีสะเกษเคยผลิตนักฟุตบอลส่งออกไปเล่นทั้งในไทยและต่างประเทศหลายคน อย่างศฤงคาร พรหมสุภะ กองหลังทีมชาติไทยชุดแชมป์ซีเกมส์สมัยที่ 16 หรือดาวรุ่งพุ่งแรงอย่าง สุภโชค สารชาติ ปัจจุบันเล่นให้กับสโมสรคอนซาโดเล ซัปโปโรในเจ-ลีก ญี่ปุ่น และ ศุภณัฏฐ์ เหมือนตา ที่ในตอนนี้เป็นกองหน้าตัวความหวังของทีมบุรีรัมย์ ยูไนเต็ดเลยก็ว่าได้”

สิริพงศ์กล่าวว่า ในปัจจุบันมีสโมสรหลายทีมที่เริ่มพัฒนาขึ้นมาเล่นในไทยลีกอย่างเช่น ราษีไศล ยูไนเต็ดที่เพิ่งขึ้นมาเล่นในไทยลีก 3 เป็นครั้งแรกในฤดูกาล 2022/2023 นอกจากนี้ยังมีอีกหลายทีมที่พยายามสร้างทีมเพื่อมาเล่นฟุตบอลลีกในอนาคต

มาตรฐาน เงื่อนไขที่ไม่ได้มาตรฐาน

ถนัด ธรรมแก้ว ผู้อำนวยการสโมสรฟุตบอล ขุนหาญ ยูไนเต็ด กล่าวว่า ถ้าไม่นับทีมมหาอำนาจอย่างบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ศรีสะเกษถือเป็นจังหวัดที่คลั่งไคล้ฟุตบอลมาก ดูจากจำนวนสโมสรฟุตบอลในจังหวัดศรีสะเกษ เพียงแต่มีสโมสรอาชีพที่ได้เล่นบนลีกอาชีพแค่ 2 ทีม คือ ศรีสะเกษยูไนเต็ดและราษีไศล ยูไนเต็ด ส่วน ศรีสะเกษ ซิตี้, ขุนหาญ ยูไนเต็ด, อุทุมพร จุลมณี เอฟซี, เจ แฟม ยูไนเต็ด, เอสแบคพีเอสเค กันทรลักษ์ทั้งหมดที่กล่าวมายังเป็นทีมที่ยังอยู่นอกลีก (ยังไม่ได้ขึ้นไปเล่นบนลีกอาชีพ) ซึ่งต่างก็พยายามจะทำสโมสรเพื่อไปเล่นในลีกอาชีพ

“หากจะให้เรียกว่าเป็นเมืองแห่งฟุตบอล มันต้องมีองค์ประกอบหลายอย่างที่มันจะทำให้เป็นเมืองแห่งฟุตบอลได้ ทั้งต้องมี 1) ทีมที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งในปัจจุบันทีมสโมสรฟุตบอลของศรีสะเกษก็ยังเล่นแค่ในลีกภูมิภาคอยู่ 2) มีกองเชียร์ที่ติดตามอย่างหนาแน่น ซึ่งในส่วนนี้ก็มีอยู่แล้ว 3) มีระบบที่เอื้ออำนวยเพื่อให้จังหวัดศรีสะเกษเป็นเมืองแห่งฟุตบอลให้ได้ ซึ่งในปัจจุบันอาศัยการทำทีมแบบตามมีตามเกิด ใครมีเงินก็ทำแต่พอนานเข้า เมื่อเงินหมดก็เลิกทำ”

ถนัดกล่าวว่า ถ้าทีมจากศรีสะเกษทีมใดทีมหนึ่งได้ไปเล่นบนลีกสูงสุด บรรยากาศการเชียร์ฟุตบอลของคนศรีสะเกษจะกลับมาอีกครั้งแน่นอน ซึ่งศรีสะเกษก็มีสนามฟุตบอลที่ได้มาตรฐาน ทั้งสนามของการกีฬาแห่งประเทศไทยที่เพิ่งสร้างเสร็จ สนามศรีนครลำดวน สนามมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ซึ่งทั้งสามสนามที่กล่าวมาล้วนอยู่ในเขตอำเภอเมืองทั้งหมด แต่คนต่างอำเภอที่จะเข้ามารับชมมาเชียร์ก็ลำบาก อีกทั้งการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน ก็คือการมีสนามที่ได้มาตรฐาน

“อย่างทีมขุนหาญ ยูไนเต็ด มีแฟนบอลราว 5,000 -10,000 คน แต่ทางสโมสรไม่มีสนามที่สามารถใช้แข่งขันตามมาตรฐาน  สโมสรขุนหาญ ยูไนเต็ดก็ไม่สามารถที่จะเลื่อนชั้นขึ้นไปเล่นลีกอาชีพได้ถ้าเราไปดูโครงสร้างของญี่ปุ่นที่มีการวางระบบต่าง ๆ อย่างการที่ให้แต่ละพื้นที่สร้างสนามแล้วก็ให้สโมสรในพื้นที่นั้นไปเช่าใช้ กลับมาที่ศรีสะเกษซึ่งส่วนใหญ่ก็จะมีสนามที่เป็นของสถาบันการศึกษา แล้วก็มีสนามของการกีฬาแห่งประเทศไทยซึ่งก็มีอยู่แค่ในตัวจังหวัด เท่ากับว่าก็จะมีเพียงสโมสรที่อยู่ในตัวเมืองเท่านั้นที่จะสามารถมีสนามที่เป็นมาตรฐาน ส่วนทีมจากต่างอำเภอก็ไม่สามารถที่จะมีสนามที่เป็นมาตรฐานได้ อีกทั้งคนจากต่างอำเภอถ้าจะเข้าไปเชียร์ในตัวเมืองมันก็ลำบากอีก ซึ่งทั้งการเดินทางที่มันไม่เอื้ออำนวยต่างจากที่อื่นอย่างญี่ปุ่นที่ เขาสามารถใช้ขนส่งสาธารณะไปดูฟุตบอลได้ แต่ของจังหวัดศรีสะเกษไม่มี ยกเว้นแต่ในกรุงเทพฯ ที่มีขนส่งสาธารณะที่สะดวก” 

ถนัดกล่าวถึงระบบการแข่งขันในประเทศไทยจากลีกสูงสุดไปต่ำสุดซึ่งประกอบด้วยไทยลีก 1 – 3 ลีกภูมิภาค และไทยแลนด์เซมิโปรลีกว่า ไทยลีก 1 – 3 วัดกันด้วยฝีมือด้วยการทำทีม ด้วยเงินทุนที่ช่วงชิงกันเพื่อขึ้นไปเล่น แต่ไทยแลนด์เซมิโปรลีกมันเพิ่งจัดปีนี้ (2023) เป็นปีแรก โดยใช้เกณฑ์มาตรฐานของสนามการแข่งขันที่ได้มาตรฐานเป็นหลักเพื่อเลือกทีมเข้าไป แต่ไม่ใช่การเตะคัดเลือกเข้าไป ซึ่งข้อเสียก็คือ แทนที่จะพิจารณาให้ทุกทีมที่เป็นสมาชิกของสมาคมฟุตบอลสมัครเล่นให้เข้ามาเตะคัดเลือกกัน และนี่เป็นข้อครหาที่สมาคมฟุตบอลหรือทางไทยลีกตัดสินใจโดยไม่ใช้ความสามารถเป็นหลัก

“หลายทีมที่เป็นทีมสมัครเล่นต่างก็ไม่พอใจ ทำไมทีมที่มีศักยภาพไม่ได้เข้าสู่ระบบในการแข่งขันเพียงเพราะว่าสนามมันไม่ผ่านมาตรฐาน ซึ่งสิ่งนี้แหละมันก็เป็นปัญหาที่มีส่วนทำให้การพัฒนาเยาวชนที่ไม่ได้เข้าไปเตะในระบบลีก ทำได้เพียงแค่พาเด็กๆ ในทีมไปเดินสายแข่งเพียงเท่านั้น เพื่อให้ได้มีการแข่งขันให้เล่น อย่างนักเตะรุ่นอายุไม่เกิน 18 ปี เราก็ส่งไปเตะให้ศรีสะเกษ ยูไนเต็ดในรายการ เอฟเอ ไทย ยูธลีก ส่วนเด็กอายุไม่เกิน 13 ปี ก็ส่งไปเตะในรายการ ป.ป.ส.ไทยยูธลีกที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีทุกวันเสาร”

“ปัญหาหลักๆ ก็คือ หนึ่ง – มันไม่มีการแข่งขันให้เล่น สอง – ไม่มีการสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันที่มีมาตรฐาน แล้วการสนับสนุนด้านเงินทุนต่างๆ ที่จะพัฒนาและยกระดับสโมสรเล็กๆ มันก็ยาก ซึ่งนอกเหนือจากภาครัฐแล้วภาคเอกชนก็ควรที่จะยื่นมือเข้ามามีส่วนร่วมด้วย เพราะต่างก็มีเป้าหมายเดียวกันคือการพัฒนาวงการฟุตบอลไทย ซึ่งถ้าเราไม่เริ่มจากการพัฒนาในระดับเยาวชนแล้วก็ค่อยๆ ไล่ระดับขึ้นไปจนไปถึงระดับอาชีพ มันก็ไม่สามารถพัฒนาได้ไปไกลกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้หรอก”ถนัดกล่าว

ต้องมีอคาเดมี ปั้นนักเตะเยาวชน

ถนัดกล่าวถึงโครงสร้างในวงการฟุตบอลไทยที่ส่งผลกระทบไปถึงระดับเยาวชนด้วยว่า จะต้องมีการจัดการอย่างเป็นระบบ อย่างทีมขุนหาญยูไนเต็ดที่พยายามจะทำมาตรฐานอคาเดมีให้ได้ เริ่มจากเยาวชนตั้งแต่ 8 – 10 ขวบ ถ้าฝึกทักษะให้ดี ทั้งทักษะพื้นฐานการเล่นฟุตบอล ทัศนคติ ความทะเยอทะยาน และระเบียบวินัย ถ้าสามารถทำสิ่งเหล่านี้ให้เด็กครบ ก็จะค่อยๆ พัฒนาขึ้นเอง ยกตัวอย่างฝรั่งเศสที่มีอคาเดมีอย่าง แคลร์ ฟองแตง (Claire Fontaine) ที่ผลิตนักเตะอย่าง เธียร์รี อองรี, นิโคลา อเนลกา และนักเตะอย่าง คีเลียน เอ็มปัปเป ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ฝรั่งเศสสามารถคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก 1998 และ 2018 

“การทำแบบนี้ได้ ไม่ได้อาศัยเพียงแค่ทรัพยากรนักเตะเท่านั้น ยังต้องมีบุคลากรที่มีคุณภาพ ทั้งผู้อำนวยการ โค้ช นักกายภาพบำบัดและแมวมอง ซึ่งบุคลากรในสายงานนี้มีน้อยมากในประเทศไทย อีกทั้งค่าใช้จ่ายที่จะจ้างทีมงานทั้งหมดก็สูงมาก จะมีก็มีแต่สโมสรใหญ่ๆ อย่างบุรีรัมย์ยูไนเต็ดที่มีเงินลงทุนราวๆ 100 – 200 ล้านบาทในแต่ละปีที่จะทำได้” 

ถนัดกล่าวว่า ถ้าอยากจะให้เยาวชนไทยพัฒนาศักยภาพของตัวเองอย่างทะลุทะลวงมันก็ต้องเริ่มจากระบบอคาเดมี เพราะจะทำอย่างไรให้เด็ก 9 – 10 ขวบสามารถเติบโตไปเป็นนักฟุตบอลที่มีคุณภาพ ทั้งสภาพแวดล้อมที่ดี คนสอนที่ดี เด็กมีความทะเยอทะยานและมีระเบียบวินัย 

กองเชียร์

“ไอ้คำว่าระเบียบวินัยไม่ใช่ระเบียบวินัยแบบทหารนะ มันหมายถึงว่าเราต้องมุ่งมั่นในสิ่งทีเรากำลังทำอยู่ คือถ้าไม่มีวินัย มาซ้อมก็มาเล่นๆ ไม่มีความเป็นมืออาชีพ ซึ่งนักเตะไทยหลายคนขาดสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดนี้มันก็ขึ้นอยู่กับโอกาสด้วย ถึงแม้ว่าเยาวชนจะเก่ง จะมีคุณภาพแค่ไหน แต่ถ้าไม่มีโอกาส ไม่มีที่ให้พวกเขาได้โชว์ศักยภาพ มันก็ไปต่อได้ยาก ฉะนั้น ทั้งหมดที่กล่าวมานี้มันก็ต้องควบคู่กันไป ถึงจะเกิดผลประโยชน์มากที่สุด”ผู้อำนวยการสโมสรฟุตบอลขุนหาญยูไนเต็ดกล่าว

ด้านนายกสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดศรีสะเกษได้กล่าวถึงนโยบายของจังหวัดว่ามีทุกระดับที่จะสนับสนุนนักกีฬาจริงๆ โดยเริ่มนำเอาวิทยาศาสตร์การกีฬามาใช้ สร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนโดยการนำทีมชาติไทยมาแข่งในช่วงฟีฟ่าเดย์เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสได้ดู พยายามเพิ่มความรู้ให้กับผู้ฝึกสอนให้สามารถไปต่อยอดให้กับเยาวชนได้ พยายามจัดการแข่งขันและกำลังพยายามต่อยอดไปถึงลีกภายในอำเภอ  

ส่วนประธานสโมสรศรีสะเกษยูไนเต็ด กล่าวว่า ทางสโมสรได้เปิดคัดเลือกนักเตะอยู่แล้ว หากใครมีแววจะปั้นได้ก็ดึงเข้ามาในทีม จุดแข็งอีกอย่างคือ จังหวัดศรีสะเกษมีโรงเรียนกีฬาที่เฉพาะทางไปเลยเพื่อให้เยาวชนที่สนใจฟุตบอลหรือกีฬาอื่นๆ

ประธานสโมสรฟุตบอลศรีสะเกษซิตี้กล่าวว่า สโมสรศรีสะเกษซิตี้มีอคาเดมีของตัวเอง ให้โอกาสทุกคนที่ที่สนใจ แต่ต้องยอมรับว่า สโมสรไม่ได้มีเงินมากพอ และอคาเดมีก็มีค่าใช้จ่าย จึงต้องเก็บค่าธรรมเนียม ซึ่งก็ไม่ได้เก็บแพง เพียงเดือนละ 2,000 บาท พร้อมข้าวฟรีข้าว ชุดซ้อมชุดแข่งฟรีและมีสวัสดิการอื่นๆ ด้วย 

ชนะพัฒน์ ประสานวงศ์ ผู้อำนวยการอะคาเดมีสโมสรราษีไศลยูไนเต็ดกล่าวถึงการบริหารงบประมาณของสมาคมฟุตบอลที่จะต้องให้แต่ละทีมนั้นล่าช้า ทั้งที่ตอนนี้ใกล้จะจบฤดูกาลแล้ว แต่งบประมาณยังมาไม่ถึงสโมสรแม้

“โอกาสของเยาวชนในทีมที่ยังมีน้อย เพราะว่าแมวมองที่จะมาดูนักเตะทีมท้องถิ่นแบบนี้มันมีน้อย แต่ถ้าเป็นทีมเยาวชนที่อยู่กรุงเทพคริสเตียน ราชวินิต อัสสัมชัญ ก็จะมีแมวมองไปกระจุกอยู่แถวนั้นมากกว่า อีกทั้งสโมสรที่มีอคาเดมีเป็นของตัวเอง ถ้าไม่ใช่ทีมใหญ่อย่างบุรีรัมย์ เมืองทอง หรือ ชลบุรี มันก็น้อยที่จะมีแมวมองที่จะมาสนใจทีมเล็กอย่างเราซึ่งอันนี้คือระบบของประเทศไทยซึ่งเป็นมานานแล้ว ถึงทุกวันนี้มันมีโซเชียล มีเพจฟุตบอล ทีมท้องถิ่นก็เริ่มสร้างเพจขึ้นมาอัปเดตผลงานของสโมสรให้หลายคนได้เห็นศักยภาพของเยาวชนมากขึ้นก็จริงแต่มันก็ยังไม่พออยู่ดี”

             ชนะพัฒน์อยากให้ศรีสะเกษหรือทุกจังหวัดมีอคาเดมีที่ได้รับมาตรฐานแล้วก็เป็นอคาเดมีที่ได้รับการยอมรับ เพราะมันคือการสร้างบรรทัดฐานใหม่ การที่ให้ความสำคัญกับระดับเยาวชนเป็นความยั่งยืนทั้งการส่งเสริมเด็กที่มีความฝันได้มีทางเลือก ไม่ต้องเลือกที่จะทิ้งฝันของตัวเองเพียงเพราะว่าการเป็นนักฟุตบอลในทีมเล็กๆ ไม่มีความมั่นคง แต่ถ้าให้ความสำคัญมากขึ้น สมาคมก็จะมีนักกีฬาที่มีคุณภาพ นักกีฬาก็มีสวัสดิการที่ดีไม่ต้องอยู่แบบอดๆ อยากๆ เยาวชนที่เป็นนักกีฬาก็จะได้มุ่งมั่นเต็มที่

เมืองฟุตบอล ไม่ง่าย

ถนัด ธรรมแก้ว กล่าวว่า การที่จะเป็นเมืองฟุตบอลแบบจริงจังได้ จะต้องมีสนามที่ผ่านมาตรฐานทุกอำเภอก่อน ใครที่อยากตั้งสโมสรก็สามารถมาใช้สนามนี้ได้ มีอคาเดมี มีการจัดแข่งขัน มันถึงจะเป็นเมืองฟุตบอลได้ 

“นอกจากโครงสร้างแล้ว เงินทุนก็สำคัญมากๆ ที่เหลือมันก็จะตามมาเองโดยอัตโนมัติ  ซึ่งเงินทุนสนับสนุนส่วนมากถ้าเป็นทีมจากท้องถิ่นจะไม่ค่อยมี ในอนาคต ผมเองก็อยากเห็นสโมสรในจังหวัดศรีสะเกษได้ขึ้นไปเล่นบนลีกสูงสุดอีกครั้ง ให้ความคึกครื้นในการเชียร์ฟุตบอลของคนศรีสะเกษมันกลับมา อยากทำให้เป็นเป็นโมเดลไปเลยว่าสามารถทำให้ศรีสะเกษเป็นเมืองฟุตบอลได้จริง ได้จนถึงการพัฒนาระบบเศรษฐกิจด้วยกีฬารวมไปถึงการพัฒนาระบบขนส่งคมนาคมสาธารณะให้สะดวกสบาย เพื่อให้เป็นทางเลือกอีกทางให้ประชากรในจังหวัดที่อยากมาดูมาชมการแข่งขันในตัวเมืองได้สะดวก ซึ่งเอาจริง ๆ ในตอนนี้มันเป็นไปได้ยาก เพราะไม่ได้มีการสนับสนุนที่มากเพียงพอ” ผู้อำนวยการสโมสรฟุตบอลขุนหาญยูไนเต็ดกล่าวทิ้งท้าย

สารคดีชิ้นนี้อยู่ในโครงการ Journalism that Builds Bridges (JBB) สนับสนุนโดย สถานทูตเนเธอร์แลนด์ สถานทูตฟินแลนด์ สถานทูตนิวซีแลนด์ UNDP และ UNESCO