ภาพของอาสาสมัครจากมูลนิธิกระจกเงาที่กำลังพยายามดับไฟป่าท่ามกลางกลุ่มควันหนาทึบ

แม้ว่าพายุฝนจะเริ่มมาเยือนประเทศไทยแล้ว แต่เราคงยังไม่ลืมว่าในช่วงหน้าร้อนที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบกับภาวะอากาศร้อนและฝุ่นควันจนทำให้คุณภาพอากาศเกิดวิกฤตส่งมลพิษรุนแรง

หากย้อนกลับไปสัก 10 ปีที่ผ่านมา เรามักจะเห็นข่าวเกี่ยวกับไฟป่าตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ รุนแรงหนักในเดือนเมษายน และถึงแม้ฝนจะตกลงมาในต้นเดือนพฤษภาคม แต่หลายพื้นที่ในทางภาคเหนือยังคงมีไฟป่า เพียงแต่ไม่รุนแรงเหมือนเดือนเมษายน

ไฟป่าสร้างปัญหาคุณภาพอากาศทางภาคเหนือ และในปีนี้สถานการณ์ค่อนข้างจะรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากประชาชนไม่ได้รับมือกับไฟป่าอย่างเดียว แต่ต้องรับมือกับปัญหาฝุ่น pm 2.5 ที่สูงเกินมาตรฐานไปมาก อีกทั้งประเทศไทยยังถูกจัดให้เป็นประเทศที่อากาศย่ำแย่ที่สุดในโลก 

‘เดอะลาวเด้อ’ ได้สนทนากับ ‘สมบัติ บุญงามอนงค์’ หรือ ‘บก.ลายจุด’ จาก ‘มูลนิธิกระจกเงา’ ซึ่งมีทีมอาสาสมัครดับไฟป่าในหลายพื้นที่ของภาคเหนือในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และจากประสบการณ์ดับไฟป่าเขาได้ให้มุมมองเกี่ยวกับไฟป่าไว้อย่างน่าสนใจ 

สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด

มูลนิธิกระจกเงากับงานดับไฟป่า

เราเริ่มเข้ามาดับไฟป่าอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2563  เริ่มมีหน่วยดับไฟป่าเป็นของตัวเอง แต่ก่อนหน้านั้นจะเป็นการเข้าไปเรียนรู้กระบวนการดับไฟป่า ร่วมกับทางอุทยานฯ ไปช่วยในเรื่องของการบินโดรน ไปสังเกตการณ์ วิธีการการทำงานของเจ้าหน้าที่ สังเกตการบินอยู่ 2 ปี จนทางมูลนิธิกระจกเงามั่นใจว่าจะสามารถออกแบบหน่วยสำหรับดับไฟป่าขนาดเล็กและเข้าไปเสริมได้ ในปีแรกๆ เข้าในเสริมหน่วยดับไฟป่าของทางกรมอุทยาน เรียกได้ว่าไปช่วยดับไฟหลายครั้ง พอมีประสบการณ์ก็เริ่มไปดับไฟขนาดเล็กของตัวเองได้

ช่วงแรกเข้าไปศึกษาอยู่ 2 ปี ทางมูลนิธิมีสำนักงานอยู่ที่เชียงราย มีความคุ้นเคยกับไฟป่าอยู่ในระดับหนึ่ง ประกอบกับการที่มีทีมที่เป็นชาวเขา ดังนั้น ร่างกายของเขามีความพร้อมและมีความเข้าใจในพฤติกรรมของไฟพอสมควร เริ่มต้นพอมีต้นทุนอยู่บ้าง อาจจะมีสักครึ่งหนึ่ง เพียง 50 % พอไปดับไฟจริงๆ ถึงรู้ว่ามันต้องพัฒนาวิธีการต่างๆ มากขึ้น

ประยุกต์ใช้อุปกรณ์ล้างบ้านน้ำท่วมดับไฟป่า

อุปกรณ์มีอยู่ไม่กี่ตัว ในช่วงแรกจะเป็นเครื่องเป่าลม เครื่องเป่าถูกนำมาใช้ได้ 2 – 3 ปีแล้ว ดังนั้น จุดนี้จะไม่ได้ยากที่เราจะรู้ว่าต้องมีเครื่องเป่า เพียงแต่ว่าเราเลือกที่จะใช้เครื่องเป่าขนาดเล็กแทนการใช้ขนาดใหญ่แบบที่เจ้าหน้าที่กรมอุทยานหรือกรมป่าไม้ใช้กัน ปัญหาของเครื่องขนาดใหญ่คือความหนัก ลองคำนวณดูแล้วว่าแบกไม่ไหว เกือบ 10 กิโลกรัม และเราคิดว่าเครื่องเล็กก็แรงดี  ไม่หนัก แล้วก็คล่องตัว เลยมีการจัดซื้อเครื่องเล็กมาใช้แทน

ส่วนในเรื่องของน้ำ ในช่วงปี 2562 เราได้ลงพื้นที่ล้างบ้านช่วยชาวอุบลฯ และได้ปั๊มน้ำกลับมาด้วยจำนวน 2 ตัว ด้วยความที่เราคิดว่าต้องใช้น้ำในการดับไฟ แม้ปกติคนอื่นจะไม่ใช้น้ำในการดับไฟก็ตาม เพราะหนัก และข้อจำกัดของการใช้น้ำดับไฟคือการที่เราไม่สามารถที่จะแบกน้ำขึ้นไปดับได้ ต้องคิดเรื่องสายยางอีก เราซื้อสายยาง 20 เมตร เอามาต่อกัน ปรากฏว่ามันพอใช้ได้ในบางพื้นที่ที่ไฟไม่ได้ไกลจากจุดของปั๊มน้ำเท่าไหร่ พอมีน้ำในการดับไฟมันจะง่ายมาก ง่ายกว่าเครื่องเป่ามหาศาล

หลังจากนั้นก็เริ่มเรียนรู้ที่จะพัฒนามาใช้ปั๊มไฟฟ้า เรียกว่าปั๊ม BC มีแบตเตอรี่ในตัวปั๊มแล้วก็แบกขึ้นไป เรียนรู้เรื่องการค้นหาน้ำในป่า แทนที่จะต้องแบกน้ำขึ้นไป ทีมที่ขึ้นไปก่อนจะสอดส่องดูว่ามีแหล่งน้ำอยู่แถวนั้นหรือเปล่า ถ้ามีน้ำก็จะเริ่มทำวิธีการกักน้ำ ในเรื่องของแผนที่ ปีแรกๆ ต้องนั่งหาพิกัดผ่านแอพ แต่ในป่าไม่มีถนน ต้องหาวิธีการเข้าถึงให้ได้ สิ่งที่สำคัญคือต้องมี GPS และทำงานแบบออฟไลน์ได้ เราก็ค่อยๆ เรียนรู้ ว่ามีวิธีการใช้ วิธีการดัดแปลงยังไง ระบบวิทยุสื่อสาร ทางมูลนิธิคุ้นเคยกันอยู่แล้ว ก็เอาตรงนี้มาใช้ได้ ลองถูกลองผิด ลองมา 4 ปี 

มีไฟป่าแต่ไม่มีอุปกรณ์ดับไฟ

            สมบัติเผยว่า อุปกรณ์สำหรับดับไฟป่าเบื้องต้นสำหรับอาสาสมัครดับไฟป่าประกอบด้วยเครื่องเป่าลมสำหรับดับไฟ โดรนสำรวจพิกัดหรือตำแหน่งไฟ พาหนะสำหรับเคลื่อนที่ไปยังจุดที่เกิดไฟป่า และจากประสบการณ์ที่ผ่านมาอุปกรณ์เหล่านี้ไม่เพียงพอ

อุปกรณ์หลักที่เราใช้ในการดับไฟป่าในรอบ 3 – 4 ปี คือ เครื่องเป่าลม ซึ่งต่างประเทศเขาไม่ใช้ เพราะว่าลักษณะป่าไม่เหมือนกัน แต่สำหรับเมืองไทยเครื่องเป่าลมเป็นเครื่องมือเหมาะมาก เพราะช่วยให้การดับไฟป่ามีประสิทธิภาพ จากเมื่อก่อนใช้ไม้ตายหรือไม้กวาดซึ่งช้าและกินแรง การดับไฟป่าต้องใช้อุปกรณ์จำนวนมาก ไม่ใช่แค่การดับไฟแต่ต้องมองด้วยว่าตำแหน่งของไฟอยู่ตรงไหน

หลายปีที่ผ่านมามีดาวเทียมที่ใช้ตรวจดูไฟ สิ่งนี้มีประโยชน์มาก ทำให้รู้พิกัดไฟและปริมาณไฟ พอเรารู้ตำแหน่ง รู้พิกัดไฟ ก็จะใช้โดรนเข้าไปดู ส่วนใหญ่เป็นโดรนที่ใช้ถ่ายภาพธรรมดา ถ้าเป็นโดรนที่ใช้สำหรับดับไฟป่าจะต้องสามารถตรวจจับความร้อนได้ ซึ่งมีน้อยมาก ถ้าจะพูดถึงโดรนคงมีไม่เพียงพอ หน่วยงานรัฐก็ไม่มี หน่วยดับไฟป่าหลายหน่วยงานไม่มีโดรน โดรนธรรมดายังไม่มี สิ่งเหล่านี้ขาดแคลน แต่ถ้าจะให้เป็นโดรนที่ดีควรจะเป็นโดรนที่ตรวจจับความร้อนได้ด้วย

พอรู้ตำแหน่งไฟ สิ่งสำคัญที่ต้องมีก็คือ พาหนะเดินทางเข้าสู่จุดที่มีไฟป่า เริ่มด้วยรถโฟร์วีล,มอเตอร์ไซค์วิบาก และทุกวันนี้มีจักรยานไฟฟ้าซึ่งเหมาะกับการเดินทางเข้าในป่า ตอนนี้ต่างประเทศเขาใช้เป็นจักรยานไฟฟ้าออฟโรด (Offroad)ลาดตระเวนป่า เพราะน้ำหนักค่อนข้างเบา 

ตอนนี้รถที่เราใช้ในการขับขึ้นป่าคือ รถมอเตอร์ไซค์วิบาก เวลาขึ้นเขาแล้วล้มจะยกลำบากมาก เพราะหนัก ดังนั้น ถ้าเป็นจักรยานไฟฟ้าออฟโรดจะสามารถประคองได้ เวลาล้มจะไม่เจ็บ แต่ราคาแพงกว่ามอเตอร์ไซค์ 4 เท่า และบางประเทศเขาบรรทุกคนไป มีรถแบบ ATV ล้อใหญ่ๆ แต่ไฟป่าบ้านเขาหนักกว่าเรามาก อย่างเช่นแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกาใช้เจ้าหน้าที่อาสาสมัครที่ผ่านการฝึกแล้ว (ไม่ใช่คนทั่วไป)มีอยู่ปีหนึ่งใช้คนประมาณ 6 หมื่นกว่าคน ถ้ามีอุปกรณ์และกำลังคนที่เพียงพอ เราไม่ต้องใช้คนเยอะเหมือนต่างประเทศ เพราะไฟป่าบ้านเขาหนักกว่าเรามาก สำหรับผมใช้กำลังคนสัก 2,000 คน ก็สามารถควบคุมไฟป่าได้ ถ้าผมมีอำนาจใช้งบประมาณแบบที่รัฐบาลใช้อยู่ทุกวันนี้ผมบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้

ไฟป่าสร้างทำลายระบบนิเวศ – สุขภาพ 

หลักๆ ก็เป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม พอไม่มีป่า ไม่มีพื้นที่ซับน้ำ พอดึงฤดูฝนไม่มีอะไรบนภูเขาแล้ว ฝนตก น้ำไหลจะชะล้างเอาหน้าดินลง มีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาเรื่องน้ำหลาก พอหมดฤดูฝน ก็จะเกิดภาวะน้ำแล้งที่มาเร็วมาก ดังนั้น มันจึงเป็นเรื่องที่ทำให้ระบบนิเวศได้รับความเสียหาย ป่าไผ่ที่ถูกไฟไหม้ไป โอกาสที่จะวิวัฒนาการเป็นป่าเต็งรังหรือป่าเบญจพรรณก็จะช้า เหมือนเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ มันใช้เวลานานกว่า 10 ปี แต่วงจรนี้กลับไปนับหนึ่งใหม่ๆ ความอุดมสมบูรณ์ของป่าก็ลดน้อยลงไปเรื่อยๆ ฟื้นไม่ได้จริงๆ ทั้งที่ธรรมชาติพยายามที่จะฟื้นฟูตัวเอง 

ช่วงปีที่ผ่านมามีข้อมูลเรื่อง PM 2.5 และการป่วยเป็นมะเร็งปอด ในช่วงที่มีปัญหาเรื่องไฟป่าหมอกควัน ก่อนหน้านี้สาธารณสุขรายงานเพียงว่า มีผู้ป่วยทางลมหายใจเพิ่มขึ้น แต่ไม่ระบุให้ชัดเจนว่าอาจจะส่งผลในระยะยาว ในระดับที่เรียกว่ามะเร็ง ซึ่งมีงานวิจัยที่ชี้ชัดเรื่องนี้ ซึ่งจะต้องอธิบายกันโดยกว้าง

ผมทำงานอยู่บนดอย 7 ปี รู้ว่ามันโหดร้ายมากเวลาหายใจเข้าไป ฉะนั้น ปัญหาเรื่องสุขภาพสำคัญเป็นอับดับ 1 ฤดูไฟป่าจบลงเข้าสู่ฤดูฝน เวลาฝนตกมักจะเกิดน้ำหลากและโคลนที่ไหลมาเต็มพิกัด พอฝนหมดก็เข้าสู่ภาวะน้ำแล้งเพราะเก็บน้ำไม่ได้ ทำให้เกิดปัญหาเรื่องน้ำแล้ง เรื่องการท่องเที่ยวธุรกิจเศรษฐกิจเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญในการกระจายรายได้ออกสู่ชนบท ชีวิตความเป็นอยู่หรือคนที่จะทำมาหากินในพื้นที่ก็ลำบากไปหมด จริงๆ ถ้าเข้าใจปัญหาจัดการมันได้เราจะอยู่ดีมาก อันนี้พูดถึงทางภาคเหนือนะ ถ้าเราช่วยกันรักษาธรรมชาติ ธรรมชาติก็จะทำหน้าที่ดูแลเรา ใช้ประโยชน์ได้ทั้งปีทั้งชาติสามารถไปเก็บของป่าได้

ถ้าเกิดไฟป่าหน่วยงานไหนที่รับผิดชอบ 

กรมป่าไม้และกรมอุทยาน ขึ้นอยู่กับว่าไฟเกิดขึ้นในพื้นที่ป่าของใคร ซึ่ง 2 หน่วยงานดูแลพื้นที่ป่า เขาจะมีการจัดทีมเฉพาะเจ้าหน้าที่ดับไฟป่า ไม่ใช่ผู้พิทักษ์ป่า ก็จะมีหน่วยงานพวกนี้อยู่จังหวัด เวลามีไฟป่าทางภาคเหนือก็จะระดมคนมาแต่ว่าหนจำนวนเจ้าหน้าที่จะมีประมาณ 10 คน เป็นหน่วยเล็ก ในส่วนของงบประมาณไม่ทราบแน่ชัด แต่อาจจะถึงร้อยล้าน โดยจะแบ่งออกเป็นงบประมาณสำหรับการป้องคือทำแนวกันไฟที่ใช้ในการดับไฟป่า รายละตรงนี้ไม่แน่ชัด

ไฟป่าสะท้อน ‘น้ำยา’ รัฐบาล

ถ้ารัฐบาลจัดการเองได้ก็คงไม่ต้องออกไปดับไฟป่าเพราะมันเหนื่อย ทีมดับไฟป่าที่อยู่เชียงรายอยู่กับไฟและควันมาเป็น 10 – 20 ปี พอเห็นขีดความสามารถของรัฐบาลที่ทำได้แค่นั้น ได้แต่ช่วยเหลือกัน ชาวบ้าน องค์กรพัฒนาเอกชน มูลนิธิก็ต้องช่วยกัน ทีมพวกเรามีศักยภาพมีคนหนุ่มคนสาวเยอะ แล้วเราก็ใช้เทคโนโลยีศึกษามาอย่างดีว่าระบบในประเทศและต่างประเทศจัดการเรื่องนี้ยังไง พอทำแล้วรู้สึกว่าจริงๆเราก็ทำได้ และทำได้เอง

ไฟป่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทุกปี แต่เป็นเรื่องที่รัฐจัดการได้ช้า มีการพัฒนา แต่เป็นการพัฒนาที่ช้า ต้องใช้เวลาประมาณ 5 ถึง 20 ปี แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ คนที่มีอำนาจไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารของหน่วยงาน รัฐบาล ที่เป็นฝ่ายการเมืองเขามองไม่เห็นรูปประธรรมหรือวิธีการจัดการพอมองไม่เห็นรายละเอียดทางเทคนิคมันจะแคบ อย่างพวกเราอยู่หน้างานมีโอกาสเห็นทุกครั้ง เราก็จะลองหาว่าอะไรจะมาแก้ปัญหานี้ได้ 

ข้อดีของเอกชนอย่างเราคือ ไม่ต้องไปรายงานคนอื่น อยากได้อะไรก็ไปหา งบประมาณ อุปกรณ์ จัดซื้อกันเอง นอกจากนี้เรายังมี ทีมงานสำหรับซ่อมบำรุงอุปกรณ์ที่เสียหาย อีกอย่างเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าของรัฐมีเงินเดือนประมาณ 9,000 บาท คนเหล่านี้เป็นคนตัวเล็กตัวน้อย จะมีอำนาจอะไรไปเสนอว่าอยากได้กำลังคนเพิ่มเพราะคนไม่พอ และถ้าขอเพิ่มได้ งบประมาณใครจะจ่าย ดังนั้น มันจึงลำบากถ้าจะหวังพึ่งพารัฐบาลในเวลานี้ ยกเว้นว่าฝ่ายการเมืองจะเข้าใจอย่างพวกเรา

ไฟป่ามาจากไหน

ก่อนอื่นเลย ไฟป่าเกิดขึ้น 2 จุด จุดที่ 1 คือพื้นที่ที่มีความคาบเกี่ยวกับพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน เนื่องจากเข้าใกล้ฤดูช่วงเพาะปลูก จะมีการกำจัดวัชพืช บางทีเกษตรกรคุมไฟได้ไม่ดี หรืออาจจะไม่ได้คุมเลย เวลาเผาวัชพืชไฟลามเข้าป่า เป็นการลามจากพื้นที่เกษตรของชาวบ้าน จุดที่ 2 เป็นเรื่องของการหาของป่า ไม่ว่าจะล่าสัตว์ ไปเก็บน้ำผึ้ง เพราะว่าจะมีฤดูการเก็บรังผัง เป็นน้ำผึ้งเดือน 5 วิธีการเก็บรังผังก็ต้องใช้ควันไฟ อาจจะเกิดสะเก็ดไฟ การเก็บเห็ด เพราะมีความเชื่อว่า เผาแล้วเห็ดจะขึ้น แต่จริงๆ ไม่ใช่ การเผาคือทำให้การมองเห็นเห็ดมันง่ายขึ้น เพราะป่า หญ้า ใบไม้หายหมด อีกทั่งชาวบ้านมีความกังวลว่าไฟป่าจะลามเข้ามาในพื้นที่ของตน ก็จะเกิดการเผาทำลายเชื้อไปก่อน ส่วนในประเทศเพื่อนบ้านที่ลามติดมาก็มี เนื่องจากชายแดนที่ติดกัน เวลาเพื่อนบ้านเผา ก็ลามเข้ามา

ส่วนไฟป่าที่เกิดจากเอกชนนั้นมาทางอ้อม เพราะว่าเอกชนเข้าไปส่งเสริมการปลูกพืชเชิงเดี่ยว พืชล้มลุก มันต้องเผา มันกระบวนการในการเตรียมพื้นที่ ทั้งอ้อยทั้งข้าวโพด ส่วนในหน่วยงานรัฐก็จะมีหน่วยงานที่ปลูกป่าเศรษฐกิจ ซึ่งก็กลัวไฟป่าจะเข้ามาในพื้นที่ของตน ก็ทำอย่างที่ชาวบ้านทำ คือการป้องกันด้วยการเผา แต่จริงๆ มันคือสร้างไฟเพิ่ม เหมือนการป้องกันบ้านตัวเอง แต่ไฟเข้าป่าไป แล้วไม่มีใครไปดับ 

เอลนีโญ่ + อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ = ไฟป่า

 ไฟป่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วโลก ตอนนี้เกิดภาวะเอลนีโญ ประเทศที่อยู่ในพื้นที่เส้นศูนย์สูตรก็เกิดปัญหาไฟป่ากันทั้งนั้น แต่ในภูมิภาคมันมีลักษณะร่วม เนื่องจากอยู่ในช่วงของการทำการเกษตร พฤติกรรม มีตัวเชื่อมบางอย่างคือ ปลูกพืชเชิงเดี่ยวในลักษณะใกล้เคียงกันก็คือ ข้าวโพด พออุตสาหกรรมอาหารสัตว์เติบโตมาก คนบริโภคเนื้อมากขึ้น มันจึงทำให้อาหารสัตว์มีความจำเป็นมากขึ้น ตอนนี้ข้าวโพดราคาแพงมาก ราคาดีกว่าข้าว ผลผลิตก็ยังมากกว่าเสียอีก บริษัทเหล่านี้จึงกระจายพื้นที่เพาะปลูกทั้งในประเทศและต่างประเทศ การปลูกข้าวโพดลุกลามมาก การปลูกในพื้นที่สูงยากที่จะเอาเทคโนโลยีเข้าไปคุมได้ จะเอาเครื่องจักรเข้าไปคุมก็ยาก การเผามันเลยกลายเป็นวิธีการหลัก 

กฎหมายพ่ายข้าวโพดนำเข้า

            การเผามีกฎหมายควบคุมหมดเลย ผิดกฎหมายหมด เพียงแต่ว่าดันไปเปิดช่องส่งเสริมการนำเข้าข้าวโพดมีมาจากต่างประเทศ ถ้าไทยสามารถควบคุมไม่ให้นำเข้าข้าวโพดจากประเทศเพื่อนบ้านที่มาจากการเผาได้ มันจะทำให้การส่งเสริมลดลง การเผาลดลง แต่ตรงนี้ก็อาจจะไปขัดกับเขตการค้าเสรีของอาเซียนด้วยหรือไม่อย่างไร ไม่แน่ใจ ทั้งนี้ไม่แน่ใจว่ามาตรการกฎหมายใช้ได้จริงหรือเปล่า และคิดว่ายังสามารถที่จะพัฒนาข้อกฎหมายต่อไปได้

ไฟป่าไทยสู่ไฟป่าอาเซียน

จากกรณีที่มีพรรคการเมืองบางพรรคอ้างว่าสามารถเจรจากับเพื่อนบ้านให้ลดการเผาป่าได้ และหากเพื่อนบ้านไม่ทำตาม จะไม่นำเข้าข้าวโพดจากประเทศนั้น ก็เป็นอันเข้าใจได้ว่า ไฟในต่างประเทศมันค่อนข้างที่จะชัดว่าเกิดจากชาวบ้านที่เขาใช้ในการเพาะปลูก เตรียมพื้นที่เพาะปลูก ก็คือปลูกข้าวโพด การปลูกข้าวโพดในประเทศเพื่อนบ้านมากกว่าการปลูกและผลิตบ้านเรา ผมเข้าใจว่าเขาไม่มีหน่วยดับไฟป่า หมายความคือ ถ้าเลยนอกพื้นที่ไปแล้วก็ปล่อยให้มันลามไปเรื่อยๆ 

ถามว่าเป็นมาตรการที่ควรใช้ระหว่างรัฐบาลไหม ผมว่าควร แต่ว่าไม่ง่าย ในกรณีที่ประเทศเพื่อนบ้านที่สภาพทางการเมืองเขาเป็นแบบนี้ แต่ถ้าไม่หยุดแล้วไม่สามารถนำเข้าได้ ผมว่าเรื่องนี้น่าสนใจ ถ้าไม่สามารถนำมาขายในประเทศไทยได้ ก็จะทำให้ไม่มีเหตุจูงใจในการปลูกข้าวโพดและไม่มีตลาด ดังนั้น การผลิตในฝั่งประเทศเพื่อนบ้านจะต้องเปลี่ยน

ส่วนตัวผมยังเสียดายที่เขาเอาป่า ที่ดินไปปลูกข้าวโพดกัน เพราะเป็นพืชระยะสั้น ถ้าสามารถทำเรื่องอุตสาหกรรมป่าไม้ได้เหมือนในมาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือฟินแลนด์ ผมคิดว่าดีกว่าเพราะเวลาปลูกข้าวโพดบนดอยจะต้องเตรียมพื้นที่เพาะปลูกใหม่ ซึ่งยากมากที่จะใช้เครื่องจักรเข้าไปจัดการ เลยมีแค่วิธีการเผา ไม่เหมือนพื้นราบที่เราสามารถใช้รถเครื่องจักรในการเก็บเกี่ยวได้ ก่อนหน้าก็มีการเผาเยอะมาก แต่ว่าทุกวันนี้มีรถเกี่ยวที่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ถ้าเป็นข้าวโพดอยู่ผมคิดว่ายาก แต่เป็นเรื่องที่ต้องทำต้องกดดันกัน

การป้องกันที่ดีที่สุดคือการอย่าจุด อย่าเผา เบื้องต้นต้องทำความเข้าใจก่อนว่ามีเหตุปัจจัยอะไรบ้าง แต่จริงๆ มันยากมาก และเนื่องจากหน่วยในการดับไฟต้องเร็ว คิดว่าความเร็วในการดับไฟ เป็นเรื่องที่สำคัญ ต่อมาคือการออกแบบให้มีระบบน้ำกระจายอยู่ในพื้นที่ให้มาก ทำสถานีน้ำไปไว้ตามสันเขาหรือจุดต่างๆ ที่ประเมินแล้วว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดไฟป่า เวลาเกิดไฟป่า เราอาจจะถือแค่ถังฉีดเปล่าๆ ไปแล้วขึ้นไปเอาน้ำด้านบนเลยยังได้ จะเร็วมาก เพราะการมีน้ำในการควบคุมไฟ มีประสิทธิภาพมาก ไม่เหนื่อย เก็บไฟเรียบร้อย โอกาสที่ไฟจะติดขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งก็จะน้อยลง

บทเรียนกระจกเงากับไฟป่า

ปี 2566 นี้ถึงแม้มีประสบการณ์มากเรื่อยๆ แต่ว่าเป็นปีที่มีไฟจำนวนมหาศาลเลย เนื่องด้วยอากาศที่ร้อนมาก การดับไฟของมูลนิธิยังไม่เท่ากับการขยายตัวของไฟ การดับไฟต่อเนื่อง กินเวลา ทำให้ล้ามาก สิ่งที่กำลังจะพัฒนา คือ การใช้เครื่องมือหรือการออกแบบแผนการดับไฟที่จะมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงการเพิ่มปริมาณอาสาสมัครที่จะเข้าไปดับไฟให้มีจำนวนที่สอดคล้องกับฤดูไฟป่า ปีนี้มูลนิธิมี 30 คน แต่เราคิดว่าตัวเลขที่จะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นคือ 80 คน

กลางเดือนพฤษภาคม 2566 จะมีการประชุมสรุปบทเรียน รวมไปถึงการออกแบบในปีหน้า ปีนี้เราได้บทเรียนแบบนี้ ปีหน้าเราต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง เริ่มทำสถานีน้ำ ปีนี้เราพบว่า การใช้จักรยานไฟฟ้าในการเดินทางไฟดับไฟ มันได้ผลมากๆ ดีกว่ามอเตอร์ไซค์วิบาก เพราะมีน้ำหนักที่เบา คล่องตัวกว่า ปลอดภัยกว่า ถ้าเป็นจักรยานไฟฟ้าที่เป็นจักรออฟโรด จะมีราคาแพงมาก มูลนิธิกำลังศึกษาวิธีการ DIY จะซื้อมอเตอร์ที่มีกำลังสูง เอามาดัดแปลงสำหรับการทำจักรยานเองได้หรือไม่ การแก้ปัญหาเรื่องระบบสื่อสารระหว่างปฏิบัติงาน เพราะว่าถ้าเข้าไปดับไฟในหุบเขา ระบบโทรศัพท์หรือวิทยุสื่อสาร สื่อสารกันแล้วติดขัดมาก ดังนั้น จึงคุยกันว่าจะใช้ Repeater (อุปกรณ์ทวนสัญญาณ) ประเภทไหน ในการทวนสัญญาณระบบสื่อสาร ทำให้ติดขัดในการสื่อสารของผู้ที่อยู่หน้าไฟกับผู้ที่อยู่ฐานบัญชาการ