ท่ามกลางมวลบรรยากาศในระหว่างกลางเดือนแห่งเทศกาลสงกรานต์อันเป็นเทศกาลแห่งครอบครัวและความชุ่มฉ่ำนั้น ไกลออกไปจากเมืองวารินชำราบเพียงสิบกว่ากิโลเมตร โดยเดินทางมาตามถนนหมายเลข 24 อันเป็นเส้นทางที่จะนำไปสู่อำเภอ ‘เหลดอุ๊ลม’ ก่อนออกสู่อีสานใต้นั้น ไม่ใกล้ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี หากท่านเป็นผู้มาเยือนร้านหนังสือในสวนดอกไม้ฟิลาเดลเฟีย ในช่วงที่ฟ้าขาดฝนปรากฏเพียงฝุ่นจากเนินดินที่ฟุ้งไปจับบนกองอิฐและเหล็กเส้นท่ามกลางเปลวแดด ขณะที่แนวกำแพงที่บ่งบอกถึงอาณาเขตก่อตัวขึ้นแม้จะมีคนเพียงจำนวนหนึ่งที่กำลังขะมักเขม้นอยู่กับการทำงานกลางแจ้งประดุจกรรมกรหนุ่มที่มากไปด้วยกำลังแรงใจที่สำทับเข้ากับบทเพลง ‘หนุ่มก่อสร้าง’ จากพงษ์เทพ กระโดนชำนาญ ที่ทำให้พื้นที่ก่อสร้างแห่งนี้ไม่ขาดไร้ซึ่งเสียงแห่งคนธรรณ์

นั่นเองคือช่วงเวลาของการวางโครงสร้างและปรับพื้นที่สำหรับ ‘ห้องสมุดผีบุญ’ ที่มาพร้อมกับ ‘ศูนย์ศึกษาอีสานและปฏิบัติการทางศิลปะถนอม ชาภักดี’ อันเป็นมินิโปรเจ็คของคนตัวเล็กตัวน้อยอย่าง ‘เจี๊ยบ วิทยากร โสวัตร’ ที่มาพร้อมกับคู่ชีวิตของเขาและครอบครัวแห่งร้านหนังสือฟิลาเดลเฟีย ก็ได้ก่อรูปรอยขึ้น เพื่ออุทิศแด่ประวัติศาสตร์ที่กำลังถูกชำระอย่างประวัติศาสตร์ ผู้มีบุญบ้านสะพือ และถือเป็นการอุทิศแด่ดร.ถนอม ชาภักดี นักปฏิบัติการทางศิลปะผู้ล่วงลับ

โดยในการต่อเติมนิวาสถานแห่งนี้ ก็ได้พี่ชายแท้ๆของวิทยากร โสวัตร อย่าง ‘สุวิทย์ โสวัตร’ นายช่างจากเมืองน้ำดำกาฬสินธุ์ มารับหน้าที่นายช่างและสถาปนิกผู้ไร้ใบปริญญาใดๆ มีแต่เพียงประสบการณ์จากการประกอบอาชีพ‘ขายแรงแลกเงิน’ มาค่อนชีวิตจนย่างเข้าสู่วัย 53 ปี ที่มาพร้อมกับเครื่องไม้เครื่องมือ และ ‘เด็กชายมดแดง (นามสมมติ และขอสงวนนามสกุล)’ หลานชายตัวกระเปี๊ยกผิวคล้ำก่ำเกลี้ยงร่างเล็กยิ้มสะอาดที่กำลังจะขึ้นสู่ช่วงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ในโรงเรียนชุมชนแห่งหนึ่งในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์

โดยเด็กชายมดแดง ผู้ว่างเว้นจากการเรียนในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนก็ได้ติดสอยห้อยตามผู้ที่เปรียบเสมือน “พ่อ” อย่าง สุวิทย์ โสวัตร มาจนกระทั่งถึงนิวาสถานร้านหนังสือในสวนดอกไม้ ฟิลาเดลเฟีย ตามภาระงานในฐานะนายช่างดังที่กล่าวมา

ผู้เขียนในฐานะพนักงานอาสาในการปลูกสร้าง ‘ห้องสมุดผีบุญ’ ‘ศูนย์ศึกษาอีสานและปฏิบัติการทางศิลปะถนอม ชาภักดี’ ในระหว่างที่อาศัยใต้ชายคาร้านหนังสือในสวนดอกไม้แห่งนี้จึงได้พูดคุยและแลกเปลี่ยนกันตามประสาคนที่อาศัยอยู่ใต้ชายคาเดียวกันแม้เพียงชั่วคราวนั้น ได้นำมาสู่การสำรวจเรื่องราวของ ‘เด็กชายมดแดง’ ที่จะชวนให้ตั้งคำถามว่า เพราะอะไรและทำไม เด็กชายที่กำลังจะขึ้น ป.5 ถึงยังอ่านหนังสือไม่ออก..

“เหตุเกิดเมื่อเด็กชายมดแดงต้องเขียนบิลล์จ่ายตลาด..”

ร้านหนังสือฟิลาเดลเฟียคงไม่ต่างจากบ้านเรือนที่อยู่อาศัยทั่วไป ที่มีชีวิตชีวาอันนอกเหนือจากการขายหนังสือแล้วยังประกอบสร้างจากกิจวัตรอันเป็นปกติของมนุษย์ แน่นอนว่ากิจวัตรที่ว่านั้นคือการ ‘ประกอบอาหาร’ ซึ่งทำขึ้นในพื้นที่ที่เรียกว่า ‘ห้องครัว’ ที่ตั้งอยู่เพียงชั่ววงกบประตูขวางกั้นจากตัวร้านหนังสือ

ขณะที่ลุงสุวิทย์ ว่างเว้นจากงานก่อสร้างเพื่อหลบแดดในยามบ่าย ปรากฏว่าสิ่งที่ลุงวิทย์ทำได้ดีไม่แพ้การผสม ฉาบปูนและก่อกำแพงนั้น ก็คือ ‘การทำอาหาร’ โดยเมนูสำหรับข้าวแลงในวันนั้นคือ ‘ลาบเป็ด’

เมื่อวัตถุดิบอย่าง “ผักชี ผักสะระแหน่ ใบมะกรูด” อันเป็นเครื่องเคียงและส่วนประกอบสำคัญได้ขาดหายไป โดยให้‘เด็กชายมดแดง’ ทดลองจดชื่อผักทั้ง 3 ชนิดข้างต้นลงในบิลล์กระดาษสำหรับจ่ายตลาด สำหรับกันลืม..

หลังจากยิ้มด้วยฟันขาวและอิดออดทำทีลีลาอยู่นาน จึงได้พิจารณาและตั้งสมมติฐานถึงพื้นฐานด้านทักษะการเขียนและการอ่านของเด็กชายมดแดงว่า เมื่อเทียบกับช่วงวัยแล้ว (11 ขวบ) ถือว่าอยู่ในขั้นที่น่ากังวล

พร้อมกับทราบว่าเด็กชายมดแดง รับรู้ว่าได้ผ่านการฟัง แสดงออกในลักษณะว่าจำได้ ไม่ต้องจดก็ได้ เพราะรู้จักอยู่ว่าอะไรคือผักชี ผักสะระแหน่ ใบมะกรูด หากแต่ถ้าจะให้เขียน จำเป็นจะต้องกำกับไปทีละ ‘ตัวอักษร’

‘ท็อฟฟี่ ศินีนาฏ โสวัตร’ เจ้าหน้าที่สำนักอนามัยที่ 10 อุบลราชธานี ผู้เป็นหุ้นส่วนร้านหนังสือในสวนดอกไม้ ฟิลาเดลเฟียและเป็นคู่ชีวิตของวิทยากร โสวัตร จึงมีสถานะเป็นอาตามลำดับเครือญาติ โดยคุณท็อฟฟี่ได้ใช้เวลาจากการว่างเว้นในวันหยุดราชการเพื่อที่จะเริ่มปูพื้นฐานทางภาษาให้ใหม่ทั้งหมดผ่านสื่อการสอนออนไลน์ ตั้งแต่เรื่องของพยัญชนะ และเรื่องของสระ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการถอดรหัสทางภาษาผ่านการสะกดให้เป็นคำ.. พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมในระบบการศึกษาปล่อยเด็กมาถึงขนาดนี้ได้อย่างไร?

ซึ่งหลังจากได้เริ่มปูพื้นฐานจึงได้พบอีกว่า แรกเริ่ม เด็กชายหมูเด้ง จดจำสระได้เพียงตัวเดียวคือสระ –า ส่วนพยัญชนะนั้นจำได้เพียงบางตัว และเมื่อลองพูดคุยไถ่ถามกับเด็กชายหมูเด้งเองนั้น ก็ได้ความว่า คำเดียวที่สามารถเขียนได้อย่างมั่นใจคือคำว่า “ดำนา” เป็นคำเดียวที่จะเขียนได้ถูก หากมีการเขียนตามคำบอกในรายวิชาภาษาไทยภายในชั้นเรียน..

ในฐานะผู้เขียน เมื่อพิจารณาดูระบบการวัดผลประเมินผลภายในระบบการศึกษา ที่มีการวัดและประเมินผลอย่างการสอบ NT สำหรับประถมศึกษาปีที่ 3 , การสอบ O-NET สำหรับประถมศึกษาปีที่ 6 และมัธยมศึกษาปีที่ 3 และมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งน่าจะเป็นการวัดและประเมินผลที่ทางโรงเรียนแต่ละโรงเรียนคาดหวังอย่างยิ่งว่าจะมีคะแนนอย่างน้อยๆก็อยู่ในระนาบเดียวกันหรือใกล้เคียงกับผลการวัดประเมินระดับชาติ ไม่ขี้ริ้วขี้เหล่ เพื่อนำไปสู่เรื่องต่างๆอันเป็นกระบวนการความซับซ้อนของระบบการศึกษาไทยที่วัดเพียงผลงานออกมาเป็นตัวเลข โดยมีเด็กแบบเด็กชายมดแดงอีกตั้งกี่คนที่เสมือนหนึ่งถูกทอดทิ้งจากตัวเลขความสำเร็จดังกล่าว

เป็นเพียงจำนวนนับที่เหมือนถูกนับแต่ไม่ถูกนับในระบบการศึกษา หลังจากทำการสืบค้นคะแนนในปีที่เด็กชายหมูเด้ง ศึกษาอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งจะมีการสอบวัดผลประเมินผลในรูปแบบของ การสอบ National Test  (NT) คือ การทดสอบความสามารถพื้นฐานของผู้เรียนระดับชาติ เป็นการทดสอบเพื่อวัดความรู้ และความคิดรวบยอดของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้ถึงข้อมูลสารสนเทศของผู้เรียนใน 3 ด้าน คือ 1. ความสามารถด้านภาษา (Literacy) 2. ด้านคำนวณ (Numeracy) 3. ด้านเหตุผล (Reasoning Abilities) ทางผู้เขียนจึงใคร่นำเสนอคะแนนที่เป็นเสมือนดั่งผลผลิตที่ถูกเสนอต่อกระทรวงศึกษาโดยเลือกเอาปีการศึกษาที่เด็กชายหมูเด้งศึกษาอยู่ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 นั่นคือปีการศึกษา 2564 ขึ้นมานำเสนอเพื่อให้เห็นภาพรวมที่ถูกนำเสนอ ก่อนจะนำมาวางทับซ้อนในภาพจากเบื้องล่างซึ่งยกเป็นกรณีศึกษาคือบุตรหลานของลุงสุวิทย์อย่าง ‘เด็กชายมดแดง’

เริ่มต้นที่คะแนนสอบ NT ป.3 ปีการศึกษา 2564

ข้อมูลจากเอกสาร NT รายงานผลการประเมินคุณภาพผู้เรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2564 ของสำนักทดสอบทางการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ผู้เขียนนำมาเรียบเรียงและพิจารณาประกอบนั้นจะโฟกัสเฉพาะในส่วนของวิชาภาษาไทย อันเปรียบเสมือนเครื่องมือในการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานก่อนที่จะนำไปสู่การเข้าถึงองค์ความรู้ในศาสตร์อื่นๆจากเครื่องมือที่ชื่อว่า ‘ภาษา’ ในการถอดรหัส

โดยส่วนนี้จะได้นำเสนอคะแนนของระดับประเทศ เมื่อเทียบกับคะแนนเฉลี่ยของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และขยับโฟกัสจากระดับภูมิภาคมาสู่ระดับพื้นที่ของ สำนักศึกษาธิการภาค 12 ซึ่งมีขอบเขตพื้นที่คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง อันได้แก่ ร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ โดยครอบคลุมโรงเรียนที่เด็กชายมดแดงสังกัดอยู่ ซึ่งโรงเรียนดังกล่าวจัดเป็น โรงเรียนขยายโอกาสขนาดเล็กนักเรียนไม่เกิน 120 คน สังกัดสพฐ. ในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์

จาก ตารางที่ 17 ผลการประเมินคุณภาพผู้เรียน (NT) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2564 ระดับภูมิภาค

คะแนนเฉลี่ยด้านภาษาไทยของระดับประเทศอยู่ที่ร้อยละ 56.14 ซึ่งจากตรงนี้จะเห็นได้ว่าคะแนนสูงกว่าระดับคะแนนเฉลี่ยทั้งประเทศ ส่วนคะแนนเฉลี่ยด้านภาษาไทยของภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ร้อยละ 59.21 ซึ่งหากจำแนกตามระดับคุณภาพตาม ตารางที่ 19 ผลการประเมินคุณภาพผู้เรียน (NT) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2564 ระดับภูมิภาค จำแนกตามระดับคุณภาพ โดยแบ่งเป็น 4 ระดับ คือ ดีมาก ดี พอใช้ และ ปรับปรุง ตามลำดับ

ในการวัดประเมินผลด้านภาษาไทยจะพบว่า จากจำนวนนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2564 เฉพาะภาคอีสาน จากนักเรียนที่เข้าทำการสอบวัดประเมินผลระดับประเทศ (NT) ทางด้านภาษาไทยมีจำนวน 145,313 คน สามารถจำแนก

อยู่ในระดับดีมาก 45,266 คน คิดเป็นร้อยละ 35.92

อยู่ในระดับดี 49,139 คน คิดเป็นร้อยละ 34.81

อยู่ในระดับพอใช้ 36,135 คน คิดเป็นร้อยละ 21.5

และอยู่ในระดับปรับปรุง 14,773 คิดเป็นร้อยละ 7.66

ร้อยละ 7.66 ตามข้อมูลภายในเอกสาร เป็นจำนวนตัวเลข 14,773 คือจำนวนเยาวชนจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ในปีการศึกษา 2564 ที่สะท้อนผลออกมาว่า

จำเป็นที่จะต้องได้รับการพัฒนาศักยภาพจากภาคส่วนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในกระบวนระบบการศึกษาทั้งทางตรงทางอ้อม โดยเฉพาะในเรื่องของพื้นฐานด้านภาษา ที่ต้องเริ่มพัฒนาตั้งแต่ระดับเริ่มต้นจนถึงขั้นสามารถสื่อสาร ต่อยอดกับรายวิชาอื่นๆและสามารถอยู่ร่วมกับในสังคมโดยไม่รู้สึกไร้ค่า ด้อยราคา

โดยเมื่อพิจารณาจากตารางที่ 20 ผลการประเมินคุณภาพผู้เรียน (NT) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2564 ระดับสำนักงานศึกษาธิการภาค 12 จะพบว่า คะแนนเฉลี่ยสำนักงานศึกษาธิการภาค 12 อยู่ที่ร้อยละ 59.91 ซึ่งเมื่อเทียบกับคะแนนเฉลี่ยระดับประเทศที่อยู่ที่ร้อยละ 56.14 ก็อยู่ในระดับสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยทั้งประเทศเล็กน้อยคือร้อยละ 3.78

และ จากตารางที่ 22 ผลการประเมินคุณภาพผู้เรียน (NT) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2564 ระดับสำนักงานศึกษาธิการภาค จำแนกตามระดับคุณภาพ (ต่อ) โดยแบ่งเป็น 4 ระดับ คือ ดีมาก ดี พอใช้ และปรับปรุง ตามลำดับ

ในการวัดประเมินผลด้านภาษาไทยจะพบว่า จากจำนวนนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2564 เฉพาะระดับสำนักงานศึกษาธิการภาค 12  จากนักเรียนที่เข้าทำการสอบวัดประเมินผลระดับประเทศ (NT) ทางด้านภาษาไทยมีจำนวน 36,251 คน สามารถจำแนก

อยู่ในระดับดีมาก 13,875 คน คิดเป็นร้อยละ 38.27

อยู่ในระดับดี 11,950 คน คิดเป็นร้อยละ 32.96

อยู่ในระดับพอใช้ 7,390 คน คิดเป็นร้อยละ 20.38

และอยู่ในระดับปรับปรุง 3,036 คิดเป็นร้อยละ 8.37

ร้อยละ 8.37 ตามข้อมูลจากเอกสาร ที่แปรรูปจากร้อยละมาเป็นจำนวนตัวเลข 3,036 ที่บ่งบอกถึงจำนวนเยาวชนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ในปีการศึกษา 2564 จากพื้นที่สำนักงานศึกษาธิการภาค 12 อันครอบคลุมพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง อันได้แก่ ร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ ที่เชื่อว่า กรณีของเด็กชายมดแดง จากเมืองกาฬสินธุ์ก็เป็นหนึ่งในจำนวนนี้เอง..

เมื่อพิจารณาบริบทโรงเรียนที่เด็กชายมดแดงศึกษาอยู่ เป็นโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดกาฬสินธุ์ ห่างจากตัวเมือง 8-10 กิโลเมตร เป็นโรงเรียนขยายโอกาส มีตั้งแต่ประถมศึกษาปีที่ 1 – มัธยมศึกษาปีที่ 3 ปัจจุบันมีนักเรียนประมาณหนึ่งร้อยกว่าคน ซึ่งจัดอยู่ในหมวดของโรงเรียนขนาดเล็ก

จากตารางที่ 31 ผลการประเมินคุณภาพผู้เรียน (NT) ประถมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2564 กลุ่มสถานศึกษาที่มีขนาดต่างกัน จำแนกตามระดับคุณภาพ 

ปีการศึกษา 2566 มาถึงแล้ว..

ข้อมูลข้างต้นที่นำมาเรียบเรียงนั้นมาจากเอกสารที่จัดพิมพ์โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยถือว่าเป็นการจัดทำสถิติที่ครอบคลุมทั้งประเทศ และขณะที่ปีการศึกษา 2566 ได้มาถึงเป็นที่เรียบร้อยแล้วและเด็กชายมดแดงจากนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ในปีการศึกษา 2564 ก็ได้เลื่อนชั้นขึ้นสู่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 

จากแผนภูมิที่ 19 ผลการประเมินคุณภาพผู้เรียน (NT) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2564 ระดับศึกษาธิการจังหวัดจำแนกตามความสามารถด้านภาษาไทย ซึ่งหากพิจารณาโฟกัสเฉพาะจังหวัดกาฬสินธุ์จะพบว่าภาพรวมของจังหวัดกาฬสินธุ์ถูกจัดอยู่ในกลุ่มดี ซึ่งแทนโดยการใช้สีเหลือง หากแต่สิ่งที่ละเลยไม่ได้เช่นกัน ไม่ใช่เฉพาะพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ หรือพื้นที่ที่ถูกจัดให้เป็น สำนักศึกษาธิการภาค 12 

กลุ่มที่กำลังจะกล่าวถึง คือกลุ่มผู้เรียนที่เปราะบาง โดยเฉพาะเรื่องของทักษะทางด้านภาษาที่เป็นส่วนสำคัญสำหรับใช้ในการสื่อสารที่ไม่ได้หมายรวมเฉพาะการพูด หากแต่หมายรวมไปถึงการเขียน และ การอ่าน ซึ่งเป็นทักษะอันพึงมีขั้นพื้นฐานในฐานะมนุษย์ในสังคมที่ยังมีความจำเป็นที่จะต้องมีการสื่อสาร..

จึงนำมาสู่คำถามบนหัวเรื่องที่ว่า ‘ทำไมเด็กที่กำลังจะขึ้น ป.5 ถึงยังอ่านหนังสือไม่ออก?..’ ทั้งที่เวลาผ่านมาถึง 2 ปีการศึกษา และคำถามสืบเนื่องว่า “หลังมีการเก็บข้อมูลผ่านการวัดและประเมินผลแล้ว ได้มีการติดตามผลผู้เรียนกลุ่มเปราะบางเหล่านี้บ้างหรือไม่?”

เพราะผู้เรียนเหล่านี้เอง ไม่ว่าจะด้วยเหตุปัจจัยด้านทุนทรัพย์ ด้านครอบครัว ด้านบริบทแวดล้อม ที่ประสบเป็นอุปสรรคในการศึกษาเล่าเรียน ล้วนแล้วแต่ส่วนทำให้ผู้เรียนกลุ่มนี้กลายเป็นผู้เรียนกลุ่มเปราะบางและสุ่มเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาไปในที่สุด

นับเฉพาะที่มีตัวตนและเป็นผู้รับบริการทางการศึกษาในจังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และกาฬสินธุ์ ที่เป็นโรงเรียนของรัฐ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของภาครัฐที่มีกลุ่มเปราะบางที่จำเป็นจะต้องได้รับการพัฒนาศักยภาพโดยเฉพาะทางด้านภาษาไทยในกรอบของปีการศึกษา 2564 ซึ่งเป็นปีที่ ‘เด็กชายมดแดง’ สอบวัดประเมินผล NT ที่มีจำนวนอยู่ถึง 3,036 คน ทั่วภาคอีสาน มีผู้เรียนจำนวน 14,773 คน ที่เป็นกลุ่มเปราะบางในเรื่องของทักษะด้านภาษาไทย

นี่คือสถิติเฉพาะปีการศึกษาเดียว (ปีการศึกษา 2564) และขณะนี้กำลังย่างเข้าสู่ปีการศึกษา 2566 คนเหล่านี้สมควรที่จะได้รับการติดตามผลและพัฒนาศักยภาพ หรือควรจะปล่อยผ่านไปเช่นนี้ โดยมีผู้เรียนทั้งในและนอกระบบการศึกษาตกหล่นอยู่เช่นนี้ทุกๆปีการศึกษา.. หากเลือกได้ เราต้องการแบบใดกัน? คงเป็นคำถามปลายเปิดที่จะทิ้งไว้ในส่วนของสถิติที่เปรียบเสมือนทะเลตัวเลขที่ไม่อาจคาดเดาได้เลยว่าสิ่งที่เห็นและสิ่งที่เป็นนั้นเป็นสิ่งเดียวกัน ในห้วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงและรัฐบาลใหม่ที่กำลังจะมาถึง..

เด็กชายมดแดงในปัจจุบันขณะ

ขณะปัจจุบันย่างเข้าสู่เดือนพฤษภาอันเป็นห้วงเวลาที่เป็นช่วงเปิดภาคเรียน หลายครอบครัวที่มีสมาชิกวัยเยาว์วัยกำลังเรียน ก็คงกำลังวุ่นกับการจัดการอุปกรณ์การเรียน ซื้อหาเครื่องแบบสำหรับภาคเรียนใหม่ที่กำลังจะมาถึง เด็กชายมดแดงหลังจากติดสอยห้อยตามลุงสุวิทย์ โสวัตร ดังที่เกริ่นนำในช่วงต้น ก็ได้กลับภูมิลำเนาเพื่อเตรียมพร้อมเปิดภาคเรียนเช่นกัน ฉะนั้นการดูแลจัดการแบบที่ผ่านมาเหมือนช่วงปิดเทอม ทั้งการสอนพิเศษ ในเรื่องทักษะทางภาษาก็จะชะงักลงอีกครั้ง ด้วยกรอบระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน และเมื่อต้องกลับเข้าสู่ระบบนิเวศเดิมก็ได้แต่คาดหวังให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โรงเรียน และครูต้นสังกัดที่เป็นผู้ที่รู้จักนักเรียนในชั้นเรียนเป็นอย่างดีนั้น อาจจะต้องพิจารณากรณีกลุ่มเปราะบางเหล่านี้เป็นกรณีต่อกรณี

ส่วนลุงสุวิทย์

หลังจากกลับบ้านพร้อมกับหลานชายก็ได้ยังชีพโดยการอาสาเป็นช่างในการตกแต่งศาสนสถานของหมู่บ้าน ก่อนที่สิบวันที่ผ่านมา วิทยากร โสวัตร นักเขียนและเจ้าของร้านหนังสือฟิลาเดลเฟีย ในฐานะน้องชายจึงได้เดินทางจากวารินชำราบ อุบลราชธานี ไปยังจังหวัดกาฬสินธุิ์เพื่อรับ ลุงสุวิทย์ ผู้เป็นทั้งพี่ชายและนายช่าง กลับมาจัดสร้าง ห้องสมุดผีบุญ ศูนย์ศึกษาอีสานและปฏิบัติการทางศิลปะถนอม ชาภักดี ให้แล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้ก่อนฤดูฝนจะกลืนกินทั้งภูมิภาคโดยสมบูรณ์..

“ปัจจุบันการก่อสร้างยังคงดำเนินต่อไป..” และเด็กชายมดแดงยังคงเข้ารับการศึกษาอยู่ ณ ภูมิลำเนาภายใต้การดูแลของเครือญาติฝ่ายหญิง

เป็นไปโดยระบบ

มาถึงจุดนี้ ด้วยความเคารพต่อวิชาชีพครู จึงขอกล่าวถึงบริบทเล็กๆน้อยๆภายใต้ความเป็นจริงของระบบการศึกษา จากประสบการณ์ผู้เขียนที่ได้เห็นผ่านตามาบ้างจากการเป็น นักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูตลอด 1 ปี ในนามหลักสูตรครุศาสตร์ 5 ปี รุ่นสุดท้าย จึงได้พบว่า ครู ผู้เป็นกลไกสำคัญในการพลวัตไปของการศึกษานั้น กำลังถูกกักขังด้วยภาระงานที่ “นอกเหนือจากการสอน” มากจนเกินไป.. มากเสียจนทำให้คนที่เป็นครูหมดพลังไปกับงานที่ต้องส่งเป็นกระดาษเปื้อนหมึกไม่ว่าจะเป็นกระดาษเป็นชิ้นหรือกระดาษในอากาศ จนกลายเป็นผู้เฉื่อยชาต่อระบบการศึกษาไปในที่สุด เพราะต้องหมดเวลาไปกับการเคี่ยวเข็ญในเรื่องบางเรื่องที่ก็ไม่เป็นเรื่อง หากแต่เป็นผลงาน ผลงานที่จะนำมาซึ่งหลายๆสิ่งตามกลไกระบบการศึกษาไทยในปัจจุบันสรรสร้างให้เป็น ผ่านการสนองนโยบายแบบ Top-Down สั่งการกันมาเป็นทอดๆ

ซึ่งการดึงครูออกจากห้องเรียน โดยแทนที่ครูจะได้ใช้เวลาในการสอนในชั้นเรียนอย่างเต็มที่เพื่อสำรวจและศึกษาปัญหาในชั้นเรียนของผู้เรียนซึ่งในแต่ละชั้นแต่ละห้องก็มีลักษณะเฉพาะแตกต่างกันไป สิ่งที่ว่ามานี้แทบจะกลายเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก หรืออาจจะทำไม่ได้เลย เมื่อต้องเจอกับภาระงานที่เป็นการสนองนโยบาย ซึ่งเชื่อว่าบุคลากรทางการศึกษาในนามของครูผู้ที่ทั้งมีไฟ และเคยมีไฟ ต่างก็คัดง้างกับตนเองเสมอว่า “ทำอะไรแบบนี้ แล้วผู้เรียนได้อะไร?” โดยส่วนตัวของผู้เขียนหากมีการแก้ไขในจุดนี้ได้

คงจะเป็นการ ‘คืนความสุข’ ให้บุคลากรทางการศึกษาอย่าง ‘ครู’ และ ผู้ใช้บริการทางการศึกษาอย่าง ‘ผู้เรียน’ ไม่มากก็น้อย เพื่อที่ว่าให้คนที่ต้องการจะเป็นครูจริงๆ ได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความเต็มใจอย่างเต็มประสิทธิภาพอย่างแท้จริง

ท้ายที่สุดแล้ว หวังเพียงว่ากรณีศึกษาของเด็กชายมดแดง เด็กน้อยตัวกระเปี๊ยกผิวคล้ำก่ำเกลี้ยงร่างเล็กยิ้มสะอาด จากเมืองดินดำน้ำชุ่ม กาฬสินธุ์ จะเป็นวิทยาทานแก่ผู้อ่านทุกท่านไม่มากก็น้อย ผิดพลาดประการใดทางผู้เขียน ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย และหากท่านมีกรณีที่คล้ายคลึงหรือใกล้เคียงกับกรณีของเด็กชายมดแดง สามารถร่วมส่งต่อเรื่องราวแบบเดียวกันนี้ผ่านการแสดงความคิดเห็น หรือสามารถติดต่อและส่งข้อมูลมาได้ทาง Inbox ของทางเพจได้ครับ ขอบคุณครับ

อ้างอิง

สำนักทดสอบทางการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. (2565). รายงานผลการประเมินคุณภาพผู้เรียน (NT) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2564 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน . สืบค้น 4 พฤษภาคม 2566