ขยะ

นับเป็นเรื่องพื้นฐานที่แต่ละชุมชนจะมีมาตรการสำหรับการจัดการขยะด้วยตนเอง บ้างมีพื้นที่จัดการอย่างเป็นระบบ ไม่สร้างมลพิษและเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม หรือในบางพื้นที่นั้นก็มีบ่อสำหรับการจัดเก็บขยะเป็นของตนเอง เพื่อรองรับต่อความต้องการของชุมชนที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นในทุกๆ วัน แต่สำหรับในชุมชนของฉันนั้น การกำจัดขยะที่ดูเหมือนจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดกลับเป็นการเผาทิ้ง เนื่องจากทางชุมชนไม่ได้มีรถสำหรับการเก็บขยะเฉกเช่นพื้นที่อื่นๆ

สำหรับในชุมชนเมืองการจัดการขยะนั้นค่อนข้างเป็นระบบที่มีความเป็นระเบียบ เพราะเมื่อถึงเวลา รถเก็บขยะคันใหญ่ก็จะขับมาจอดที่หน้าบ้าน พร้อมกับกวาดเอาขยะที่อยู่ล้นถังลงรถคันนั้นไป เพื่อนำไปกำจัดด้วยวิธีการที่แต่ละชุมชนกำหนดไว้ ซึ่งนับได้ว่าสวัสดิการดังกล่าวนับเป็นเรื่องที่สร้างความสะดวกสบายให้แก่ลูกบ้านอยู่ไม่น้อย เพราะขั้นตอนส่วนใหญ่ล้วนมาจากการจัดการของผู้นำชุมชน หรือมาจากการบริหารของผู้ปกครองในพื้นที่นั้นๆ

ขยะกับชุมชนห่างไกล

แต่ถ้าหากพูดถึงชุมชนอันห่างไกลตัวเมืองกว่า 20 กิโลเมตรอย่างเช่นหมู่บ้านของฉัน การจัดการขยะกลับเป็นเรื่องที่แต่ละบ้านต้องคิดหาวิธีด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการฝังกลบ หรือการเผาทำลายทิ้งเพื่อลดปริมาณของขยะที่เพิ่มขึ้นในทุกวัน ซึ่งวิธีดังกล่าวอาจไม่ใช่หนทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากนัก แต่ก็นับได้ว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุดของชาวบ้าน ถึงแม้ว่าการเผาขยะพลาสติกจะก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อันเป็นสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อนก็ตาม

การเผาขยะในชุมชนนั้นไม่เพียงแต่เป็นการทำลายชั้นบรรยากาศเท่านั้น เพราะถึงแม้ควันที่ออกมาจะไม่ได้มีมากเท่ากับการเผาตอซังข้าวข้าวสำหรับการเตรียมพื้นที่เพาะปลูก แต่มันก็มีมากพอที่จะทำให้สามารถบดบังวิสัยทัศน์การขับขี่ของผู้ใช้รถใช้ถนนได้ กลายเป็นความเสี่ยงที่อาจเกิดเป็นอุบัติเหตุ อีกทั้งกลิ่นที่ลอยออกมายังสร้างความรำคาญและกลายเป็นสารพิษให้แก่ผู้ที่สูดดมเข้าไป ก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยในที่สุด หากได้รับในปริมาณที่มาก และสะสมเป็นระยะเวลานาน

ซึ่งก็ดูเหมือนว่าปัญหาดังกล่าวจะเป็นเรื่องที่ยากจะแก้ไข เนื่องจากเป็นสิ่งที่แม้แต่ชุมชนในเมืองบางแห่งเองก็ต้องเผชิญอยู่เช่นกัน ถึงแม้จะมีระบบการจัดเก็บที่เป็นระเบียบ แต่สุดท้ายก็ต้องนำไปรวมกันไว้ในที่ๆ เดียว กลายเป็นภูเขากองขยะที่มีปริมาณมากมหาศาล กลายเป็นว่าขยะมากมายเพียงแค่ถูกย้ายสถานที่เก็บเท่านั้น ทั้งชุมชนห่างไกลและชุมชนเมืองที่มีความแออัดของผู้คน ต่างก็ใช้วิธีการเผาทำลายทิ้งทั้งนั้น  และในปัจจุบันประเทศไทยผลิตขยะโดยเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 14.5 ล้านตัน และกว่าครึ่งหนึ่งไม่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ

หาทางแก้ไข?

จากปัญหาดังกล่าว อาจชี้ให้เห็นได้ว่าเกิดจากงบประมาณที่ไม่สามารถจัดสรรให้เพียงพอต่อความต้องการของพื้นที่ บางชุมชนจึงไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการได้อย่างเต็มที่ ปัญหาของการจัดการขยะจึงเป็นเรื่องที่ยากจะแก้ไข เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่ารถหนึ่งคนนั้นต้องใช้เงินจำนวนมากในการซื้อ อีกทั้งการจัดสรรหาเจ้าหน้าที่เข้ามาดูแลเอง ก็เป็นงบประมาณที่ทางผู้ปกครองชุมชนจะต้องจ่ายเพิ่ม เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างเป็นระเบียบมากที่สุด

แต่ถ้าหากยังพอบรรเทาความเดือดร้อนจากการเผาขยะ และปัญหาที่เกิดขึ้น คือการจัดการที่ไม่สามารถทำได้อย่างถาวร เดอะลาวเด้อขอเสนอให้ผู้คนลองคัดแยกขยะก่อนทิ้งลงถัง หรือนำไปกำจัด เพราะอย่างน้อยก็สามารถช่วยลดขั้นตอนของการทำงาน และลดภาระให้แก่เจ้าหน้าที่ อีกทั้งขยะบางอย่างยังสามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์ได้มากกว่าการการนำไปกองรวมกันไว้ในบ่อและรอวันเผาเพียงอย่างเดียว

ท้ายที่สุดแล้ว เรื่องนี้จะลงเอยอย่างไรอาจไม่สามารถตอบได้ในระยะเวลาอันสั้น เนื่องด้วยเป็นสิ่งที่กระทบกับผู้คนจำนวนมาก จึงต้องอาศัยปัจจัยหลายๆ ด้านเข้าม่ร่วมแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นชุมชน ผู้คน การปกครอง หรือแม้แต่งบประมาณที่ได้รับการจัดสรรมาในแต่ละปี อีกทั้งผู้นำชุมชนเองก็มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เรื่องนี้ได้รับการดูแล

อ้างอิง

ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากขยะ