ยาชุด

ยาชุดนับเป็นยาชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจากกลุ่มคนใช้แรงงาน ด้วยสรรพคุณที่ช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยได้อย่างเหลือเชื่อ เพียงแค่ชั่วข้ามคืนก็สามารถทำให้ผู้ที่บริโภคสามารถกลับไปใช้แรงงานได้อย่างเช่นเดิม อีกทั้งราคาที่สามารถเข้าถึงได้โดยง่าย และแหล่งซื้อขายที่ส่วนใหญ่เป็นร้านค้าตามหมู่บ้าน ยาชนิดนี้จึงถูกใช้กันอย่างแพร่หลาย ถึงแม้จะมีการเตือนถึงความอันตรายจากผู้เชี่ยวชาญ

ความอันตรายของยาชุด

ตามพระราชบัญญัติยา 2510 (พ.ร.บ. 2510) นั้น ยาชุดถือได้ว่าเป็นยาอันตรายชนิดหนึ่ง เนื่องจากเป็นยาที่อยู่นอกทะเบียน และจากการสุ่มตรวจก็พบได้ว่ามีสารสเตียรอยด์เป็นองค์ประกอบหนึ่งของตัวยา ซึ่งถ้าหากไม่ได้อยู่ในการควบคุมดูแลและทำตามคำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ อาจส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกาย ถึงขั้นตาบอดหรือมีภาวะกระดูกเสื่อมอันเนื่องจากการใช้ยาเกินขนาด

ซึ่งด้วยราคาที่สามารถเข้าถึงได้อย่างง่ายประมาณ 10 – 20 บาทก็สามารถซื้อยามารักษาตัวเองที่บ้านได้แล้ว อีกทั้งไม่จำเป็นต้องเสียเวลาเดินทางไกลเพื่อไปนั่งรอต่อคิวรับการบริการที่โรงพยาบาล จึงอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ยาชนิดนี้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับวิถีชีวิตการทำงานของผู้คนที่ต้องเน้นถึงความเร่งรีบ หากต้องนั่งรอยาที่ได้รับจากแพทย์ออกฤทธิ์ คงต้องใช้เวลานานเกินกว่าที่จะสามารถรอได้

ระบบสาธารณสุขที่ไม่เอื้อ สู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำ

อีกทั้งปัญหาของระบบสาธารณสุขไทยอาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้บางคนตัดสินในซื้อยามาทานเอง เนื่องจากบุคคลากรทางการแพทย์นั้นมีอยู่ในจำนวนที่จำกัด ซึ่งสวนทางกับปริมาณของผู้ป่วยที่เข้าใช้บริการในแต่ละวัน บางคนต้องตื่นตั้งแต่เช้ามืดเพื่อมารับบัตรคิว และด้วยกระบวนการขั้นตอนที่มากมาย จึงทำให้กว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการในช่วงบ่ายของวัน

ด้วยตัวเลือกที่มีอยู่ไม่มากนัก จึงกลายมาเป็นความเหลื่อมล้ำที่แสดงออกให้เห็นได้อย่างชัดเจน การต้องสละเวลาทั้งวันเพื่อเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลของรัฐนั้นอาจทำให้ขาดรายได้ หรือหากต้องเข้าไปใช้บริการที่ดีกว่าอย่างโรงพยาบาลของเอกชน ก็อาจเป็นเรื่องที่เกินเอื้อมของชนชั้นแรงงาน เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้นั้นมีมากเกินกว่ากำลังที่จะสามารถรับได้ไหว

ปัจจุบันจึงมีการออกมารณรงค์ถึงโทษจากการใช้ยารักษาตัวเอง โดยที่ไม่ได้อยู่ในการควบคุมของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือเภสัชกรที่มีความชำนาญโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการประชาสัมพันธ์ผ่านแผ่นพับ กระจายข่าวสารผ่านตัวแทนชุมชน ให้ความรู้บนโลกออนไลน์ตามเว็บไซต์ หรือแม้กระทั่งใช้สื่อโซเชียลต่างๆ ที่กำลังได้รับความนิยม เพื่อสร้างการตระหนักรู้ให้แก่ประชาชน

แต่ในขณะเดียวกัน ถึงแม้จะมีการออกมาให้ความรู้เกี่ยวกับโทษของยาเหล่านี้อยู่เรื่อยๆ แต่ปริมาณของผู้ที่เข้าถึง กลับไม่ได้ลดลงเท่าที่ควรเลยแม้แต่น้อย เรายังคงพบเห็นการใช้ยาชุดวางขายอยู่อย่างแพร่หลายใน ซึ่งนั่นก็หมายความว่า ในอนาคตกระบวนการสาธารณสุขของประเทศอาจต้องเพิ่มอัตราการรองรับผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากการใช้ยาเกินความจำเป็นมากยิ่งขึ้น

และนอกเหนือไปกว่านั้น กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ที่นิยมใช้ยาชนิดนี้คือกลุ่มคนวัยทำงานขึ้นไปจนถึงวัยผู้สูงอายุที่ประสบกับปัญหาปวดเมื่อยตามร่างกาย นับเป็นเรื่องที่น่าตั้งคำถามที่ว่า มีการออกมารณรงค์ตั้งมากมาย แต่ก็ยังคงมีชาวบ้านอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่เข้าใจถึงโทษของตัวยาชนิดนี้อย่างถ่องแท้ และบางรายเข้าใจเพียงแค่ว่ายิ่งทานยิ่งมีผลดีต่อร่างกาย เนื่องจากเป็นสิ่งที่จะช่วยให้ตนเองสามารถใช้ชีวิตต่อได้อย่างสะดวก

ทั้งนี้ปัญหาดังกล่าวนั้นไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวเลยแม้แต่น้อย เพราะถึงแม้ว่าผลข้างเคียงที่ได้รับนั้นจะไม่แสดงผลทันทีหลังจากที่ทานยา หากแต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปนานวันเข้า เราอาจต้องมานั่งทนทุกข์กับสิ่งที่เผชิญ ไม่ว่าจะเป็นอาการเจ็บป่วยที่ไม่สามารถเดาได้ว่าจะรุนแรงเพียงใด หรือแม้แต่เวลาและค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ขณะที่เข้ารับการรักษาตัว

การซื้อยามาทานเองที่บ้านเพื่อความสะดวกไม่นับว่าเป็นเรื่องที่ผิดอะไร หากแต่ยาตัวนั้นได้รับการรองรับจากผู้เชี่ยวชาญแล้วว่าจะไม่ส่งผลเสียต่อร่างกาย แต่ถ้าหากสิ่งที่ซื้อมาเป็นเพียงแค่ยาที่ได้รับการบอกต่อจากเพื่อนบ้านว่าสามารถบรรเทาอาการเจ็บป่วยได้อย่างปลิดทิ้ง นั่นหมายความว่าย่อมต้องมีความเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายต่อร่างกายมากกว่าที่ยาควรจะเป็น

อ้างอิง

‘ยาชุด’ ปนเสตียรอยด์ซื้อง่ายขายคล่อง ผู้ใช้แรงงานรู้อันตรายแต่ไร้ทางเลือก