ข่าวการเสียชีวิตของ ‘ถนอม ชาภักดี’ นักวิชาการ นักวิจารณ์ศิลปะและนักปฏิบัติการทางศิลปะคนสำคัญของประเทศไทย ในช่วงบ่ายวันที่ 27 มิถุนายน 2565 สร้างความเศร้าโศกแก่ครอบครัว ญาติและมิตรของเขาเป็นอย่างยิ่ง และยังนับเป็นความสูญเสียของวงวิชาการศิลปะ รวมไปถึงแวดวงนักปฏิปัติการทางศิลปะ ถนอม ชาภักดี จากไปในวัย 64 ปี 

นับตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา ถนอม ชาภักดี ในวัยเกษียณได้ฝากผลงานวิชาการ ชื่อ ศิลป์สถานะ (2563) และวางรากฐานปฏิบัติการทางศิลปะและสุนทรียะแห่งการต่อต้านไว้ให้คนรุ่นหลังทั้งในนาม Khon Kean Manifesto (2561) , Ubon Agenda (2563) , และ Sawang Daendin Summit (2564 -2565)

ถนอม ชาภักดี ที่วัดบูรพา บ้านสะพือ ต.สะพือ อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี เมษายน 2565 ภาพจาก ธีร์ อันมัย

สำหรับ Ubon Agenda ครั้งสุดท้ายของถนอม ชาภักดี คือ ปี 2565 วาระผู้มีบุญ ที่เขาได้ริเริ่มเปิดหน้าดินประวัติศาสตร์บาดแผลที่ถูกกลับฝังไว้กว่า 120 ปี เขาเริ่มด้วยการร่วมมือกับชุมชนจัดงานบุญแจกข้าวถึงผู้ตายในเหตุการณ์ปี 2444 – 2445 และปรารภที่จะสร้างอนุสรณ์สถานผู้มีบุญที่โนนโพธิ์ บ้านสะพือ อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี อันเป็นที่เกิดเหตุ 

Ubon Agenda 2023 : Memory of Sapue ความทรงจำบ้านสะพือ ไม่มีถนอม ชาภักดีในงาน แต่เขากลายเป็นความทรงจำ ความรักและรำลึกถึงของนักปฏิบัติการทางศิลปะ ของพระและของชาวบ้านสะพือที่เคยร่วมงานกับเขา และเนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปีการจากไปของถนอม ชาภักดี ‘เดอะลาวเด้อ’ ขอนำเสนอบทสนทนาของนักปฏิบัติการทางศิลปะที่ได้เข้าร่วมงาน Ubon Agenda 2023 : Memory of Sapue ความทรงจำบ้านสะพือ ระหว่างวันที่ 3 – 4 เมษายน 2566 พื้นที่โนนโพธิ์ บ้านสะพือ ตำบลสะพือ อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี  

มันเป็นเรื่องเดียวกับการเคลื่อนไหวทางสังคม ณ ขณะตอนนี้ 

อุรุพงศ์ รักษาสัตย์ นักวิชาการด้านภาพยนตร์ จากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน

อุรุพงศ์ รักษาสัตย์ นักวิชาการด้านภาพยนตร์ จากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าของรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ สาขาผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม เรื่อง สวรรค์บ้านนา (2552) ได้จัดกิจกรรมอบรมการผลิตภาพยนตร์สั้นให้กับนักเรียนที่โรงเรียนสะพือวิทยาคาร และภาพยนตร์สั้นทั้ง 4 เรื่องของนักเรียนได้ฉายในค่ำวันที่ 3 เมษายน 2566 ที่โนนโพธิ์ บ้านสะพือ อันเป็นที่จัดงาน Ubon Agenda 2023 ความทรงจำบ้านสะพือ (Memory of Sapue)

“เดิมทีเราได้ยินเรื่องผีบุญหรือผู้มีบุญจากสื่อต่างๆ ก็ถือว่าใหม่นะ เพราะเราไม่เคยได้ยิน เราได้ยินแต่ทางภาคใต้ภาคเหนือหรือว่าภาคกลาง แต่พอมาเป็นอีสานเนี่ยเราเลยมองว่า เออมันน่าสนใจดี ก็เลยติดตามว่า มันเป็นมายังไง มันมีประวัติศาสตร์อย่างไรบ้าง ก็อ่านๆ ดู ประมาณหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้ลึกมาก แต่ที่ทำให้เราสนใจมากที่สุด เพราะว่ามันเป็นเรื่องเดียวกับการเคลื่อนไหวทางสังคม ณ ขณะตอนนี้ ณ เวลาปัจจุบันนี้ด้วย เพราะเราดูแล้วมันเหมือนว่าเป็นอันเดียวกันเลย แค่เราใช้ประวัติศาสตร์ของผีบุญมาทำให้มันมีความสมเหตุสมผลของการเคลื่อนไหวที่ลงตัวมากขึ้นและแมทช์กันมากขึ้น มันเลยทำให้มีเหตุการณ์ร่วมสมัยเลยทำให้ผมสนใจ เพราะมันคล้ายกับการต่อสู้ของกลุ่มราษฎรหรือกลุ่มอะไรต่างๆ ที่ออกมาต่อสู้กับการใช้อำนาจของรัฐบาล 3 ปี 4 ปีที่ผ่านมานี้”

“เราเริ่มจากเราชอบประวัติศาสตร์ของมันแล้วมันก็เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางสังคมพอดีเราก็เลยเล็งเห็นว่า มันก็เป็นโอกาสหนึ่งพอดีจะใช้ สิ่งที่เราทำเรื่องการอบรมอะไรต่างๆ ให้มันเป็นส่วนหนึ่งของ movement ด้วยอันนี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่เราลงมาที่นี่ พอเราได้มาลงพื้นที่เราก็ได้เห็นว่าประวัติศาสตร์หรือว่าอะไรต่างๆ มันก็ยังไม่ชัดเจนมากนัก เพราะว่ามันอาจจะจริง-เท็จแค่ไหนเราไม่สามารถพูดได้อย่างชัดเจน มันยังมีอะไรที่ต้องค้นหาอีกเยอะ แต่ก็อย่างที่บอกว่าสิ่งที่เราสนใจหรือว่าเราต้องการคือ มันเป็นเรื่องของการเคลื่อนไหวทางสังคมมากกว่า เรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ก็เป็นส่วนหนึ่ง”

“ได้มาลงพื้นที่เราได้มาเห็นจริงๆ ว่าอ๋อ…ที่จริงแล้วตรงโนนโพธิ์นี่เขาคิดจะทำอนุสรณ์สถานหรือว่ากิจกรรมต่างๆ นี่ ทางชาวบ้านส่วนหนึ่งก็ยังไม่รู้เรื่อง อาจเห็นด้วยบ้างบางส่วนหรือไม่เห็นด้วย มันก็เลยทำให้เป็นสิ่งที่คิดว่า ถ้ามันทำออกมาแบบโจ่งแจ้งจนเกินไปจนไปขัดกับความจริงแบบดั้งเดิม ซึ่งมันยังไม่ชัด ประวัติศาสตร์ยังไม่ชัดแล้วไปขัดกับความคิดเห็นของชาวบ้านมันอาจจะไปได้ไม่ไกลจริงๆ”

“ประวัติศาสตร์มันก็เป็นส่วนหนึ่งที่มันผ่านมานานแล้ว สิ่งที่เราทำปัจจุบันนี้ก็คือ movement ทางสังคมมันก็มีอะไรต่างๆ ที่มันเกิดการเกิดขึ้นได้เพื่อหล่อเลี้ยงอะไรต่างๆ โดยเราจะทำในหัวข้อที่ว่า Memory of Sapue โดยดึงเอาสังคมรอบๆ ทั้งชาวบ้านและเยาวชนให้มาทำหัวข้อต่างๆ โดยหัวข้อนั้นก็เปิดกว้างมากขึ้น แค่ให้เขามีส่วนหนึ่งในกิจกรรมวันที่ 3 – 4 เมษายน 2566 โดยดึงเขาให้เข้ามาเป็นแนวร่วมของเรา โดยเขาจะทำอย่างไรก็เปิดให้เขาได้ทำ โดยสถานะอนุสรณ์สถานนั้นมันก็เป็น Space แล้วมันก็เป็นพื้นที่ของชุมชนด้วยที่เขาอยากจะทำอะไรก็ได้มาแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งอันนี้เรามองว่ามันเป็นคุณค่า ที่ดีกว่าใครจะไปจับจองต้องเป็นอย่างนั้นต้องเป็นอย่างนี้ แค่เป็น Space ตรงกลางไว้จะดีกับทุกคนมากกว่าในระยะยาวมันสามารถแตกแขนงไปเป็นอย่างอื่นได้ขับเคลื่อนและลื่นไหลได้มากกว่าไม่ใช่ให้เขาคิดว่าโนนโพธ์มันมีเรื่องกบฏผีบุญเท่านั้นอะไรอย่างนี้”

“เราชอบที่ชาวบ้านมีการทำบุญหรือว่าระลึกถึงอดีตต่างๆ มาร่วมกันที่วัดสีชมภู (บ้านสะพือ)ด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ เราชอบ เพราะว่ามันเกิดการรวมกลุ่มในสภาวะที่บ้านเมืองก็ระส่ำระสายกับความขัดแย้งต่างๆ ก็เลยสนใจก็เลยขอเป็นส่วนหนึ่งในกระแสการ movement ไปด้วย” อุรุพงศ์กล่าวในที่สุด

เศียรพระกับเศียรคนมันก็คืออันเดียวกัน 

เศียรพระ ปฏิบัติการทางศิลปะที่จักรกริช ฉิมนอกและชาวบ้านสะพือร่วมกันสร้างในงานความทรงจำบ้านสะพือ ภาพ : Ubon Agenda

จักรกริช ฉิมนอก และ ภัทรี ฉิมนอก นักปฏิบัติการทางศิลปะ อาจารย์ศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เข้าร่วมปฏิบัติการด้วยงานจักสานเศียรพระพุทธรูปด้วยไม้ไผ่และติดตั้งไว้ที่โนนโพธิ์และโชว์ศิลปะสื่อแสดงสด (Performance Art) พร้อมกับภัทรี ฉิมนอก ในวันที่ 4 เมษายน 2566 ที่โนนโพธิ์ บ้านสะพือ  

“เรื่องกบฏผีบุญเราก็สนใจอ่านอยู่แล้ว เราชอบอ่านประวัติศาสตร์ แล้วเราก็สนใจในเรื่องของกบฏด้วย มันก็จะมีในหลายๆ ที่ อย่างกบฏเมืองแพร่ อะไรประมาณนี้  ปีที่แล้ว (2565 อาจารย์ถนอม ชาภักดี ก็ชวนมาด้วย ในเรื่องของการทำบุญให้คนที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ปราบกบฎผีบุญเมื่อปี 2444 – 2445 มันก็ทำให้เราได้เตรียมตัวเข้าไปสืบค้นข้อมูล มันก็ประจวบเหมาะกับการที่เราเป็นคนชัยภูมิอยู่แล้วมันก็ทำให้เริ่มสนใจในเรื่องของชาติพันธุ์ มันก็เลยทำให้เราตั้งคำถามว่า “เราเป็นใคร? เราคือใคร? เราเป็นใคร?” มันก็เลยทำให้สนใจในเรื่องของท้องถิ่นอีสาน เริ่มรู้ข้อมูลเริ่มอ่านหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ในเรื่องของผีบุญก็เริ่มสืบหาข้อมูลเรื่อยๆ แล้วมันก็ทำให้เราสนใจมากขึ้น แล้วทำให้เราสนใจในเชิงที่ว่า “ผู้แพ้ต้องถูกเรียกว่าเป็นกบฏ” มันทำให้เราต้องหาข้อมูลมากขึ้น มุมมองในประวัติศาสตร์มันก็เริ่มเปลี่ยนไป”

“คือพอแถวบ้านเรามีงานบุญชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ให้ความร่วมมืออยู่แล้ว มันก็สืบเนื่องไปเหมือนกับผีบุญ ผู้นำคือความเชื่อ ที่สามารถจะรวบรวมผู้คนได้เยอะแล้วมันก็เกี่ยวข้องในเรื่องของความเชื่อ พอเรามาบ้านสะพือ เราก็จะเห็นความร่วมมือร่วมใจ คนที่สนใจในเรื่องนี้เขาก็จะมาร่วมแรงร่วมใจกันอะไรแบบนี้”

“สำหรับงานที่แสดงใน Memory of Sapue เริ่มตน คือ อยากจะสร้างเพื่ออาจารย์ถนอม ชาภักดี ไอเดียแรกคืออยากจะเป็น ‘หัวถนอม’ เป็นหัวโดดขึ้นมาเลย มันทำให้ความรู้สึกเป็นเหมือนผีบุญที่ถูกตัดหัว แล้วมีหัววางอยู่อะไรแบบนี้ แต่พอเราคิดในเรื่องของงาน เราคิดเกี่ยวกับเรื่องชุมชน เพราะถ้าเราทำเป็นหัวคนมันจะเหมือนไปตอกย้ำความกลัวของคนในชุมชน คนบางกลุ่มในชุมชนที่ไม่ยอมรับเรื่องของ ผู้มีบุญ ผีบาปผีบุญ บางคนก็มีความกลัวและไม่อยากจะไปยุ่งเกี่ยว”

“งั้นเราก็เลยปรับไอเดียเราก็ไปโยงเข้าในเรื่องของความเชื่อหรือความศรัทธา ทุกคนเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา แทนที่เราจะทำเป็นหัวพี่ถนอมเราก็ทำเป็นเศียรพระเลย เพื่อที่จะให้เขาชาวบ้านเข้าถึงได้ แต่ในทางนัยทางศิลปะ มันก็คืออันแรกคือเทียบเคียงกัน เศียรพระกับเศียรคนมันก็คืออันเดียวกัน”

“Head ภาษาอังกฤษก็จะแปลว่า หัวคน หรือถ้าพ้องเสียงเป็นภาษาลาวก็จะเป็นคำว่า ‘เฮ็ด’ หมายถึง ทำ “เฮ็ด” ยังแปลว่า “ทำ”  “เฮ็ดอยู่” ก็แปลว่า “หัวยังอยู่” แต่ในตามความเป็นจริงก็แล้วแต่ว่าใครจะมองเป็นอะไร”

“มันเป็นในเรื่องของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่ต้องทำให้คนรู้เรื่องความจริง มันไม่ควรจะบิดเบือนหรือว่าถูกละเลยหรือว่าถูกทำให้หายไป มันควรจะเป็นสิ่งที่ชุมชนได้รับรู้ ว่ามันเกิดอะไรขึ้นในชุมชนของเขา เพราะว่ามันไม่ควรเรียนประวัติศาสตร์เล่มเดียวกัน ไม่ใช่ว่าบรรพบุรุษของเราทุกคนมาจากสุโขทัย อยุธยา มันควรจะต้องเกิดการตั้งคำถามว่า อะไรบ้างเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของตัวเองว่าเรามาจากไหน เรามาจากลาว หรือเปล่า? หรือว่าเรามาจากคนไทยเพราะว่าเราถูกทำให้เป็นคนไทย แล้วทำให้เราเชื่อว่าบรรพบุรุษของเรามาจากสุโขทัย”

“บางทีประวัติศาสตร์มันก็ “ทำให้เราเป็นคนอื่น” ในความเป็นเรา อย่างน้อย ผู้คนควรรับรู้ในเรื่องของพื้นที่ที่มันเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ ชุมชนเพิ่มขึ้น เอามาดูกันว่าความเป็นจริงของมัน เราควรมาช่วยกันเรียบเรียงด้วยซ้ำว่าอะไรเป็นอะไร อะไรจริงอะไรเท็จ อะไรถูกทำให้หายไป หรืออะไรถูกทำให้เปลี่ยน มันควรจะเป็นแบบนั้น เอาง่ายๆ คือ ทำให้ชุมชนยอมรับในเรื่องที่มันเกิดขึ้นในชุมชน พื้นที่ตรงนี้ ตามความเป็นจริงที่มันควรจะรับรู้กันได้ เพราะเราถูกทำให้เป็นไทย อะไรที่ไม่ใช่พวกเราเป็นพวกเขา มันก็พร้อมที่จะถูกฝังกลบไปเหมือนพื้นที่ประวัติศาสตร์ตรงนี้” 

ที่ผ่านมา รัฐจับตาดูชนบทมาโดยตลอด แต่ไม่ได้เอาความเจริญเข้ามา

ปฏิบัติการทางศิลปะของรัชนีกร จำรัสภูมิ ที่โนนโพธิ์ บ้านสะพือ เมื่อวันที 4 เมษายน 2566 ภาพ: Ubon Agenda

รัชนีกร จำรัสภูมิ นักปฏิบัติการทางศิลปะซึ่งนำเสนอศิลปะสื่อแสดงสด หน้าเศียรพระที่ตอนบ่ายวันที่ 4 เมษายน 2566 โดยเน้นนำเสนอความรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงเหตุการณ์ปรากบฎผู้มีบุญในปี 2444 – 2445 ที่โนนโพธิ์ บ้านสะพือ

“เมื่อ 2 ปีที่แล้วเราเห็นคำว่า “กบฎผีบุญ” ครั้งแรกผ่านหน้าเฟซบุ๊ก เพราะว่าช่วงนั้นมีละครเวทีที่ชื่อว่า “ผีบุญ เดอะมิวสิคัล” ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น แต่ตอนนั้นเราไม่ได้ใส่ใจ เพราะว่าเส้นเรื่องมันค่อนข้างที่จะเป็นรักโรแมนติก แล้วมันอาศัยบริบทรอบๆ ที่เกี่ยวกับผีบุญ แต่การเข้าใจเกี่ยวกับผีบุญมันชัดขึ้นก็เพราะว่าเรารู้จักอาจารย์ถนอม ชาภักดี อาจารย์ถนอมก็ศึกษาประเด็นเกี่ยวกับความรุนแรงของของรัฐที่กระทำกับชาวบ้านที่มันไม่เคยถูกพูดถึงเลยก็ทำให้เข้าใจเกี่ยวกับเหตุผลมากขึ้น”

“สำหรับ Performance Art สิ่งแรกที่ต้องเตรียมตัวก็คือการทำความเข้าใจจริงๆ ว่าใครทำอะไรที่ไหนอย่างไร จากนั้นเราก็ต้องมาดูว่า เราต้องการจะสื่อสารประเด็นไหน พอศึกษาว่าประเด็นไหนเสร็จแล้วเราก็จะมาตั้งเงื่อนไขเกี่ยวกับการแสดงของเรา เงื่อนไขก็คือว่า ถ้าทำ A แล้วสิ่งที่ตามมาคือ B แล้วกระบวนการมันจะเป็นอย่างไร คอนเซ็ปต์ในงานวันนี้พูดถึงความรุนแรงที่รัฐกระทำกับประชาชนสมัยนั้นมันก็คือ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กรณีผีบุญนี่ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นมันไม่ได้มีแค่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นล่ะมันไม่ได้มีแค่ 1 กับ 2 เราสนใจในเรื่องบุคคล 3 จากที่เราอ่านบทความของเดอะอีสานเร็กคอร์ดชื่อ ‘ผีหัวหล่อน’ มันมีช่วงนึงที่พ่อเสือน้อย – ชาวบ้านในพื้นที่เขาพูดว่า “คนในพื้นที่ไม่ได้เป็นผีบุญ ผีบุญมาจากที่อื่น แต่ใช้โนนโพธิ์เป็นสนามรบ คนในพื้นที่โนนโพธิ์ในพื้นเขาไม่ได้เขาไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าฉันเป็นส่วนหนึ่งในผีบุญ” ความกลัวมันทำให้คนต้องแอบซ่อน บางคนก็เอาเสื่อมาปิดตัวเองเพื่อแอบ เพราะว่าถ้าโดนจับได้ ถ้าคนที่เป็นฝั่งผีบุญก็จะเอาไปพ่วงขบวนการ แต่ถ้าโดนฝั่งสยามจับไปก็จะโดนตีตราว่าเป็นกบฏ”

“บุคคลที่ 3 ที่กำลังพูดถึงเขาไม่มีทางเลือก เขาอยู่เพราะความกลัว เราในฐานะผู้สำรวจประวัติศาสตร์เราจะจัดกลุ่มคนที่ 3 ที่อยู่ด้วยความกล้วไว้จุดไหน มันก็เลยทำให้กุ้งเกิด Performance Art ชุดนี้ แล้วก็อยากตั้งคำถามกับคนดูว่าเราจะตราหน้าว่าเขาเป็น IGNORANCE หรือเปล่า ถ้าเทียบกับสมัยนี้เราจะเข้าใจเขาในความเป็นชาวบ้านที่ไม่รู้อะไรเลย”

“ก่อนวันงาน ชาวบ้านในพื้นที่เล่าให้ฟังว่า ช่วงที่อาจารย์ถนอมมาลงพื้นที่มันมีหน่วยความมั่นคงเข้ามาสอดส่องเข้ามาถามว่า อาจารย์ถนอมมาทำอะไร? แล้วพวกคุณรวมกลุ่มกันนี่คุณทำอะไร? “สิมารื้อฟื้นเฮ็ดหยังเรื่องมันผ่านไปโดนแล้ว” มันบอกว่า ที่ผ่านมารัฐจับตาดูชนบทมาโดยตลอด แต่ไม่ได้เอาความเจริญเข้ามาทั้งๆ ที่คุณจับตาดูคุณเห็นความแห้งแล้ง คุณเห็นภัยพิบัติ เห็นความไม่เจริญ แต่คุณน่ะไม่เคยเอาความเจริญเข้ามา แต่พอวันหนึ่งมีคนที่เอาแสงมาให้ชนบทคุณกลับเข้ามาบอกว่า มันกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ” 

เขาตัดหัวคนเขาเสียบใส่ไม้ไผ่ แล้วไม้ไผ่ก็เติบโตขึ้นมาเป็นกอ 

ธีระวัฒน์ มุลวิไล นักแสดง ศิลปินรางวัลศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดง หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง B-Floor ทั้งยังเป็นผู้กำกับและนักแสดงที่มีผลงานด้าน physical theatre เขาร่วมกับ ‘ราษฎรัมส์’ ปฏิบัติการทางศิลปะในช่วงค่ำวันที่ 3 เมษายน 2566 ที่โนนโพธิ์ บ้านสะพือ และช่วงค่ำวันที่ 4 เมษายน 2566 จากริมน้ำมูลถึงลานเทียนทุ่งศรีเมืองและจบลงที่พิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานี

ระวัฒน์ มุลวิไล กับราษฎรัมส์และปฏิบัติการกับไม้ไผ่ที่มีเสียง ที่โนนโพธิ์ บ้านสะพือ 3 เมษายน 2566 ภาพ: Ubon Agenda

“เราได้ยินเรื่องนี้มาคร่าวๆ แต่ว่าเราก็ไม่ได้รีเสิร์ชเรื่องผีบุญ ตอนเรียนเราทำเรื่อง ‘กบฏพญาผาบ’ ซึ่งเป็นกบฏที่ลุกขึ้นมาต่อต้านสยาม เรารู้สึกว่ามันมีความเชื่อมโยงในแง่ของประชาชนที่ลุกขึ้นสู้ต่อความอยุติธรรม ชาวบ้านไม่มีอำนาจต่อรองแบบคนที่มีอำนาจ ในตอนนั้นก็พยายามเทียบกับที่นี่ที่ใช้ความเชื่อทางด้านศาสนาเข้ามาเหมือนเป็นกุศโลบาย ผมก็รู้สึกว่าก็เป็นวิธีการแบบที่ประชาชนที่จะคิดได้ในตอนนั้นเพื่อต่อต้าน อาจจะไม่ได้ต่อต้านแบบปกติที่แบบรวบรวมอาวุธลุกขึ้นสู้ ผมก็รู้สึกว่าเขาน่าจะรู้จุดอ่อนของตัวเขาดี ดังนั้น การรวมคนให้ได้มากที่สุด จึงเป็นเรื่องที่จำเป็น”

“อาจารย์ถนอม ชาภักดี ชวนมาตั้งแต่แรกแล้ว แกพูดมาประมาณ 2 – 3 ปีแล้ว เมื่อมีโอกาสได้ทำงานศิลปะในพื้นที่ที่มันก็มีสตอรี่มีประวัติศาสตร์ การจัดวาง Concept ก็ให้มันก็ยั่วกับสตอรี่ที่มันที่มันเคยเกิดขึ้น อย่างปีนี้เราอยากทำให้ไม้ไผ่มันมีเสียง แล้วมันป่าวประกาศเสียงที่เรียกร้อง เพราะเราได้ยินสตอรี่ประมาณว่า เขาตัดหัวคนเขาเสียบใส่ไม้ไผ่แล้วไม้ไผ่ก็เติบโตขึ้นมาเป็นกอ เราก็เลยนึกถึงว่า การที่มีไม้ไผ่อยู่ในงานแล้วเราพยายามทำให้ไม้ไผ่มีเสียงไม้ไผ่ เพราะว่าเราต้องการที่จะสื่อว่า กอไผ่นั้นเป็นคน ที่ไม้ไผ่เติบโตขึ้นมาจากร่างไร้วิญญาณ”

ให้งานศิลปะเราโต้กลับระบบปฏิบัติการของรัฐ 

สรพจน์ เสวนคุณากรและราษฎรัมส์ ปฏิบัติการทางศิลปะที่ฝั่งแม่น้ำมูน ใน Ubon Agenda 2023 ภาพ: ธีร์ อันมัย

สรพจน์ เสวนคุณากร อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นักปฏิบัติการทางศิลปะได้เข้าร่วมปฏิบัติการทางศิลปะในงาน Ubon Agenda ปี 2565 และในปี 2566 เขาก็ร่วมปฏิบัติการศิลปะร่วมกับราษฎรัมส์

“ก่อนหน้าที่จะศึกษาเรื่อง กบฏผู้มีบุญ หรือ กบฏผีบุญ ที่เราเรียกกัน ก็พอจะรู้ว่ามันเป็นกบฏที่อยู่ในภูมิภาคอีสาน แม้กระทั่งคำว่า “อีสาน” บางทีเราก็ลำบากใจที่จะเรียก มันสะท้อนความเป็นศูนย์กลางของกรุงเทพฯ รัฐตราหน้าว่าเป็น “พวกผีบ้าผีบอ” เราก็รับรู้มาแค่เท่านี้ พอมาทำงานที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเรา เราก็ต้องศึกษาเรื่องของประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ต้องทำงานกับทุ่งศรีเมืองมันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องศึกษาประวัติศาสตร์บริเวณนั้น”

“แต่ก่อนเราคิดว่าทุ่งศรีเมืองมันเป็นสวนสาธารณะแต่จริงๆ แล้วมันเป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์จริง จากพื้นที่ที่สะพือที่มีการถูกฆ่าตาย ทุ่งศรีเมืองก็คือพื้นที่คุมขังนักโทษในช่วงกฏบผีบุญ แน่นอนว่าประชาชนถูกกดขี่จากรัฐที่ปกครองแบบศักดินา ถูกขูดรีดภาษีและใช้แรงงานเพื่อที่จะทำให้รัฐนั้นๆ มีอำนาจมากขึ้น” 

“ประเด็นคือการศึกษาเรื่องนี้เรายังใช้หลักฐานจากชิ้นเดิมๆ อยู่มันถูกใช้จนไม่ได้มีการอ้างอิงถึงกัน ถ้าเราจะไปถามคนที่เป็นหลักฐานชั้นต้นเขาก็ไม่มีชีวิตมีอยู่กันแล้ว มันก็เลยเป็นความทรงจำที่เล่าต่อๆ กันมาและยังไม่ได้ถูกชำระทำให้เรื่องมันชัดเจน ซึ่งมันก็ต้องทำให้เป็นระบบแล้วก็มีความชัดเจน” 

“รัฐไทยใช้วิธี ปราบปราม หยุด ห้าม แล้วก็ใช้อะไรเข้ามาแทนที่ โดยใช้อำนาจบังคับให้คนเราอ่านออกเขียนได้แต่ไม่ต้องรู้มาก เป็นวาทกรรมที่ทำให้เราโง่ทำ ให้เราถูกกดอยู่ตรงนี้ เราเห็นภาพการกดขี่ใช้อำนาจผ่านทางประวัติศาสตร์ผ่านพื้นที่ตรงนี้ ภายใต้ประวัติศาสตร์ประชาชนถูกกดขี่อย่างรุนแรงโดยอำนาจรัฐ แล้วก็ประวัติศาสตร์ความทรงจำที่ถูกกระทำ  มันถูกลบเลือนไป ข้อเท็จจริงมันถูกลบเลือนไปแล้วเราก็ถูกกระทำซ้ำๆ ภายใต้กรอบอันนี้มันก็เลยทำให้เห็นว่า รัฐไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ปฏิบัติการเชิงอำนาจอย่างไร” 

“เราทำ Performance Art เกี่ยวกับเรื่องนี้มานานมากแล้ว เรื่องเกี่ยวกับการถูกกดขี่คนของคนตัวเล็กตัวน้อยคนชายขอบ โดยเฉพาะในภูมิภาคอีสาน ทำแล้วตั้งคำถามว่าจริงๆ แล้วเราเป็นคนที่ไหน? เราเป็นไทยหรือเปล่า? เราถูกทำให้เราเชื่อว่าเป็นคนไทยผ่านการพูดภาษาไทย”

“เราต้องการให้งานศิลปะเราโต้กลับระบบปฏิบัติการของรัฐ แล้วเล่นความหมายที่ย้อนแย้งกลับไปบ่อนทำลายมันทีละเล็กทีละน้อยความเป็น แล้วให้คนลุกขึ้นมาต่อสู้ช่วยกัน”

“ความทรงจำที่ถูกกระทำ ดวงวิญญาณที่เป็นผีบุญหรือดวงวิญญาณผู้มีบุญที่ถูกประหารคอหลุดจากบ่าพยายามรื้อฟื้นความทรงจำที่มีอยู่ในยุคปัจจุบันจากอดีต กลับมาสู่ปัจจุบันมันเปิดดวงตาของลูกหลานให้สว่างขึ้น เข้าใจประวัติศาสตร์ท้องถิ่นซึ่งถูกลบเลือนไปให้ให้ชัดเจนถึงข้อเท็จจริงมากยิ่งขึ้น แล้วก็อวยพรลูกหลานแล้วก็ให้ทุกคนพลัง มีศักยภาพในการต่อสู้เรียกร้องต่อสิทธิความเท่าเทียมเสรีภาพ ไม่ให้คนบางกลุ่มยึดอำนาจแต่เพียงฝ่ายเดียว”

ใช้การแสดงเพื่อสะท้อนว่า เราถูกกระทำอย่างไร

ปฏิบัติการทางศิลปะของราษฎรัมส์ ที่หน้าพิพิฑภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานี ภาพ: Ubon Agenda

นราสิทธิ์ วงษ์ประเสริฐ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นักปฏิบัติการทางศิลปะ เป็นผู้ประสานงานและเป็นคนรับไม้ต่อจากถนอม ชาภักดี จัดงาน Ubon Agenda 2023: Memory of Sapue ‘ความทรงจำบ้านสะพือ’ นอกจากงานจัดการแล้ว เขายังร่วมปฏิบัติการทางศิลปะกับ ‘ราษฎรัมส์’ ทั้งที่โนนโพธิ์ บ้านสะพือ และในเมืองอุบลราชธานี

“เมื่อก่อนไม่เคยรู้ว่ามันมีเรื่องราวแบบนี้ ก็ไม่เคยศึกษา จนกระทั่งได้มาร่วมงานงานปีก่อน (2565) แล้วเราก็เลยก็เลยเกิดความสนใจและก็เลยตามตามอ่านตามศึกษาเรื่องผู้มีบุญ เราได้รับรู้มาก็คือ ชาวบ้านยืนยันว่ามีการฆ่าหรือสังหารกันเกิดขึ้นในพื้นที่ตรงนี้ แต่ชาวบ้านไม่รู้ว่าเขามาฆ่ากันทำไม จนมากระทั่งตอนหลังชาวบ้านเข้าใจว่ามันเป็นเรื่องของคนนอกมาสู้กันตรงนี้ ชาวบ้านไม่ได้มีส่วนร่วมตรงนี้ เราต้องศึกษากันต่อไปอีกว่า พื้นที่บ้านสะพือมีความเกี่ยวข้องกับผีบุญมากน้อยแค่ไหน”

“พอเรามารื้อฟื้นตรงนี้มันก็เหมือนว่า เราเปิดแผลประวัติศาสตร์รัฐสยามที่เกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจ บางอย่างที่เขาทำ เขาทำแบบนี้มากี่ปีแล้ว เขาก็ยังทำอยู่แต่เพียงอาจเปลี่ยนรูปแบบวิธีการทำ แต่ด้วยเหตุผลที่เขาทำมันก็ยังอยู่ คือการพยายามกดคนอีสาน พอประวัติศาสตร์มันถูกเปิดขึ้นมาแล้ว เราต้องการให้คนรับรู้เพิ่มมากขึ้นถึงเรื่องพวกนี้ เราก็เลยใช้การแสดงเพื่อสะท้อนว่า เราถูกกระทำอย่างไร เขากระทำอย่างไร เขาต้องการอะไรกัน สิ่งที่พวกเขาคิดและพวกเขาหวังในสมัยก่อนและสิ่งที่มันเกิดขึ้นกับคนในประเทศเราตอนนี้ ณ ปัจจุบัน” 

นอกจากนี้ ยังมี ‘นพิน มัณฑะจิตร’ ช่างภาพและนักออกแบบได้ส่งผลงานภาพถ่ายบ้านสะพือและโนนโพธิ์ มาร่วมแสดงในงานความทรงจำบ้านสะพือครั้งนี้ด้วย

คณะที่ลาบสูงกับปฏิบัติการ Journey of Phe Hoa Lon ที่ร้านกาแฟส่งสาร  ภาพ: Ubon Agenda

ในงานภาคเมือง ที่ร้านกาแฟส่งสาร อ.เมืองอุบลราชธานี ‘นิพนธ์ ขันแก้ว’ ‘พยุงศิลป์ เปศรี’ และ ‘ถนอมศักดิ์ ไชยคำ’ ในนาม ‘คณะที่ลาบสูง’ ได้จัดกิจกรรมถ่ายภาพชุด การเดินทางของผีหัวโหล่น Journey of Phe Hoa Lon 2018 – 2023 เพื่อรำลึกถึงถนอม ชาภักดี 

วิทยากร โสวัตร ในงานความทรงจำบ้านสะพือ เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2566 ภาพ: Ubon Agenda

ขณะที่ ‘วิทยากร โสวัตร’ นักเขียน เจ้าของ ‘ร้านหนังสือฟิลาเดลเฟีย’ ซึ่งได้ศึกษาและเขียนบทความเกี่ยวกับกบฎผู้มีบุญอย่างต่อเนื่องได้กล่าวปาฐกถาอันทรงพลังเกี่ยวกับถนอม ชาภักดีและบทบาทของพระสงฆ์อีสานปัญญาชนในขบวนการลุกขึ้นสู้ของผู้มีบุญ และเขายังประกาศเจตนารมณ์และได้ลงทุนลงแรงสร้างห้องสมุดผีบุญ เพื่อเป็นศูนย์การสืบค้น เรียนรู้และทบทวนข้อมูล ความรู้เกี่ยวกับกบฎผีบุญ