ความจน

ในชีวิตคนเราจะต้องทำงานหนักไปถึงอายุเท่าไหร่จึงจะสามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าไม่ลำบากแล้ว บางคนหลังเกษียณอายุในวัย 60 ปี ก็มีเงินบำเหน็จหรือเงินบำนาญไว้ใช้ หรือบางคนอาจลงทุนทำธุรกิจไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ กระทั่งสามารถผลิดอกออกผลจนสามารถเลี้ยงชีพตนเองได้ในวัยแก่ชรา แต่สำหรับบางคน การได้กินข้าวครบสามมื้อโดยที่ไม่ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมา อาจเป็นตัวเลือกที่เพียงพอแล้ว เพราะสำหรับคนจน เงินล้วนแต่เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต และยิ่งไปกว่านั้น คนจนที่อยู่ในวัยแก่ชรา การพยายามประคองชีวิตของตนเองในรอดได้ในแต่ละวันจึงเป็นเรื่องที่ยากอยู่ไม่น้อย

ปริมาณความจนของคนไทย

ซึ่งจากการสำรวจประชากรจำนวน 36,103,806 รายของ Thai People Map and Analytics Platform หรือ TPMAP พบว่าในปี 2565 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีคนจนทั้งหมด 1,025,782 คน โดยเป็นการสำรวจจากทั้งหมด 5 มิติ ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพ ความเป็นอยู่ การศึกษา รายได้ และการเข้าถึงบริการของภาครัฐ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่สังคมเรายังคงเผชิญอยู่ ไม่ว่าเวลาจะผ่านมาแล้วกี่ปีก็ตาม เพราะถ้าหากมองดูที่ตัวเลข จะพบว่าปริมาณของคนจนนั้นมีอยู่ค่อนข้างมาก อีกทั้งจากการสำรวจก็เป็นเพียงแค่ครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรทั้งประเทศ

โดยหนึ่งในนั้นล้วนเป็นเหล่าผู้สูงอายุที่ร่างกายเริ่มอ่อนแรงลงตามวัย ในสังคมเมืองเราจะสามารถพบเห็นเหล่าพ่อค้าแม่ค้าวัยคุณตาคุณยายเข็นรถขายของอยู่ตามสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร น้ำดื่ม ของเล่น หรือแม้แต่สินค้าทำมือที่ไม่จำเป็นต้องใช้แรงในการผลิตมากนัก เป็นภาพที่เราเห็นกันจนชินตา แต่ก็อาจไม่ได้มองลงลึกถึงว่า เหตุใดคนในวัยนี้จึงต้องมาดิ้นรนหาเลี้ยงปากท้องของตนเองอยู่ ในขณะที่ความเป็นจริงควรได้รับสวัสดิการดีๆ หลังจากที่ลำบากทำงานมากกว่าค่อนชีวิต

เช่นเดียวกันกับคนแก่ตามบ้านนอก การดิ้นรนเพื่อให้ตนเองอยู่รอดนั้นเป็นเรื่องที่แสนทรหด เพราะด้วยอาชีพมีอยู่ไม่มากนัก หากลงทุนค้าขายก็อาจไม่ได้กำไรอย่างที่ควร เนื่องจากประชากรของลูกค้าที่มีไม่เพียงพอ การรับจ้างทั่วไปจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด บางรายอาศัยการเป็นเลี้ยงวัวควาย แลกกับอาหารมื้อเย็น หรือเงินแค่เพียงไม่กี่ร้อย บางรายรับจ้างทำไร่ทำนาที่ถึงแม้สังขารจะไม่สามารถสู้งานได้อย่างคนหนุ่มสาว แต่ก็จำเป็นต้องทำเพื่อให้มีเงินมาเลี้ยงปากท้อง ซึ่งในบางรายก็ซ้ำร้ายไปกว่านั้น เพราะต้องตรากตรำทำงานเพื่อหาเงินมาจุนเจือคนในครอบครัวอย่างหลานๆ ที่กำลังอยู่ในวัยเรียน

จากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนข้อที่ 25 การมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งบางส่วนระบุไว้ว่า “​ทุกคนมีสิทธิในมาตรฐานการครองชีพอันเพียงพอสำหรับสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของตนและครอบครัว รวมทั้งอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยการดูแลรักษาทางแพทย์ และบริการทางสังคมที่จำเป็น และมีสิทธิในหลักประกันยามว่างงาน เจ็บป่วย พิการ หม้าย วัยชรา หรือปราศจากการดำรงชีพอื่นในสภาวะแวดล้อมนอกเหนือการควบคุมของตน” ก็ไม่อาจนำมาใช้กับเหล่าคนจนวัยชราที่ยังต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดได้ เนื่องจากสภาพสังคมและความเป็นอยู่นั้นไม่เอื้อให้พวกเขาได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี

สุดท้ายนี้ ความฝันอันยิ่งใหญ่ของใครหลายคนอาจเป็นเพียงแค่ได้ใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบาย โดยที่ไม่ต้องกังวลถึงปัญหาเรื่องปากท้องที่ต้องแบกรับ หรือบางคนต้องการเพียงแค่ได้ใช้เวลาพักผ่อนในช่วงบั้นปลายของชีวิตหลังจากที่อุทิศตนทำงานมาอย่างหนักเป็นเวลาหลายสิบปี แต่ก็ดูเหมือนว่าทางเดินของคนจนที่อยู่ในวัยชรานั้นจะเป็นไปอีกแบบ เพราะต้องมองหาทางรอดให้กับชีวิตไปเรื่อยๆ ทำงานเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวต่อไป จนกว่าจะถึงวันที่ลมหายใจนั้นดับสูญ

อ้างอิง

ภาพรวมคนจนในปี 2565

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน