Work Life Balance

Work-Life Balance ชีวิตการทำงานที่ใฝ่ฝัน

Work-Life balance รูปแบบการทำงานในฝันของใครหลายคน เนื่องจากเป็นชีวิตที่ได้มีอิสระในการออกไปทำสิ่งต่างๆ โดยที่ไม่ต้องยึดติดตัวเองไว้กับการทำงานเพียงอย่างเดียว สามารถมีวันหยุดที่เพียงพอต่อการฟื้นฟูร่างกายและความรู้สึกกดดันที่ได้รับตลอดทั้งสัปดาห์ หรือมีเวลามากพอที่จะไปเที่ยวในสถานที่ที่อยากไป แต่นั่นก็ดูเหมือนว่าจะเป็นรูปแบบการทำงานที่เป็นไปได้ยาก เพราะด้วยภาระที่แต่ละคนต้องแบกรับ อีกทั้งสภาพแวดล้อมของสังคมไทยที่อาจไม่เอื้อให้ผู้คนได้มี Work-life balance อย่างจริงจัง

8 ชั่วโมงต่อวันคือเวลาการทำงานที่หลายองค์กรส่วนใหญ่กำหนดเอาไว้ และถ้าหากพนักงานต้องอยู่เกินกว่านั้น นายจ้างจำเป็นต้องจ่ายค่าล่วงเวลา หรือที่หลายคนเข้าใจตรงกันว่า OT (Overtime) ให้ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชน ต่างก็ต้องรับผิดชอบเงินส่วนนี้ให้แก่ลูกจ้าง เนื่องจากเป็นกฎเกณฑ์ที่กระทรวงแรงงานได้กำหนดไว้ แต่ทั้งนี้ ทุกอย่างก็ต้องอยู่ภายใต้ความยินยอมจากทั้งสองฝ่าย นายจ้างไม่สามารถใช้อำนาจหน้าที่ในการบังคับข่มขู่ให้ลูกจ้างอยู่เกินเวลาได้

OT คืออะไร?

ต้องอธิบายก่อนว่าในการทำงานนั้นจะมีการกำหนดชั่วโมงไว้อย่างชัดเจนบนสัญญาที่ผู้ว่าจ้างและผู้ถูกจ้างเข้าใจตรงกัน ซึ่งนี่นับเป็นข้อกำหนดที่กฎหมายแรงงานบังคับใช้อย่างเป็นสากล เพื่อป้องกันการเอาเปรียบจากนายจ้างที่จะใช้แรงงานลูกจ้างของตนเองมากเกินควร และโดยปกติเรามักจะได้รับค่าจ้างตามที่สัญญาได้ระบุไว้ ซึ่งระยะเวลาการทำงานตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้นั้นคือไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมง หรือสัปดาห์ละไม่เกิน 48 ชั่วโมง เพื่อไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพร่างกายของคนเรามากจนเกินไป หากมีภาระหน้าที่ที่นอกจากนั้น จนทำให้ต้องอยู่ล่วงเวลามากกว่าที่ได้ตกลงกัน หรือที่เรียกว่าการทำงานแบบ Overtime ผู้ว่าจ้างจะต้องจ่ายเงินส่วนเกินนี้เพิ่ม

โดยการคิดอัตรา OT ตามกฎของกระทรวงแรงงานนั้นสามารถทำได้ทั้งรายวัน รายเดือน หรือแม้แต่นับเป็นรายชั่วโมง ขึ้นอยู่กับข้อตกลงของทั้งสองฝ่าย หากลูกจ้างถูกขอให้ปฏิบัติงานในวันหยุดของตนเอง หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ก็สามารถนำมาคิดเป็นส่วนที่ทำงานล่วงเวลาได้เช่นเดียวกัน เพราะเป็นสิทธิที่ทุกคนต้องได้รับอย่างถูกต้องตามกฎหมาย หากถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้เป็ฯนายจ้าง ลูกจ้างเองก็สามารถฟ้องร้องเพื่อเรียกค่าเสียหายในส่วนนั้นได้

ชีวิตการทำงานที่ไร้ซึ่งความ Balance

ปัจจุบันคนไทยจำนวนมากกำลังประสบกับปัญหาการทำงานที่หนักเกินไป เนื่องจากเวลาการพักผ่อนนั้นมีไม่สอดคล้องกับสิ่งที่มนุษย์คนหนึ่งจะสามารถรับได้ไหว บางคนต้องทำงานหนักมากกว่า 12 ชั่วโมงต่อวันเพื่อให้ตนเองสามารถมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต หรือในบางคนต้องเลือกทำงานเสริมที่มากกว่าหนึ่ง เพื่อสร้างรายได้อีกทางมาจุนเจือปากท้องของตัวเองท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อร่างกายของคนเรา ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ หรือจิตใจที่อาจย่ำแย่จากความเหนื่อยล้าที่สะสมอยู่ตลอดทุกวัน

หนึ่งตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนเลยว่างานหนักสามารถทำร้ายคนหนึ่งคนได้คือ เหตุการณ์การเสียชีวิตของพนักงานร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่งเมื่อช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยมีสาเหตุมาจากภาระงานที่หนักเกินไป เนื่องจากต้องหลายตำแหน่งพร้อมกัน ทั้งคิดเงินและขับรถส่งของให้กับลูกค้า ซึ่งจากคำบอกเล่าของเพื่อนร่วมงานก็รู้ได้ว่าผู้ตายนั้นบ่นว่าทำงานเหนื่อยเกินไป ก่อนจะมาพบว่าเสียชีวิตอยู่หลังร้านในเวลาต่อมา

หรือในอีกตัวอย่างที่หลายคนอาจเคยเห็นผ่านตามาบ้าง ในช่วงที่การระบาดของโรคโควิด-19 กำลังรุนแรงเมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา โดยเป็นเหตุการณ์ที่พยาบาลสาวรายหนึ่งต้องโหมงานหนักเพื่อดูแลผู้ป่วย กระทั่งตนเองนั้นเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งจากการรายงานข่าวของเว็บไซต์ workpointtoday ระบุว่าพยาบาลรายนี้มีอาการหมดสติ มีเกล็ดเลือดต่ำ ความดันปอดสูง ลิ้นหัวใจรั่ว ไตทำงานหนัก และติดเชื้อในกระแสเลือด ก่อนจะได้รับการช่วยเหลือจากทีมแพทย์ แต่ก็ไม่สามารถยื้อชีวิตของเธอไว้ได้

เช่นเดียวกันกับเบตตี้ (นามสมมุติ) พนักงานตำแหน่งการตลาดของคลินิกแห่งหนึ่งในจังหวัดศรีสะเกษเปิดเผยกับเดอะลาวเด้อว่า เธอต้องแบกรับหน้าที่ที่มากเกินกว่าที่ได้ตกลงกันไว้ “ต้องทำทั้งคอนเทนต์ ตัดคลิป คิดสคริปต์บทพูด การตลาด และตอบแชตลูกค้า ต้องตอบหลังจากเลิกงานด้วยนะ บางวันตอบแชตถึง 4 ทุ่ม ประชุมก็เยอะ OT ก็ได้นิดเดียว ไม่ทำก็ไม่ได้ เขาบังคับให้ทำ แต่เขาก็ไม่บอกตรงๆ หรอก จะใช้คำว่าขอความร่วมมือแทน ซึ่งมันก็จะไปกระทบกับงานหลักของเรา ทีนี้เขาก็จะมาว่าเราอีก ว่าทำไมทำงานไม่เสร็จ เรารู้สึกว่าเงินกับงานไม่สวนทางกันเกินไป ทำแล้วเหนื่อย” เบตตี้กล่าว

Work-Life Balance
รูปภาพโดย Luca Bravo

สิทธิในการหยุดพักคือสิทธิมนุษยชน

ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนข้อที่ 24 สิทธิในการพักผ่อน ระบุไว้ว่า “ทุกคนมีสิทธิในการพักผ่อนและการผ่อนคลายยามว่าง รวมทั้งจำกัดเวลาทำงานตามสมควรและวันหยุดเป็นครั้งคราว โดยได้รับค่าจ้าง” ซึ่งนับเป็นข้อตกลงสากลที่ทั้งโลกต่างให้ความสำคัญ และตกลงกันไว้ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เนื่องจากสิทธิมนุษยชนนั้นเป็นสิ่งที่ทุกคนต่างมีติดตัวมาตั้งแต่เกิด และไม่สามารถพรากจากบุคคลนั้นไปได้ อีกทั้งการได้พักผ่อนอย่างเต็มยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้แก่บุคคลนั้นอีกทางหนึ่ง

แต่ทั้งนี้ ดูเหมือนว่าสถานการณ์ของคนวัยแรงงานไทยในปัจจุบันยังขาดซึ่งสิทธิข้อนี้อย่างรุนแรง ถึงแม้ว่าจะเป็นกติกาที่สากลได้ร่วมกันตกลงไว้ก็ตาม การเคารพซึ่งกันและกันนั้นเป็นเรื่องที่มีความสำคัญไม่แพ้กับผลประโยชน์?ี่ได้รับจากการทำงานเลยไม่น้อย เพราะถ้าหากไร้ซึ่งคน งานก็จะไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ และอาจนำไปสู่ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นมาในอนาคต

ทั้งนี้ วลีที่ว่า “งานหนักไม่เคยฆ่าใคร” คงไม่สามารถใช้ได้ในปัจจุบันนี้แล้ว เพราะมีตัวอย่างมากมายที่ต้องสูญเสียไป เพียงเพราะโหมงานอย่างหนักเพื่อให้องค์กรของตนนั้นได้ซึ่งประโยชน์สูงสุด แต่สุขภาพและจิตใจของเราเองก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน การได้หยุดพัก หรือออกไปทำกิจกรรมอย่างอื่นเพื่อผ่อนคลายตนเองบ้างนั้นนับเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนสมควรได้รับ เพราะท้ายที่สุดแล้วเราต่างเสียสละเวลามาทำงานเพื่อหวังให้ตนเองนั้นมีชีวิตที่สุขสบายในอนาคต

อ้างอิง

วิธีคิดโอทีรายวันและรายเดือน ตามกฎกระทรวงแรงงาน

พนักงานเซเว่นฯ เสียชีวิตคาร้าน เพื่อนเผยเจ้าตัวบ่นเหนื่อยทั้งคิดเงิน-ส่งของก่อนเสียชีวิต

งานหนักไม่เคยฆ่าใคร? รวมเคส ทำงานหนักจนตาย

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน