หลังกระแสการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 สิ้นสุดลงด้วยชัยชนะของพรรคก้าวไกล ตามด้วยพรรคเพื่อไทย กระแสต่อจากนั้นคือ นโยบายพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอย่าง ‘สุราก้าวหน้า’ ได้รับความสนใจ

สืบเนื่องจาก ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล ได้แนะนำสุราพื้นบ้านฝีมือคนในท้องถิ่นต่างๆ ผ่านรายการ ‘เรื่องเล่าเช้านี้’ ตัวอย่างเช่น KILO จากกระบี่, สังเวียน จากสุพรรณบุรี, IRON BALLS เหล้าจินสัญชาติไทย เป็นต้น คนไทยจำนวนมากไม่รู้ว่าประเทศไทยมีเหล้าพื้นบ้าน จึงตามหามาลิ้มลองจนโรงเหล้าต่างๆ ผลิตแทบไม่ทัน

เดอะลาวเด้อ’ สนทนากับ ‘เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร’ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร เขต 22 เคยถูกจับ เพราะทำคราฟเบียร์และเป็นที่รู้จักกันในนาม Beer activist ผู้อยากผลักดันให้การทำสุราถูกกฎหมาย สามารถทำเป็นอาชีพได้ และเป็นโอกาสที่ต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแง่ของการผูกขาด และ ‘ดนุเชษฐ วิสัยจร’ เจ้าของผลิตภัณฑ์ ซอดแจ้ง สุราพื้นบ้านที่เป็นผลผลิตในยุคสุราก้าวหน้าที่กำลังเดินหน้าในปัจจุบัน

เท่าพิภพ
เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร เขต 22

สุราก้าวหน้ากับสุราพื้นบ้าน

เท่าพิภพเล่าว่า ในตอนนั้นพรรคอนาคตใหม่ (ในตอนนั้น) ได้เชิญชวนให้เข้ามาผลักดันสุราเสรี เขามองว่ากฎหมายเกี่ยวกับสุราค่อนข้างล้าหลังไม่ทันโลก จึงได้เริ่มนโยบาย ‘สุราก้าวหน้า’ ที่ว่าด้วยการปลดล็อกการผลิตสุราที่ไม่สมเหตุสมผล และส่งผลกระทบต่อรายย่อย รวมทั้งประเด็นการโฆษณา การกำหนดเวลาขายสุราที่ยังเป็นอุปสรรคที่ต้องแก้ไขกันต่อไป

ความยุ่งยากของสุราพื้นบ้านหรือสุราเสรีมีสาเหตุมาจากการเมืองเป็นส่วนใหญ่ และยิ่งอยู่ภายใต้ระบบเผด็จการ คนที่ได้ประโยชน์จากการผลิตสุราส่วนใหญ่ก็คือคนที่เป็นท่อน้ำเลี้ยงให้กองทัพ จึงไม่แปลกใจนักที่บุคคลที่เป็นท่อน้ำเลี้ยงนี้จะไปมีอิทธิพลต่อการออกนโยบายต่างๆ เพื่อให้ตัวเองได้กุมอำนาจในทางเศรษฐกิจ จึงทำให้กฎหมายที่จะปลดล็อกไม่ผ่าน 

“ในเมื่อเราไม่มีประชาธิปไตย ทั้งทางการเมือง และทางเศรษฐกิจ ก็ส่งผลให้มีกลุ่มทุนที่ผูกขาดมาเรื่อยๆ จนเคยชิน ผู้กุมอำนาจก็เคยชิน บริษัทต่างๆ ก็เคยชินจนเป็นการหยั่งรากลึก”

เคยมีความพยายามจากนักการเมืองอยู่บ้าง แต่สุดท้ายนักการเมืองถูกกลืนเข้าสู่ระบบอำนาจเงิน และประชาชนยังใจดีกับผู้แทนราษฎร หรือนักการเมืองแบบเก่า มันก็ทำให้ระบบเป็นแบบนี้ต่อไป 

“ดังนั้น การที่นโยบายสุราก้าวหน้าผ่านมันคือจุดหักเห เป็นจุดเปลี่ยนหนึ่งของการเมืองไทย เราจะได้รู้ว่าการเป็นผู้แทนราษฎรที่ไม่สนใจนายทุนก็สามารถที่จะยืนอยู่ได้ในสังคม พอไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสนใจนายทุน ก็กล้าออกกฎหมายที่ขัดต่อกลุ่มนายทุน ต้องขอบคุณประชาชนที่ตื่นรู้อีกครั้งในเรื่องเหล่านี้ ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้พิสูจน์ว่าเราจะออกจากวังวนเดิม” 

ก่อนหน้านี้เราเคยมีสุราพื้นบ้าน

ในยุคของรัฐบาลยกทักษิณ ชินวัตร ได้มีนโยบายส่งเสริมเชิงสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือโอท็อป ไม่ได้มุ่งต่อสู้กับทุนใหญ่ แต่ในตอนนั้นก็มีกระแสก็ทำสุราพื้นบ้านกันทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน เป็นการส่งเสริมที่ไม่ได้ชัดเจนเรื่องปริมาณ ทำเกินบ้าง ก็ไม่เป็นไร จากนั้น เกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ทหารกลับมาก็กลายเป็รว่า สุราพื้นบ้านต้องปิดกันหมด เนื่องจากกฎหมายไม่เอื้อให้ผู้ผลิตรายย่อย มันเป็นปัญหาตั้งแต่โครงสร้าง พยายามที่จะปลดล็อกกันแต่ดันไม่สุด ต้องยึดเอาหลักการของการไปให้สุด

ปลดล็อกเพื่อเปิดโอกาส

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า ไม่ใช่สุราเสรี เพราะถ้าเสรีคือไม่ต้องขออนุญาตกันเลย แต่นโยบายนี้เรายังต้องมีใบอนุญาต ทั้งนี้เงื่อนไขในการขอใบอนุญาตจะน้อยลง ไม่มีเรื่องการกำหนดขนาดกำลังการผลิตอะไรต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นใบอนุญาตที่เหมือนกันหมด ยกตัวอย่างเช่น  คุณลุงที่โคราชทำเหล้า จะได้อยู่ในระดับเดียวกันกับแบรนด์ดังๆ เจ้าใหญ่ๆ เลย ซึ่งเราปลดล็อกตรงนี้ ไม่ใช่เสรี แต่คือการปลดล็อกสุรา ส่วนข้อไหนที่เป็นข้อห้ามมองว่าเป็นผลเสียจนต้องควบคุม ข้อนั้นยังควบคุมเหมือนเดิม ไม่ได้แตะต้องอะไร ฝากไปถึงคนที่เป็นกังวลในจุดนี้

“ที่ได้แน่นอนคือ ตลาดที่เสรีมากขึ้น เมื่อมีการแข่งขัน ประชาชนจะได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ หลากหลายรสชาติ และราคาที่สมเหตุสมผล นอกเหนือจากนั้นก็จะเป็นเรื่องของการท่องเที่ยวที่หลายๆ คนตามไปชิมสุราต่างๆ กัน มองว่าเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยพัฒนาท้องถิ่นด้วย มีการสร้างงานสร้างรายได้ เพิ่มอำนาจการต่อรองให้เกษตรกร มีส่วนทำให้เศรษฐกิจโตขึ้น ช่วยเกษตรกรได้สัก 2 – 5 เปอร์เซ็นก็โอเคแล้ว”เท่าพิภพกล่าว

ซอดแจ้ง รูปธรรมความก้าวหน้าของสุราท้องถิ่น

ดนุเชษฐ วิสัยจร เจ้าของผลิตภัณฑ์สุรา ซอดแจ้ง ให้ความหมายว่า ซอดแจ้ง คือ แสงแรกที่ขึ้นจากผาชนะได – แลนด์มาร์คการท่องเที่ยวชมพระอาทิตย์ขึ้นก่อนใครในสยามที่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี 

ภาพ Facebook Sod Chaeng Spirit

จุดเริ่มต้นของการทำโรงเหล้าซอดแจ้ง  

ดนุเชษฐ เล่าว่าเขาเป็นนักดนตรีที่ชอบดื่มและคุณพ่อของเขาสนใจเรื่องการเกษตร คิดว่าจะทำยังไงให้ผลิตภัณฑ์ที่มาจากการทำเกษตรนั้นมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ตอนนั้นรู้สึกว่าการทำเหล้าก็เป็นการเพิ่มรายได้ให้กับภาคเกษตรกรรมรูปแบบหนึ่ง สุราเป็นหมวดหนึ่งในวิถีชุมชน แต่ในอดีตก็จะมีปัญหา เพราะกฎหมายค่อนข้างจะจำกัดวิถีชีวิตชาวบ้านโดยเฉพาะคนทำเหล้า ไม่สามารถเผยแพร่วัฒนธรรมหรือสืบทอดวัฒนธรรมอาหารและเครื่องดื่มได้ ซึ่งใช้เหตุผลทางด้านกฎหมายและศีลธรรมมาจำกัด 

“ในความเป็นจริง สุราถูกมองในแง่ไม่ดีมาตลอด ทั้งที่สุราเป็นอาหาร (เครื่องดื่ม) ชนิดหนึ่ง จึงได้เริ่มทำ ‘ซอดแจ้ง’ ขึ้นมา เพราะอยากจะทำให้เป็นโปรเจกต์ แต่ไม่ได้คิดว่าจะทำเหล้าอย่างเดียว เราจะทำโปรเจกต์ที่ว่าด้วยการตีแผ่ความเป็นอีสานร่วมสมัย เวลาจัดงานนอกสถานที่ เราจะทำเครื่องดื่มที่ได้รับแรงบันดาลใจจากอีสาน ทั้งยังจัดดนตรีที่มีความเป็นอีสานร่วมด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘อุบลราชธานี’ นำศิลปินอุบลฯ ที่มีความสามารถมาเล่นร่วมกัน ทั้งนี้ไปจนถึงการออกแบบโลโก้ของซอดแจ้ง มาจากศิลปินคนอุบลฯ คือ Redmuuk

กระแสสุราท้องถิ่นกับโอกาสของสุราทางเลือก

กระแสสุราท้องถิ่นมีข้อดีคือทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักมากขึ้น แล้วรู้สึกว่าต่อไปก็จะทำให้เกิดการรับรู้และความตื่นตัวในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ กระแสนี้เป็นผลดีต่อสังคมไทยโดยรวม ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือก ทำให้เกษตรกร
มองเห็นความเป็นไปได้ในการที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ ข้าวของตัวเองให้มีมูลค่าเพิ่ม ทำให้ยอดขายเปลี่ยนแปลงไป แต่เราไม่ได้ตื่นเต้น เรากำลังมองว่ากระแสนี้สร้างความตื่นตัวของสังคม สร้างการแสวงหา แม้แต่ผู้ซื้อ ผู้ขาย ผู้ผลิต ก็ทำให้เกิดทางเลือกมากขึ้น 

เท่าที่ได้สัมผัสกับกฎหมาย จริงๆ ทางเจ้าหน้าที่เขาก็มีความเข้าใจ ว่าความเป็นจริงในการผลิตคืออะไร ในเชิงกฏหมาย ถ้าสมมติดูรายละเอียดแล้วค่อนข้างที่จะสร้างข้อจำกัดให้กับผู้ผลิต ตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นชาวบ้าน เราจะต้องนึกภาพไทบ้านเท่านั้น หมักเท่าไหร่ เราจะจดไว้ แล้วก็กะปริมาณเอา ทำไปเรื่อยๆ แล้วบางที ถ้าเริ่มต้นทำอะไรสักอย่าง จะไม่มีการมาตรวัดอะไรขนาดนั้น  มันคงไม่ง่ายกับชาวบ้าน อุปกรณ์ก็ไม่ได้หาง่าย เช่นตัววัดแอลกอฮอล์ ขับรถไปหาของมันยากมาก บางทีกฎหมายสรรพสามิต มันอาจจะต้องถูกมองให้เป็นการส่งเสริม มากกว่าการจำกัด คิดว่ากฎหมายสรรพสามิตในอนาคตคงมีการเปลี่ยนแปลงไปเพื่อที่จะทำให้สร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ เพื่อสร้างเม็ดภาษีให้กับประเทศ สร้างแหล่งท่องเที่ยว ดนุเชษฐมองว่ากฎหมายมีข้อจำกัดพอสมควร แต่ก็อยากจะให้กำลังใจเจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิต เพราะทางโรงเหล้าซอดแจ้งเองก็ได้รับการดูแล  แนะนำ 

เหล้า ซอดแจ้งกับความเป็นอีสาน 

มันคือความสนุกสนานเชิงวัฒนธรรม เราไม่ได้มองว่าเป็นแค่เหล้า เรามองว่า รูป รส กลิ่น เสียง ต้องไปด้วยกัน ดังนั้นซอดแจ้งจึงเป็นเหมือนการนำเสนอความเป็นอีสานร่วมสมัยของคนในยุคปัจจุบัน ทั้งเครื่องดื่มและอาหาร เราส่งซอดแจ้งประกวดในเวทีระดับโลกอย่าง International Wine and Spirit Competition (IWSC) และได้รับรางวัล ผ่านมุมมอง ความงาม ความอร่อยเป็นเรื่องส่วนบุคคล รับรู้แตกต่างกัน แต่ก็มองไปถึงการที่ซอดแจ้งได้ถูกยอมรับจากเวทีสากล ซึ่งเราทำได้และเป็นไปแล้ว สุราก็คือการกิน การอยู่ คนอีสานนิยมทานลาบก้อย ซอดแจ้งก็อาจเป็นเครื่องดื่มที่นำไปทานคู่ได้

เหล้ากับอนาคตภาคการเกษตรไทย 

การที่เกษตกรปลูกข้าวมาทำเป็นเหล้า ถือเป็นโมเดลที่เวิร์ก ขณะที่การปลูกข้าวแล้วนำไปขายก็ยังเป็นเรื่องเดิม มีปัญหาเรื่องของพ่อค้าคนกลาง แต่ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายผ่อนปรนเรื่องกฎระเบียบ ทำให้มันทำงานง่ายขึ้น คิดว่าคนไทยจะได้เหล้าจากชาวบ้าน เหล้าจากเกษตกรจริงๆ นั่นคือสิ่งที่สุดยอดที่สุด 

“ในอนาคตถ้าดนุเชษฐจะทำเหล้าขาวจากข้าว ก็คงปลูกข้าวเอง มันเป็นกระบวนการของการต่อยอด แต่ถ้าเราต้องปลูกข้าวส่งโรงงาน มันอาจเป็นเรื่องเดิมอยู่หรือเปล่า ในอนาคตชาวบ้านรวมกลุ่มกันได้ ทำกันเองได้ มันก็สร้างของดีของพื้นที่นั้นๆ เหมือนชาวบ้านทำมะม่วงแผ่น อะไรทำนองนั้น ปลูกเอง ทำเอง ชิมเอง แถมยังเป็นการเพิ่มมูลค่าอย่างแท้จริงอีกด้วย เพราะช่วงนี้เป็นกระแส ถึงยังมองภาพไม่ออก แต่หลังจากนี้เราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง นิยามของเหล้า มันก็คือชีวิต คือวัฒนธรรม การขายเหล้า มันก็ต้องพูดถึงศิลปะวัฒนธรรมควบคู่ไปด้วย” 

ข้อกฎหมายที่ห้ามโฆษณา เชิญชวน ห้ามโชว์รูปขวด

กฎหมายของสรรพสามิตยังมีติดขัดอยู่บ้าง เพราะประเด็นเหล่านี้ยังก้ำกึ่งอยู่ เหมือนกับรัฐบาลกำลังจะเปลี่ยน ทางเราก็ไม่อยากเสี่ยงเท่าไหร่ในบางประเด็น ส่วนตัวมองว่ารัฐบาลก็มีหน้าที่ผลักดันให้มันมีกฎหมายที่ชัดเจน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การที่สังคมเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง และวันนี้สังคมเปลี่ยนแล้ว 

“มองถึงการเปลี่ยนแปลงต่อไป ไม่อยากให้คนคิดว่าเหล้าคือการมอมเมา สุราสามารถที่จะดื่มด้วยความรับผิดชอบได้ ดื่มอย่างมีวัฒนธรรมได้ด้วยเช่นกัน” ดนุเชษฐ กล่าว