พยาบาลกับการซื้อ-ขายเวร

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงในสังคมที่เกิดขึ้นมากมาย แต่ดูเหมือนว่าวงการสาธารณสุขไทยกำลังถอยหลังกลับไปยังอดีต หลังเผชิญกับปัญหาการลาออกของเหล่าบุคลากรคนรุ่นใหม่ อันเนื่องมาจากความกดดันที่ได้รับจากการทำงาน อีกทั้งสวัสดิการบางอย่างที่ไม่สอดคล้องต่อการใช้ชีวิต จึงทำให้บางคนนั้นไร้ซึ่งแรงจูงใจในการอยู่ต่อ การเขียนใบลาออกเพื่อหลีกหนีกับปัญหาที่จึงอาจเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

แต่ถึงอย่างนั้น ก็ใช่ว่าทุกคนจะมีความพร้อมมากพอที่จะไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในการทำอาชีพอื่น หรือย้ายงานไปยังโรงพยาบาลแห่งใหม่ เพราะด้วยภาระที่มี และพันธสัญญาบางอย่าง การซื้อ-ขายเวรเพื่อแลกเปลี่ยนชั่วโมงการทำงานให้กับเพื่อร่วมอาชีพ จึงเป็นทางออกที่สมเหตุสมผลมากที่สุด

มะลิ (นามสมมุติ) พยาบาลจบใหม่ในโรงพยาบาลประจำอำเภอแห่งหนึ่งของจังหวัดสุรินทร์ เล่าให้เดอะลาวเด้อฟังว่า เธอเพิ่งก้าวเข้ามาสู่การเป็นพยาบาลวิชาชีพได้เพียงหนึ่งปี จึงไม่มีประสบการณ์มากพอนักที่จะได้เริ่มต้นใหม่กับโรงพยาบาลเอกชนที่สามารถให้ค่าตอบแทนได้ดีกว่า อีกทั้งยังต้องใช้ทุนเป็นระยะเวลาถึง 4 หากตัดสินใจลากออก ก็ต้องจ่ายเงินคืนค่าทุนที่เคยได้รับในสมัยเรียน

หน้าที่การทำงานและการเข้าเวร

มะลิเล่าว่า “เป็นนักศึกษาจบใหม่ แรกๆ ก็ได้เวรในวอร์ดต่างๆ ทำหลายตำแหน่งเวียนไปก่อน แต่ตอนนี้ประจำอยู่วอร์ดที่เกี่ยวกับเด็กแรกเกิดที่มีภาวะวิกฤติ หรือว่าที่เขาเรียกกันว่า HICU ในช่วงแรกก็ยังมีพี่เลี้ยงคอยสอน เพราะอยู่ในสถานะเด็กฝึกงานอยู่ เมื่อเริ่มอยู่ได้ส่วนใหญ่ก็จะรับผิดชอบทำงานหัตถการ งานเอกสาร งานดูแลผู้ป่วยจำหน่ายเอง”

แต่เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลประจำอำเภอ การทำหน้าที่ของมะลิจึงมีความก้ำกึ่งอยู่ในบางครั้ง เธอเล่าต่ออีกว่า “เราต้องสามารถรับผู้ป่วยที่มีอาการใกล้เคียงกับหน้าที่ของเราให้ได้ ทั้งวิกฤติและไม่วิกฤติ คนมันมีไม่มาก เลยต้องรับผิดรับเพิ่มมาเพื่อลดภาระของคนอื่น และช่วยชีวิตผู้ป่วยเอาไว้”

ด้านลักษณะของการเข้าเวรนั้นจะมีแบ่งไว้อย่างชัดเจน โดยหัวหน้าแผนกจะเป็นผู้ดูแลและจัดตารางให้แก่พยาบาลน้องๆ ในสังกัดตามความเหมาะสมและเท่าเทียมกัน เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้น เนื่องจากต้องคำนวณเงินในส่วนของการทำงานล่วงเวลาเพิ่มเข้ามาด้วย

“ใน 1 วันมันจะแบ่งเป็น 3 เวร เช้า บ่าย เย็น และใน 1 เดือนต้องเวียนให้ครบทั้งหมด 3 เวร ไม่ได้จำกัดไว้ว่าเราจะต้องเวรเช้าอย่างเดียว เพราะบางวันก็ต้องควงเวรด้วย (ควงเวรคือการทำงานวันละ 2 เวรต่อกัน เช่น เช้า – บ่าย และ บ่าย – ดึก) แต่ถ้าเป็นคนที่เขาอยู่มานานระดับหัวหน้า พวกนี้เขาอาจจะเวรเช้าไปทั้งเดือนเลย ในระดับหัวหน้าเขาอาจจะทำแบบนั้นได้ แต่ในพยาบาลใหม่ก็ต้องเวรเช้า บ่าย ดึกทั่วไปเลย ไม่ได้เวรเดียวตลอด” มะลิกล่าว

แลกเปลี่ยนภาระงานผ่านการซื้อ – ขายเวร

“การซื้อ – ขายเวรส่วนใหญ่จะเป็นการดีลกันนอกรอบ เมื่อตารางเวรออกมาแล้วก็จะยึดตามนี้ ใครจะซื้อขายเวรยังไงก็ไปตกลงกันเอาเอง แต่ก็ต้องเวรให้ครบวันทำการปกติของเราก่อนค่อยไปซื้อขายเวรเพิ่มเติมทีหลัง ต้องเน้นให้งานหลักของเราครบก่อน เป็นเหมือนการซื้อขายโอที เพราะเราก็จะเอาโอทีส่วนนั้นแหละมาแลกกัน บางคนที่เขาอยากอยู่กับครอบครัวนั้นจะทำงานแค่ให้ครบเวลาปกติ ที่เหลือก็จะขายเวรให้น้องๆ เด็กใหม่แทน”

เพราะเมื่อทำงานมาแล้วหลายปี เงินเดือนของพยาบาลเหล่านั้นก็จะมีมากพอให้ตนเองสามารถอยู่ได้อย่างไม่ขัดสน ซึ่งจะแตกต่างจากเด็กจบใหม่ที่ได้เงินเริ่มต้นเพียงแค่ 12,000 บาทเท่านั้น นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้มะลิตัดสินใจรับซื้อเวรเพิ่มขึ้นมาเป็นเท่าตัว เพื่อให้มีเงินมากเพียงพอที่จะใช้จ่ายในแต่ละเดือน

“บางครั้งก็รู้สึกมีความสุขนะ แต่บางครั้งเราก็รู้สึกว่าภาระหน้าที่มันหนักเกิน ไปเจอตึกอื่นที่คนไข้เยอะกว่าพยาบาล ถึงจะบอกว่าไม่ได้เป็นคนไข้วิกฤติ แต่เรารู้สึกว่าต้องดูแลเขาเยอะไม่แพ้กัน”

ค่าตอบแทนที่ได้รับ

มะลิให้ความเห็นว่า“บางคนที่เขามองเข้ามาอาจคิดว่าค่าตอบแทนที่ได้มันเยอะ แต่สำหรับเรารู้สึกว่ามันน้อย ไม่เหมาะสมกับงานที่เจอในแต่ละวัน อย่างบางเวรมันก็หนักจริงๆ และการคำนวณเงิน OT ก็มีข้อจำกัดว่าต้องช่วยเหลือภาครัฐด้วย ไม่ควรเกินจำนวนที่เขาขอความร่วมมือไว้ เพราะจริงๆ แล้วกระทรวงกำหนดค่าโอทีไว้น้อยกว่าที่โรงพยาบาลให้ ในหลายโรงพยาบาลที่เขาสามารถทำเงินได้ ให้ค่าตอบแทนนั้นจะมากที่กระทรวงกำหนดไว้เยอะมาก ของเราก็ถือว่ามากกว่าที่กระทรวงกำหนดนะ แต่มากกว่าแค่นิดเดียวจนรู้สึกว่าคุ้มค่า”

สำหรับในปัจจุบันนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้มีนโยบายการปรับเพิ่มเงิน OT และค่าเวรแก่เหล่าบุคลากร เพื่อเป็นแรงจูงใจในการทำงานท่ามกลางสถานการณ์ที่เศรษฐกิจไทยไร้ซึ่งความคล่องตัว โดยพยาบาลเวรบ่ายและดึกนั้นจะได้เงินอยู่ที่ 360 บาทต่อเวร จากเดิมที่ได้อยู่เพียง 240 บาท แต่ถึงเช่นนั้น มะลิกลับมองว่าค่าตอบแทนที่ได้อาจจะยังไม่เพียงพอต่อรายจ่ายที่เธอมี เนื่องจากบางเดือนนั้นก็ไร้ซึ่งเงินส่วนนี้ จึงมีความไม่แน่นอนของรายได้

“อย่างน้อยอยากให้ฐานเงินเดือนของพยาบาลจบใหม่อยู่ที่ 15,000 บาทขึ้นไป ตอนแรกมีคำถามอยู่ในหัวเหมือนกันว่า เราจบปริญญาตรีมานะ แต่ทำไมเงินเดือนเราไม่ถึง 15,000 เคยถามกับพี่ๆ หรือหัวหน้าพยาบาล เขาก็ค้นหาคำตอบให้แหละ ก็คือต้องย้อนกลับไปดูที่กฎของกระทรวงว่าเงินเดือนของพยาบาลนั้นอยู่ที่เท่าไหร่ เพราะก็ไม่ได้กำหนดอยู่แล้วว่าต้องได้ 15,000 อย่างที่ใครหลายๆ คนเรียกร้อง” มะลิกล่าว

อนาคตที่วาดฝันกับเส้นทางเดินของการเป็นพยาบาล

สำหรับการทำงานในโรงพยาบาลของรัฐนั้นต้องยอมรับว่าค่าตอบแทนที่ได้ค่อนข้างน้อย อีกทั้งหากต้องการบรรจุเข้าเป็นพนักงานราชการอาจต้องใช้ระยะเวลาเป็นปีถึงจะได้มีสิทธิถูกเรียกชื่อเข้าไป เนื่องจากต้องเรียกตามลำดับของชื่อแต่ละคน หากจะบอกว่าเด็กรุ่นใหม่ส่วนใหญ่นั้นเลือกทำงานกับโรงพยาบาลเอกชนมากกว่าก็คงจะไม่ใช่เรื่องที่ผิดแปลก แต่ละสำหรับมะลิแล้วนั้น กลับมีเหตุผลที่มากกว่าเพียงแค่เงินที่ทำให้เธอยังไม่ตัดสินใจลากออกไปเริ่มต้นในสถานที่ทำงานที่ดีกว่า

“จากเห็นเพื่อนๆ บางคน เหมือนเขารู้สึกว่างานหนักเกินไป บางคนยอมที่จะจ่ายเงินคือเพราะอยู่ไม่ครบตามสัญญาของทุนที่ได้ตอนเรียน แต่สำหรับเรารู้สึกว่าตัวเองยังลังเลอยู่ ขอระยะเวลาคิดอีกสักปี ถ้าลาออกไปอาจได้ที่ทำงานที่ดีกว่า เงินเยอะกว่า แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งก็คือมันอยู่ใกล้บ้าน ถ้าเราอยู่ไปเรื่อยๆ จนฐานเงินเดินมันเพิ่มขึ้น ก็คงจะพอที่ทำให้สามารถอยู่ได้ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะไหวไหม เพราะคนไข้โรงพยาบาลรัฐนั้นมีเยอะ แต่จำนวนของพยาบาลนั้นมีน้อย อีกอย่างคือโอกาสที่จะได้บรรจุเป็นข้าราชการเองก็มีน้อย ต้องรอเรียกชื่อ ถึงแม้ว่าจะทำงานอยู่ในโรงพยาบาลรัฐก็ตาม”

อ้างอิง

สธ. ปรับเพิ่ม ‘ค่าโอที-ค่าเวร’ บุคลากนทางการแพทย์อะไร ได้เท่าไหร่ เช็กที่นี่!!