แม้ประเทศไทยจะผ่านการเลือกตั้งครั้งใหญ่ไปแล้วกว่า 2 เดือน นับตั้งแต่ 14 พฤษภาคม 2023 ที่ผ่านมา แต่ถึงตอนนี้ ( 28 กรกฎาคม 2023) เรายังไม่มีรัฐบาล ยังไม่ได้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 และมีแนวโน้มว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พรรคที่มีคะแนนเสียงเลือกตั้งครั้งนี้มากที่สุดจะถูกกลไกองค์กรอิสระที่มาจากรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งล้วนเป็นผลผลิตจากคณะรัฐประหารเล่นงานจนทำให้เขากระเด็นออกนอกเส้นทางนายกรัฐมนตรี

การหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลได้เสนอนโยบายการพัฒนาท้องถิ่นที่น่าสนใจในหลายด้าน โดยเฉพาะเรื่องกระจายอำนาจ วันนี้ ‘เดอะลาวเด้อ’ มี ‘ปฐวี โชติอนันต์’ ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และ ‘สันติสุข กาญจนประกร’ บรรณาธิการเพจข่าว The Voters ได้ให้ข้อมูล ความคิดเห็นและมุมมองอันน่าสนใจเกี่ยวกับการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ตั้งแต่ประวัติศาสตร์จนถึงสถานการณ์ปัจจุบันของการกระจายอำนาจในประเทศไทย

กว่า อำนาจ จะถูกกระจาย : ปฐวี โชติอนันต์
ปฐวี โชติอนันต์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ปฐวี โชติอนันต์: 

จากสุขาภิบาลสู่เทศบาล ประวัติศาสตร์การกระจายอำนาจ

ผศ.ปฐวี ได้กล่าวว่า การกระจายอำนาจคือการบริหารอำนาจที่กระจุกตัวอยู่ในศูนย์กลางมาให้ประชาชนในท้องถิ่น ถ้าเราย้อนกลับไปและนับการกระจายอำนาจ มีอยู่  2 ข้อถกเถียง คือ

1) การกระจายอำนาจที่เกิดขึ้นตอนที่มีสุขาภิบาล ในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ได้รูปแบบมาจากต่างประเทศ และมีการจัดให้ดูแลท้องถิ่น ซึ่งสุขาภิบาลแห่งแรกคือ ท่าฉลอม และเรียกกันว่า ‘การปกครองส่วนท้องถิ่น’ แท้จริงแล้วเป็น ‘การปกครองท้องถิ่นโดยรัฐบาล’ ถึงแม้จะนำรูปแบบของต่างประเทศมาใช้ แต่คนที่ทำหน้าที่ในการดูแลสุขาภิบาลถูกแต่งตั้งโดยส่วนกลาง
แต่ถ้าจะพูดถึงการกระจายอำนาจจริง ๆ จะอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงในปี พ.ศ. 2475 จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตย เพราะว่าอำนาจการปกครองและบริหารถูกถ่ายโอนมาเป็นของประชาชน ให้ประชาชนมีสิทธิเลือกผู้แทนของตัวเองเข้าไปบริหารในระดับประเทศได้ คือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ซึ่งตอนแรกอาจจะมาจากการแต่งตั้ง แต่ช่วงหลังให้ประชาชนเป็นคนเลือกตั้ง

2) ส่วนการบริหารงานท้องถิ่น เริ่มมีการแต่งตั้งหลังปี พ.ศ. 2475 ที่เรียกว่า ‘เทศบาล’ หรือการปกครองท้องถิ่นในระดับเมือง เนื่องจากคณะราษฎรต้องการที่จะส่งเสริมให้คนมีส่วนร่วมในเรื่องของการเมือง โดยเฉพาะเรื่องของการปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตย และได้แนวคิดจากตะวันตก เรียกว่า ‘ชนชั้นกลาง’ ชนชั้นกลางคือฐานสำคัญที่ทำให้เกิดประชาธิปไตย ซึ่งชนชั้นกลางคนที่ศึกษาหนังสือต่าง ๆ ส่วนมากอยู่ในเมือง เลยมีการจัดตั้งเทศบาลขึ้นมา อาจจะเรียกอีกอย่างว่าการกระจายอำนาจที่เกิดขึ้น และมีการจัดสภาจังหวัด ไม่ได้มีนิติบุคคล แต่จะให้ประชาชนเข้าไปเป็นสมาชิกผ่านการเลือกเข้า และสภาจังหวัดทำหน้าที่ในการแนะนำผู้ว่าราชการจังหวัดที่แต่งตั้งจากส่วนภูมิภาค เราพอจะเห็นว่ามีการกระจายอำนาจจากส่วนกลางมาท้องถิ่นมากขึ้น 

กระจายอำนาจใต้เผด็จการ – ประชาธิปไตย

“แต่การกระจายอำนาจมันเปลี่ยนไปตามการเมือง เนื่องจากการเมืองของไทยสลับกันไประหว่างระบอบเผด็จการและระบอบประชาธิปไตย ซึ่งถ้าเป็นระบอบเผด็จการจะคงอยู่ยาวนาน หมายความว่าประเทศถูกยึดโดยระบอบเผด็จการ ตั้งแต่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม อาจจะมีการแต่งตั้ง อบจ. อบต. ขึ้นมา แต่พอเข้ายุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถึง จอมพลถนอม กิตติขจร (2501 – 2516) เป็นระบอบเผด็จการ อำนาจท้องถิ่นถูกแช่แข็งไว้นานโดยระบอบเผด็จการ เลยทำให้ท้องถิ่นไม่มีการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นจากประชาชนโดยตรง ทำให้ผู้นำท้องถิ่นถูกแต่งตั้งโดยข้าราชการส่วนภูมิภาค” 

ผศ.ปฐวี กล่าวต่อว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ในสมัยนั้น กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่โตเดี่ยว รัฐไทยสูบอำนาจไว้อย่างยาวนาน พอสูบอำนาจไว้นาน ศูนย์อำนาจในกรุงเทพฯ เลยมีปัญหา สิ่งที่ผู้นำทำในตอนนั้นคือ จัดการกับปัญหาในกรุงเทพฯ คือการเปลี่ยนระบบการปกครองท้องถิ่นใหม่ จากที่กรุงเทพฯ เคยเป็นระบบการปกครองแบบเทศบาล เปลี่ยนมาเป็นการบริหารท้องถิ่นเต็มพื้นที่และเลือกตั้งผู้ว่าฯ ขับเคลื่อนการกระจายอำนาจที่ผ่านมาเกิดขึ้นช่วงหลังปี พ.ศ. 2530-2531 ซึ่งช่วงนั้นโลกเริ่มออกจากสงครามเย็น นักวิชาการเริ่มคิดว่าต้องปฏิรูประบบการเมืองใหม่  

การเมืองไทยเปลี่ยนในช่วงที่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ วางมือจากการเมือง ทำให้ประเทศไทยได้หลุดออกจาก ‘ยุคจอมพล’ เปลี่ยนมาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมี พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ไม่เหมือนในยุคพลเอกเปรม ที่ได้เป็นนายกเพื่อเสียงสนับสนุนส่วนหนึ่งมาจาก ส.ว. ที่มีส่วนในการเลือกนายกฯมาปกครองประเทศ สถานการณ์ทางการเมืองโลกในขณะนั้น คอมมิวนิสต์ล่มสลาย อเมริกาแพ้สงคราม พอเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยเต็มใบ ประเทศเปลี่ยนเป็นเสรีนิยมมากขึ้น 

เริ่มมีนักวิชาการกลุ่มหนึ่งที่ชูธงนำเรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรงจากประชาชนคือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณธเนศวร์ เจริญเมือง ตอนนั้นอยู่ในคณะสังคมศาสตร์ (ปัจจุบันคือ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพราะคิดว่าควรมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารงานใหม่ ให้คนในท้องถิ่นมีสิทธิเลือกผู้บริหารงานของตัวเอง 

“ถ้ามองจริง ๆ ‘ผู้ว่าราชการจังหวัด’ คือตัวแทนของส่วนกลางที่ถูกส่งมาบริหารจัดการการปกครองจังหวัด ซึ่งตรงนี้ไม่ได้เกี่ยวโยงอะไรกับประชาชนในพื้นที่หรือในท้องถิ่น”

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอนี้มีการจุดขึ้นในช่วงระยะเวลาที่เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เกิดรัฐประหารโดย พลเอกสุจินดา คราประยูร ก่อนเกิดพฤษภาคม 2535 เริ่มมีการพูดคุยเรื่อง ปฏิรูปการเมืองกันใหม่ ข้อเสนอเรื่องการกระจายอำนาจและข้อเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเกิดขึ้น จนพรรคการเมืองมีการรับไปและมีการหาเสียงว่า ถ้าได้เป็นรัฐบาลจะให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด อย่างเช่น พรรคประชาธิปัตย์ อย่างไรก็ตาม กระแสนี้มันก็มา มีการหาเสียง มีการรณรงค์กันไปเรื่อยจนกระทั่งประเทศไทยเข้าสู่ในช่วงเศรษฐกิจที่ดีมาก

กระจายอำนาจกับการมีส่วนร่วมของประชาชน

“ปัญหาของท้องถิ่นมีเยอะมาก”ผศ.ปฐวีกล่าวว่า “เราต้องพูดคุยเรื่องการกระจายอำนาจก่อน เพราะการกระจายอำนาจมันมีปัญหามาก่อน  การกระจายอำนาจไม่ใช่การกระจายอำนาจ รัฐไม่มีพื้นที่ให้เขาใช้อำนาจในการตรวจสอบ ซึ่งการกระจายอำนาจ อย่างเรื่องเลือกตั้งผู้ว่าฯ สิ่งที่ตามมาคือ เราจะถูกตั้งคำถามว่า แล้วถ้าเกิดคอร์รัปชัน เจอเจ้าพ่อมาเฟีย จะตรวจสอบยังไง? สิ่งที่ต้องพูดต่อไปคือเรื่องการปฏิรูปการปกครองและการบริหารท้องถิ่น การ Empower (เสริมพลัง) ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองหรือบริหารท้องถิ่นมากขึ้น ผมมองว่าเป็นตรงนี้มากกว่า ต้องพลิกวิธีคิด ไม่ใช่การกระจายอำนาจแล้ว แต่เป็นการปฏิรูปการบริหารให้คนมีส่วนร่วมในการบริหารมากขึ้น”

“เราต้องหาหลายๆ โมเดลในเรื่อง ‘การจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและประชาชน ท้องถิ่น’ กันใหม่ ซึ่งผมมองว่า ท้องถิ่นมีอำนาจอยู่แล้ว แต่ต้องมีพื้นที่ให้เขาใช้อำนาจมากกว่านี้ในการกำกับดูแลรัฐและกำกับดูแลท้องถิ่น ซึ่งการเลือกตั้งผู้ว่าฯ อาจจะไม่ใช่โมเดลเดียวที่เราเห็นในปัจจุบัน อาจจะเป็นไปได้ว่า ประชาชนในท้องถิ่นสามารถพูดได้ว่า เอาหรือไม่เอา หรือประเมินผู้ว่าฯ ได้ เพราะถ้าเราพูดถึงเรื่องท้องถิ่น ต้องดูว่าแต่ละท้องถิ่นมีความต้องการอะไรมากกว่าที่จะกำหนดให้เหมือนกันทั่วประเทศ”

‘สามช้า’ อุปสรรคของการกระจายอำนาจ

ผศ.ปฐวี กล่าวว่า ศาสตราจารย์ธเนศ เจริญเมือง พูดไว้ในเรื่องของสามช้า คือ หนึ่ง – การปฏิวัติที่ล่าช้า คือ ปฏิวัติทางด้านความคิด ถามง่าย ๆ เลย นายกเทศบาลท้องถิ่นคุณชื่ออะไร ไม่มีใครจำชื่อได้ จำได้แต่ชื่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จำชื่อนายกระดับประเทศได้ นี่คือสาเหตุแรกที่ทำให้คนในท้องถิ่นไม่สนใจถึงปัญหาท้องถิ่นตัวเอง เพราะส่วนมากเรื่องของรัฐจะถูกส่งไปในปัญหาที่อยู่ในส่วนกลาง ทำให้ส่วนท้องถิ่นไม่มีอำนาจมาตลอด หรือเพิ่งจะมีอำนาจคนก็ไม่สนใจการปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะคนท้องถิ่นแก้ไขมันไม่ได้ แล้วคุณจะไปรู้เรื่องนายกท้องถิ่นของคุณทำไม 

“เด็กในห้องเรียนผมก็ตอบไม่ได้ นายกชื่ออะไร ส.ท. บ้านคุณชื่ออะไร ที่ดูแลเขตคุณ ส.อบจ. อะไรที่ดูแลเขตคุณ ตอบกันไม่ได้ เพราะว่าการปฏิวัติจิตสำนึกมันล่าช้า เนื่องจากท้องถิ่นมันถูกทำให้อ่อนแอมาตลอด ไม่มีผลงาน แก้ปัญหาไม่ได้ คนก็ไม่สนใจ”

ห้องเรียนของเราเอง เราเรียนเรื่องพวกนี้น้อยมาก กี่คณะที่เรียนเรื่องท้องถิ่น เรียนเรื่องการปกครองท้องถิ่น เรียนเรื่องพลเมืองที่เข้มแข็ง การศึกษาของเราเป็นการศึกษาที่เขาเรียกว่าการผลิตคนออกไปเป็นช่างเทคนิค มากกว่าที่จะเรียนในแบบบูรณาการ หมอก็เรียนในเรื่องของหมอ เภสัชก็เรียนในเรื่องของเภสัช แต่คุณไม่ได้เรียนเรื่องของพลเมือง เรื่องของสังคม ท้องถิ่นของตัวเองเลย คุณมาเรียน คุณมาอยู่ คุณมาขี้ คุณมากิน ในมหาวิทยาลัย แต่คุณไม่รู้เลยว่าในพื้นที่นี้เป็นมาอย่างไร มีปัญหาอะไร และคุณจะสนใจและรักท้องถิ่นได้อย่างไร แม้แต่บ้านคุณ คุณยังไม่รู้เลยว่าปัญหาท้องถิ่นคืออะไร สิ่งที่มันเกิดขึ้นคือเขาก็ไม่สนใจ พอเขาไม่สนใจ การกระจายอำนาจมันจะกระจายได้ยังไง อันนี้มันเป็นเมื่อก่อน แต่ตอนนี้ปัญหานี้คนเริ่มรู้เรื่องกันมากขึ้น ปัญหาที่มันเกิดขึ้นคือปัญหาเชิงโครงสร้าง 

สอง – เราเป็นประชาธิปไตยที่ล่าช้า จึงทำให้การกระจายอำนาจล่าช้า เพราะการกระจายอำนาจมันมาพร้อมกับประชาธิปไตย เพราะว่าประชาธิปไตยหลักมาจากเสรีภาพ ในเรื่องของการเลือกตั้ง ตรวจสอบอำนาจ แต่รัฐไทยมันมีรัฐประหารหลายครั้ง และยึดอำนาจกันมาตลอด คนก็เริ่มไม่สนใจ อำนาจก็กลับไปรวมอยู่ที่ศูนย์กลาง 

สาม – การกระจายอำนาจล่าช้า คือ การกระจายอำนาจที่บรรจุในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 หลังจากการเปลี่ยนแปลง 2475 รวม 65 ปีกว่าจะมีการบรรจุในรัฐธรรมนูญ หลังจากนั้นประเทศเราก็เจอแต่รัฐประหาร เลยทำให้เกิดความล่าช้าและบิดเบี้ยว อำนาจและผลประโยชน์ที่เคยอยู่ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค คนที่เคยได้อำนาจได้ผลประโยชน์เขาก็ไม่อยากเสียผลประโยชน์ให้เรา เพราะว่ามันคือผลประโยชน์ มันคือหน้าที่ คือความมั่นคงของเขา เลยเป็นปัญหาตามมาว่า ถ้าสมมุติว่าคุณกระจายอำนาจ เลือกตั้งผู้ว่าฯ คำถามคือ ราชการส่วนภูมิภาค คุณจะเอาไปไว้ไหน เขาจะมั่นใจมากน้อยแค่ไหนเวลาเขาลงมาอยู่ในท้องถิ่น ช่วงปี พ.ศ. 2540 ขึ้นมา เคยมีการให้ครูมาบรรจุในท้องถิ่นทั่วประเทศ ต้องทำให้ท้องถิ่นรู้สึกว่า ถ้าเขาย้ายมาอยู่ในท้องถิ่นแล้ว เขาจะมีอาชีพการงานที่มั่นคง มีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้น ผมเลยคิดว่า 3 ประเด็นนี้ เป็นอุปสรรคสำคัญในการกระจายอำนาจ คือคุณยังไม่เจอระบบราชการที่ใหญ่ คุณต้องเจอกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ว่าฯ มหาดไทย คนในกระทรวงเท่าไรที่อยู่ในภูมิภาค เพราะยังไม่เกิดขึ้น แต่ชี้ให้เห็นว่ามันมีอุปสรรคขวางการกระจายอำนาจอยู่

ปกครองส่วนท้องถิ่นไทยและเทศ

ผศ.ปฐวี กล่าวว่า ประเทศเราค่อนข้างจะออกไปในทางของญี่ปุ่น อเมริกา อังกฤษและฝรั่งเศส คือมีหลายโมเดลมาก แต่สิ่งที่จะทำให้ท้องถิ่นเปลี่ยนแปลงได้คือ ไม่ใช่โมเดล แต่อยู่ที่ว่าเมื่อไรท้องถิ่นและประชาชนมีอำนาจในการดีไซน์การปกครอง โครงสร้างบริหารท้องถิ่นตัวเอง เขาจะดึงโมเดลเข้ากับท้องถิ่นได้ ซึ่งไม่จำเป็นที่จะต้องเหมือนกันทุกท้องถิ่น บางท้องถิ่นอาจจะมีโครงสร้างการปกครองแบบเมเนเจอร์ คือมีสภาและจ้างคนเก่ง ๆ มาเป็นผู้บริหาร หรือบางท้องถิ่นอาจจะมีโครงสร้างเลือกผู้บริหารโดยตรง เลือกสภาท้องถิ่นมีลักษณะที่ว่า มีสภา สภาเลือกผู้บริหาร 

“แต่ภาพรวมของท้องถิ่นในต่างประเทศ สิ่งที่เห็นเหมือนกันคือ งบประมาณที่ส่วนกลางส่งลงมาให้ท้องถิ่นมีจำนวนที่เยอะมาก และให้อำนาจท้องถิ่นจัดเก็บภาษีด้วยตัวเอง ท้องถิ่นพอมีเงิน ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น อังกฤษ อเมริกาหรือฝรั่งเศส เขาให้ท้องถิ่นจัดเก็บภาษีตัวเองได้มาก พอจัดเก็บ ท้องถิ่นไม่จำเป็นต้องเผื่อส่วนกลางมาก เลยมีอิสระในการตัดสินใจในการบริหารท้องถิ่นของตัวเอง”

สันติสุข กาญจนประกร บรรณาธิการเพจข่าว The Voters

สันติสุข กาญจนประกร: 

ความก้าวหน้าปลดล็อกท้องถิ่น – เลือกตั้งผู้ว่าฯ

ในห้วงเวลาการจัดตั้งรัฐบาลที่ยังไม่ลงตัว และคาดการณ์แนวโน้มว่า ถ้าหากพรรคก้าวไกลที่เป็นพรรคที่มีคะแนนเสียงเป็นอันดับ 1 ไม่ได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาล จะส่งผลต่อนโยบายกระจายอำนาจอย่างไรนั้น สันติสุข กาญจนประกร แอ็ดมินเฟซบุ๊กแฟนเพจ The Voters เปิดเผยว่า ได้มีโอกาสปรึกษากับ ‘ชำนาญ จันทร์เรือง’ ทีมของคณะก้าวหน้ายืนยันว่า ก็ต้องเดินหน้าต่อ เป็นฝ่ายค้านก็ทำได้ เป็นฝ่ายค้านก็เสนอกฎหมายได้ เรื่องปลดล็อกท้องถิ่น เลือกตั้งผู้ว่า ยังทำได้และเดินหน้าต่อไป

“การกระจายอำนาจตอนนี้มีแสงสว่างมากขึ้น โอกาสมันมีแน่นอนอยู่แล้ว แต่เราอาจจะต้องใจเย็นนิดนึง ถ้าสื่อมวลชนช่วยกันนำเสนอเรื่องเกี่ยวกับการกระจายอำนาจว่าสำคัญ ทำให้ประชาชนตื่นตัวโอกาสก็จะมีเพิ่มมากขึ้น อีกอย่างพรรคก้าวไกลเขามีนโยบายกระจายอำนาจเลือกตั้งผู้ว่าฯ ก็ให้ช่วยกันทวงถามว่า ถ้าคุณจัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว นโยบายเกี่ยวกับการอำนาจท้องถิ่นคุณต้องทำนะ ช่วยกันส่งเสียง ให้การกระจายอำนาจมันเกิดขึ้น เพราะยังไงมันต้องถูกผลักในสภากฎหมายถึงจะเกิดขึ้นได้”

สว. คือ อุปสรรคการกระจายอำนาจ

“แต่อุปสรรคสำคัญที่กำลังฮิตเลย คือ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่ส่วนใหญ่ชอบเอาวาทกรรม ‘การแบ่งแยกดินแดน’ มาอ้างว่า ‘การเลือกตั้งผู้ว่าฯจะแบ่งแยกดินแดน’ ซึ่งมันแบ่งไม่ได้อยู่แล้วตามรัฐธรรมนูญหมวด 1 มาตรา 1 ก็เห็นชัดอยู่แล้วว่า เราเป็นรัฐเดียวแยกไม่ได้ แล้วอีกอย่างหนึ่ง คือประชาชนไม่มีอาวุธ ไม่มีรถถัง ผมว่าคนที่จะแบ่งแยกได้ก็คือทหารเท่านั้นแหละ”

สว.พวกนั้นคิดว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯจะเป็นการแยกตัวเองเป็นรัฐอิสระ ซึ่งฟังแล้วมันไม่เมคเซนส์เลย มันไร้สาระมากๆ อุปสรรคของการกระจายอำนาจท้องถิ่นของพรรคก้าวไกล ก็ยังมีคนส่วนน้อยที่ยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องแบ่งแยกดินแดน 

“แบ่งแยกดินแดนมันเป็นไปไม่ได้หรอก นอกจากเราจะมีกองทัพเป็นของตนเอง คือไม่อยากจะพูดถึงขนาดว่าลำพังแค่ต้านรัฐประหารเรายังต้านกันไม่ได้เลย จะเอาอะไรไปแบ่งแยกดินแดน ซึ่งมันเป็นวาทกรรมที่ใช้โจมตีมากกว่า เพราะว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯมีแต่สร้างความเจริญ  อย่างญี่ปุ่น เกาหลีเขาก็มีการเลือกตั้งผู้ว่าท้องถิ่นกัน”

ก่อนนี้มีคำว่า ‘จังหวัดจัดการตนเอง’ อธิบายอย่างง่ายก็คือ จังหวัดไหนเชี่ยวชาญหรือเก่งทางด้านไหน เราก็สนับสนุนด้านนั้น เช่น ระยอง จันทบุรีเขาเชี่ยวชาญทางด้านทุเรียน ก็อาจจะมีโรงเรียนสอนปลูกทุเรียน เพราะว่าการวัดค่าตอนนี้ ถ้าเราไปดูทั่วประเทศของผู้ว่าฯจะวัดค่าเหมือนกันเลยคือวัดด้วยการเก็บผักตบชวา ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ตลกมากว่า บางท้องถิ่นมันไม่มีผักตบชวา จังหวัดจัดการตนเองจึงจำเป็นที่ประเทศเราควรจะมี เพราะจะส่งเสริมให้ประเทศเกิดการเจริญเติบโตไปในลักษณะธรรมชาติ 

เลือกตั้งผู้ว่าฯกับการกระจายอำนาจ

“การเลือกตั้ง คือการกระจายอำนาจในตัวของมันเองอยู่แล้ว” สันติสุขกล่าวว่า “การแต่งตั้งคือการรวมศูนย์ การเลือกตั้งคือการกระจายอำนาจ ในร่างบข้อเสนอเลือกตั้งผู้ว่าฯทั่วประเทศ ของTHE VOTERS หรือแม้กระทั่งนโยบายของพรรคก้าวไกล จะมีการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค ให้มาอยู่ในส่วนของท้องถิ่นแทน ก็จะเหลือแค่ส่วนกลาง ส่วนท้องถิ่นเท่านั้น ก็จะเป็นอิสระมีอำนาจเต็มในการบริหารจัดการสาธารนูปโภคพื้นฐาน หรือแม้กระทั่งอื่นๆที่อยากเห็นในจังหวัดตัวเอง”

การยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคไม่มีใครตกงานหรอก เพราะว่าก็ย้ายไปทำงานในท้องถิ่นแทน การปกครองท้องถิ่นจะมีอยู่ 2 ชั้น คือ ชั้นบน – ผู้ว่าฯ ชั้นล่าง – อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ส่วนท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งเป็นวาระเหมือนกันจะไม่อยู่ยาว นายอำเภอจะตัดไปอยู่กรมการปกครอง มีสภาพลเมืองคอยตรวจสอบ ประชาชนสามารถขอดูงบที่ใช้ได้โดยง่ายผ่านออนไลน์”

เราอยากให้มีทุกจังหวัดมีมหาวิทยาลัยที่ดี มีโรงเรียนที่ดี ไม่ต้องเดินทางเข้ามาเรียนจุฬา-ธรรมศาสตร์หรือที่ไกลบ้าน เรื่องนี้อยากให้เป็นสิทธิพื้นฐาน เพราะการศึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญ เรื่องพวกนี้ควรเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐาน เราควรจะมีการเรียนฟรีที่ดีและมีเงินเดือนให้ด้วย ชุดนักเรียนควรจะเป็นของพื้นฐานซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ ยกเลิกหนี้กยศ. ไม่งั้นคนจนก็จนอย่างนี้อยู่ร่ำไป สวัสดิการพื้นฐานต้องให้อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่ใช่ให้อย่างสงเคราะห์ให้อย่างบริจาค ต้องให้อย่างเท่าเทียมกัน 

“อีกเรื่องนึงก็คือขนส่งมวลชนขนส่งสาธารณะ มันควรที่จะเชื่อมโยงกันทั้งจังหวัด ไม่ต้องมีตลอด 24 ชั่วโมง แต่มีการจัดเวลาเดินรถไฟที่ชัดเจน 2 สิ่งนี้ผมคิดว่าสำคัญมากๆ  และอีกอย่างอยากให้ลองเข้าไปดูในเพจ THE VOTERS เรานำเสนอเรื่องเกี่ยวกับสังคมการเมืองเน้นเรื่องการกระจายอำนาจ เดินหน้าต่อเรื่องการล่ารายชื่อให้ครบ 50,000 คน เพราะว่าการจะผลักเข้าสภาไปแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ต้องได้รายชื่อ 50,000 คน”

กระจายอำนาจ = กระจายคุณภาพชีวิตที่ดี

“เราลองหลับตาดูก็ได้และลองนึกดูว่าในจังหวัดของคุณขาดอะไร การกระจายงบประมาณสัดส่วนภาษีไปให้ท้องถิ่น 70% อะไรจะเกิดขึ้นในจังหวัดของคุณ มีรถรางวิ่งรอบเมือง รถไฟฟ้า โรงเรียนนานาชาติ หนึ่งตำบลหนึ่งร้านหนังสืออิสระ ทุนทำหนัง หนึ่งตำบลหนึ่งหนัง ทำได้หมดเลย คือการกระจายอำนาจอย่างน้อยๆ คือการสมมุติว่าเรากระจายอำนาจให้เกิดการเลือกตั้งขึ้นแล้วเราอยากแก้กฎหมายอาญา มาตรา112 เราก็จะเลือกพรรคที่มีนโยบายแก้ มาตรา 112  นี้คือการกระจายอำนาจ 

“อีกอย่างนึงก็คือ เราถูกปลูกฝังมาตลอดว่า เราจนเพราะชาติที่แล้วเราทำบุญมาไม่ดี ชาติที่แล้วเราทำบาป ทำชั่ว ซึ่งมันไม่จริง ถ้าเรารู้สึกว่าเรามีอำนาจทางการเมืองและเราต้องอยู่กับน้ำประปาขุ่นๆ ชั่วนาตาปี ซึ่งตอนนี้เรารู้แล้วว่าเรามี power เราไม่ยอมแล้ว เราจะส่งเสียงแล้วว่า ‘เฮ้ยฉันไม่ต้องการน้ำประปาแบบนี้ ฉันต้องการน้ำประปาสะอาดที่กินได้’ ส่งเสียงเพื่อให้พรรคการเมืองบรรจุเป็นนโยบาย นี่คือตัวอย่างง่ายๆ ว่ามันเป็นเอ็มพาวเวอร์ภายในว่า เรามีอำนาจทางการเมืองที่จะส่งเสียงเพราะประเทศเป็นของเรา ประเทศไม่ใช่ ของกลุ่มคนเล็กๆ ที่จะมาฉุดรั้งกาลเวลาไว้อยู่ ประเทศเป็นของราษฎร” สันติสุขกล่าวในที่สุด