ความบันเทิงร่วมสมัยของคนที่ราบสูง ไม่ได้มีแค่ หมอลำ (ทั้งลำเรื่องต่อกลอน ลำเพลิน ลำกลอน ลำซิ่ง) ลูกทุ่งอินดี้ เจรียง กันตรึม หรือ รถแห่ แต่ยังมีคณะกลองยาวในวัฒนธรรมความบันเทิงของคนอีสาน แต่เป็นที่น่าแปลกใจที่ปัจจุบันกระแสกลองยาวในอีสานกับมีไม่มากพอเท่ากับรถแห่หรือหมอลำ ทั้งๆ ที่เป็นศาสตร์ดนตรีที่ให้ความสนุกเหมือนกัน 

ประวัติศาสตร์กลองยาว

ราวปี 2520  ศิลปะหมอลำ การฟ้อนเซิ้งต่าง ๆ ของภาคอีสานกำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก และในยุคนั้น “กลองยาวอีสาน” ก็เป็นที่นิยมมากเช่นกัน คณะกลองยาวหนึ่งอาจมีมือกลอง 8 ถึง 12 คน การตีกลองตามจังหวะเซิ้งพร้อมการเต้นหลากหลายท่าและลีลา บางคณะยังมีการต่อตัว ให้มือกลองเหยียบขา เหยียบไหล่กันขึ้นไป แล้วโชว์ตีกลองไปตามจังหวะดนตรีบรรเลง 

คณะกลองยาวเทพสุธัมมาศิลป์ อยู่ที่บ้านกุดแข้ด่อน ตำบลกุดเชียงหมี อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร ซึ่งก่อตั้งโดยอาจารย์ ภัสกร สุธัมโม สมาชิกในวงมีประมาณ 20-30 คน 

กว่าจะส่งเครื่องดนตรีพื้นบ้านให้ไปไกลและโด่งดัง อีกมุมหนึ่งของคนรุ่นใหม่ที่มีหัวใจอนุรักษ์และต้องการสืบสานให้เครื่องดนตรีพื้นบ้านเหล่านี้ได้คงอยู่ไปกับเสียงเพลงของศิลปินในอีกหลายๆ บทเพลง วันนี้ ‘เดอะลาวเด้อ’ ได้ชวนมาพูดคุยกับ น้องจิ้ม จันทิมา อุคำ จากคณะกลองยาวเทพสุธัมมาศิลป์ กับเส้นทางการเล่นกลองยาวของจิ้ม จิ้มเป็นเด็กสาวในจังหวัดมุกดาหาร บ้านตั้งอยู่่ที่ หมู่บ้านชื่อหนองสระพัง ตำบลกกแดง อำเภอนิคมคำสร้อย ครอบครัวประกอบอาชีพเป็นชาวนา ปัจจุบันจิ้ม กำลังศึกษาอยู่ที่วิทยาลัยชุมชนมุกดาหาร สาขาโลจิสติกส์ ชั้นปีที่ 2 ระยะเวลาในการตีกลองยาว 3 ปี 

จิ้ม จันทิมา อุคำ

จุดเริ่มต้นของเด็กหญิงกับคณะกลองยาว 

จิ้มเล่าว่าในช่วงที่กำลังศึกษาอยู่มัธยมอยู่ชั้นปีที่ 6 โรงเรียนร่มเกล้าพิทยาสรรค์ได้เรียนการตีกลองยาว ทั้งจากโรงเรียนสอนและโครงการทูบีนัมเบอร์วันของหมู่บ้าน ในตอนนั้นที่เรียนเพราะใจรัก ทำให้ได้รู้จักกับวงกลองยาวเทพสุธัมมาศิลป์ เห็นรุ่นน้องไปตี เกิดความสนใจจึงได้ไปร่วมวง เพิ่งเข้าวงได้ไม่นาน 

ผู้หญิงกับการตีกลองยาว 

จิ้มมองว่าเครื่องดนตรีไม่ได้จำกัดเพศ ไม่ว่าจะเพศไหน แต่มันขึ้นอยู่กับความชอบของบุคคลนั้นๆ แต่จิ้มมองว่าถ้าในวงมีผู้หญิงที่เป็นคนตีกลองยาว มันจะทำให้วงน่าสนใจขึ้น เป็นจุดดึงดูดให้คนเข้ามาดูมาสนใจ อย่างการที่ได้ไปแสดงที่อำเภอเลิงนกทา ก็มีคนมาถามว่าเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงทำไมถึงได้มาตีกลองกับวงนี้ พอเขารู้ว่าเป็นผู้หญิง เขาก็ให้กำลังใจเรา แค่นั้น ถามว่าอึดอัดไหม จิ้มไม่ได้อึดอัดในแง่ที่จิ้มเป็นผู้หญิง แต่จิ้มอึดอัดเพราะเข้าวงแรกๆ กลัวว่าจิ้มจะไปแทนที่คนอื่นหรือเปล่า แต่ไม่ใช่ วงมองว่าถ้าใครสามารถเล่นได้ ก็เล่นเลย ในอนาคตถ้ามีโอกาสก็จะเล่นต่อไปเรื่อยๆ หรือจนกว่าไม่มีเวลาไปเล่นถึงจะหยุด

 ในส่วนของรายได้ ในการออกงานแต่ละครั้งราคาจะอยู่ที่ 7,000 – 13,000 บาท ราคานี้ขึ้นอยู่กับระยะทางของที่ๆ ไปเล่น แบ่งรายได้ไม่แน่นอนเพราะแล้วแต่งาน แล้วแต่ตำแหน่ง ใน 1 เดือนก็มีงานเข้ามา 3 – 4 งาน ช่วงเมษาจะเยอะหน่อยเนื่องจากเป็นช่วงเทศกาล ที่ฮิตๆ ที่ไปเล่นก็จะมียโสธร ร้อยเอ็ด และก็เคยไปที่ชลบุรีด้วย ทางวงสามารถรับงานไปได้หมด ไม่ว่าจะบุญบั้งไฟ งานแต่ง งานบวช

กลองยาว
ลีลาการขึ้นกลอง เพื่อดึงดูดในการแสดงมีความน่าสนใจมากขึ้น

ลีลาการตีกลองของสมาชิกในวง การขึ้นบนกลอง จังหวะดนตรี ที่สำคัญก็มีแต่เด็กรุ่นใหม่ ลูกหลานคนอีสานที่อยากสืบสานประเพณีของอีสานไว้ อยากให้ทุกคนได้มาเห็นมาดูวัฒนธรรมอีสาน กลองยาวเป็นดนตรีที่เข้าถึงง่าย แนวดนตรีก็สนุกสนาน

นอกจากนี้ยังมีวัยรุ่นหัวใจรักการเล่นดนตรีพื้นบ้านวงเดียวกับจิ้ม มาร่วมพูดคุยในอีกมิติของการเป็นสมาชิกในวงกลองยาวเทพสุธัมมาศิลป์ไว้ได้อย่างน่าสนใจ 

ธนวัฒน์ อุคำ หรือ ฝ้าย เป็นคนรับงานให้กับวง เล่าว่าผู้หญิงในวงก็มีเยอะ ส่วนใหญ่เล่นกลองไม่ได้ จึงได้ไปจูงล้อ ลีลาการขึ้นกลองของวงนั้น เป็นเอกลักษณ์ เพราะถ้าเกิดมีงานที่ต้องแข่งกัน จะต้องทำให้ลีลาโดดเด่น ดึงความสนใจจากผู้คนเพื่อที่จะได้ไม่โดนตัดคะแนน มีไหว้ครู เซิ้งกลอง ลำภูไท และก็สามารถเล่นเพลงที่เป็นกระแสได้ด้วย ไม่ได้จำกัด ในส่วนของประวัติของวงกลองยาว ไม่ได้มีอะไรมากมาย ได้ชื่อมงคลมาจากพระอาจารย์ที่อุปถัมภ์วง คนที่สนับสนุนก็เป็นพ่อแม่ เพราะคนในวงส่วนใหญ่อยู่ในวัยเรียน สอนกันเอง ไม่มีคนนอกเข้ามาสอน เพราะค่าสอนนั้นแพง 

กลองทำเอง ไม่ต้องซื้อ

ฝ้ายเล่าว่า ใช้ไม้ขนุนในการทำกลอง เพราะมีน้ำหนักที่เบา ไม้มะม่วง ไม้สามสา (จามจุรี) ก็สามารถทำได้ แต่หนักลำบากให้การยกเวลาแสดง กระบวนการนี้ต้องถามช่างก่อนว่าต้องการกี่เซนถึงจะทำกลองได้ ส่วนมากอยู่ที่ 90 เซนติเมตร แต่ช่างจะทำออกมาประมาณ 84 เซนติเมตร นำไม้ไปทำกลองที่หมู่บ้านชื่อคำป่าหลาย ระยะเวลาในการทำกลองจะอยู่ที่ประมาณ 1 วัน ถ้าซื้อราคาจะแพงกว่า เพราะไม้และกลองหนึ่งอันจะอยู่ที่ราคาประมาณ 2,000 กว่าบาท 

ฝ้ายเสริมว่า ในฐานะผู้นำวง ก็รู้รักในดนตรีกลองยาวมาก ใจมันรัก ตั้งแต่บวช ถึงขั้นต้องสึกออกมาเล่น อยากให้ทุกคนมาฟังกลองยาวไม่อยากให้ทิ้งไปเพราะทุกวันนี้คนสนใจแต่รถแห่ อยากให้สืบสานตรงนี้ไว้ อยากให้ผู้ใหญ่เข้ามาดู เพราะไม่อยากให้สูญหาย แต่ก่อนบวชเณรอยู่ที่หมู่บ้าน เขาจ้างกลองยาวมาแห่งานบุญกฐิน มีคนมาชวนไปเล่น แต่ก่อนเล่นของคณะหน่อไม้มังกรทอง บ้านกกแดง ตำบลกกแดง อำเภอนิคมคำสร้อย จังหวัดมุกดาหาร เล่นอยู่4ปี ปัจจุบันมีงานจ้างในราคาที่ไม่มาก ถ้าเทียบ หมอลำ รถแห่ 

ตอนนี้ถ้าเขาจ้างงาน 9000 ก็จะหักไว้ซื้ออุปกรณ์เครื่องเสียง เพราะอุปกรณ์เราไม่ครบขาดหลายอย่าง

ธนากร ห้องแซง หรือ ไข่ ให้สัมภาษณ์ร่วมกัน เผยว่า อยากให้คนรู้จักวงเยอะๆ ไม่อยากให้ยุบ อยากให้สืบสานต่อไป คนที่มาเล่นส่วนใหญ่จะเป็นเด็กนักเรียน อายุน้อยสุดในวงตอนนี้คือ ป.6 คนในวงอยู่ด้วยใจรัก เพราะถ้าไม่รักหรือไม่ชอบจริงๆ ออกไปตั้งนานแล้ว เพราะเงินก็ไม่ได้เยอะ  เงินที่ได้ก็ถือว่าพอใช้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับงานจะจ้างเยอะหรือน้อย ถ้าน้อยก็ได้คนละ 170 – 180 บาท เด็กที่เล่นก็เป็นแถวบ้านและมีหมู่บ้านอื่นมาเล่นด้วย เพราะเด็กๆ เห็นฝ้ายทำกลองจึงมาดูและก็อยากให้เด็กๆ ออกห่างจากยาเสพติด เพราะว่าพอมาเล่นกลองยาว ก็จะช่วยให้ห่างได้ พ่อแม่เขาก็ดีใจ และไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาสนับสนุน มีแต่พ่อตัวเองที่สนับสนุน เพราะเป็นวงของตัวเอง แต่จะมีอย่างกำนันที่โทรมาเวลามีงาน มีการสนับสนุนเล็กน้อย พอเป็นค่าเครื่องดื่ม เอ็มร้อย สปอนเซอร์

ไข่ ได้พูดเสริมว่า  เวลาออกงานก็ฟ้อนขึ้นกลอง มีคนเอาเงินมาให้ ก็ได้ครั้งละ 2,000 -3,000 บาท งานในระยะเวลา1ปี ก็ประมาณ 20 งาน เดือนเมษายนที่ผ่านมาก็จะเยอะหน่อย ส่วนมากก็จะเล่นแถวเลิงนกทา ถ้าออกงานไกลก็จะคิดที่ 15,000 – 16,000 บาท ขึ้นอยู่ที่ระยะทาง

ความชอบเป็นอาชีพ ได้ทุกความชอบจริงไหม 

‘เดอะลาวเด้อ’ ชวนตั้งคำถาม จะเป็นไปได้ไหมที่เด็กอีสานคนหนึ่งจะเติบโตไปแล้วประกอบอาชีพเกี่ยวกับดนตรีพื้นบ้าน อย่างวงคณะกลองยาว ?  ไม่ใช่แค่อาชีพเสริมเท่านั้น ถึงแม้กระแสดนตรีอีสานจะได้รับความนิยม แต่ในขณะเดียวกัน ถ้ามีเด็กอีสานพูดกับครูว่า โตมาผมจะเป็นมือกลองยาว พ่อแม่หรือคนในครอบครัวจะสนับสนุนเขาหรือไม่ ในขณะเดียวกันเขาคงจะพูดกับเด็กเหล่านี้ว่า มันเป็นเรื่องที่ยาก ให้เล่นเป็นงานอดิเรกก็พอ และในโรงเรียนอีสานเอง ถึงแม้จะมีชมรมดนตรีที่เป็นเครื่องดนตรีอีสาน ที่ทำให้เด็กพอมีความสามารถติดตัวผ่านการเล่นเครื่องดนตรีอีสาน แต่ก็ไม่สามารถที่จะผลักดันให้เด็กประกอบอาชีพเป็นนักดนตรีอีสานได้ เพราะส่วนมากโรงเรียนมักจะปลูกฝังให้เราโตไปประกอบอาชีพที่มั่นคง อยาก หมอ ครู พยาบาล ทหาร ตำราจ แต่ไม่เคยปลูกฝังความสามารถและความชอบของเด็กที่มีต่อบ้านเกิด และพื้นที่แสดงความสามารถของเด็กกลุ่มนี้ ก็แคบเสียเหลือเกิน

อ้างอิง

เอกสารฟ้อนกลองยาว นาฏยลักษณ์และการประยุกต์การแสเงพื้นบ้านในบริบทวัฒนธรรมท้องถิ่นนิยม ธัญลักษณ์ มูลสุวรรณ.pdf

กลองยาวอีสาน – ทางอีศาน (e-shann.com)