21 ส.ค. 2566 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้จัดกิจกรรมเสวนา “การเมือง เรื่องเพศ ชนชั้น และชาติพันธุ์” โดยได้เชิญ กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ หรือครูจุ๊ย กรรมการมูลนิธิคณะก้าวหน้า เป็นผู้บรรยาย โดยมีนักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเข้าร่วมฟังมากว่า 600 คน
ข้อมูลที่น่าสนใจในการเสวนาคือการที่ได้เห็นโมเดลในด้านต่างๆ ของไทยกับฟินแลนด์เพื่อให้เห็นถึงความแตกต่าง เช่น การแข่งขันทางเศรษฐกิจ, ความเหลื่อมล้ำ, ความโปร่งใสและคอรัปชั่น สิทธิและเสรีภาพ
เนื้อหาสำคัญอยู่ที่การวางโครงสร้างของรัฐสวัสดิการของฟินแลนด์ ที่คนอาจคาดคิดว่า ‘เพราะรวยจากการเก็บภาษีแล้ว จึงสามารถมีสวัสดิการครอบคลุม’ แต่สวัสดิการเหล่านี้เกิดขึ้นในช่วงที่ฟินแลนด์พบเจอกับสงครามอย่างต่อเนื่อง ย้อนไปไกลถึง ค.ศ.1939 เป็นที่รู้ดีว่าฟินแลนด์มีพื้นที่ติดกับมหาอำนาจอย่างรัสเซีย และเกิดสงครามฤดูหนาว เดิมทีฟินแลนด์เป็นประเทศเกษตรกรรม แต่ริเริ่มเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมเรื่อยมา อย่างเช่น เดิมทีผลิตกระดาษ ต่อมาเริ่มผลิตเครื่องผลิตกระดาษ นำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วม โดยทั้งหมดนี้เกิดจากรัฐสวัสดิการที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้เกิดบุคคลากรคุณภาพ
มีหลากหลายสวัสดิการที่น่าสนใจ แต่ ‘เดอะลาวเด้อ’ ขอหยิบยกนโยบายใกล้เคียงกับสังคมไทยอย่าง นโยบายการลาเลี้ยงลูก ไม่ว่าคุณจะเป็นพ่อหรือแม่ คุณได้สิทธิในการลาเลี้ยงลูกเต็มที่ เพื่อให้พ่อแม่ได้มีเวลาอยู่กับลูกมาก ให้ความใกล้ชิดเอาใจใส่ ฟินแลนด์มี baby box แจกให้คุณแม่ ในนั้นมีของใช้ที่จำเป็น สิ่งของที่จะช่วยพัฒนาเด็กเล็กให้เกิดการเรียนรู้ เติบโตไปตามวัยอย่างที่ควรจะเป็น ที่ใช้คำว่า baby box เพราะกล่องนี้มีความสำคัญตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ประโยชน์คือให้แม่ลูกอ่อนใช้ใส่ลูกในยามที่ต้องเอาตัวรอดจากสงคราม น่าทึ่งที่ทุกวันนี้ฟินแลนด์ก็ยังมีสวัสดิการด้านนี้อยู่
ต่อมาเมื่อเด็กเติบโต การศึกษาย่อมสำคัญ เป็นสิ่งที่จะช่วยพัฒนาให้เด็กคนนั้นมีคุณภาพตามที่ฟินแลนด์ตั้งเป้าไว้ นโยบายเรียนฟรี เด็กทุกคนไม่ว่าจะมาจากครอบครัวที่มีฐานะอย่างไร สามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้ เทียบเวลาเรียน นักเรียนไทยมีเวลาเรียนอยู่ที่ 1,200 ชั่วโมง เมื่อเทียบกันกับฟินแลนด์เพียง 800 ชั่วโมงเท่านั้น หนำซ้ำเยาวชนไทยยังมีผลการเรียนรู้ถดถอยไป 3 ปี เรียกได้ว่าเรียนมาก แต่ไม่มีคุณภาพ
อีก 1 รัฐสวัสดิการที่ทรงพลังที่สุดของฟินแลนด์ คือ ห้องสมุด เนื่องจากเป็นสถานที่ที่อุดมการณ์ไปด้วยแหล่งความรู้ที่สำคัญ ฟินแลนด์มีห้องสมุดตามหัวเมืองต่างๆ มากกว่า 2,000 แห่ง และแน่นอนหากหันมามองที่บ้านเรา ครูจุ้ยชวนตั้งคำถามว่า ‘นักศึกษาม.อุบลฯ เคยเข้าห้องสมุดประชาชนหรือไม่’ แน่นอนว่า ‘ไม่’ เพราะห้องสมุดประชาชนเปิดตามเวลาราชการ ดูเข้าถึงยาก หนังสือส่วนใหญ่เป็นหนังสือบริจาค
และอะไรคือปัจจัยที่ทำให้ฟินแลนด์สามารถสร้างรัฐสวัสดิการที่ตอบโจทย์คนในประเทศได้ การเก็บภาษีมากใช่ไหม หรือการที่ฟินแลนด์เป็นประเทศขนาดเล็กถึงทำให้บริหารทรัพยากรทั่วถึง
ที่กล่าวมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่หัวใจสำคัญอยู่ที่มีรัฐสวัสิดการควบคู่ไปพร้อมกับรัฐที่เป็นประชาธิปไตย หากรัฐไม่มีความเป็นประชาธิปไตยไม่รับฟังเสียงของประชาชน เสียงส่งไปไม่ถึง อย่างไรก็ไม่มีผล เพราะฟัง ถึงทำตามความต้องการได้ และประชาชนมีหน้าที่ตรวจสอบรัฐได้
อย่างนโยบายการเก็บภาษีช่องโทรทัศน์ โดยช่องที่นั้นจะทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล ไม่แคร์ทุนเครือข่ายใหญ่ ไม่แคร์รัฐบาล นำเสนอข่าวอย่างเถรตรง เสมือนการตรวจสอบรัฐบาลแทนประชาชนอีกช่องทาง เป็นนโยบายที่จะช่วยให้ประชาชนตรวจสอบรัฐได้ง่ายขึ้น