ในช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา จังหวัดอุบลราชธานีคึกคักไปด้วยนักท่องเที่ยวจากทั่วสารทิศ งานแห่เทียนถือเป็นเทศกาลใหญ่ โดยปีนี้มาในชื่อ ‘122 ปีทวยราษฎร์ใฝ่ธรรม งามล้ำเทียนพรรษา หรือ UbonCandleFestival 2023’ รวมไปถึงการจัดงาน Ubon Ratchathani Trade Fair 2023 ให้ได้เดินซื้อของกิน ของใช้และสนุกสนานไปกับเครื่องเล่นต่างๆ 

ประเพณีแห่เทียนพรรษาของอุบลราชธานีนั้น เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2444 เมื่อกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์ของรัชกาลที่ 5 ผู้มาปกครองมณฑลอีสาน ได้คิดการแห่เทียนพรรษาขึ้น แทนการจุดบั้งไฟ เนื่องจากเกรงชาวบ้านว่าจะได้รับอันตรายจากประเพณีบุญบั้งไฟ 

เบื้องหลังของเทียนพรรษาอันวิจิตรตระการตา เราพบว่า เต็มไปด้วยข้อจำกัดทั้งเรื่องทุนสนุบสนันจากหน่วยงานรัฐและการจัดการให้เทียนได้มีที่แสดงตัวอย่างที่ควรจะเป็นสมกับแรงงานและการลงทุนที่ถูกทุ่มลงไปในเทียนพรรษา

‘เดอะลาวเด้อ’ ได้สนทนากับผู้อยู่เบื้องหลังความงามของลวดลายเทียนอย่าง ช่างเอ็ม – เกียรติศักดิ์ สมเพราะ ช่างทำเทียนให้กับอำเภอเขื่องใน, ช่างบอส – วิศรุต ภาดี ตัวแทนช่างทำเทียนจากวัดทุ่งศรีเมือง, ช่างบอย – วัชรพล ขำคม ช่างติดพิมพ์จากอำเภอเขื่องใน, ติดพิมพ์ขนาดเล็ก วัดท่าใต้ และควบคุมดูแล ประเภทเทียนโบราณ อำเภอกุดข้าวปุ้น 

ช่างเทียน ไม่ได้ทำแต่เทียน

ช่างเอ็ม เล่าว่า ตนมีรายได้จากงานประจำ ไม่ได้ทำอาชีพหลักเป็นช่างเทียน เนื่องจากรับทำเทียนแค่งานแห่เทียนของจังหวัดอุบลฯ เท่านั้น ในปีนี้รับทำเทียนให้กับอำเภอเขื่องใน ประเภทติดพิมพ์ ได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 โดยการออกแบบดีไซน์ คนที่ออกแบบคือ ช่างอาร์ม นำเสนอเรื่องราวพุทธประวัติ ฉากหน้าเป็นพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ กลางเป็นราชสมณีวิราช หลังพระดุสิต ตอนที่ 4 ของพระมหาชาดก 

เช่นเดียวกับช่างบอย ที่มีธุรกิจเป็นของตนเอง รับทำเทียนให้กับอำเภอเขื่องใน ประเภทติดพิมพ์ขนาดกลาง ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ และติดพิมพ์ขนาดเล็กของวัดท่าใต้ รองชนะเลิศ ส่วนประเภทเทียนโบราณ ได้รับรางวัลชนะเลิศ ของอำเภอกุดข้าวปุ้น ส่วนเรื่องราวที่ยกตัวอย่างมาเล่า คือเทียนจากอำเภอเขื่องใน ที่มาในตอนพระเนวิลาสได้รับพรจากพระอินทร์ ให้ไปชมเมืองนรกและสวรรค์ ส่วนองค์ประกอบอย่างอื่นก็จะเป็นนาค ครุฑ ที่เป็นสัตว์ป่าหิมพานต์และเหล่าเทวดา นางฟ้า

ส่วนช่างบอส ยังคงศึกษาอยู่ในระดับปริญญาเอก ที่คณะจิตรกรรม ปฎิมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในปีนี้ทำเทียนในนามวัดทุ่งศรีเมือง ประเภทแกะสลักขนาดใหญ่ รางวัลชนะเลิศ พร้อมถ้วยพระราชทาน ปีนี้ยกเรื่องราวตอนมารผจญมาเล่า พร้อมแกะสลักสัตว์หิมพานต์ประกอบด้วย

งานเทียน ร้อนไม่ได้ เย็นก็ไม่ได้

ช่างบอยเล่าว่าประเภทของการติดพิมพ์ ใช้คนจำนวนมาก มีทั้งแรงงานจากชาวบ้าน ทำงานในสภาพอากาศร้อนก็ไม่ได้ โดนแดดมากไม่ได้ ส่วนอากาศเย็นจะทำให้ติดลายไม่ได้ อุปสรรคไม่ได้มีแค่สภาพอากาศ แต่ยังเป็นสถานที่ วัดใต้ท่าเป็นวัดเก่าที่เคยสาบสูญไป แล้วตั้งขึ้นใหม่ สถานที่ทำเทียนไม่มีเลยต้องใช้สถานที่จากวัดผาโสก ช่างที่ทำหลักๆ ประมาณ 20 คน มีชาวบ้านช่วยทำ เป็นงานของชุมชน 

เรื่องเล่าในเทียนพรรษา

ช่างบอสกล่าวว่า ต้นเทียนจำเป็นต้องเล่าเรื่องพุทธประวัติ เนื่องจากอุบลฯ เป็นเมืองพุทธ งานแห่เทียนเปรียบเสมือนงานพุทธบูชา ดังนั้นเนื้อหาหรือเรื่องที่นำมาแกะสลักก็ต้องเกี่ยวกับพุทธประวัติ แต่ในบางจังหวัดอย่างเช่น โคราช บางทีเขาก็แกะเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับการเมือง มองว่าเป็นรูปแบบของแต่ละจังหวัดนั้นๆ ที่จะสร้างสรรค์มันออกมา 

งานแห่เทียนอุบลราชธานีปีนี้

ช่างบอย เล่าว่าปีนี้มีความแตกต่างของงานคือ ผู้บริหารงาน ผู้จัดงาน จะมีการเปลี่ยนแปลงบ้างหลายๆ อย่าง ถามว่ามันดีขึ้นไหม มันไม่ได้ดีขึ้น เพราะว่ามันมีการคัดค้านโต้แย้งกันหลายๆ เรื่องหลาย ๆ อย่าง งานปีนี้ถ้าเทียบกับทุกๆ ปีที่ผ่านมาก็ไม่ได้แตกต่างมาก แตกต่างแค่ระบบการจัดงานนิดหน่อย

“แห่เทียนของอุบลทุกปี มีรูปแบบการจัดงานที่ชัดเจนอยู่แล้ว ทว่าปีนี้ เหมือนมีการเปลี่ยนแปลงอะไรหลายอย่างจากผู้จัด ผู้ดูแล ที่เพิ่งได้เข้ามาทำปีแรกแล้ว โดยที่คณะช่าง คณะทำงานต่างๆ ได้คัดค้านไปแล้วว่า อะไรที่ไม่เหมาะสม ก็อย่าทำ แต่เขาก็ดื้อดันที่จะทำ จนทำให้งานหลายๆ ส่วนพัง อุบลราชธานี มีขนบธรรมเนียมประเพณี สืบทอดทำกันมาแบบไหนก็อยากให้ทำแบบนั้นต่อไป ไม่ใช่ว่าทำงานแบบเก่าซ้ำซาก แต่สิ่งที่มันดีอยู่แล้ว เราควรทำให้มันดีกว่าเดิม”

 ช่างบอยมองว่า งานแห่เทียนปี 2566 ถือว่าดี แต่พังเหมือนการที่เขาแยกต้นเทียนบางส่วนไปโชว์ที่ริมแม่น้ำมูล ห่างจากงานประมาณ 2 – 3 กิโลเมตร สิ่งนี้ไม่ควรเกิดขึ้น เพราะว่าต้นเทียนทุกอำเภอ ต้องรวมกันที่ทุ่งศรีเมือง 

“ด้วยจิตวิญญาณของช่างทำเทียน อยากเอาเทียนเข้ามาโชว์ให้คนดูรวมกันที่ทุ่งศรีเมือง ต้นเทียนจาก 17 อำเภอ 17 ต้น ไม่มีคนไปดูเลย น่าสงสารมาก แล้วเกิดพายุฝนในค่ำคืนนั้น เนื่องจากเป็นพื้นที่โล่งแจ้ง ไม่มีเต็นท์รองรับ ห้องน้ำไม่มีน้ำใช้ ไม่มีแม้แต่พื้นที่จะหลบฝน สิ่งนี้สะท้อนความคิดของคนจัดงาน อยากให้กลับไปคิดว่าสิ่งที่ทำนั้นถูกต้องหรือไม่”

“ผมอายุ 40 ปีแล้ว แต่ก็ถือยังเป็นเด็กในที่ประชุม เวลาเข้าประชุม ผมคัดค้านตลอดในสิ่งที่ไม่สมควร แต่ผมคัดค้านอะไรไม่เคยได้ เพราะว่าด้วยความที่ผมเป็นคนที่ไม่ได้มีตำแหน่ง ยศถาบรรดาศักดิ์ เราเป็นแค่ช่างเทียน แต่อยากบอกว่าช่างเทียนทุกคน เป็นผู้ขับเคลื่อนงานเทียน ถ้าไม่มีช่างเทียนก็จะไม่มีเทียนในประเพณีแห่เทียน ต่อให้มีหน่วยงานรับผิดชอบ ถ้าช่างเทียนไม่ทำ คุณก็ไม่มีต้นเทียนโชว์ อยากให้เขาเห็นความสำคัญของช่างเทียนด้วย เสียงพูด เสียงสะท้อน จากช่างเทียนมันเป็นสิ่งสำคัญมาก แต่เขาไม่ฟังเลย” ช่างบอยกล่าว

ลงทุนสูงและรัฐสนับสนุนน้อย

“เงินรางวัลการประกวดเทียนมันไม่คุ้มกับงานที่ทำ” ช่างบอสเล่าวว่าช่างเทียนของเมืองอุบลฯ ส่วนมากจะทำเพราะใจรัก ทำให้นักท่องเที่ยวมาดู “อาจจะไม่คุ้มค่ากับแรงที่ทำ แต่พอคนมาเห็น มาดู มาชม มันก็เป็นเหมือนงานบ้านเรา ที่ต้องร่วมแรงร่วมใจกัน ถึงค่าตอบแทนน้อย ช่างก็ยังสามารถทำต่อไปได้ ชุมชนคุ้มวัดเองก็มีส่วนร่วม ไม่คุ้มแต่เป็นประเพณีที่เราต้องสืบสานกันต่อไป” 

“เงินรางวัลมันเป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่ส่วนที่สำคัญคือ งบที่จะสนับสนุนให้ทีมช่างหรือให้ชุมชนของคุ้มวัดแต่ละคุ้ม ควรจะให้มีงบประมาณที่เพียงพอต่อการที่จะสร้างสรรค์ผลงาน เพราะรางวัลก็ได้เฉพาะคนที่ได้รางวัลเท่านั้น แต่คนที่ไม่เคยได้รางวัล เขาก็จะไม่มีกำลังใจที่อยากจะทำ”

ช่างบอสกล่าวว่า อยากให้มีงบประมาณสนับสนุนทั้งจากทางเทศบาล และจากทางจังหวัด ให้แต่ละวัดได้มีทุนทำเทียน “ถ้าจะให้เพิ่มเงินรางวัล อยากให้เพิ่มทุนในการทำเทียนมากกว่า ได้ทุนเท่ากับวัดที่ทำขนาดใหญ่ และบางทีวัดก็ไม่มีทุน ต้องไปหาทุนสนับสนุนจากที่อื่น เช่น ห้างร้านเอกชน มันก็เป็นปัญหา เพราะบางทีห้างร้านก็สนับสนุนคนละเล็กละน้อย เพราะส่วนมากงบทำเทียนจะต้องรอเบิกจ่ายทีหลัง เงินทำเทียนทั้งหมดเราต้องเป็นคนจ่ายไปก่อนล่วงหน้า”

“ในปีนี้ วัดทุ่งศรีเมืองมีค่าใช้จ่ายทำต้นเทียนประมาณ 900,000 บาท โดยแต่ละปีมีงบทำเทียนขนาดใหญ่เพียงต้นละ 200,000 บาท ซึ่งก็ไม่เพียงพอ วัดไหนมีทุนเยอะหน่อยก็ไม่ต้องไปหาทุนจากที่อื่น” 

ช่างเอ็มก็มองว่า เงินสนับสนุนจากเทศบาลก็น้อย ถ้าเป็นไปได้ อยากจะให้เพิ่มเงินรางวัลก็ได้ เป็นต้นละประมาณ 5 แสน ก็น่าจะคุ้มแล้ว ตอนนี้ก็รอเงินจากอำเภออยู่ ซึ่งต้องใช้เวลาเบิกจ่ายประมาณ 12 วัน ซึ่งปีที่ผ่านมาได้คนละ 7,000 บาท เพราะใช้คนเยอะ ประมาณ 20 – 30 คน โดยเงินจะได้ตามหน้าที่ ไม่เท่ากัน 

“ค่าจ้างควรจะ 2 – 3 หมื่นขึ้นไป เพราะคนขึ้นโครงเทียนมันยาก ถ้าถามว่าคุ้มค่าจ้างหรือเปล่า ก็ไม่ แต่ก็ทำไปเพราะเป็นประเพณีและใจรัก” ช่างเอ็มกล่าว

งบราชการช้าและน้อย ทำ 3 เดือน โชว์แค่ 3 วัน

ช่างบอยกล่าวว่า การทำเทียนประกวดบางครั้งช่างต้องหาผู้มาสนับสนุนก่อน เพราะระบบราชการมันมีขั้นยุ่งยาก ต้องมีการตรวจรับก่อนจึงจะเบิกเงินได้ และกว่าจะเบิกเงินได้ก็เป็นช่วงใกล้วันงานแห่เทียนประมาณ 2 อาทิตย์ ขณะที่ช่างใช้เวลาทำเทียน 2 – 3 เดือน 

“ช่วงที่รอเงิน ทีมช่างก็ต้องกินต้องใช้ เราก็ต้องไปยืมเงินจาก รายวัน เงินดอก มาซัพเพอร์กันเองก่อน ทีมของผมต้องไปกู้เงินจากข้างนอกมาเป็นค่าใช้จ่ายในการชื้ออุปกรณ์ ต้องหายืมเงินมาใช้หมุนเวียนในทีมงานก่อนที่เราจะได้รับเงินสนับสนุนจากทางหน่วยงาน แต่ด้วยระบบราชการบ้านเรา ก็เป็นแบบนี้ เราก็ต้องทำใจรอ เราพยายามที่จะพูดมาโดยตลอดว่า หาเงินมาช่วยสำรองให้เราก่อนได้ไหม พอเบิกได้แล้วค่อยมาหักกันทีหลัง แต่มันก็เป็นไปไม่ได้ เราต้องซัพพอร์ตตัวเองก่อน” 

ช่างบอยกล่าวว่า การสนับสนุนของเทศบาลไม่เพียงพอ เป็นแค่ 1 ส่วน 10 เท่านั้น หากเป็นไปได้อยากจะให้เปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาสนับสนุน เพราะเมื่อทางรัฐไปขอการสนับสนุนจากเอกชนแล้ว เอกชนก็จะสนับสนุนช่างทำเทียนน้อยลง 

“ที่ห้ามติดโลโก้ผู้สนับสนุน ก็เป็นปัญหา ยกตัวอย่างต้นเทียนที่ผมทำไม่มีผู้สนับสนุนเลย เพราะงานแห่เทียนนั้นมีแค่ 3 วัน แต่ต้นเทียนทำ 3 เดือนหรือมากกว่านั้น ทำไมทางจังหวัดไม่คิดที่จะทำพิพิธภัณฑ์เทียนหรือโดม เพื่อเก็บต้นเทียนไว้โชว์ได้ทั้งปี เคยมีมหาวิทยาลัยเข้ามาช่วยขับเคลื่อน ทว่าทางจังหวัดไม่ได้ให้ความสำคัญ” 

“คนทำเทียน อยากให้ต้นเทียนมีพื้นที่โชว์ตลอดทั้งปี เป็นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว เป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งท่องเที่ยว ขายของที่ระลึก สร้างรายได้ให้กับช่างทำเทียน หลังจากการทำเทียนเสร็จ มีที่จอดรถต้นเทียน ขายของ ทำเสื้อขาย ทำกิจกรรมทุกเสาร์ – อาทิตย์ เอาช่างเทียนมาหมุนเวียนก็ได้ ให้มีกิจกรรม สมมติว่าเอารถต้นเทียนวัดบูรพา วัดศรีประดู่ วัดหนองบัว มาจัดแสดงโชว์ อาทิตย์นี้เป็นคิวของวัดบูรพา แบบนี้มันจะสืบทอดได้ดีกว่าจะมาจอดโชว์แค่ 3 วัน อย่างน้อยเราทำกิจกรรม ให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวเมืองอุบล ได้แวะชมเทียนได้ตลอดแบบนี้ดีกว่าครับ” ช่างบอยกล่าว