การเมือง

24 ส.ค. 2566 ที่ผ่านมา ณ โรงละครคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้จัดกิจกรรม เสวนาหัวข้อเรื่อง ‘การเมืองของคนรุ่นใหม่’ โดยมี โชติรส นาคสุทธิ์ หรือลูกแก้ว  นักเขียน นักวิชาการอิสระ และ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์ นักเคลื่อนไหว มาร่วมพูดคุยถึงจุดเริ่มต้นทางการเมืองและมุมมองต่อการเมืองที่ทำให้ตนออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง มีการตอบคำถามจากผู้ที่เข้าร่วมงานเสวนาในครั้ง ซึ่งภายในงานมีผู้คนเข้าร่วมฟังเสวนาหนาแน่นเต็มโรงละครกว่า 300 – 400 ที่นั่ง

เรามองไม่เห็นอนาคตของเรา

มายด์ ได้กล่าวถึงเหตุผลที่ตนเองได้มาเคลื่อนไหวทางการเมืองว่า ช่วงนั้นเป็นช่วงหลังรัฐประหาร ปี พ.ศ. 2559 – 2560 ตอนนั้นครอบครัวของตนทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้างรายย่อย ซึ่งตอนนั้นหลังมีการเปลี่ยนขั้วอำนาจการเมือง ทำให้ธุรกิจต้องมีการปรับตัวของครอบครัว ก็พยายามอย่างมากที่จะเปลี่ยนแปลงธุรกิจให้ไปได้ ขยันมากกว่าเดิม แต่หนี้กลับเพิ่มขึ้น รายได้น้อยลง ซึ่งมันมีเหตุการณ์ที่ลูกค้าประจำยกเลิกสินค้าไปเพราะบอกกับเราว่ามันเกินความจำเป็น ทั้งๆ ที่ผ่านมาก็สั่งสินค้ากับเรามาตลอด ตอนนั้นทำให้ฉุดคิดขึ้นได้ว่าคนในสังคมไม่สามารถใช้จ่ายได้แบบเดิมอีกต่อไป เลยทำให้เราคิดได้ว่าต่อให้ครอบครัวเราขยันมากแค่ไหน แต่ถ้าเศรษฐกิจโดยรวมไม่ได้ถูกจัดการได้อย่างเท่าเทียม ไม่ได้เปิดโอกาสให้กลุ่มค้ารายย่อยได้เติบโต ครอบครัวเราก็ไม่สามารถที่จะรวยได้ คนที่รวยจะมีแค่เพียงไม่อีกคน และเขาก็ทำให้กลุ่มธุรกิจของเขามันคงอยู่อย่างนั้นไปตลอด กติการมันไม่แฟร์ตั้งแต่แล้ว และทำให้เรามองภาพอนาคตของเราไม่ออกว่าเราสามารถเลี้ยงดูตัวเอง ครอบครัวของเราได้ไหมในอนาคตข้างหน้า เลยเป็นจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวทางการเมือง ทุกวาระทางการเมืองไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม สุดท้ายมันส่งผลต่อประชาชนคนตัวเล็กๆอย่างพวกเราทุกคน เรามองเห็นถึงปัญหาเหล่านี้ เราไม่สามารถมองข้ามไปได้

มายด์ กล่าวต่อว่าเริ่มสนใจการเมืองเมื่อปีพ.ศ. 2558 เริ่มมีการศึกษาเรื่องการเมืองและเคลื่อนไหวนิดหน่อย เริ่มติดป้ายต่อต้านรัฐประหารในมหาวิทยาลัย ในทุกปีในวันครบรอบรัฐประหาร 22 พฤษาคม แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ติดป้ายไว้ในมหาวิทยาลัยแต่หาย และเริ่มมีเจ้าหน้าที่เข้ามาหา ซึ่งเป็นตำรวจนอกเครื่องแบบและทหาร ที่อยู่ในยุครัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตอนนั้นมีการบังคับใช้กฎหมายมาตรา 44 คือห้ามขัดคำสั่งคสช. ถ้าเราทำอะไรขัดต่อรัฐบาลคสช.เขาสามารถอุ้มเราเข้าค่ายได้เลย ตอนนั้นเขาทำเหมือนเราเป็นอาชญากรร้ายแรง เราเริ่มรู้สึกว่า เราจะไม่ยอมอีกแล้ว เราไม่อยากให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับใคร ที่บอกว่าเราเป็นระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน แต่เราถูกกำหนดจากพวกที่มีอำนาจเดิม ว่าเรามีอำนาจได้แค่ไหน ตีกรอบประชาชนว่ามีอำนาจได้แค่นี้ พยายามบิดเบี้ยวคำว่าประชาธิปไตย แล้วบอกว่านี่แหละคือประชาธิปไตยแบบไทยๆ ซึ่งเรามองว่าเราไม่อยากให้ระบบการเมืองมันเป็นแบบเดิมซ้ำๆ แบบบิดเบี้ยวแบบนี้ต่อไป เรามองเห็นผลกระทบที่เกิดจากการเมืองหลายๆ เหตุการณ์ นี่คือสิ่งสำคัญที่ทำให้เราเข้ามาสนใจการเมืองและเคลื่อนไหวทางการเมือง 

ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง

รัฐประหารทุกช่วงชีวิตของเรา 

ลูกแก้ว กล่าวว่าตนเกิดในปีพ.ศ.2534 เป็นปีที่มีรัฐประหารโดยคณะคสช. พอเริ่มลืมตาดูโลกประเทศก็เกิดรัฐประหาร ถัดมาช่วงชีวิตมัธยมปลาย ปีพ.ศ. 2549 รัฐประหารอีกรอบ ปีพ.ศ. 2557 เป็นปีที่ทำงานปีแรก ก็เกิดรัฐประหารอีก ถ้าย้อนดูประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทย ลองสังเกตดูว่าถ้าเกิดรัฐประหารในช่วงชีวิตไหนของเรา แล้วอนาคตของเราที่มันจะกำลังไปข้างหน้ามันถูกหยุด ถูกชะงักด้วยสิ่งเหล่านี้ ด้วยการเมืองแบบนี้มาอีกรอบ  ลูกแก้วมาสนใจการเมืองเพราะเชื่อในการยืนหยัดและส่งเสียงของตัวเอง และยืนยันสิทธิของตน อำนาจเป็นของประชาชนอำนาจเป็นของเรา เราเชื่อในสิ่งนี้มาก ในอดีตการเมืองไม่ใช่แบบนี้ ตอนนี้เรารู้สึกว่ามีความหวังมาก เพราะทุกคนตื่นตัวและสนใจการเมือง ยืนหยัดสิทธิของตัวเอง แต่ในอดีตที่เรามองว่ามันดูผ่านมานาน แต่จริงๆ แล้วมันไม่ได้นานเลย เราเริ่มตั้งคำถามเรื่องสิทธิเสรีภาพของตัวเอง ทำไมเราต้องไว้ผมทรงนี้ ทำไมถุงเท้าต้องสีขาวล้วน ใส่ตรงพื้นสีดำก็ไม่ได้ โดนเรียกเข้าห้องปกครอง คิดในใจมาตลอดว่า เนื้อตัวร่างกายของเรามันไม่ใช่ของเราเลยในประเทศนี้ ในทางกลับกันเราเสิร์ชอินเทอร์เน็ตเห็นเพื่อนรอบโลกเขาใส่ชุดอะไรก็ได้ ทำไมเขาได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ คิดมาตลอดว่าเราสามารถเลือกอะไรให้ตัวเองได้ไหม

เริ่มมองจากเรื่องรอบตัวเราก่อน และเริ่มศึกษาตั้งคำถามว่า มันเกิดจากโครงสร้างและระบบ ทุกอย่างมันเป็นเรื่องการเมือง 

ลูกแก้วกล่าวต่อว่า รัฐประหารปีพ.ศ. 2557 ตอนนั้นคนออกมาต่อต้านรัฐประหารน้อย จำได้ว่าพอเกิดรัฐประหาร มีกลุ่มอาจารย์ นักศึกษา มารวมตัวกันที่ลานปรีดีตรงท่าพระจันทร์ มายืนชู้ป้ายต่อต้านรัฐประหาร สำหรับเรามันใกล้ตัวตรงที่ว่า เพื่อนเราเริ่มหายไปที่ละคน ถูกดำเนินคดี ลี้ภัย  ตอนนี้เรารู้สึกว่าทำไมกัน แค่เราส่งเสียงกับสิ่งที่มันควรจะเป็นของเรา ในประเทศประชาธิปไตย แต่ผิดปกติสำหรับประเทศนี้ ต่อให้เราไม่สนใจการเมืองแล้ว มองว่าไม่เป็นไร เราอยากเล่าให้ฟังว่า ตอนนั้นมันเป็นช่วง โหวตรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งตอนนั้นคสช.ห้ามรณรงค์โหวต ไม่รับ แต่เราออกมารณรงค์ให้โหวต ไม่รับ  ตอนนั้นที่ออกมาเรามองว่าได้ไม่ยึดโยงกับประชาชนเลย ร่างนั้นคือสว.250 เสียง ที่มันส่งผลกระทบมาจนถึงปัจจุบัน 

ลูกแก้วย้ำว่า ทุกๆ การใช้สิทธิ์ทางการเมือง ทุกๆ เสียงเรียกร้อง มันสำคัญมากที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศ อย่าคิดว่าแค่เราคนเดียวไม่เป็นไร ถ้าเราส่งเสียงและยืนหยัดทำมันไปเรื่อยๆ เชื่อว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงแน่นอน ยิ่งปัจจุบันตอนนี้การใช้สิทธิทางการเมืองของประชาชนได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ที่พวกเราพากันลงชื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่ใช้เวลาเพียงไม่กี่วันคนก็พากันลงชื่อกันมากถึงแสนกว่าคน 

โชติรส นาคสุทธิ์ หรือลูกแก้ว  นักเขียน/นักวิชาการอิสระ