ทหารเกณฑ์

ทันทีที่ราชกิจจานุเบกษาวันที่ 2 กันยายน 2566 โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีโดยมี นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ถือเป็นนิมิตรหมายอันดีของการเมืองการปกครองในรอบ 9 ปี ที่ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ไม่ได้มีคำนำหน้านามเป็น ‘พลเอก’ อีกต่อไป

เมื่อรายชื่อคณะรัฐมนตรีประกาศออกมาอย่างเป็นทางการแล้ว กระทรวงกลาโหมถือเป็นปรากฏการณ์สำคัญ เพราะตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของรัฐบาลเศรษฐาจะบริหารงานโดยพลเรือนที่เป็น ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง ชื่อ นายสุทิน คลังแสง 

นอกจากนโยบายพรรคเพื่อไทยที่เคยหาเสียงไว้ คือ ‘ยกเลิกการเกณฑ์ทหารจากการบังคับ ให้เป็นโดยสมัครใจ เปิดกว้างในการสมัครออนไลน์ให้ทำง่ายและครอบคลุม โดยไม่กำหนดเป้าหมายการรับ เพื่อทำให้เป็นทหารมืออาชีพ ลดงบกลาโหมลง 10 % เพื่อนำไปสนับสนุนคนรุ่นใหม่ เพื่อให้งบประมาณที่ใช้เหมาะสมสอดคล้องกับความเป็นจริง’ (ประชาไท, 30 เมษายน 2566) จะถูกจับตามองเป็นพิเศษว่าเป็นไปได้จริงมากน้อยเพียงใด

‘เดอะลาวเด้อ’ นำเสนอเสียงของผู้ได้รับผลกระทบจากการ ‘เกณฑ์ทหาร’ ทั้งคนที่มีเพศกำเนิดเป็น ‘ชาย’ ไทย นักศึกษา กลุ่มคนหลากหลายทางเพศ และภรรยาทหารเกณฑ์

กฎหมายเกณฑ์ทหาร มันเป็นหน้าที่ของชายไทย

การเกณฑ์ทหารเป็นกฎหมายตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยซึ่งในทางปฏิบัติพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 กำหนดหน้าที่นี้ให้เฉพาะชายที่มีสัญชาติเป็นไทยตามกฎหมายมีหน้าที่ต้องเข้ารับราชการทหารด้วยตนเองทุกคน

ชายที่มีสัญชาติไทย เมื่ออายุย่างเข้า 18 ปี บริบูรณ์ในพุทธศักราชใด ต้องไปแสดงตนเพื่อลงบัญชีทหารกองเกินภายในพุทธศักราชนั้น  ที่อำเภอท้องที่ที่มีภูมิลำเนาอยู่โดยจะได้รับใบสำคัญ สด. ๙

ทหารกองเกินที่ย้ายทะเบียนราษฎร์ จะย้ายภูมิลำเนาทหารด้วยหรือไม่ก็ได้ แต่มีหน้าที่แจ้งต่อนายอำเภอทุกครั้งที่ไปอยู่ต่างถิ่นเป็นเวลาเกินกว่า 30 วัน หากไม่แจ้งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทหารเกณฑ์

เมื่อมีอายุย่างเข้า 21 ปี ในพุทธศักราชใด ต้องไปแสดงตนเพื่อรับหมายเรียกที่อำเภอท้องที่ซึ่งเป็นภูมิลำเนาทหารของตนภายในพุทธศักราชนั้น โดยจะได้รับหมายเรียก สด. ๓๕ เพื่อให้มารับการตรวจเลือกในปีถัดไป ผู้ใดฝ่าฝืนไม่ขึ้นบัญชีทหารกองเกินหรือไม่มารับหมายเรียกต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าก่อนที่เจ้าหน้าที่ยกเรื่องขึ้นพิจารณาความผิด ผู้นั้นได้มาขอลงบัญชีทหารกองเกิน หรือ มารับหมายเรียกแล้ว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นโยบายพรรคการเมือง ยกเลิกเกณฑ์ทหาร
ลดกำลังพล ลดงบประมาณแผ่นดิน

บีบีซีไทย รายงานเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2020 ว่า 2 ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ (ในขณะนั้น) ได้เสนอให้ปรับลดงบประมาณของกระทรวงกลาโหมลงอีก 15%  โดยนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้ตั้งข้อสังเกตเรื่องการตั้งงบเกี่ยวกับทหารเกณฑ์ถึงปีละ 14,990 ล้านบาท โดยชี้ว่า ปัจจุบันกองทัพมีทหารประจำการ (ทหารเกณฑ์) อยู่ราว 120,000 นาย ทหารเหล่านี้ก็ต้องใช้งบประมาณดูแลจากส่วนกลางทั้งค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าใช้จ่ายในการเรียกเกณฑ์และตรวจเลือกทหารและค่าสนับสนุนต่างๆ

ขณะที่การหาเสียงเลือกตั้งครั้งล่าสุด พรรคก้าวไกลมีนโยบาย ‘ยกเลิกการบังคับการเกณฑ์ทหาร ปฏิรูปกองทัพ เปลี่ยนเป็นระบบสมัครใจร้อยเปอร์เซ็นต์ ปฏิรูปให้เกิดประสิทธิภาพอย่างมากในปัจจุบัน เพื่อให้งบประมาณที่สิ้นเปลืองถูกเปลี่ยนถ่ายสู่สวัสดิการและประโยชน์ของประชาชนโดยแท้จริง ให้การเกณฑ์ทหารในเดือน เม.ย.นี้ เป็นการเกณฑ์ทหารครั้งสุดท้าย’ (ประชาไท, 30 เมษายน 2566)

ขณะที่ ดร.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ได้กล่าวถึงความจำเป็นในการลดขนาดกองทัพไทย ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร เพื่อลดรายจ่ายภาครัฐ ถือเป็นเรื่องที่พรรคเพื่อไทยไม่เคยมองข้าม ตลอดระยะเวลาการบริหารงานของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม งบประมาณรายจ่ายด้านบุคลากรของกระทรวงกลาโหมเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2566 งบด้านบุคลากรของกระทรวงกลาโหมคือ 9.57 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 48.47% หรือเกือบครึ่งของงบกองทัพ ถูกจัดสรรไปให้บุคลากรชั้นเลิศ ทั้งเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และสวัสดิการพิเศษต่างๆ และกองทหารประจำการ และจากการสำรวจข้อมูล 9 ปีย้อนหลังพบว่า กองทัพไทยมีความต้องการทหารกองประจำการตั้งแต่ปี 2556 – 2564 เฉลี่ยประมาณปีละ 100,000 คน เพราะกองทัพมองความมั่นคงเป็นเรื่องของกำลังพล สวนทางกับภาพรวมของอัตรากำลังพลของกองทัพทั้งโลกปรับตัวลดลง การยกเลิกการเกณฑ์ทหารจะช่วยลดขนาดกองทัพและภาระงบประมาณของภาครัฐลง (สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา, 4 กุมภาพันธ์ 2566)

เสียงจาก ‘ชายไทย’ เสนอยกเลิกเกณฑ์ทหาร ให้ใช้ระบบสมัครใจ  

น้ำ (นามสมมุติ) นักศึกษาที่ต้องทำเรื่องผ่อนผันการเกณฑ์ทหารเปิดเผยถึงขั้นนตอนการยื่นผ่อนผันว่า ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนมากนักและใช้ระยะเวลาไม่นาน สามารถทำผ่านระบบออนไลน์ และต้องไปที่ว่าการอำเภอ เพื่อที่จะไปเอาหมายเรียกและรายงานตัว แต่ที่ช้าคือ การรอให้สัสดีรับรอง ซึ่งยื่นไปได้ 2 เดือน แล้ว เพิ่งจะรับรอง   

“เห็นด้วยที่จะยกเลิกการเกณฑ์ทหาร” น้ำกล่าวด้วยว่า “การเกณฑ์ทหารควรที่จะเป็นระบบสมัคร (ใจ) ทั้งหมดจะดีกว่า เพราะจะทำให้คนที่เข้าไปสมัครนั้นทำงานอย่างเต็มที่ มีใจอยากทำงาน เพราะอยากที่จะเป็นหารอยู่แล้ว หากยังใช้ระบบสุ่ม จับใบดำ ใบแดง กองทัพก็จะได้คนที่ไม่อยากเป็นทหาร มิหนำซ้ำยังจะทำให้พวกเขาเสียโอกาสในด้านการงาน และการเกณฑ์ทหารก็กลายเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ทุกหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนไม่รับคนที่ไม่ได้เรียน รด. หรือ ผ่านการเกณฑ์ทหาร ขณะที่คนที่มีงานทำ มีรายได้มั่นคงแล้ว ก็ต้องออกจากงานเพื่อมาเสี่ยงดวง จึงทำให้คนเหล่านี้จะต้องเสียโอกาสของชีวิต”

“บางคนมีภาระติดพัน มีเมีย มีลูกแล้ว หรือมีผู้ป่วยติดเตียงที่บ้านและไม่มีคนอยู่ดูแลด้วย ถ้าจับได้ใบแดงเขาก็ต้องละทิ้งคนที่ครอบครัวไว้ข้างหลังเพื่อไปเป็นทหารเกณฑ์ หลายคนมีภาระเพิ่มด้วยการจ้างคนข้างบ้านมาดูแลแทนตัวเองที่ไปเป็นทหารเกณฑ์”

น้ำกล่าวถึงข้อดีของการเป็นทหารเกณฑ์ว่าเป็นโอกาสให้คนที่ไม่มีงาน หรือไม่รู้ว่าไปทำงานอะไร การเป็นทหารเกณฑ์ก็เหมือนการทำงาน ดำรงชีวิต ซึ่งเป็นทางเลือกให้กับบบุคลที่ไม่มีงานจริงๆ 

ส่วนข้อเสียคือ ตัดโอกาสในการทำงานอื่นที่สร้างความมั่นคงให้กับชีวิตและครอบครัวมากกว่า

“การเกณฑ์ทหารไม่จำเป็นเลยในยุคที่แข่งขันกันในด้านเศรษฐกิจ อย่ามัวเสียเวลาไปกับเรื่องที่ไม่จำเป็นไม่ทันยุคสมัย และทำให้คนกว่าแสนคนเสียโอกาสในการในหลายๆอย่างในชีวิต เป็นรั้วของชาติหรือรั้วของนาย เป็นทหารหรือเป็นนายก ชอบรับใช้ชาติหรืออยากได้อำนาจโดยการรัฐประหาร”น้ำกล่าว

ตูน (นามสมมุติ) บัณฑิตที่เพิ่งเรียนจบมหาวิทยาลัยและเข้ารับการเกณฑ์ทหารเล่าว่า ตั้งแต่อายุครบเกณฑืก็ผ่อนผันตลอด เมื่อเรียนก็ลังเลว่าจะผ่อนผันต่อหรือจับสลากเลย “ส่วนตัวคิดว่าควรที่จะยกเลิกการเกณฑ์ทหารออกไปได้แล้ว นี่ปี 2023 แล้ว การจะไปท้ารบทำสงครามหมือนสมัยก่อนมันก็ไม่ใช้เรื่อง เอางบประมาณการจ่ายทหารเกณฑ์ไปพัฒนาประเทศ ไปเพิ่มสวัสดิการให้ประชาชนจะดีกว่า”

ตูนกล่าวถึงการเกณฑ์ทหารในปัจจุบันว่าไม่มีเหตุผลใดที่เป็นผลดีแม้แต่น้อย

“ถ้าพูดถึงข้อเสียแน่นอนเลยคือเสียเวลาชีวิต แทนที่เราจะได้ทำงานที่ชอบในเวลาที่ใช่ มันกลับต้องไปเป็นทหารอะไรก็ไม่รู้ ส่งผลเสียทั้งการงานและชีวิต ยุคสมัยเปลี่ยนไปแล้ว ควรจะยกเลิกการเกณฑ์ทหารแล้วเอางบประมาณตรงนี้ไปพัฒนาทหารที่เขาลงสมัครให้เขามีคุณภาพมากพอที่จะมาดูแลประชาชนเถอะ” ตูนกล่าว

เสียงจากสาวสอง ต้องเป็นระบบสมัครใจ

ฟ้า (นามสมมุติ) สาวประเภทสองเล่าถึงประสบการณ์การเกณฑ์ของเธอว่า หน่วยคัดเลือกให้เกียรติอย่างดี โดยจัดให้เธอนั่งแยกโดยการนั่งเก้าอี้ไม่ได้ไม่ได้นั่งรวมหรือต้องถอดเสื้อเพื่อนั่งรวมกับคนอื่นและไม่มีการเหยียดเพศสภาพ แต่ฟ้าก็กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับระบบการเกณฑ์ทหารของประเทศไทย “การเป็นทหารต้องเริ่มจากการสมัครใจ ไม่ควรบังคับใคร เพราะว่ามันเคยมีข่าวว่าทหารถูกฝึกถูกซ่อมหนักจนถึงตายก็มีจากตามที่เราเห็นในสื่อที่ผ่านมา เพราะฉะนั้น ควรเป็นการสมัครใจมากกว่าการจับสลาก”

“ข้อดีของการเกณฑ์ทหารไม่มีเลย ส่วนข้อเสียคือ เสียเวลา เพราะว่าต้องไปยื่นเอกสารทำเรื่องขอใบรับรองแพทย์ เพื่อนำไปยื่นต่อทหารว่าเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด และเสียเวลาชีวิต และก็ยังคิดว่าการเกณฑ์ทหารไม่จำเป็น เพราะทุกวันนี้ไม่ได้มีการสู้รบเหมือนกับสมัยก่อน เพียงแค่เป็นการเอาไปฝึกความอดทนหรือฝึกการเป็นคนงาน คนตัดหญ้า คนซักผ้าหรือเรียกง่ายๆ ว่าคนใช้ของหัวหน้าเท่านั้นเอง”

เสียงทหารเกณฑ์และเมียทหารเกณฑ์ :
เงินเดือนน้อย อาหารไม่อร่อย ออกความเห็นไม่ได้ เจ้านายไม่ได้เรื่อง

น (นามสมมติ) ทหารเกณฑ์ทหาร เล่าประสบการณ์การเป็นทหารเกณฑ์ของเขาว่า มีหลากหลายรสชาติ ทุกข์ สุข ​เหนื่อย หิว ง่วง​ หัวเราะ​ ร้องไห้​ โหด มัน ฮา​ ผสมกันไป แต่ทหารยุคนี้ก็ไม่ได้ฝึกหนักเหมือนเมื่อก่อน​

“ผมคิดว่าควรจะยกเลิกเกณฑ์ทหาร ได้แล้ว มันไม่ดีสำหรับคนที่ไม่พร้อม คนที่มีภาระหน้าที่การงานหรือต้องดูแลพ่อแม่ที่ไม่สบาย อยากให้เป็นการสมัคใจดีกว่า ​เพราะ​มันฝึกได้เต็มที่และเต็มใจกว่าคนที่ไม่อย่ากจะมา ​แล้วก็เพิ่มเงินเดือนให้ทหารที่เขาสมัครใจ เพื่อให้การกินอยู่ทหารชั้นผู้น้อยดีขึ้น”

น (นามสมมติ) เล่าถึงข้อเสียของการเป็นทหารเกณฑ์ว่า “หนึ่ง เงินเดือนน้อย สอง อาหารไม่อร่อย​ สาม ออกความคิดเห็นไม่ได้​ และสุดท้ายที่พบบ่อย คือ การที่มีหัวหน้าไม่เอาใหน​ ไม่มาทำงานบ้าง​ เอาเปรียบลูกน้องบ้า​ง​ ปล่อยลาก็หักเงินเบี้ยเลี้ยง​ หากปล่อยลายาวสัก 3 – 4เ ดือนก็​ยึดบัตรเงินเดือนเราไว้ด้วย​เหตุผลบอกว่าเราไม่ได้ทำงาน​ ซึ่งก็คือ การปล่อยทหารไปเพื่อที่จะได้ริบเงินเดือนทหาร​ ตรงนี้ควรจะแก้ไข้อย่างมากรวมถึงเรื่องระบบทหารด้วย”​

“ถ้ายังไม่หักค่าลาพักกับค่าประกอบเลี้ยง เงินเดือนก็ราวๆ 8,000 บาท อย่างผมอยู่สนาม​ ไม่ได้อยู่ในหน่วย​ ต้องมาหักค่าประกอบเลี้ยง ค่าลาพักกลับบ้าน​ รวมๆ แล้วถูกหัก 2,000 บาทต่อเดือน​ แต่ที่อยู่ในหน่วยจะไม่ได้เบี้ยเลี้ยงเต็ม เงินก็จะอยู่ราวๆ 6,000 – 7,000 บาท”

ส่วนข้อดีของการเป็นทหารเกณฑ์นั้น น (นามสมมติ) กล่าวว่า ได้รับการรักษาพยาบาลฟรี​ รักษาพ่อแม่ฟรี​ในโรงพยาบาลรัฐ​ และมีโอกาศเรียนต่อการศึกษานอกโรงเรียนจนจบ ม.6 เรียนต่อนักเรียนนายสิบได้​ และมีคะแนนดีอาจจะได้ไปเรียนที่โรงเรียนนายร้อยจปร. ได้มีเพื่อนใหม่ ได้มีความอดทนอดกลั้น​สูงขึ้นและเป็นผู้ใหญ่ขึ้น​

“ข้อดีก็มี แต่มันน้อยกว่าข้อเสีย ควรจะยกเลิกไปได้แล้ว เพราะมัน​มีคนที่ไม่พร้อมเป็นทหารอีกประมาณ​ 80% และอีก 20% คือคนที่สมัคใจมาเพื่อเรียนต่อนักเรียนนายสิบหรือนักเรียนจ่าเรือ การลดจำนวนทหารลงก็เพื่อลดค่าใช้จ่ายลง​ แล้วเงินภาษีไปเพิ่มประสิทธิภาพ​ของกองทัพจะดีกว่า” น (นามสมมติ) กล่าว

วิ(นามสมมุติ)ภรรยาทหารเกณฑ์กล่าวว่า การมีการเกณฑ์ต้องทำให้เราต้องเสียเเรงงานสำคัญของครอบครัวไป ในชีวิตปกติผู้ชายต้องทำหน้าที่ของตัวเองอยู่เเล้ว การจับใบดำใบเเดงเหมือนเป็นการเสี่ยงโชคซะตา เเต่ว่าจะเสียเวลาทำงานไปตั้ง 2 ปี เสียโอกาสสร้างเนื้อสร้างตัว หาเงิน เเละก็ไม่มีคนช่วยงาน เพราะเราทำธุรกิจส่วนตัว เราเป็นผู้หญิงก็ทำไม่ได้มากเท่าผู้ชาย เเทนที่ครอบครัวจะได้เต็มๆ เเต่กลับต้องจ้างคนงานเพิ่มต้องเสียเงินเพิ่มภาระให้ครอบครัวอีก