กองทุนเพื่อการศึกษา

เดอะลาวเด้อ – อาจารย์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีชี้ไม่ควรเรียกการศึกษาคือการลงทุน ระบุรัฐบาลต้องลงทุนสนับสนุนการศึกษามากกว่าปล่อยให้นักเรียน นักศึกษาเป็นหนี้ตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ ติงไม่ควรมีชั่วโมงจิตอาสาเป็นเงื่อนไขสำหรับคนเป็นหนี้ ฝ่ายเจ้าหน้าที่เผยข้อมูลนักศึกษา ม.อุบลฯ ปี 2565 มียอดกู้ กยศ. กว่า 230 ล้านบาท  

จากรายงานของเว็บไซต์ https://www.studentloan.or.th/  เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2566 เผยสถิติผู้กู้ยืมเงินกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ทั้งสิ้นจำนวน 6,471,455 ราย อยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3,446,406 ราย (ร้อยละ 53) อยู่ในช่วงปลอดหนี้ 1,170,587 ราย (ร้อยละ 18) และชำระหนี้เสร็จสิ้น 1,783,478 ราย (ร้อยละ 28) ดร.พลวิเชียร ภูกองไชย อาจารย์สาขานวัตกรรมการพัฒนาสังคม คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ม.อุบลฯ) เปิดเผยกับ ‘เดอะลาวเด้อ’ เกี่ยวกับการที่นักเรียน นักศึกษาที่ต้องกู้ยืม กยศ.และเป็นหนี้ตั้งแต่ยังไม่มีรายได้ว่า “มันไม่ควรเป็นแบบนั้น เพราะการศึกษานี้มันเป็นสิ่งที่ทุกคนควรมีสิทธิ์จะได้รับมัน ไม่ควรมาพร้อมกับภาระหรือหนี้สินเป็นหนี้ก้อนใหญ่คนละ 200,000 – 300,000 บาท ความรู้ควรจะเป็นสิ่งที่รัฐควรที่จะสนับสนุนให้ประชาชนมีความรู้ สร้างความเป็นธรรมให้มากขึ้น รัฐควรคิดว่าการศึกษาเป็นสิ่งที่รัฐต้องลงทุนให้ประชากรในประเทศได้มีสิทธิ์ได้รับ”    

กองทุนเพื่อการศึกษา
ดร.พลวิเชียร ภูกองไชย อาจารย์สาขานวัตกรรมการพัฒนาสังคม คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

“การศึกษาควรเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานของรัฐบาลที่ต้องจัดสรรให้ และไม่เห็นด้วยที่การยื่นกู้กยศ.ต้องมีชั่วโมงจิตอาสาทั้งที่มันเป็นเป็นเงินที่ต้องกู้ที่ต้องใช้คืนอยู่แล้ว เพราะว่าการกู้ กยศ. มีคุณสมบัติที่กำหนดไว้หลายอย่างอยู่แล้ว แล้วยังมาเพิ่มการทำชั่วโมงจิตอาสา และซึ่งเป็นคุณสมบัติที่มาเพิ่มทีหลัง ซึ่งเพิ่มมาเพื่อผลักดันให้ผู้กู้ กยศ. ทำจิตอาสาซึ่งมันไม่ควรนำมาเพิ่ม”ดร.พลวิเชียรกล่าว

ส่วนกระแสที่สนับสนุนการยกเลิกหนี้ กยศ. นั้น ดร.พลวิเชียรกล่าวว่า “ในระยะใกล้ก็ถือว่าเป็นเรื่องดี ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่เอามาถกเถียงกันได้ ส่วนอีกด้าน ถ้าเปลี่ยนโครงสร้างกฎหมายต่างๆ ที่สามารถดึงรายได้หรือดึงทรัพยากรจากคนรวยหรือในระยะใกล้ 3 หรือ 5 ปี สามารถลดดอกเบี้ยให้ได้ไหม ลดดอกเบี้ย ลดค่าปรับ ดอกเบี้ยไม่ควรเก็บ ไม่ควรมีด้วยซ้ำ คือถ้าสมมุติคุณกู้ไป 100,000 200,000 คุณก็ชำระหนี้แค่ 100,000 200,000 แค่นั้นไม่ควรมีดอกเบี้ย คือรัฐต้องดูแลส่วนต่าง รัฐต้องเข้ามาซับพอร์ตส่วนต่างที่เป็นหนี้จากการกู้ยืม”

ดร.พลวิเชียรกล่าวว่า ความรู้ควรจะเป็นสิ่งที่รัฐควรที่จะสนับสนุนให้ผู้คนมีความรู้ สร้างความเป็นธรรมให้มากขึ้น รัฐควรคิดว่าการศึกษาเป็นสิ่งที่ควรจะลงทุนให้ประชากรในประเทศได้มีสิทธิ์ได้รับ ไม่ใช่ว่าการศึกษาที่ดีคือจะต้องมีแค่คุณชนชั้นสูง ชนชั้นกลางที่สามารถจะได้รับ แต่คนชนชั้นต่ำไม่ได้รับ นั่นคือความไม่ยุติธรรม

“มันเป็นงบประมาณที่รัฐควรที่จะกันไว้ ซึ่งในระยะยาวมันควรเป็นของฟรีโดยเฉพาะค่าเทอม แต่ค่าใช้จ่ายรายเดือนโอเคพอคุยกันได้ เพราะว่าแต่ละคนก็มีค่าใช้จ่ายไม่เท่ากัน แต่ค่าเทอมค่าอุปกณ์ที่จำเป็นรัฐควรที่จะจัดสรรและสนับสนุน เพราะมันจะออกดอกออกผลให้เห็นผลในระยะยาวว่าคุณจะได้พลเมืองที่ดีมีศักยภาพที่ดีขึ้น และมันจะส่งผลให้ครอบครัวเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเช่นกัน”ดร.พลวิเชียรกล่าว

ด้านนักวิชาการการศึกษาชำนาญการ เจ้าหน้าที่ฝ่ายกิจการนักศึกษารายหนึ่งของ ม.อุบลฯ เปิดเผยข้อมูลยอดรวมวงเงินของการกู้ยืม กยศ. ของนักศึกษา ม.อุบลฯ 3 ปีย้อนหลังพบว่า ในปี 2563 มียอดกู้ยืม 204,584,450 บาท ปีการศึกษา 2564 จำนวน 164,317,920 บาท และปีการศึกษา 2565 จำนวน 232,897,050 บาท

“ยังไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกหนี้ กยศ. รายเดิมที่กู้ยืมไปแล้ว จริงๆ หากผู้กู้สำเร็จการศึกษา มีงานทำยังสามารถจ่ายเงินคืน กยศ. โดยเลือกการชำระคืนแบบรายเดือน ราย 3 เดือน รายปี ตามความประสงค์ของผู้กู้เองได้ ซึ่งเป็นความรับผิดชอบผูกพันที่ตนเองทำไว้ และยอมรับเงื่อนไขตอนทำสัญญา แต่หากในอนาคตประเทศจะมีนโยบายสนับสนุนการศึกษาทุกระดับ ก็เป็นส่วนของอนาคตที่ไม่มีผลผูกพันกับอดีตที่ผ่านมาอยู่แล้ว”เจ้าหน้าที่ฝ่ายกิจการนักศึกษา ม.อุบลฯ กล่าว