1 กันยายน ที่ผ่านมา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้จัดเสวนาเปิดตัวหนังสือชื่อ ให้มันจบที่รุ่นเรา นำเสวนาโดยอนุสรณ์ อุณโณ, เสาวนีย์ ตรีรัตน์ อเลกซานเดอร์ หนึ่งในทีมเขียนหนังสือ ให้มันจบที่รุ่นเรา กิ่งกาญจน์ สำนวนเย็น, ธีระพล อันมัย อาจารย์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และ พงศธร กันทวงค์ นักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีและเป็นตัวแทนจากกลุ่มคบเพลิง โดยมีนักศึกษา อาจารย์ บุคคลากรมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเข้าร่วมรับฟังการเสวนาในครั้งนี้

รุ่น คือความแตกต่างทางการเมือง 

อนุสรณ์ หนึ่งในผู้เขียนหนังสือได้กล่าวถึง หนังสือ ให้มันจบที่รุ่นเรา ว่า รุ่น เป็นการศึกษาทางเมืองที่สื่อถึงการเปลี่ยนแปลงในสังคม นักสังคมวิทยาหลายคนได้เอาคอนเซปต์ของความแตกต่างทาง generation มาศึกษาความเปลี่ยนแปลงของสังคมและการเมือง เพราะแต่ละช่วงวัยมีประสบการณ์ที่ถูกหล่อหลอมต่างกัน ทำไมถึงมองว่าแตกต่างเพราะ “ทฤษฎีปฏิบัติ” (Practice theory) ซึ่งเป็นชุดกรอบความคิดที่ประกอบด้วย ฮาบิทัส (Habitus) ของ ปิแอร์ บูร์ดิเยอ นักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศษ ได้อธิบายถึงความโน้มเอียงทางอุปนิสัย ที่เกิดจากการหล่อหลอมเอากฎเกณฑ์จากประสบการณ์ของเรา ผ่านปฎิบัติการที่ทำให้เราไม่รู้สึกตัว แต่ละคนจะมีฮาบิทัสเป็นของตัวเอง ซึ่งสามารถเอามาใช้อธิบายว่าแต่ละรุ่น ในช่วงเวลาที่เราใช้ชีวิต สังคม สิ่งแวดล้อม ที่เราอยู่แตกต่างกัน เช่นเราสังเกตุว่า แต่ละรุ่นมีการพูดคุยที่ไม่เข้าใจกัน ยกตัวอย่าง การแซวแบบหมาหยอกไก่ คนรุ่นเก่าอาจจะมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่สำหรับในยุคปัจจุบันคือเรื่องที่ไม่ควรทำ สิ่งนี้อธิบายให้เห็นถึงความแตกต่างอย่างชัดเจนของแต่ละรุ่น หนังสือเริ่มนี้จึงอธิบายถึงช่วงวัยของการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปตามรุ่นของแต่ละยุคสมัย 

มุมมองคนอ่าน ‘ให้มันจบที่รุ่นเรา’

พงศธรกล่าวว่า ได้มองเห็นถึงอะไรที่หลากหลายขึ้นในการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยด้วยวิธีต่างๆ เช่น การสนับสนุนเงินผ่านกองทุนราษฎรประสงค์ และการเป็นแกนนำของคนแต่ละช่วงวัย เช่น แกนนำสมัชชาคนจน ที่ไม่ได้อยู่ในวัยเดียวกันกับตน ที่เข้ามาเรียกร้องร่วมกับคนรุ่นใหม่ อีกทั้งยังมีพ่อแม่พี่น้องชาวเสื้อแดงที่บางครั้งอาจแสดงตนหรือไม่แสดงตน ผู้ใหญ่หรือเด็กที่ออกมาต่อสู้ล้วนแต่ถูกกระทำด้วยความอยุติธรรม แม้วันเวลาจะแตกต่างกัน แต่ผ่านประสบการณ์ในชีวิตที่กระทำโดยรัฐมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นความอยุติธรรมที่คนเสื้อแดงได้เจอตอนปี 2549 จวบจนปี 2557 ที่คนรุ่นใหม่เจอกับรัฐประหาร สภาพสังคม เศรษฐกิจ ที่เห็นได้ชัดคือช่วงสถานการณ์โควิด – 19 เป็นจุดเชื่อมที่ทำให้คนรุ่นใหม่ออกมาต่อสู้เรียกร้องร่วมกับผู้ใหญ่ แม้ต่างกันที่ความคิด มุมมอง แต่ทุกคน ทุกวัยล้วนมีเป้าหมายที่อยากให้ประเทศนี้เป็นประชาธิปไตย ให้เกิดการเลือกตั้ง

สิ่งที่ค้นพบอีกอย่างคือ โลกออนไลน์มีส่วนสำคัญมากๆ ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งพงศธรมองว่าสอดคล้องกับสมมติฐานจากการสังเกตการณ์ หรือเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองของตนเอง โดยหลายคนเลือกที่เคลื่อนไหวผ่านทางโซเชียลมีเดีย เพราะอาจกังวลในเรื่องความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว โซเชียลจะช่วยปกปิดตัวตนของเราได้ และกลายเป็นพื้นที่ผลักดัน กระตุ้นให้หลายๆ คนออกมาสู้บนท้องถนนเช่นกัน ควบคู่ไปกับการเคลื่อนไหวบนโซเชียล เช่น เพจต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างกลุ่มเยาวชนปลดแอก หรือแม้แต่กลุ่มคบเพลิงเอง ที่เป็นช่องทางนัดแนะประชาสัมพันธ์กัน

ธีระพลกล่าวว่า หนังสือเล่มนี้ เปรียบเหมือนการเครื่องบันทึกความทรงจำของประเทศไทยในยุคของคน รุ่นโบว์ขาว นับตั้งแต่เกิดมา หนังสือเล่มนอกจากจะพูดถึงบทนำ กรอบแนวคิด ทฤษฎีที่เอามาใช้ รุ่นคนหรือgeneration อะไรต่างๆ ที่ถูกมาใช้เพื่อวิเคราะห์หนังสือเล่มนี้ แต่สิ่งมากกว่านั้น มันเป็นหนังสือที่ว่าด้วยประวัติศาสตร์การเมือง เขียนด้วยมิติการเมืองแบบมานุษยวิทยา ไม่ใช่การเมืองแบบรัฐศาสตร์ แต่เป็นมนุษยศาสตร์ ที่ประกอบด้วยผู้คน ชีวิต เลือดเนื้อ ที่น่าสนใจมาก อย่างเช่น การพูดถึงเงื่อนไขที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของกลุ่มเยาวชนปลดแอก เรียบเรียงชีวิตคร่าวๆ ของเด็ก generation ที่เกิดมาในช่วงปลายรัชกาลที่ 9 เห็นการเมืองของยุคสมัย ความดีความงามของระบบกษัตริย์มันถูกท้าทายด้วยเสรีนิยมใหม่ เด็กในยุคนี้พบเจอกับรัฐธรรมนูญปี 60 ที่สื่อให้เห็นถึงความไม่เป็นธรรม อำนาจที่กดทับ ไม่เห็นหัวประชาชน ไม่ทำให้รู้สึกว่า เรา จะมีอนาคตในประเทศนี้ได้ ความไม่พอใจกับความอยุติธรรมทำให้คนรุ่นโบว์ขาวเริ่มมีการแสดงออกทางการเมือง เช่น การยุบพรรคอนาคตใหม่ การหายตัวไปของนายวันเฉลิม แต่ก่อนหน้านี้คนรุ่นโบว์ขาวได้สร้างปรากฏการณ์ที่ธีระพลเรียกว่า การทะลุเพดาน เพดานที่คนรุ่นก่อนไม่กล้าแม้แต่จะพูดถึง เช่น การชุมนุมที่ทนายอานนท์พูดถึงกษัตริย์ 10 ข้อเรียกร้องในม็อบธรรมศาสตร์และการชุมนุมของรุ้ง ปนัสยา  การไม่ยืนในโรงหนัง เป็นสิ่งที่อ่านเจอแล้วชอบ และคิดว่าเหตุการณ์ต่างๆ ทางการเมืองที่ถูกเล่าผ่านหนังสือเล่มนี้ เป็นประสบการณ์ที่คนรุ่นใหม่สัมผัสมันมาด้วยตัวเอง 

กิ่งกาญจน์กล่าวว่า ใช้แนวทางการอ่านหนังสือเล่มนี้สองรูปแบบคือ อ่านด้วยการเป็นคนข้างนอกที่มองการเคลื่อนไหว กับอีกรูปแบบคือ คนที่สนใจศึกษากระบวนการการเคลื่อนไหว กิ่งกาญจน์มองว่าเป็นรัฐศาสตร์ แต่ไม่ใช่รัฐศาสตร์ที่เข้มข้น ที่จะนำมาอธิบายว่าการเมืองคืออะไร ศึกษาการเมืองยังไง แม้นิยามเป็นการเมือง แต่มองว่าไม่ใช่การศึกษาแบบรัฐศาสตร์ที่ตายตัว ถ้ามองผ่านเลนส์การศึกษากระบวนการการเคลื่อนไหว  เด็กรัฐศาสตร์ควรมีหนังสือเล่มนี้ หากไปเทียบการ Course Syllabus (แผนการสอน) ของตนเอง นำหนังสือเล่มนี้ไปถกในห้องเรียนก็ย่อมได้ อย่างการอธิบายคำว่า ม็อบ ในฉบับของเลอบอง คือกล่าวว่า ม็อบเป็นกลุ่มชนที่บ้าคลั่ง เกิดสภาวะทางจิตบางอย่างแล้วรวมตัวกันเพื่อเคลื่อนไหว เพราะรู้สึกผิดหวัง ไม่สมหวัง แต่นักวิชาการมองว่า จะเรียกม็อบว่าบ้าคลั่งไม่ได้ เพราะม็อบมีการจัดโครงสร้าง การแบ่งบทบาทหน้าที่ การวิเคราะห์เงื่อนไขปัจจัย เชื่อมต่อความคิดเพื่อเชื่อมต่อคนให้เข้าร่วม และตัวของกิ่งกาญจน์เอง เมื่ออ่านจบกลับคิดทบทวนว่า เนื้อหาหรือเหตุการณ์ที่ได้กล่าวถึงในหนังสือ มันสะท้อนความรู้สึก อารมณ์ ความรู้สึกของผู้คนต่างหาก ที่เป็นเงื่อนไขสำคัญด้วยซ้ำจะทำให้การเคลื่อนไหวมันเกิดขึ้นได้ยังไง เป็นการกลับมาต่อสู้เชิงอารมณ์ ที่กลายเป็นแรงผลักให้เกิดต่อสู้อีกรูปแบบ และยังมีความท้าทายในการศึกษากระบวนการการเคลื่อนไหว ยิ่งเจะลึกจะยิ่งตั้งคำถามว่า กลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหว ในเทคโนโลยีอะไร กลยุทธ์อะไร อย่างกลยุทธ์ที่เรียกว่า การเคลื่อนไหวโดยไม่มีแกนนำ  การในเคลื่อนไหวของsocial movement อาจมองว่า มีการจัดตั้ง มีองค์กร เป็นการสื่อสารแนวตั้ง แต่ไม่เลย เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ บอกว่าไม่ได้มีองค์กรนำแบบนั้น นำแบบไร้ผู้นำ องค์กรมาทีหลัง ในตัวของรัฐศาสตร์เชื่อมาเสมอว่า กระบวนการเคลื่อนไหว ทางสังคม การเมือง คือ สิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อลดช่องว่างของกระบวนการประชาธิปไตย แบบตัวแทน ในเมื่อประชาธิปไตยแบบตัวแทนไม่ทำงาน จึงเกิดการรวมกลุ่มแล้วเคลื่อนไหว และมันสร้างพลังของมัน โดยการเคลื่อนไหวแบบท้าทายอารยะ ไม่ทำตามวิถีแบบที่สังคมยอมรับหรือรัฐอนุญาต หนังสือเล่มนี้ชี้ให้เห็นมากๆ ว่า Disruptive (ความแตกแยก) ไปไกลมากกว่าการเคลื่อนไหว คือ ต้องทะลุเพดาน แต่จะไปให้ถึงได้ยังไง หนังสือเล่มนี้มีบอก 

ข้อเสนอแนะจากผู้อ่านถึงผู้เขียน

ธีระพลกล่าวว่า เรามีโรคของยุคสมัย ปัจจุบันคนรุ่นใหม่มักจะเจอกับโรคซึมเศร้า อยากให้เขียนถึงคนเหล่านี้เพราะคนที่ออกมาเคลื่อนไหวไม่ได้มีแค่แนวหน้า คนที่suffer(ความเจ็บปวด อดทน อดกลั้น) หรือคนที่ติดตาม อาจจะมีภาวะความเครียด ความเจ็บปวดจากการเมืองที่ไม่ได้เป็นตามที่เราตั้งใจ เรามีวิธีการเยียวยากันอย่างไร ทำยังไงให้กลับมาเป็นคนปกติเพื่อต่อสู้กับความฝันต่อไปได้ 

พงศธรกล่าวว่า อยากให้ศึกษาการเข้ามาสื่อใหม่กับวัยรุ่นยุคนี้ เพราะสื่อใหม่ในปัจจุบันมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนทางการเมืองโดยเฉพาะสื่อออนไลน์ที่นำเสนอข่าว ที่ไม่ได้มีแค่ช่องหลักเพียงอย่างเดียว เพราะบางครั้งเรื่องการเมืองบางเรื่องอาจจะนำเสนอไม่ได้ แต่สื่อใหม่มีบทบาทในการนำเสนอได้อย่างอิสระ 

กิ่งกาญจน์กล่าวว่า เยาวชนไม่ได้มีแค่นักศึกษา นักเรียน แต่มีเยาวชนที่อยู่ข้างนอก ถึงแม้จะมีแต่ก็ไม่ได้ลงลึกถึงความคิด ความรู้สึกของเด็กเขาเป็นยังไง และกระบวนการเยาวชนไปเชื่อมกับการพัฒนาเมืองได้อย่างไร