หมอลำ

เมื่อเข้าสู่หน้าฝน อาชีพ ‘หมอลำ’ ที่ต้องทำการแสดงกลางแจ้ง มีความเป็นอยู่อย่างไร 

หมอลำบางวงจำเป็นต้องพักวง เพราะคนงานในวงหมอลำส่วนใหญ่นั้นคือ ชาวนา ประกอบอาชีพทำนา ดังนั้น ช่วงหน้าฝนตั้งแต่พฤษภาคม ถึง ตุลาคม วงหมอลำส่วนใหญ่จำเป็นที่จะต้องเข้าบ้านพัก บางคนพักไปทำนา บางคนพักเพื่อตระเตรียมโชว์สำหรับฤดูกาลใหม่ ‘เดอะลาวเด้อ’ ชวนอ่านวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของหมอลำอีสานออนซอนศิลป์, บ้านหมอลำรัตนศิลป์,บ้านหมอลำอีสานนครศิลป์ ในช่วงหน้าฝน

ชีวิตหน้าฝน ของวงอีสานออนซอนศิลป์

พจน์ – ประพจน์ พินสายออ หัวหน้าผู้จัดการวงอีสานออนซอนศิลป์ เล่าว่าจุดเริ่มต้นของวงนั้น มาจากประสบการณ์ที่ตนทำงานเกี่ยวหมอลำมาหลายวง รู้สึกตนอายุเพิ่มขึ้นจึงคิดอยากจะมีวงเป็นของตนเอง อีสานออนซอนศิลป์เริ่มก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2555 รวมสมาชิกทุกตำแหน่งกว่า 120 คน เป็นวงที่มีขนาดเล็กมาก แต่ทีมงานประกอบอาชีพหลากหลาย ค้าขาย ทำสวน นักเรียน นักศึกษา ลูกชาวนา ทั้งปีมีงานจ้างอยู่ที่ 60 – 80 งาน ช่วงที่วงว่างทุกคนก็แยกย้ายไปเรียนบ้าง ขายของบ้าง ทำนาบ้าง พอมีงานแสดงจึงจะนัดซ้อมหรือนัดเตรียมการแสดงล่วงหน้า

หมอลำ
พจน์ – ประพจน์ พินสายออ หัวหน้าผู้จัดการวงอีสานออนซอนศิลป์

อีสานออนซอนศิลป์ในหน้าฝน

พจน์เล่าว่า วงนั้นรับงานตลอดทั้งปี ไม่มีการพักวงหรือปิดวงตามฤดูกาล ฤดูฝนมาเยือนชีวิตวงหมอลำอย่างเราก็อาจจะลำบากนิดหนึ่ง เพราะงานจ้างจะน้อยกว่าฤดูอื่นๆ ถ้าไม่ใช่ฤดูฝน เราจะมีงาน 10 – 20 งานต่อเดือน แต่ถ้าเป็นหน้าฝนจะลดเหลือ 4 – 5 งานต่อเดือน ด้วยความที่เราเป็นวงหมอลำที่เล่นกลางแจ้ง ไม่มีหลังคา ไม่มีโดม อุปสรรคคือ กระแสลมและฝน สมมุติเล่นไปแล้วฝนตก เราต้องคำนึงถึงอุปกรณ์การแสดง เพราะส่วนมากเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดนตรี เครื่องเสียง แสงสีบนเวที ใช้ระบบไฟฟ้าทั้งหมด หากฝนตกไม่แรงมาก ก็สามารถกางเต็นท์หรือผ้าใบบนเวทีได้ กางร่มให้นักแสดงได้ หากไม่ไหว ฝนมาแรงจำเป็นต้องเลื่อนการแสดงออกไป เพื่อให้เจ้าภาพพึงพอใจ คิดถูกที่จ้างวงมา

พจน์กล่าวถึงการส่งเสริมวัฒนธรรมหมอลำจากภาครัฐว่าอยากให้ช่วยกระตุ้นหรือส่งเสริมให้หมอลำทำโครงการกับการท่องเที่ยวของไทย กระทรวงวัฒนธรรมควรมีแผนที่จะช่วยสนับสนุนวัฒนธรรมท้องถิ่น แต่ละถิ่นเด่นเรื่องไหนก็สนับสนุนเรื่องนั้น เป็นไปได้อยากเชิญกระทรวงวัฒนธรรมเข้ามาดูงาน หรือเชิญเราไปแสดงตามสถานที่ต่างๆ ให้ได้เกิดการจ้างงาน

รัตนศิลป์อินตาไทยราษฎร์ หมอลำเก่าแก่ที่กำลังก้าวให้ทันโลกหมอลำยุคใหม่

ใหญ่สุริยา – วิรัตน์วงศ์ หาญสุริ หัวหน้าคณะรัตนศิลป์อินตาไทยราษฎร์ จากจังหวัดขอนแก่น เผยจุดเริ่มต้นของการทำวงมาจากครูอินตาไทยราษฎร์เป็นบรมครูของหมอลำ ซึ่งวงในปัจจุบันนับว่าเป็นรุ่นเหลน เนื่องจากสมัยก่อนไม่มีทีวี, วิทยุ นอกจากเครื่องดนตรีที่มีแค่แคน ศิลปะหมอลำที่เป็นสื่อให้คนได้ฟังเล่น มีการแสดงเป็นเรื่องเล่าแบบนิทาน โดยการเอื้อนทำนองของวงอินตาก็มาจากลำพื้น จากนั้นได้นำมาประยุกต์เป็นหมอลำทำนองขอนแก่น โดยสมาชิกในวงมีทั้งหมดประมาณ 200 คน 

“รัตนศิลป์อินตาไทยราษฎณ์ของเรานั้นมีข้อด้อยในเรื่องโซเชียลมีเดีย เพราะปัจจุบันวงหมอลำใช้สื่อโซเชียลเป็นเครื่องมือทำมาหากินอีกรูปแบบ วงอยู่มานานถึง 70 กว่าปี แต่ไม่เป็นที่รู้จักเป็นวงกว้าง คนที่รู้จักก็อาจจะล้มหายตายจากไป บางครั้งต้องควักกระเป๋าตัวเองเพื่อประคับประคองวงให้ไปต่อได้ หากจะกู้ยืมก็กลัวเจอสถานการณ์แบบโควิด-19 อีก เลี้ยงดูคนในวงแบบอยู่ฟรีกินฟรี พยายามฝึกซ้อม แต่กว่าจะมีงานก็ใช้เวลานาน หากไม่ซ้อมแล้วรับงาน เกรงว่าการแสดงจะออกมาไม่ดี ยิ่งในยุคนี้การแข่งขันเพิ่มสูงมากขึ้น จึงพยายามให้วงมีกระแสและสร้างผลงานที่เป็นที่ประทับใจให้ได้มากที่สุด”

ใหญ่สุริยากล่าวว่า ความเป็นอยู่เดิมมาจากรุ่นพ่อแม่ทำไร่ทำนาในช่วงปลายพฤษภาคมเข้าสู่ฤดูฝน วงก็จะปิดฤดูกาล เทศกาลงานบุญเข้าสู่พรรษา ไม่มีงานแสดง สมาชิกในวงจะทยอยกลับบ้าน ทางด้านวงเองก็จะได้ปรับปรุงสร้างสรรค์ผลงาน พร้อมทั้งทำการเกษตรควบคู่กันไป แต่การเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว โซเชียลมีเดียทำให้ก้าวไม่ทัน ศิลปินในวงเป็นน้องใหม่ที่มาฝึกฝน จึงไม่ได้มีงานนอกเหนือจากนั้น เช่น อีเวนต์โชว์ตัวหรือร้องเพลงตามร้านอาหาร วงเลยเป็นเหมือนโรงเรียนที่จะสอนวิชาและให้สมาชิกคนอื่นๆ สานต่อ

หมอลำ
ใหญ่สุริยา – วิรัตน์วงศ์ หาญสุริ หัวหน้าคณะรัตนศิลป์อินตาไทยราษฎร์

เสียงจากหมอลำวงน้อย

ใหญ่สุริยากล่าวว่า อยากให้มีการสนับสนุนจากทางภาครัฐและหน่วยงานอย่างมาก แต่มองไม่เห็นใครสักคน อย่างน้อยช่วยให้วงได้มีงานแสดง เพราะว่า soft power ของขอนแก่นเป็นแดนหมอลำ ควรที่จะมีเวทีโชว์การแสดง มีเวทีกลางให้แต่ละวงขึ้นแสดงหมุนเวียนกันไป สิ่งเหล่านี้จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มาก เมื่อ 30 ปีก่อนมีบริษัทเอกชนอย่างโอสถสภาเข้ามาสนับสนุนให้วงหมอลำไปเล่นแต่ละจังหวัด ช่วยโฆษณา ซึ่งปัจจุบันหาไม่มีอีกแล้ว

จากเสียงอิสานสู่ อีสานนครศิลป์

หน่อย – สุชาติ อินทร์พรหม ผู้บริหารวงอีสานนครศิลป์ แรกเริ่มเดิมทีต้องย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีที่แล้วในช่วงโควิด-19 ตอนนั้นหน่อยทำธุรกิจอยู่ที่กรุงเทพฯและได้มีโอกาสไปบริหารวงดนตรี ‘เสียงอิสาน’ ของ นกน้อย อุไรพร เนื่องจากตอนนั้นเสียงอิสานประสบปัญหาโควิดและหลัง 10 ปีมานี้เกิดภาวะปัญหาเกี่ยวกับเงินทุน ทำให้แฟนคลับคาดหวังอยากจะเห็นเสียงอิสานกลับมาเหมือนเดิมที่เคยเป็นวงใหญ่สุดในประเทศ ดังนั้น หน้าที่ของตนในตอนนั้นก็คือทำให้เสียงอิสานกลับมาสง่างาม ซึ่งสิ่งที่ทำออกไปก็ตอบโจทย์แฟนคลับเป็นอย่างดี ทำให้กระแสของเสียงอิสานกลับมา มีงานจ้างตลอดทั้งปี 

หมอลำ
หน่อย สุชาติ อินทร์พรหม ผู้บริหารวงอีสานนครศิลป์

“หมอลำ New generation” คือนิยามของวง ‘อีสานนครศิลป์’ ความเป็นมิติใหม่ คือจุดแข็งที่ทำให้เกิดอีสานนครศิลป์ ไร้กรอบ ทุกวงที่โด่งดังมีรากเหง้ามาตั้งแต่สมัยก่อน มีลายเส้นที่ชัดเจนของเขา แต่ทว่าลายเส้นนี้ไม่มีความแปลกใหม่เหมือนอีสานนครศิลป์ หน่อยร่วมกับเพื่อนสนิท ที่มีเป้าหมายเดียวกันคือ ทั้งคู่มีธุรกิจหลักอยู่แล้ว แต่มองเห็นว่าหมอลำ มีข้อสำคัญคือเป็นอาชีพที่สร้างคน สร้างงานจริงๆ การสร้างวงอีสานนครศิลป์ขึ้นมา โดยที่บุคคลากรในวงดูแลกันเองเพื่อให้ได้มาซึ่งรายได้เลี้ยงปากเลี้ยงท้องพวกเขา เป้าหมายของวงอีสานนครศิลป์ คือสร้างอาชีพและส่งต่อความสุขให้แฟนคลับ 

ก่อนโควิด – 19 เม็ดเงินการจ้างหมอลำมากกว่า 6,500 ล้านบาท แต่ช่วงนั้น ยังไม่มีกระแสเท่าช่วงนี้ด้วยซ้ำ การจ้างงานมีมากถึง 3 หมื่นกว่าคน  ไม่ว่าจะเป็นในระบบหรือนอกระบบ สิ่งนี้ทำให้เห็นว่า ถ้าเราตั้งใจทำวงขึ้นมา อย่างน้อยคนเกือบ 200 ชีวิต 200 ครอบครัว มีงาน มีอาชีพ แดนเซอร์ที่มาอยู่ในวง ส่วนใหญ่ด้อยการศึกษา ขาดโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา ส่วนใหญ่อาจเป็นเพราะเป็น LGBTQAI+ ด้วยสังคมของต่างจังหวัด การมองเห็นโอกาสหรือถูกส่งเสริมก็อาจจะน้อยกว่า อีกส่วนเป็นเด็กที่มาจากครอบครัวยากจน

ข้อแตกต่างของวงตนนั้น คือ การทำงานเสร็จแล้วจ่ายค่าแรงทันที สมาชิกร่วม 200 ชีวิตในตำแหน่งต่างๆ มีที่พักฟรี ประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุให้

เริ่มฤดูกาลทำโชว์ใหม่ในหน้าฝน

หน่อยกล่าวว่า ทางวงอีสานนครศิลป์ เปิดแสดงช่วงเดือนตุลาคมถึงปลายมิถุนายน เพราะการออกงานก็มีรายได้กันทุกวัน พอเข้าสู่ช่วงหน้าฝน 3 เดือน (กรกฎาคม – กันยายน) เป็นปกติของวงหมอลำที่ต้องเข้าบ้านพัก เพื่อซ้อมคิว เพลงใหม่ สคริปต์ใหม่ การทำโชว์ใหม่ที่จะต้องทำการแสดงในฤดูกาลใหม่ 

ในช่วงหน้าฝน คนงานที่เป็นคอนวอยก็จะกลับบ้านไปทำนา แดนเซอร์อยู่บ้านพักเพื่อซ้อมเต้น ศิลปินมีการรับงานอื่น เช่น งานในผับ งานโชว์ตัว อะไรต่างๆ ในช่วงหน้าฝนจึงเป็นเหมือนการได้ซ้อมทำการแสดงใหม่ๆ ให้มีเวลาได้สร้างสรรค์ผลงานให้ผู้ชมในแบบใหม่ๆ 

“3 เดือนในระหว่างหน้าฝน ถือเป็นระยะเวลาที่เพียงพอต่อการซ้อม ท่องจำบท และทำโชว์ คนที่กลับไปทำนา แม้บางคนอาจจะไม่ได้กลับมาสานงานต่อ แต่เขาก็จะบอกต่อให้คนอื่นๆ มาทำงานที่คณะ แต่ในกรณีจะเกิดขึ้นเฉพาะกับทีมที่ใช้แรงงาน แต่ในทีมอย่างแม่ครัว คอสตูมหรืออื่นๆ ทางวงให้งานตลอดทั้งปีอยู่แล้ว โดยใน 1 ปีมีงานจะมีงานแสดงโชว์อยู่ประมาณ 200 งานเป็นอย่างต่ำ หากเป็นเดือน ก็มีงาน 25 วันต่อเดือน”  

กระแสความนิยมหมอลำและเด็กรุ่นใหม่ 

ถ้าจากประสบการณ์ที่ได้ไปคลุกคลีกับหมอลำ ให้คำนิยามของหมอลำว่า ‘เป็นเคลื่นใต้น้ำ’ หมอลำอยู่กับคนอีสานอยู่แล้ว แต่ช่วงที่ผ่านมา มันมีบิ๊กเมาน์เท่น กระแสจากโควิด กระแสดังขึ้นมาเชื่อมกับคนที่ไม่เคยดูหมอลำอย่างตัวเราเองหรือคนภาคอื่นๆ เพิ่มขึ้นได้เยอะ และโตขึ้น จริงๆ หมอลำอยู่ในสายเลือดของคนอีสาน ไม่ได้หายไปไหนและเยอะขึ้นกว่าเดิมมากๆ ล่าสุดผมได้มีโอกาสไปทำรายการหมอลำไอดอลกับทางเวิร์คพอยท์ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ มีแต่วัยรุ่นที่มาสมัคร ทำให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่สนใจหมอลำมากขึ้น หน่อยกล่าว

อยากให้รัฐสนับสนุนอย่างไร

หน่อยกล่าวว่า หมอลำเป็น soft power ให้กับประเทศได้แน่นอน  สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นที่สุด คือ หมอลำเฟสติวัล เหมือนอย่างงานเทศกาลดนตรีบิ๊กเมาน์เท่น  สมมุติกรุงเทพฯ จัดเทศกาลหมอลำขึ้นมา 3 วัน 3 คืน โดยเอาหมอลำทุกวงมาแสดง หมอลำจะเล่นในช่วงประมาณ 2 ทุ่ม แต่เวลาก่อนหน้านั้น ให้จัดกิจกรรม มีสินค้า อาหารอีสาน เสื้อผ้า ร้านค้าเปิดบูธขาย มีขบวนแห่เทียน ฟ้อนรำ ผู้ฟังหรือแฟนหมอลำส่วนใหญ่เป็น LGBTQAI+ ดังนั้น ยิ่งง่ายเข้าไปใหญ่ เพราะ soft power ของประเทศไทยที่ชัดเจนที่สุดคือ LGBTQAI+  เพราะเราเป็นประเทศที่เปิดกว้างด้านนี้ที่สุด 

“บวกกับความเป็นตนตรีที่ไม่มีพรมแดน ไม่แบ่งเพศ ชนชั้น ศาสนา หรือแม้แต่ภาษา หมอลำจะเป็น soft power ที่สามารถส่งออกไปสู่สายตาชาวโลกได้ง่ายมาก  มีหมอลำเฟสติวัล มีคนต่างชาติเข้ามาชม ถ้าเป็นไปได้ อยากให้ทางภาครัฐสนใจและโฟกัสตรงนี้ให้มากขึ้นอย่างจริงจัง ถ้ามันเกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้นจริงๆ แน่นอนหมอลำสามารถไปต่อในระดับโลกได้ เพราะอย่างน้อยคนไทยด้วยกันเองก็ดูอยู่แล้ว” หน่อยกล่าวในที่สุด

ขอขอบคุณ

หมอลำอีสานออนซอนศิลป์

บ้านหมอลำรัตนศิลป์

บ้านหมอลำอีสานนครศิลป์