“แปลกที่พูดถึงเรื่องนี้ทีไร ผมก็ร้องไห้ออกมาทุกครั้ง” ชุมพล ทุมไมย ในวัย 74 ปี สะอื้นไห้เมื่อถูกถามถึง ชุมพร ทุมไมย น้องชายที่เป็นหนึ่งในเหยื่อที่ถูกแขวนคอบน ‘ประตูแดง’ ที่จังหวัดนครปฐมพร้อมกับ ‘วิชัย เกษศรีพงศ์ษา’ เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2519 อันเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่เหตุการณ์ล้อมสังหารหมู่นักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519

ชุมพร ทุมไมย เกิดที่บ้านผักแว่น ตำบลยางขี้นก อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ชุมพรมีพี่น้องรวมตนด้วยทั้งหมด 9 คน เป็นคนที่มีลักษณะนิสัยสุขุม และเป็นที่รักของญาติพี่น้อง เป็นคนที่มีน้ำใจเสียสละและให้ความสำคัญกับครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นของกินของใช้ เงินทอง เข้าจะมอบให้กับพ่อแม่และพี่น้องหมด

ชุมพรจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนบ้านผักแว่น จากนั้นไปเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาในอำเภอเขื่องใน และไปเรียนต่อในวิทยาลัยเทคนิคอุบลราชธานี และหลังจากจบจากวิทยาลัยเทคนิคอุบลราชธานี ชุมพรได้เดินทางเข้าไปศึกษาต่อในวิทยาลัยเทคนิคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดนครราชสีมา โดยศึกษาในแผนกไฟฟ้า

ลุงชุมพลเล่าว่า ปกติน้องชายมักจะไม่พูดคุยเรื่องการเมืองกับญาติพี่น้อง แต่เขาสังเกตเห็นว่าน้องชายนั้นเป็นคนมีความคิดก้าวหน้า และชอบอ่านหนังสือเกี่ยวกับการเมือง ไม่ว่าจะเป็นหนังสือเกี่ยวกับเช เกบารา หรือหนังสือของจิตร ภูมิศักดิ์

จากคำบอกเล่า ชุมพรเป็นคนที่มุ่งมั่น อยากเห็นความเปลี่ยนแปลง อยากเห็นความเป็นธรรม อยากเห็นสิ่งดีๆ เกิดขึ้น เขาทำกิจกรรมกับสถาบันที่เรียน ตั้งแต่สมัยเรียน ซึ่งเทคนิคโคราชตอนนั้น เป็นสถาบันการศึกษาที่เคลื่อนไหวในห้วงเวลานั้น

ชุมพรมีพื่อนรักชื่อ ‘วิชัย เกษศรีพงศ์ษา’ เป็นคนอำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ ได้เข้าทำงานเป็นช่างของการไฟฟ้าจังหวัดนครปฐม และจากเหตุการณ์ที่ถนอม กิตติขจรจะเดินทางกลับมาประเทศไทย ทำให้เกิดกระแสต่อต้านจากมวลชนอย่างมาก โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่และนักศึกษาในยุคนั้น

ชุมพรและวิชัย ออกไปติดโปสเตอร์ขับไล่ถนอมที่พระปฐมเจดีย์ และถูกตำรวจจับกุมตัวในวันที่ 23 กันยายน 2519 จากนั้นก็ถูกพบว่าเสียชีวิตในสภาพถูกแขวนคอบนประตูแดง ซึ่งเป็นประตูรั้วบ้านที่ไม่มีใครอยู่ของนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ สภาพศพมีรอยฟกช้ำตามร่างกาย

และถัดมาวันที่ 24 กันยายน 2519 ชุมพล ทุมไมย ได้กล่าวว่าการแขวนคอนั้นมีการล้างทำความสะอาดบริเวณรอบๆ อย่างดีก่อนนำร่างไร้วิญญาณของทั้งสองมาแขวนคอ ชาวบ้านในบริเวณนั้นกล่าวว่าผู้ลงมือก็คือตำรวจที่จับกุมทั้งสองคนไป และการเสียชีวิตของทั้งคู่นี่เอง ที่เป็นจุดเริ่มต้นที่ไปสู่ชนวนของเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

“ผมยังเก็บหนังสือพิมพ์ที่มีข่าวของน้องชายไว้ทุกฉบับ พร้อมทั้งโชว์รูปของน้องชายให้ดู เสียดายที่ตอนนั้นผมเองไม่ได้สนใจเรื่องการเมืองมากนัก หลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลามีข่าวว่าตำรวจถูกจับ 5 – 6 นาย แต่ก็ไม่มีผลอะไร” ชุมพลบอกว่าอยากให้มีการรื้อคดีเหมือนกัน แต่ตอนนี้คนที่ฆ่าน้องชายก็คงตายกันเกือบหมดแล้ว

บนเวทีเสวนา เรื่อง ‘คนอุบลใน 6 ตุลา’เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2566 ที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เมื่อถูกถามถึงความทรงจำเกี่ยวกับแม่ตอนที่รู้ข่าวว่าชุมพรถูกแขวนคอ ชุมพลนิ่งเงียบแล้วร้องไห้น้ำตาไหลพรากแทนคำพูด

คนอุบล

รูปภาพของ ชุมพร ทุมไมย