“พวกเขามองว่าพวกเราเป็นคอมมิวนิสต์ที่ต้องกำจัด” แววตาเศร้าๆ ค่อยๆ ระบายรอยยิ้มออกมาให้เห็น แม้จะผ่านเหตุการณ์แห่งความขมขื่นและเจ็บปวดมาเนิ่นนานเกือบ 50 ปี แต่ความทรงจำของ ‘แป๋ว – อรพรรณ หลาวทอง’ ในวัย 69 ปี ที่เปล่งออกมาเป็นถ้อยคำยังคงชัดเจน

เหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519  มิใช่แค่ประประชาชนไทยสูญเสียเสรีภาพ เธอเองก็สูญเสียน้องชายผู้กล้าหาญอย่าง ‘เต๋า – วสันต์ บุญรักษ์’ ไปด้วย 

หนังสือรำลึกเหตุการณ์ต่างๆ ยังถูกจัดเรียงสลับไปกับหนังสือทั่วไปในชั้นหนังสือ รูปภาพขาวดำแกมภาพสีใหม่ตั้งให้เห็นเมื่อพบผ่าน บางเหตุการณ์อาจถูกเล่าตกหล่นหายไประหว่างทางเนื่องด้วยข้อจำกัดของกาลเวลา บางเหตุการณ์ตอนนั้นจวบจนปัจจุบัน กลับเหมือนภาพฉายซ้ำให้ผู้หญิงใน ‘6 ตุลา’ คนนี้หวนนึกถึง

6 ตุลา
แป๋ว – อรพรรณ หลาวทอง

อุดมการณ์คืออะไร ไม่รู้ แต่ว่า…

“ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอุดมการณ์มันคืออะไร ถ้าพูดถึงแนวคิดเรื่องการเมืองมันใหญ่ไปมากสำหรับเรา” เด็กรุ่นใหม่ที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองมักถูกมองว่าเพราะมีอุดมการณ์เชื่อมั่นในประชาธิปไตยจึงออกมา แต่ครั้งที่เธอยังเป็นนักศึกษา แป๋วบอกว่า เธอแทบไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันคือไร 

เธอพยายามนึกอยู่นานถึงได้รู้ว่า สาเหตุใดที่ทำให้เธอกล้าออกไปชุมนุม เพราะพื้นฐานของครอบครัวเป็นสิ่งที่ทำให้สนใจการเมือง พ่อแม่เป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย พ่อทำงานสาธารณสุข แม่ทำงานที่โรงพยาบาล “พ่อเป็นคนซื่อตรงมาก ทำงานด้วยความมุ่งมั่น ที่สำคัญพ่อเป็นคนที่รักความยุติธรรม ในยุคจีไอ ยุคทหารอินโดจีน ตอนนั้นพ่อจะไปช่วยผู้หญิงที่คนสมัยนั้นเรียกว่าเมียเช่า ตรวจสุขภาพให้ฟรี สิ่งเหล่านี้ล่อหลอม ซึมซับ ทำให้ลูกๆ รักความเป็นธรรม ถึงได้นั่งทบทวนว่าเมื่อเรามีโอกาสก็อยากจะทำอะไรสักอย่าง”

เธอเล่าว่า ก่อนที่จะมาสนใจการเมือง ตอนนั้น มี 2 สถานการณ์ คือ สถานการณ์ในประเทศและสถานการณ์โลก

หนึ่ง – สถานการณ์ในประเทศ นับตั้งแต่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, จอมพลถนอม กิตติขจร, จอมพลประภาส จารุเสถียร, พันเอกณรงค์ กิตติขจร เข้ามามีบทบาทสำคัญ บ้านเมืองมืดมิดไร้ซึ่งประชาธิปไตย ไม่มีการเลือกตั้ง ทำให้เกิดความกดดัน พอมีคนออกมาเคลื่อนไหวก็ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 17 

“ในตอนนั้น (2516) ป้าเข้าไปเรียนที่กรุงเทพฯ ปีแรกๆ ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เริ่มมีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้น แต่ที่สำคัญคือ เหตุการณ์เครื่องบินของชนชั้นปกครองไปล่าสัตว์ที่ทุ่งใหญ่นเรศวรตก จากนั้นมีการชุมนุมเรียกร้องรัฐธรรมนูญ และมีการจับแกนนำนักศึกษา 13 คน ที่สมัยนั้นเรียกว่ากบฏ เหตุการณ์ปะทุขึ้นมาเรื่อยๆ มีการปราบปราม เข่นฆ่าผู้เห็นต่างจำนวนมาก”

“จึงได้เริ่มเข้าร่วมชุมนุมประท้วง เริ่มตั้งแต่ต้นเดือนตุลาฯ ไปกับเพื่อนๆ เดินจากรามคำแหงไปเพชรบุรีตัดใหม่ จากนั้นก็นั่งรถเมล์มาจากสนามหลวง ชุมนุมจนถึง 13 ตุลา แต่ในตอนนั้นที่บ้านติดต่อมาให้กลับบ้าน ก็ต้องกลับ จากนั้นก็เกิดเหตุการณ์ปราบปราม ไล่เผด็จการไปได้ในวันที่ 14 ตุลา หลังจากนั้น 3 – 4 วัน ก็กลับไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ และเริ่มศึกษาแนวคิดอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างจริงจัง ตอนนั้นด้วยข้อกำจัดหลายอย่างก่อน 14 ตุลาฯ หนังสือที่เกี่ยวกับการเมืองหายากมาก”

“เราก็อาศัยเรียนรู้จากการชุมนุม ฟังแกนนำปราศรัย เขาพาทำอะไรก็ทำ แต่หลัง 14 ตุลาที่ไล่เผด็จการออกไปได้ หนังสือที่เกี่ยวกับแนวคิดทางการเมืองเริ่มมีมากขึ้น หนังสือก้าวหน้าทั้งหลาย อย่างหนังสือลัทธิมากซ์, สรรนิพนธ์ของเหมาเจ๋อตง, วรรณกรรมของจิตร ภูมิศักดิ์, กุหลาบสายประดิษฐ์, หนังสือของต่างประเทศจะเป็นของเช เกบารา นักปฎิวัติสากลที่เรายกเป็นไอดอล ซึ่งตอนนั้นเราอ่านและศึกษาหนังสือเหล่านี้ และมีการรวมกลุ่มจัดตั้งกลุ่มกันขึ้นม เราอยู่กลุ่มนักศึกษาอีสาน” 

สอง – สถานการณ์ภายนอกประเทศ ช่วงนั้นกระแสสังคมนิยมสูงมาก เวียดนาม กัมพูชา ลาว ได้รับการปลดปล่อย ตอนนั้นอเมริกาเข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศไทย อุบลราชธานีก็เป็นหนึ่งในนั้น ทุก 8 โมงเช้า เครื่องบิน B52 จะขึ้นบินไปทิ้งระเบิดที่เวียดนาม ลาว 

“ช่วงนั้นกระแสสังคมนิยมสูง จึงไม่เห็นด้วยที่อมริกาเข้ามาตั้งฐานทัพโดยชูธงว่าเป็นประชาธิปไตย แต่ขณะเดียวกันก็แอบสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการ เรามองว่าแบบนี้ไม่ใช่ประชาธิปไตย ไม่ใช่ทางออกของประเทศ”

“ทุกอย่างมันหล่อหลอมให้เรามีแนวคิด อุดมการณ์ เราขอย้ำว่าอุดมการณ์เหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ อย่างเราเองคือ เริ่มจากการที่ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับการเมืองเลย แต่เป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่เอาใจสู้และรักความยุติธรรม”

6 ตุลา ในความทรงจำของพี่สาว

“เสียงประกาศของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูลยังคงก้องดังในหัว ให้ทุกคนอยู่ในความสงบและขอร้องตำรวจอย่ายิงเข้ามา เพราะเราไม่มีอาวุธ” แป๋วเป็นหนึ่งในผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ในธรรมศาสตร์วันนั้น (6 ตุลาคม 2519) ในวันที่ระเบิดลูกแรกถูกทิ้งลงที่สนามฟุตบอลใกล้ๆ กับตึกอธิการบดี ผู้คนแตกกระเจิงไปคนละทิศละทาง การหลบหลีกหนีเอาชีวิตรอดก็ลำบาก เนื่องจากผู้คนเต็มสนาม แม้จะประกาศว่า ‘เราไม่มีอาวุธ อย่ายิงเข้ามา’ พวกเขากลับโหมกระหน่ำยิงมาที่เรา”

“รัฐบาลก็ประกาศทางสถานีวิทยุยานเกราะว่า ข้างในนั้นคือ คอมมิวนิสต์มีอาวุธ ซ่องสุมอาวุธ มีกลุ่มกระทิงแดงและมีกลุ่มลูกเสือชาวบ้าน กลุ่มคนเหล่านี้จะเป็นมือเป็นตีนให้พวกเผด็จการ เรายังจำหัวหน้ากระทิงแดงได้เลย ที่เคยติดคุกแล้วออกมา ชั่วตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษา เป็นนักเลงมีอิทธิพล คุมตลาดอยู่เชียงใหม่แล้วถูกจับ พอระเบิดลูกแรกลงเราก็มาหลบอยู่ตึกคณะสังคมศาสตร์ แล้วก็มีคนบอกว่าให้ลงไปทางน้ำท่าพระจันทร์ เพราะตรงนั้นจะใกล้ท่าน้ำ ที่จริงตรงนั้นก็มีรั้ว มีสนามเทนนิส แต่ไม่รู้ว่าปัจจุบันยังมีอยู่ไหม จากคณะสังคมศาสตร์ มาตึกอธิการบดีพวกเราก็วิ่งข้ามหน้าต่างกันมาวิ่งลงแม่น้ำเจ้าพระยาที่อยู่ใกล้กับลานปรีดี พนมยงค์ จากนั้นพากันปีนรั้ว มีเพื่อนสนิทอีกคนจูงมือกันไป ตอนนั้นคนเต็มท่าน้ำ พากันจับแขนกันลงไปท่าพระจันทร์ เพื่อที่จะขึ้นไปอีกฝั่ง แต่ขึ้นไปก็ไม่รอดเพราะเขามาดักจับไว้แล้ว”

“ถูกจับอยู่ที่ท่าน้ำ ในขณะที่ด้านในเสียงปืนระดมยิงกันแบบอุตลุด แต่ด้านนอกทำอะไรไม่ได้  อย่างมากกลุ่มกระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้านมารุมด่า อีคอมมิวนิสต์ จากนั้นก็พาไปขังไว้ที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน อยู่ดอนเมือง คุกบางเขน ซึ่งเป็นที่เดียวกันกับที่เอาแกนนำยุคปัจจุบันไปขัง”

“ตอนนั่งรถไป พอนึกย้อนกลับน่ากลัวนะ แต่สมัยนั้นความเป็นหนุ่มเป็นสาว เราไม่มีความกลัวเลย ตายคืออะไรไม่รู้ เขาก็ไล่ขึ้นรถให้เอามือจับไว้อยู่ที่คอหมอบลงกับพื้น เพราะพวกกระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้านเขาปาก้อนหิน ปาของใส่ ตอนนั้นเขาระดมด่ากันเลยว่า พวกนักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์ มีอาวุธ ต่อต้านรัฐบาล ล้มล้างสถาบันอีก” 

“ทั้งยิงปืนใส่ ทั้งระเบิดใส่ เจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยถูกกรอกหูว่า ‘นักศึกษามีอาวุธ หากเราไม่ยิงเขา เขาก็จะยิงเรา’ ทั้งที่ในตอนนั้นนักศึกษาไม่มีอาวุธเลย” 

ตอนที่ลงรถก็ไม่ได้ลงที่สถานีตำรวจ แต่ให้เราเดินไป ขณะที่ก้าวเท้าเดินก็มีคนมายืนรอด่า ทั้งเจ็บปวดและเจ็บใจ

เธอและเพื่อนนักศึกษาจำนวนมากถูกขังอยู่ 3 คืน ผู้หญิงถูกขังไว้ที่ชั้น 2 ผู้ชายถูกขังไว้ที่ชั้น 3 “หากลุกออกไปจะไม่มีที่นอนเลย เพราะเบียดกันมาก บรรยากาศห้องขังไม่ได้น่ากลัว เราต่างร้องเพลง ‘แสงดาวแห่งศรัทธา’ ของ ‘จิตร ภูมิศักดิ์’ ตอบโต้กัน ให้กำลังใจกัน เพื่อนที่ไม่ได้ถูกจับก็มาเยี่ยม ซื้อของมาฝาก อยู่ในนั้นใช้วิธีเขียนจดหมายโยนลงมาทางหน้าต่าง ให้เบอร์โทรศัพท์ทางบ้านไว้ ให้เพื่อนช่วยติดต่อ เพราะเรากลัวพ่อแม่จะอ่านเจอชื่อเราในหนังสือพิมพ์ พ่อแม่รู้ก็มาประกันตัว”

ตามหาน้องชาย

ตอนนั้นแป๋วพยายามมองหา ‘เต๋า’ น้องชายที่แยกกันไปตอนที่ตำรวจกระหน่ำยิง ด้วยความหวังว่าจะเห็นน้องในคุกที่ตนถูกขัง จนสุดท้ายพ่อแม่ไปตามหาถึงได้พบที่โรงพยาบาล และเอาแค่กระดูกน้องชายกลับมาที่บ้านเกิดอุบลราชธานี

“เต๋าเข้าเรียนมหาลัยตอนเราอยู่ปี 2 ช่วงที่เต๋าเข้าไปเรียน เป็นช่วงที่มีหนังสือเกี่ยวกับการเมืองให้อ่านมากขึ้น มีกลุ่ม มีชุมนุมจากองค์กรต่างๆ ค่อนข้างเปิดเสรี เต๋าก็เข้าไปรวมกลุ่มกับกลุ่มนักศึกษาอีสาน ช่วงนั้นมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมตัวกัน เต๋าก็ไปออกค่ายของสหพันธ์นักศึกษาอีสานที่ร้อยเอ็ด ต่างคนต่างอยู่กลุ่มของตัวเอง น้องก็อยู่อีกกลุ่ม พี่ก็อยู่อีกกลุ่ม เราเจอหน้ากันก็พูดคุยกันตามประสาพี่น้อง”

“คืนวันที่ 5 ตุลาคมก็เจอกันอยู่ น้องเป็นการ์ดรักษาความปลอดภัยอยู่ที่หน้าธรรมศาสตร์ เราก็เป็นผู้ร่วมชุมนุม เจอกับน้องประมาณ 3 – 4 ทุ่ม เขาก็บอกว่าไม่ต้องเป็นห่วงนะ ดูแลตัวเองด้วย ไม่ต้องเป็นห่วงเขา ตอนนั้นเราก็ไม่รู้หรอกว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพราะว่าตอนนั้นก็มีการจัดตั้งกลุ่ม แต่เราไม่มีการจัดตั้งกลุ่มอะไร ไม่ค่อยรู้ข้อมูลทางลึก นั่นคือการเจอกันกับน้องชายเป็นครั้งสุดท้าย”

หลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลาผ่านไป มีเจ้าหน้าที่มายืนเฝ้าอยู่ที่หน้าบ้านของเธอ โชคดีหน่อยที่มีพ่อเป็นข้าราชการ พ่อไปเจรจาไม่นานเจ้าหน้าที่ก็ไป 

“การสูญเสียน้องชายกลายเป็นบาดแผล วันนั้นได้แต่คิดในใจว่าจะล้างแค้น พ่อแม่ยืนข้างกาย มีศพน้องชายนอนตรงหน้า พ่อแม่ไม่พูดถึง เราไม่กล้าถาม รูปของน้องชายไม่สามารถติดไว้ที่บ้านได้ ต้องเก็บเอาไว้ แต่ทำบุญให้น้องชายและวีรชนคนอื่นที่เสียชีวิตทุกเดือนตุลาคม” 

เข้าป่าจับปืน

คืนวันที่ 24 ธันวาคม 2519 แป๋วตัดสินใจเข้าป่า คืนแรกเดินทางไปกับกลุ่มนักศึกษาธรรมศาสตร์ประมาณ 10 คน เธอเป็นผู้หญิงคนเดียว ต่างคนก็ต่างหนีตาย 

“นั่งรถบัสและไปลงเรือข้ามแม่น้ำอยู่ที่ จ.หนองคาย พายเรือข้ามไปได้ครึ่งทางยังไม่ถึงลาวด้วยซ้ำ กองอาสารักษาดินแดน (อส.) เมื่อเห็นกลุ่มนักศีกษา เขาก็ยิงปืนมา มีเพื่อนคนหนึ่งรีบลงจากเรือและลากเข้าฝั่ง” 

“พอเข้าป่าไปก็พากันหลงป่าอยู่พักใหญ่ จากนั้นพี่น้องชาวลาวก็มารับไป อยู่ที่ลาวเกือบ 3 เดือน ที่หน่วย A30 ติดชายแดนลาว – จีน เรียนการเมืองการทหารที่นั่น พอฝึกเสร็จก็ได้มาอยู่แนวหน้า ช่วงนั้นค่อนข้างลำบาก เพราะไม่เคยถือปืนหนักขนาดนี้มาก่อน และเคยปะทะกับแนวหน้าฝั่งไทยอยู่ครั้งหนึ่ง”

ทุกคนที่เป็นเยาวชนถูกเรียกให้ไปอยู่ที่เขตจรยุทธ์ แป๋วก็เป็นหนึ่งในนั้นอยู่ในพื้นที่ที่มีการปะทะ 

ตอนนั้นเขาให้เฝ้าดูแลฐานชั่วคราวเนื่องจากเป็นผู้หญิง มีพวกเรา 3 คนและคนแก่ 2 คน เจ้าหน้าที่มาตามลำธาร พบแกนลอนใส่น้ำ ต่อมารู้ว่าเป็นพวกเรา ก็กระหน่ำยิงเข้ามา แป๋วทิ้งตัวล้มลงที่ขอนไม้ใหญ่ จากนั้นหลับหูหลับตายิงตอบโต้ เมื่อฝ่ายนั้นรู้ว่าเรามีอาวุธ ก็ถอยเช่นกัน

“ชีวิตลำบาก อาหารที่กินตอนนั้นเป็นข้าวเหนียวผสมข้าวโพด กินแต่แกงหน่อไม้และลิงค่าง ถือว่าเป็นประสบการณ์ชีวิตอย่างหนึ่งที่ทำให้อยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้ บทเรียนบางสิ่งบางอย่างก็ทำให้ได้คิดว่า เพื่อนบางคน ทำไมถึงเปลี่ยนไปได้ขนาดนี้ ไม่เคยคิดถึงตอนที่ต่อสู้ เคยลำบากมาก่อน”

ที่ผ่านมาจะไม่สูญเปล่า ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง

“นอกจากเราสูญเสียน้องชาย สิ่งหนึ่งที่ทำให้เรามีชีวิตมาจนถึงทุกวันนี้ เพราะเราคิดว่าเราไม่ได้สูญเสียแบบเปล่าประโยชน์” แป๋วย้ำ “บางทีแต่ละยุคแต่ละสมัยก็จะมีการเคลื่อนไหวที่เป็นไดนามิกของมันอยู่แล้ว ไม่ว่าคนจะเยอะหรือน้อย สำหรับเรามองว่ามันเกิดความเปลี่ยนแปลง สิ่งนี้ทำให้เราจันโล่งใจขึ้นมา พอจะอยู่ได้ อย่างกรณีของสามีเรา ก็อ่านธรรมะ อ่านหนังสือสุขภาพ อย่างคนข้างบ้านหรือคนรอบตัวแถวนี้ไม่มีใครรู้นะ ช่วงที่เราเข้าป่าไป เพราะพ่อแม่ปล่อยข่าวว่าเราไปเรียนเมืองนอก พอกลับออกมาก็ไปเรียนหนังสือต่อ ช่วงที่เราฝึกสอนตอนที่เรียนคณะศึกษาศาสตร์อยู่รามคำแหง หนีไปตอนฝึกสอน และก็กลับมารายงานตัวอยู่ที่มหาวิทยาลัย จากนั้นก็เรียนต่อจนจบ ช่วงนั้นอยู่ในยุคของพลเอกเปรม ตินสูลานนท์ ที่ออกนโยบาย 66/23  นิรโทษกรรมคนที่เข้าป่าไม่ผิด”

ในตอนนั้น ผู้คนมักตั้งคำถามกับเธอว่า ‘เป็นผู้หญิงไม่รู้ว่าจะเข้าป่าไปทำไม?’ ความเป็นเพศมีบทบาทอย่างมากในการชุมนุมสมัยนั้น ก็มีการเรียกร้องเรื่องเพศ แต่ไม่ได้เปิดเผยมาก โดยเฉพาะแกนนำที่มีความเป็นวีรชนเอกชน (หมายถึง ทัศนคติหรือระบบความคิดที่มองว่าเมื่อแกนนำพูดหรือทำอะไร) ผู้อื่นหรือคนใต้บัญชาต้องเชื่อและทำตาม แป๋วมองจากวันนี้ว่า เป็นอันตรายอย่างมากต่อการเคลื่อนไหวหรือการปฏิวัติ ในตอนนั้นเธอไม่เห็นด้วยกับความคิดของเหมาเจ๋อตงที่ว่า ‘ถ้าปลดปล่อยทางชนชั้นได้ ผู้หญิงก็ได้รับการปลดปล่อย’ แต่ไม่เลย ดูลาว เวียดนามหรือประเทศยุโรป ผู้หญิงยังเป็นทาสในเรือนเบี้ย ตอนที่หนีข้าป่าไปก็ยังมีการแบ่งชนชั้น ตอนที่ออกมาจากป่า แอบคิดว่าดีเหมือนกันประเทศไทยยังไม่ได้รับการปลดปล่อย 

“อ่านหนังสือของน้ำป่าบันทึกการต่อสู้ในเขตป่าเทือกเขาบรรทัด (สำนักพิมพ์อ่าน, 2558) ของอาจารย์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ที่เขียนตั้งแต่ออกมาจากป่า แต่เพิ่งตีพิมพ์ มันเป็นบันทึกประจำวันว่าแต่ละวันทำอะไรบ้าง และมันสะท้อนถึงทัศนะทางชนชั้นของชาวนาและนักศึกษาที่ไม่สามารถจะสลัดทัศนะทางชนชั้นได้แม้กระทั่งในกระบวนการการปฎิวัติ”

“เรื่องเดือนตุลาคมกลายเป็นเรื่องที่ไม่ถูกพูดถึงมากนักในยุคปัจจุบัน ถ้าไม่สนิทจริงๆ ก็ไม่ได้มีการพูดคุยกัน คือแทบจะไม่มีใครพูดถึงเหตุการณ์เดือนตุลาเลย เพราะคนที่นี้ส่วนมากถูกบีบไม่ให้สนใจเรื่องการเมือง แต่การเมืองมันเป็นเรื่องใกล้ตัวของเรา ชาวบ้านไม่ได้โง่ เราต้องเรียนรู้ปัญหาจากชาวบ้าน เรียนรู้ความคิดเขา เขาต้องการอะไร ในที่สุดเขาก็ต้องการชีวิตที่ดีและต้องการการเปลี่ยนแปลงเหมือนกัน อาจารย์ถนอม ชาภักดี ที่รื้อเรื่องกบฏผีบุญ สิ่งนี้ก็เป็นจุดหนึ่งที่ต้องเผยแพร่ให้คนอีสานอย่างเราได้รู้ เพราะว่าคนอีสานอย่างเราถูกทำให้ไม่ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ในพื้นที่ของตัวเอง”

จากพี่สาวถึงน้องชาย และคนรุ่นใหม่

“การต่อสู้ต้องมีการเสียสละมันเป็นเรื่องธรรมดา ถึงแม้มันจะไม่ธรรมดาต่อครอบครัวผู้ถูกกระทำ” แป๋วนึกอยู่นานเมื่อถูกถามว่าความรู้สึกที่มีต่อน้องชายวันนั้นจนถึงวันนี้เป็นอย่างไร ริมฝีปากค่อยๆ ยิ้มออกมา แววตาเต็มไปด้วยความรักความอบอุ่นเมื่อพูดถึงน้องชายว่า “มันเป็นความรู้สึกที่กว้างมาก ภูมิใจที่น้องชายมองเห็นสังคม มองเห็นความเป็นธรรม ถึงแม้จะเสียใจก็ตาม แต่ว่าช่วงหลังได้มีโอกาสศึกษาอะไรๆ เยอะขึ้น มีความรู้สึกว่าการต่อสู้กับการเสียสละ มันเป็นคู่ความขัดแย้ง เป็นเอกภาพ การต่อสู้ต้องมีการเสียสละ มันเป็นเรื่องธรรมดา ถึงแม้มันจะไม่ธรรมดาต่อครอบครัวผู้ถูกกระทำ ช่วงหลังๆ เห็นนักศึกษาสมัยนี้ออกมาเรียกร้อง ก็ได้แต่ฝากความหวังไว้กับคนรุ่นใหม่ เพราะนาฬิกายังไงก็ไม่สามารถหมุนเข็มกลับได้”

“อนาคตเป็นของคนรุ่นใหม่แล้ว พอนักศึกษารุ่นใหม่เคลื่อนไหวเรามีกำลังใจมากขึ้น  มีความหวังกับสังคม แม้จะไม่สามารถพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินได้ แต่ก็ถือว่าเปลี่ยนแปลงที่มาก มากจนถึงขั้นว่า พูดถึงเรื่องสถาบัน สมัยเราคือพูดไม่ได้เลย สมัยก่อนคือไปดูหนังไม่ยืนไม่ได้ เดียวนี้คือทุกคนนั่งกัน เราไปดูแมนสรวงมากับหลานและพี่ คุยกันว่าเราจะยืนไหม สำหรับเรามองว่าอุดมการณ์ของคนแต่ละยุคไม่ได้แตกต่างกันเลย เพียงแต่ว่าเราเกิดคนละยุค คนละสมัย เพราะฉะนั้นวิธีการแก้ปัญหาเลยแตกต่างกัน ต่อไปในอนาคตการเมืองสำหรับเรา จริงๆ ไม่อยากจะพูดเพราะกลัวหมดกำลังใจ ไม่อยากให้หมดกำลังใจ อยากให้สู้ไปเรื่อยๆ เพราะตอนนี้คือเปิดหน้าสู้กันแล้ว เขามีกลไกลทุกอย่าง เราไม่มีอะไรเลย เรามีแต่ประชาชน เราไม่อยากให้มีการสูญเสียเกิดขึ้นอีก” แป๋วกล่าวทิ้งท้าย