การเมืองไทยหลังการเลือกตั้ง 14 พ.ค.2566

การเมืองไทยในวันนี้ ต้องบันทึกเป็นวาระทางประวัติศาสตร์การเมืองที่ไม่เคยมีมาก่อน กล่าวคือ สังคมกำลังอยู่บนทางแพร่งของการเปลี่ยนผ่านสังคมว่าจะก้าวหน้าไปอยู่ในยุคของการปรับเปลี่ยน (Transformation) ไม่ใช่การปรับปรุง หรือ การพัฒนาอย่างที่คุณเศรษฐา ทวีสิน พูด ปรับเปลี่ยนที่จะนำไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ที่มั่นคงและแข็งแรงขึ้น หรือจะหวนกลับสู่อำนาจนิยมเหมือนเช่นในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ผลการเลือกตั้ง คะแนนเสียงของประชาชน 24 ล้านคนคือคำตอบ นี่คืออาณัติสัญญานของการประชาชนที่แสดงออกโดยสันติวิธีตามวิธีทางประชาธิปไตย

นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ
นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ

ผมใช้คำว่า “ปรับเปลี่ยน” เพราะเรากำลังอยู่ในสังคมที่เหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรม วิกฤตต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมการเมือง ล้วนต้องแก้ไขโดยปรับเปลี่ยนระบบโครงสร้าง นโยบายที่สร้างความเป็นธรรม แล้วเราก็ใช้คำว่า “ปฏิรูป” มาร่วม 20 ปีแล้ว แต่ทุกวันนี้ การปฏิรูปถูกมองว่าซ้ายจัด เป็นศัตรูของชาติ จนกระทั่งต้องถูกไล่ออกไปนอกแผ่นดิน เรื่องตลกร้ายก็คือ ในยุคเหตุการณื 14 ตุลาคม 2516 คนหนุ่มสาวสมัยนั้นมีหัวก้าวหน้า ชูธงการปฏิวัติ ต้องเปลี่ยนแปลงสังคมใหม่ด้วยลัทธิสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ แล้วคนหนุ่มสาวเหล่านี้ ในปัจจุบันก็มาเป็นรัฐบาล มีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี ทำงานบริหารประเทศ คำถามใหญ่ๆก็คือ เราจะก้าวหน้าหรือถอยหลัง อย่าเอาวาทกรรม “สร้างความสมานฉันท์-ก้าวข้ามความขัดแย้ง” มาเป็นเหตุผลแก้ตัว แท้ที่จริงคือการสมยอม แลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันและกัน ในหมู่ชนชั้นนำ

ดังนั้น สังคมไทยได้เรียนรู้จากสถานการณ์ทางแพร่งของการเปลี่ยนผ่านสังคมไทย 2 ประการ กล่าวคือ ประการแรก คือ ผลการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 กลายเป็นแลนด์สไลด์ของพรรคก้าวไกลและเพื่อไทย 24 ล้านเสียง ซึ่งคือเป็นฝ่ายค้านร่วมกันในรัฐบาลระบอบอำนาจนิยมที่ผ่านมาตั้งแต่รัฐบาลรัฐประหาร 2557 โดยพรรคก้าวไกลได้คะแนนมาเป็นที่หนึ่ง เพราะชูธงในเรื่องการปรับเปลี่ยนเชิงนโยบาย ระบบโครงสร้าง เชิงประเด็นการปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปสถาบัน ก.ม.สุราก้าวหน้า หรือแก้ไขระบบนายทุนผูกขาด ในขณะที่พรรคเพื่อไทย ประชาชนก็หวังให้มาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องของประชาชน เพราะมีผลงานมาก่อนในสมัยอดีตนายกทักษิณ พรรคไทยรักไทย นั้น คือสัญญาประชาคมจากประชาชนคนไทย เสียงข้างมากที่ต้องการเปลี่ยนประเทศไทยด้วยสันติวิธีระบบเลือกตั้ง เพื่อส่งสัญญาณให้ฝ่ายอำนาจนิยมได้เห็น แต่หลังจากที่มีความพยายามในการจัดตั้งรัฐบาลดดยพรรคก้าวไกล โดยรวบรวมได้ 8 พรรคการเมือง คะแนนเสียง 315 เสียง สร้างระบอบการทำงานในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่จะทำหน้าที่ ซื่อสัตย์ต่ออำนาจของประชาชน และเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยของประชาชน แก้วิกฤตการเมือง เศรษฐกิจ สังคมโดยการจัดตั้งคณะทำงานถึง 7 คณะ ในการตอบสนองปัญหาของประชาชน เราก็พบว่ามี ขบวนการในการแบ่งแยกและทำลายการเข้าสู่อำนาจของพรรคก้าวไกล ไม่ว่าเป็นการร้องเรียนต่อองค์กรอิสระในประเด็นที่ไร้สาระ ขาดเนื้อหาข้อเท็จจริง เป็นแต่เพียงข้อกล่าวหาให้สังคมเกิดข้อกังขา ไม่เชื่อใจ ปรากฏการณ์ของ สว.250 คน ซึ่งเป็นจุดอัปลักษณ์ หรือจุดด่างพร้อยของรัฐธรรมนูญ  2560 ในการเป็นองค์กรที่เป็นเครื่องมือของฝ่ายทหาร หรืออำนาจนิยมในการขัดขวางรัฐบาลจากเสียงข้างมากของประชาชน ตบท้ายด้วยการส่งลูกของ กกต และ ตามติดด้วยความเห็นของศาลรัฐธรรมนูญให้ คุณ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลยุติการปฏิบัติหน้าที่ การร่วมจัดตั้งของทั้ง 8 พรรคการเมืองในการจัดตั้งรัฐบาลก็ยุติลง จึงเกิดปรากฏการณ์ของการข้ามขั้ว สลับข้าง กับพรรคในระบอบอำนาจนิยม ภายใต้รัฐบาลเพื่อความสมานฉันท์ ขัดแย้งกับคำสัญญาที่ประกาศหาเสียงไว้ เท่ากับทรยศหรือหักหลังประชาชนนั่นเอง

ข้อเรียนรู้ประการที่ 2 ความขัดแย้งปัจจุบันไม่ใช่เรื่องสีเสื้อแล้ว สงครามเสื้อเหลือง-แดง หรือระหว่างสีได้สิ้นสุดไปแล้ว เพราะสีเสื้อเป็นปรากฏการณ์ แต่เนื้อแท้คือการขัดแย้งต่อสู้ทางความคิดระหว่างแนวคิด 2 อย่างคือ ฝ่ายอนุรักษ์จารีต กับฝ่ายเสรีนิยมประชาธิปไตย  คำอธิบายกรณีพรรคเพื่อไทยที่เปลี่ยนท่าทีไปผสมกับพรรคฝ่ายทหารได้ เพราะเนื้อแท้พรรคเพื่อไทย มีส่วนผสมของคน 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือคนที่ทำงานกับคุณทักษิณ มาตลอดตั้งแต่ ธุรกิจมือถือ และเข้าร่วมจัดตั้งพรรคไทยรักไทยโดยถืออุดมการณ์ต้องยึดกุมอำนาจรัฐ กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มประชาชนผู้ได้รับผลประโยชน์จากนโยบายประชานิยม เช่น โครงการ 30 บาท กองทุนหมู่บ้าน เป็นต้น  กลุ่มสุดท้ายคือ กลุ่มอุดมการณ์ประชาธิปไตย ยิ่งสถานการณ์หลังรัฐประหาร 2 ครั้ง 2549และ2557 การต่อสู้กับระบอบอำนาจนิยมเผด็จการต้องวางยุทธศาสตร์-ยุทธิวิธีด้วยระบอบประชาธิปไตย สิทธิ เสรีภาพในทางพลเมือง-การเมือง กรณีการกลับเมืองไทยของอดีตนายกทักษิณ ชินวัตร หลังจากอพยพจากประเทศไป 17 ปี ซึ่งเป็นข้อต่อรองที่จะทำให้กลุ่มอนุรักษ์จารีตและทหารยอมรับ เพราะมองว่าคู่ตรงข้าม/ศัตรูสำคัญ คือ พรรคก้าวไกล ไม่ใช่พรรคเพื่อไทยแล้ว รัฐบาลข้ามขั้วหรือข้ามความขัดแย้ง (สมานฉันท์) จึงเป็นการ “ฮั้ว” ทางการเมืองเพื่อผลประโยชน์ของกันและกัน สัญญาณอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้พรรคเพื่อไทยต้องยอมกลุ่มอนุรักษ์จารีตก็คือช่วงการหาเสียงพรรคเพื่อไทยตั้งความหวังไว้สูงมากว่าพรรคเพื่อไทยต้องทำแลนด์สไลด์ได้คะแนนมากกว่า 300 เสียง ก็กลายเป้นพรรคก้าวไกลแลนด์สไลด์ นั่นแสดงว่าประชาชนได้เข้าใจและทราบซึ้งต่อการแก้ไขสังคมไทย ต้องเลือกหนทางในการแก้ไขปัญหาเชิงนโยบายระบบโครงสร้างของประเทศตามแนวทางสันติ เสรีภาพ การสร้างความเป็นธรรมในระบอบประชาธิปไตย แต่ก็ให้คะแนนอันดับที่ 2 สำหรับพรรคเพื่อไทย เพื่อให้เข้ามาช่วยแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจสังคมไทย

ปรากฏการณ์ 2 ประการนี้ ผมจึงมั่นใจว่าสังคมไทยกำลังยืนอยู่ที่จุดทางแพร่งของการเปลี่ยนแปลงว่าจะเป็นวิกฤตหรือโอกาส ระบอบอนุรักษ์จารีตนิยมหรือประชาธิปไตย หรือความรุนแรงกับความสงบสันติสุขในสังคมไทย

รัฐบาลนายกเศรษฐากับการแก้วิกฤติสังคม

รัฐบาลใหม่ภายใต้คำขวัญ “รัฐบาลสมานฉันท์ สลายขั้ว ก้าวข้ามความขัดแย้ง” คงจะไม่สามารถทำประโยชน์ให้กับประชาชนได้ โอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงเรื่องใหญ่ ๆ ปฏิรูประบบโครง ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมในสังคม การแก้ไขการผูกขาดจากกลุ่มนายทุนผลประโยชน์ ด้วยความที่เป็นรัฐบาลที่ขาดความมั่นคง ความชัดเจนในการทำงาน มีความหลากหลายในทางการเมืองที่ขาดเอกภาพในการทำงานร่วมกัน โดนเฉพาะพรรคที่ต้องเกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของประชาชน เช่น กระทรวงเกษตร กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงยุติธรรม กระทรวงพาณิชย์ หรือแม้แต่กระทรวงกลาโหมก็ตาม ยังไม่เห็นนโยบายที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาความยากจน ปัญหาสิทธิชุมชนของการบริหารจัดการที่ดิน ป่าไม้ลุ่มน้ำทะเล และสินแร่ในการใช้ประโยชน์และบริหารจัดการ ปัญหาภัยพิบัติจากน้ำท่วมน้ำแล้งคุณภาพและประสิทธิภาพของน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค ปัญหาทั้งหมดต้องแก้ไขเชิงนโยบาย  ระบบโครงสร้างการบริหารจัดการโดยรัฐบาลที่มีบุคลากรที่มีความตั้งใจและมุ่งมั่นแต่เรากลับเห็นโครงการผันน้ำทั่วประเทศ ตั้งแต่ โครงการผันน้ำยวมภาคเหนือ โครงการผันน้ำ โขง-ชี-มูน ภาคอีสานโดยเฉพาะที่อุบลราชธานี โครงการสร้างเขื่อนไทย-ลาว ซึ่งใช้งบประมานมหาศาล แต่ยังไม่เห็นประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากภัยพิบัติ, ความมั่นคงทางอาหาร  มิพักต้องพูดถึงระบบราชการ ที่ยังมีความแข็งตัวในการทำงานตามระบบรวมศูนย์อำนาจแต่แยกส่วนการจัดการขาดความรับผิดชอบ ระบบราชการที่ถูกฟูมฟักโดยรัฐบาล คสช. จนกลายเป็นอภิมหาราชการสั่งสมความล้าหลังในการบริหารรัฐกิจและใช้อำนาจนิยมมากขึ้น ระบบทหารที่ยังเป็นลักษณะรัฐซ้อนรัฐ  ถนัดการทำงานแบบสั่งการควบคุม มากกว่าการสร้างความร่วมมือ การมีส่วนร่วม ความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐกับประชาชน บวกกับกระบวนการยุติธรรม ตุลาการ ที่ประชาชนเรียกร้องความเสมอภาค ความเป็นธรรมไม่เลือกปฏิบัติ  การได้รับการพิจารณานิรโทษกรรมในคดีทางการเมือง แต่เราจะเห็น การบริหารประเทศที่พยายามกลับไปสู่รัฐจารีตสมัยเดิมเมื่อ 100 ปี มากขึ้น โดยไม่ยอมปรับเปลี่ยนเป็นรัฐสมัยใหม่ ที่เคารพในหลักสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การผลักดันสังคมไทยให้ตกอยู่ในระบอบเสมือนสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งอารยประเทศทั้งหลายทั่วโลกก้าวพ้นผ่านมาแล้วจนมีการเปิดกระแสโดยสถาบันทิศทางไทย และอดีต รมต.กระทรวงอุดมศึกษา อเนก เหล่าธรรมทัศน์ ใน เรื่อง สังคมไทยกับความเป็น “ราชาธิปไตย” กับ “พระราชอำนาจ” แทน ประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ และไม่ยุ่งเกี่ยวการเมืองสมเป็นสถาบันกษัตริย์ในโลกยุคใหม่

แม้แต่พรรคก้าวไกลก็อาจจะต้องโดนจัดการโดยขบวนการยุบพรรค หรือการตัดสิทธิทางการเมือง เพราะพรรคอื่นๆ มองว่าพรรคก้าวไกลเป็นศัตรู ตัวแปลกปลอมแทนที่จะยอมรับในเรื่องความเห็นต่างทางการเมืองความหลากหลายซึ่งเป็นเรื่องปกติในการเมืองระบอบประชาธิปไตยที่ไม่มองความเห็นต่างเป็นศัตรูคู่ตรงข้าม ที่ต้องกำจัดแต่ต้องยอมรับ ความขัดแย้งและบริหารจัดการความขัดแย้ง โดยสันติวิธี การยอมรับกับเสียงข้างมากจากประชาชน แต่ยังเคารพเสียงข้างน้อย การประคับประคองประชาธิปไตยในช่วงเปลี่ยนผ่านจึงมีความสำคัญ มิฉะนั้นสังคมไทยจะกลับไปสู่วงจรอุบาททางการรัฐประหารอีกครั้งแล้วอีกครั้งเล่า กลายเป็นประชาธิปไตยที่เปลี่ยนไม่ผ่านเหมือนเช่น 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

โอกาสที่รัฐธรรมนูญ 2560 จะถูกเขียนใหม่

เป็นไปไม่ได้ หรือถ้ามีการแก้ไขคงใช้เงื่อนไขนี้ในการเตะถ่วงหลังสุดอาจารย์ชูศักดิ์  ศิรินิล บอกว่าต้องใช้เวลา 2-3 ปี ในขณะที่เรารู้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นต้นไม้พิษ เขียนขึ้นเพื่อที่จะสถาปนาอำนาจที่สมบูรณ์ในระบอบเสมือนสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยมีเครื่องมือกลไกสำคัญไม่ว่าจะเป็น สว.250 คน , ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี, องค์กรอิสระ, กระบวนการยุติธรรมที่สกัดกั้นและทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามในทางการเมือง โดนเฉพาะใน 4-5 มาตราที่มีการเปลี่ยนแปลงหลังการทำประชามติ ล้วนเป็นสิ่งที่ต่อสู้มาตั้งแต่สมัยคณะราษฎร์ พ.ศ.2475 ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงล้มล้างรัฐธรรมนูญมา 20 ฉบับ หรือด้วยการรัฐประหาร 13 ครั้ง

ประการต่อไป คือ กรณี สว.250 คนก็เป็นเสมือนพรรคทหารอีกหนึ่งพรรคการเมืองที่มาจากการสรรหาเพื่อค้ำยันระบอบอำนาจนิยม ส่วนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สะท้อนวิธีคิดที่ตกยุคที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบันที่ซับซ้อนไม่แน่นอน เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนคาดเดาไม่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีสื่อสาร, ปัญหาโลกร้อน ซึ่ง UN เปลี่ยนเป็นโลกเดือดก่อภัยพิบัติด้านระบบนิเวศน์สิ่งแวดล้อมทั่วโลก หรือด้านภูมิรัฐศาสตร์การเปลี่ยนแปลงการเมืองระหว่างประเทศ ภาวะสงคราม ที่มีผลกระทบต่อด้านเศรษฐกิจ, การเมือง, ความมั่นคงทางอาหาร, พลังงานการบรรจุแผนยุทธศาสตร์ชาติลงในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บท  ทำให้แผนดังกล่าวแข็งตัวไม่ยืดหยุ่น ไม่สามารถปรับตัวให้ทันต่อยุคสมัยและเหมาะสมต่อสถานการณ์ มิพักต้องพูดถึงเจตนารมณ์ของยุทธศาสตร์ชาติเขียนขึ้นเพื่อจะได้ ควบคุมการทำงานของรัฐบาลใหม่โดยคณะกรรมการส่วนใหญ่มาจากกองทัพ ส่วนกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญก็สำคัญไม่ว่าเป็นเรื่องการตั้ง สสร หรือการทำประชามติก็ยังมีอุปสรรคและมีข้อถกเถียงอีกมากแต่ผมมีความเห็นว่า ปัญหาและอุปสรรคไม่น่าจะเป็นสิ่งบั่นทอนความมุ่งมั่นของภาคประชาชน ถ้าทำให้เกิดขบวนการแนวร่วมระหว่างรัฐสภา+นักวิชาการ+ภาคประชาชน และสื่อสารธารณะ ก็จะทำให้ได้เรียนรู้สรุปบทเรียนและปรับยุทธศาสตร์ยุทธวิธีการทำงานให้เข้มแข็ง เปิดโปงธาตุแท้ของระบอบอำนาจจารีตนิยม (ทหาร+ทุนผูกขาด+ชนชั้นนำจารีตสุดโต่ง) ประชาชนก็จะเข้าใจ ตาสว่าง สังคมโลกปัจจุบันในระบบสื่อสารเทคโนโลยี ข้อมูลสื่อสารเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การทำงานเป็นองค์กรแนวร่วมเครือข่ายที่มั่นคงที่อำนาจเป็นของประชาชน เพื่อประโยชน์ของประชาชนในที่สุด

ผลการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 จึงเป็นคำตัดสินของประชาชน เสียงข้างมาก 24 ล้านเสียง จาการรวมตัวของ 8 พรรค การเมืองฝ่ายประชาธิปไตยที่ต้องการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายระบบโครงสร้างจากระบอบอำนาจนิยมเผด็จการสู่ประชาธิปไตยที่แข็งแรงมั่นคงขึ้น การใช้วาทกรรมรัฐบาลสมานฉันท์หรือก้าวข้ามความขัดแย้ง แต่ยังมีนโยบายเพื่อผลประโยชน์นายทุนผูกขาดกลุ่ม 1  ประชาชน 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ยังถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกละเมิด ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในเชิงอำนาจ, การเข้าถึงหรือโอกาส, ไม่เคารพในหลักสิทธิ เสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความสมานฉันท์ก็เกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าจะสมานฉันท์คดีการเมืองนิรโทษได้ไหม หรือตัดการผูกขาดโดยนายทุนธุรกิจเกิดขึ้นจริงไหม ปฏิรูปกองทัพได้ไหม ถ้าโจทย์เหล่านี้ทำไม่ได้ หรือไม่ได้ทำ นั้นคือคำตอบ แม้ปากจะบอกว่าสมานฉันท์ ตอนนี้ประชาชนก็จะเข้าใจตระหนักชัดเจนขึ้น ที่สำคัญก็คือภาคประชาชนต้องทำงานกันเป็นองค์กรเครือข่ายกันมากขึ้น ไม่ต้องกลัวความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น เพราะความรุนแรงไม่เคยเกิดจากภาคประชาชน แต่เกิดจากรัฐมากกว่า รัฐเองก็ตระหนักดีว่าถ้าใช้ความรุนแรง มันอาจจะนำไปสู่บั้นปลายของสิ่งที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้นก็ได้ การแก้วิกฤตการเมืองและปฏิรูปประชาธิปไตย ต้องมีการขับเคลื่อนทางสังคมที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ ต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางความคิดและวัฒนธรรมทางการเมืองเพื่อให้เข้าถึงสิทธิ เสรีภาพความเสมอภาคเท่าเทียมกัน การปฏิรูปทางการเมืองต้องช่วยกันทำลายเงื่อนไขความสัมพันธ์ที่สิ่งอุปสรรคทางปฏิรูปการเมืองยุติความอยุติธรรม การเลือกปฏิบัติของชนชั้นนำ ลำพังแต่รัฐธรรมนูญที่ดีไม่พอ รัฐธรรมนูญก็ถูกฉีกทิ้งได้ รัฐประหารก็เกิดขึ้นได้

ปรากฏการณ์ของการเมืองในยุครุ่นคนที่เชื่อมโยงกัน คนรุ่นเก่าบางคนตาสว่างเลือกพรรคประชาธิปไตย แต่ก็ยังมีบางคนที่เลือกพรรคทหาร คิดว่าปรากฏการณ์นี้มันบอกอะไร

มันมีความซับซ้อนอยู่ในนั้นเยอะ ตัวผมเองก็ไม่ได้รู้ทั้งหมด อาศัยการทำงานไปเรียนรู้ไป ผิดพลาดก็เยอะ สิ่งที่ทำให้ตาสว่างมากขึ้นคือการที่ได้เข้าไปรับฟังในเรื่องของความเป็นประวัติศาสตร์ด้านใหม่ของสังคมไทย การเปลี่ยนแปลงวิธีการเล็กๆ ของการจัดการ การต่อสู้กับอำนาจและความรุนแรงในสังคมไทย เพราะว่าสังคมไทยมีสิ่งที่เรียกว่า อคติและมายาคติเยอะ พูดง่ายๆ คืออยู่ในเรื่องของการเมืองเชิงวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเรื่องความเป็นไทย ความเป็นคนดี หรือแม้กระทั่งในเรื่องของศาสนาที่บางครั้งก็มีปัญหา ศาสนาควรจะช่วยเราในเรื่องแยกแยะความถูกผิด แต่ศาสนาภายใต้ระบอบอนุรักษนิยมมันทำให้เราถลำลึกมากขึ้น นี่คือปัญหา ซึ่งเราเรียกมันว่าเป็นการเมืองเชิงวัฒนธรรม และสิ่งเหล่านี้ครอบงำคนทั้ง 3 รุ่น เพียงแต่คนรุ่นใหม่ครอบงำไม่ได้ เพราะเกิดทีหลัง และคนรุ่นใหม่รักวัฒนธรรมที่เป็นกระแสโลกจากอินเทอร์เน็ต ดังนั้น จึงเป็นปัญหาใหญ่ที่จะเชื่อมคนแต่ละรุ่นเข้าหากันได้ยังไง แต่ผมบอกเลยว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะเชื่อมกันคนไทยทั้งหมดให้คิดเหมือนกัน เพราะถ้าเป็นแบบนั้นก็ไม่เรียกประชาธิปไตย มันยังต้องมีความหลากหลาย คิดต่างไม่เป็นไร แต่อย่าใช้ความรุนแรง ประชาธิปไตยคือความหลากหลาย คือการถกเถียงได้ แต่สังคมไทยดันมองว่าความหลากหลายมันคือความวุ่นวาย ความเป็นไทย ความเป็นคนดีที่ฝ่ายทหารใช้สร้างวาทกรรม ที่ไปอยู่บนกฎหมายทุกฉบับว่า อะไรก็ตามที่ไปขัดต่อความมั่นคงของชาติ กฎหมายที่ออกมาจึงมีข้อยกเว้นให้รัฐไปใช้ความรุนแรงกับประชาชนได้ แม้จะบอกว่าเราเข้ามาพูด เข้ามาชุมนุมด้วยเหตุผลโดยสันติวิธี รัฐก็ยังเข้ามาสลายการชุมนุม ใช้เหตุผลว่าสิ่งนี้กระทบต่อความมั่นคงของชาติ แม้เราจะเข้าใจว่าชาติก็คือประชาชน แต่สำหรับเขาไม่ใช่ สำหรับเขาคือความั่นคงของทหาร ของตัวรัฐเอง

งานของคุณหมอที่เคยทำ ทั้งกรรมการสิทธิมนุษยชนและ สว. มอง 2 เรื่องนี้ในสังคมไทยตั้งแต่หมดวาระมาจนถึงทุกวันนี้ว่าเป็นยังไงบ้าง

การทำหน้าสว.เป็นก้าวแรกที่ได้ก้าวไปทำงานการเมืองในระบบรัฐสภา ทำให้มีโอกาสได้เรียนรู้ระบบการเมืองที่เป็นรัฐสภาของสังคมไทย แต่ผมเข้าไปเจอการปรับเปลี่ยนในรัฐบาลของคุณทักษิณ หลังจากนั้นก็ได้มาเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชน ไปเรียนรู้การทำงานกับภาคประชาชนทั่วประเทศเลยก็ว่าได้ ใกล้ชิดเพราะทำงานเรื่องสิทธิทางการเมืองและสิทธิทางชุมชนที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากร และพวกเราก็รู้ว่าฐานทรัพยากรธรรมชาติ ที่ดิน ป่า ลุ่มน้ำ สินแร่ มันเป็นทุนชีวิตของสังคมไทย แค่ภาคอีสานอย่างเดียว การเป็นคนลุ่มน้ำ ถือเอาน้ำเป็นชีวิตและจิตวิญญาณ แค่นี้ก็ทำให้เห็นถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติกับชีวิตของคนไทยอย่างไร ภาคใต้เป็นเรื่องทะเล อีสานสินแร่ เหนือ ป่าไม้และที่ดินต่างๆ

ทั้งในการทำงานเป็นสว.และกรรมการสิทธิมนุษยชน ผมทำงานโดยยึดหลักสิทธิมนุษชน สว.ก็ทำงานเป็นกรรมาธิการการมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นกรรมาธิการแรกที่เกิดขึ้นในสว.ตามรัฐธรรมนูญปี 40 ที่เน้นเรื่องสิทธิ เสรีภาพและการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่ยกนโยบายนี้เป็นพื้นฐานของรัฐด้วยซ้ำไป

สิทธิมนุษยชนในสังคมไทยยังไม่เป็นที่ยอมรับและความเข้าใจไม่ตรงกัน ระหว่างอำนาจรัฐหรือแม้แต่กระทั่งบุคคลที่เกี่ยวข้องทางการเมืองในรัฐสภาเองก็ตาม บางครั้งคนมองว่าสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของศาสนา แต่ผมว่าไม่ใช่ สิทธิมนุษยชนเป็นหลักการที่สำคัญส่วนหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย เพื่อทำให้เป็นหลักประกันว่าเสียงและประโยชน์ความถูกต้องประชาชนเป็นใหญ่ แต่สังคมไทยมอง ประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่กำลังบิดเบือน ทำลายสิ่งที่ควรเป็นหลักการถูกต้อง แม้ระบอบประชาธิปไตยจะบอกว่ายอมรับเสียงข้างมาก แต่ก็ต้องเคารพเสียงข้างน้อย ไม่ทำลายเสียงข้างน้อย

มอง สว.จากการแต่งตั้งอย่างไร

ประการแรกคือเข้ามาทำงานสว.จากการแต่งตั้ง ง่ายๆ ต้องตอบแทนคนที่เลือกเข้ามา และคนแต่งตั้งเป็นทหารด้วย การออกแบบรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ใช่ว่าออกแบบแล้วแยกส่วน แต่คนที่คิดออกแบบคือคิดทั้งระบบ สำหรับเขารัฐธรรมนูญคือเครื่องมือในการที่จะทวงอำนาจกลับคืนมาให้อยู่ในฝ่ายอนุรักษนิยมจารีต จะเห็นว่าก่อนรัฐธรรมนูญประกาศใช้ หลังมีประชามติก็ยังมีการแก้ไขบางมาตรา        

รัฐธรรมนูญ 2560 จึงเป็นรัฐธรรมนูญที่สมบูรณ์ที่สุดในการรวบอำนาจของฝ่ายอนุรักษนิยมจารีต ทหารแล้วก็นายทุนผูกขาด หลังการรวบอำนาจรัฐประหาร 2549 ยังไม่เท่าไหร่ แต่ปี 2557 เราถึงเรียกประยุทธ์ (จันทร์โอชา) ว่าเป็นส่วนหนึ่ง ‘ระบอบประยุทธ์’ ที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำที่สุด โดยเฉพาะการรวบอำนาจของนายทุนพลังงาน มหาเศรษฐีที่ก้าวขึ้นมาหลายคนอยู่ในเครือข่ายทหาร ที่รวยจริงๆ คือ มหาเศรษฐีคนใหม่

ความเหลื่อมล้ำในระบบตุลาการ เราพบว่าองค์กรอิสระหลายองค์กรใช้อำนาจร่วมกับสว.ที่มาจากการเลือกตั้ง ร่วมกับบรรดานักร้องทางการเมือง ประเด็นในการกล่าวหาคนหนุ่มสาวในปัจจุบันมันอ่อนมาก ข้อเสนอ 10 ข้อของอานนท์ นำภา นักวิชาการหลายคนยืนยันว่าไม่ผิดกฎหมาย การออกมาชุมนุมและมีการละเมิดสิทธิของการประกันตัวของคนเหล่านั้น ทั้ง ๆที่ยังไม่มีคำตัดสินว่าเขาเหล่านั้นทำผิด นี่คือการละเมิดของสิ่งที่เรียกว่านิติรัฐ นิติธรรม สิ่งเหล่านี้ยังเกิดขึ้นได้ คนหนุ่มสาวสมัยนี้ไม่ได้ทำอะไรที่รุนแรงไปมากกว่าหนุ่มสาวสมัยผมที่อยู่ในยุค 14 ตุลา สมัยนั้นพูดถึงเรื่องปฏิวัติ ต้องสู้กัน ต้องรบกันและก็เข้าป่าไปจริงๆ คนที่เป็นรัฐมนตรีในขณะนี้ล้วนเข้าป่ามาแล้วทั้งสิ้น แล้วทำไมยังอยู่ได้ การเอากฎหมายเข้ามาจัดการ จะทำให้ประชาชนเห็นว่ากฎหมายมันไม่ยุติธรรม เพราะมีข้อยกเว้นของเผด็จการ ทำลายระบบความยุติธรรมในสังคมไทย

สรุปแล้วจะเห็นว่าไม่ใช่แค่สว.อย่างเดียวที่ใช้เป็นเครื่องมือในการทำลายระบอบประชาธิปไตย มันยังมีอีกหลายระบบที่วิปริตผิดเพี้ยน ประชาชนถึงได้เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลง แต่เปลี่ยนได้อย่างเดียวคือ เปลี่ยนการเลือกตั้งในหมวดบัญชีรายชื่อ เพราะในตอนนั้นสมประโยชน์กันของฝ่ายรัฐบาล

สว.250 คนหรือองค์กรอิสระยังจำเป็นไหมในสังคมไทย

สว.คิดว่าไม่จำเป็นแล้ว เพราะประเทศหลายประเทศได้ยกเลิกระบบสว.ไป สว.ที่เข้ามาเนื่องจากยังไม่มีความเชื่อมโยงจากภาคประชาชน   จึงกลายเป็นสว. ของผู้สรรหาแต่งตั้ง ผลงานแรกคือการเลือกคุณประยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อการสืบทอดอำนาจ คสช.  สว.สมัยผมไม่ได้หมายความว่าไม่ถูกแทรกแซง จริง ๆ ผมเป็นสว.เสียงข้างน้อย เพราะระบบเลือกตั้งในปัจจุบันยังมีลักษณะบ้านเล็กบ้านใหญ่อยู่ในระบบเครือข่ายอุปถัมภ์การเลือกตั้งสว.จึงเกิดเป็นสภาผัวเมีย สภาของการเมืองท้องถิ่นเข้ามา ซึ่งตรงนี้กลายเป็นจุดอ่อนของระบบรัฐสภา

ผมคิดว่าสังคมไทยเปลี่ยนไปแล้ว ไม่จำเป็นต้องเสียเงินค่าตอบแทนสว.และได้สว.ที่เป็นปัญหา มันไม่มีประโยชน์เพราะแค่เป็นสภาพี่เลี้ยง สภาตรวจสอบ โดยหน้าที่แล้ว ส.ส.ต้องตรวจสอบ หลักการกรรมาธิการ สส. มีหน้าที่ในการตรวจสอบ ร่าง กฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน สว.แค่เข้าไปกลั่นกรอง แต่สว.250 คน มีอำนาจเข้ามาเพิ่ม ที่มันทำให้คนอยากเข้าไปก็เพราะมีส่วนในการจัดตั้งองค์กรอิสระ และเพื่อการสืบทอดอำนาจ คสช. ทุกองค์กรต้องผ่านสว. สมัยผมเป็นสว.เสียงข้างน้อยก็แก้ตรงนี้ไม่ได้ ส.ส.ในสภาไม่ต้องการพี่เลี้ยง ตัวส.ส.ต้องการการปฏิรูป ทำงานจริงๆ ไม่ใช่การทำงานแบบลูบหน้าปะจมูกเหมือนสมัยก่อนหรือตอนนี้ก็ตาม กลายเป็นไม่ทำงานแต่ไปแย่งชิงผลประโยชน์กัน ผมเป็นกรรมาธิการ การมีส่วนร่วมของประชาชนชุดแรก พอหมดวาระก็มีการเข้ามายึดกรรมาธิการการมีส่วนร่วม ผมต้องกลับไปตั้งกรรมาธิการใหม่ คือ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นี่คือสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นในระบบรัฐสภา สว.ไม่จำเป็นในเมื่อสังคมตื่นตัวขึ้นสามารถเลือกส.ส.ที่มีคุณภาพได้ สังเกตจากเสียงข้างมากที่ถูกเลือกโดยการไม่ซื้อเสียงในเลือกตั้ง 14 พ.ค.2566

ส่วนองค์กรอิสระยังจำเป็นอยู่ เช่นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) หรือสว.มาจากการเลือกตั้งครั้งแรก แต่พอรัฐธรรมนูญ 2550 เกิดขึ้น ตอนนั้นเริ่มมีการเปลี่ยนการสรรหา กลายเป็นว่าคณะกรรมการสรรหามาจากตุลาการ เราพบว่า ตุลาการเป็นปัญหาหนึ่งในสังคมไทย เพราะไม่ได้มาจากภาคประชาชน แต่อยู่ภายใต้การครอบงำของอนุรักษนิยมจารีตสูงมาก เพราะฉะนั้น ระบบการสรรหาขององค์กรอิสระต้องตัดตุลาการออกไปหรือมีได้แต่ไม่มาก รุ่นผมกรรมการสรรหามาจากภาคประชาสังคมเยอะ สถาบันการศึกษาเยอะ ต้องทำให้องค์กรอิสระยึดโยงกับภาคประชาชนทั้งที่มาและการสรรหา

ระบบสุขภาพของสังคมไทยในทศวรรษนี้ตั้งแต่ทำงานในระบบสุขภาพจนถึงตอนนี้ สังคมไทยมันมีระบบสุขภาพที่ดีหรือยัง

ผมโชคดีที่ได้มาทำงานในระบบสาธารณสุข มีอาจารย์แพทย์หลายคนที่หัวก้าวหน้าวางพื้นฐานของการขับเคลื่อนของสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นปัญหาในเชิงระบบ สังคมไทยมีปัญหาในระบบสุขภาพ ระบบสุขภาพที่ไม่ได้มองเป็นการเจ็บป่วย หลังจากการปฏิรูปการเมือง 2540 มีรัฐธรรมนูญ 2540 แล้วได้วางระบบในเรื่องของการปฏิรูประบบสุขภาพ ที่เน้นในเรื่องของการป้องกัน ส่งเสริม คุ้มครองในเรื่องสุขภาพ และต้องมองถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและการเมืองด้วย พูดให้ชัดคือ “น้ำท่วม น้ำแล้งก็เกี่ยวข้องกับสุขภาพ” “น้ำท่วม น้ำแล้งมีคนตกงาน” “น้ำท่วม น้ำแล้งมีคนเสียชีวิต” “น้ำท่วม น้ำแล้งนักเรียนก็ไปเรียนไม่ได้” สุขภาพเกี่ยวข้องกับทั้งหมดที่เป็นเรื่องของชีวิตคนสังคมสิ่งแวดล้อม

จุดตรงนี้ผมจึงมีข้อสรุปว่า การทำงานที่เริ่มต้นโดยการเป็นหมอโรคไต มันไม่พอแล้ว มันต้องมองในเชิงของระบบสุขภาพที่เป็นเชิงระบบโครงสร้าง ทำงานในเชิงของการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาสุขภาพของคนไทย ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพ ถ้าตีความในแนวกว้างถ้าตีความว่าสุขภาพเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและการเมือง สังคมไทยเกิดความเหลื่อมล้ำเชิงอำนาจ โอกาสและการเข้าถึง นโยบายหรือกฎหมายไม่ได้ช่วยให้ประชาชนมีอำนาจมากขึ้น เช่น การจัดการทรัพยากร รัฐเป็นคนจัดการร่วมกับนายทุนผูกขาด พื้นที่หรือองค์กรภาคประชาชนไม่มีสิทธิ์ที่จะเข้าไปจัดการตรงนั้น เรื่องการทำงานที่ต้องทำงานให้คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน คือสิทธิการเป็นพลเมือง ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เรามองว่าศักดิ์ศรีของความเป็นคนต้องมีความเสมอภาค เท่าเทียมกัน คนเหมือนกัน ขจัดความไม่เป็นธรรมสร้างโอกาสให้ประชาชนได้มีการเสนอนโยบาย กระจายอำนาจสู่พื้นที่ จัดการพื้นที่ตัวเองได้ ไม่ใช่การกระจุกอำนาจอยู่แค่ที่เดียว คนกลุ่มเดียว แลกเปลี่ยนข้อมูลจากภาคประชาชนสู่ท้องถิ่น การเรียกร้องจะไม่ใช่แค่การชุมนุม แต่จะชุมนุมไปด้วยและเสนอแนวคิด การแก้ไขไปด้วย เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนทำงานร่วมกับรัฐได้ เป็นหุ้นส่วนร่วมคิด-ร่วมทำ-ร่วมสร้าง การพัฒนาชุมชนท้องถิ่น เกิดจังหวัดจัดการตนเอง และการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเหมือนเช่นอารยะประเทศ ไม่ใช่ระบบรวมศูนย์ อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง การเลือกตั้งผู้ว่าจึงจะสามารถเปลี่ยนการทำงานได้ ตัวอย่างคือ กทม. ผลการเลือกตั้งเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงในระบบโครงสร้างแล้ว แต่ก็ไม่ใช่เรื่องจะสำเร็จต้องใช้เวลาในการปฏิรูปปรับเปลี่ยน