“นักศึกษารามคำแหงในตอนนั้นค่อนข้างเสียสละ เพราะส่วนใหญ่ทำหน้าที่เป็นการ์ด” นิกร วีสเพ็ญ ทนายความจากสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) และนักกิจกรรมอาวุโส ชาวอุบลราชธานีเล่าถึงประสบการณ์การชุมนุมในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่เขาเคยได้เป็นการ์ดรักษาความปลอดภัยให้กับนักศึกษามหาวิทยาลัยอื่นๆ ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเขาก็เป็นหนึ่งในการ์ดราม

นิกรเล่าว่า ในตอนนั้นขบวนนักศึกษาตื่นตัวเป็นวงกว้าง นักศึกษามักได้ออกไปสัมผัสชีวิตชนบทด้วยการออกค่ายต่างๆ ขณะเดียวกันก็ได้แลกเปลี่ยนความคิดกับชาวบ้าน เพราะการกลับเข้ามาในประเทศไทยของจอมพลถนอม กิจติขจร, จอมพลประภาส จารุเสถียร จึงทำให้นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมตัวกันที่สนามหลวง ตัวเขาเองเข้าร่วมชุมนุมครั้งนั้นก็เพราะไม่ชอบเผด็จการ ไม่อยากเห็นทั้ง 2 คนนี้กลับมา และงานที่นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหงได้รับคือ เป็นการ์ด

นิกร วีสเพ็ญ
นิกร วีสเพ็ญ

การ์ดรามและความเป็นเด็กต่างจังหวัด

ตอนนั้นนิกรเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งการร่วมชุมนุมสมัยนั้นส่วนมากนักศึกษารามคำแหงจะมีหน้าที่เป็นการ์ด ความจริงก็มีการ์ดจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ แต่กำลังหลักเป็นนักศึกษารามคำแหง และกลุ่มกระทิงแดงจะกลัว เพราะนักศึกษารามคำแหงส่วนใหญ่เป็นเด็กต่างจังหวัด กล้าได้กล้าเสียไม่กลัวตาย

ช่วงนั้นไม่มีคนเลยเข้ามาทำหน้าที่การ์ด ถึงภายนอกอาจจะดูไม่เหมือนก็ตาม ตอนนั้นคือวิ่งติดโปสเตอร์ตามรามคำแหง ไปถนนลาดพร้าว สว่างที่ธรรมศาสตร์ ติดทั่วกรุงเทพฯ ทุกสัปดาห์ และในวันชุมนุมมีหน้าที่พาคนที่อยู่ท้องสนามหลวงเคลื่อนไปยังธรรมศาสตร์ 

เหตุการณ์หลังเที่ยงคืน

“คืนวันที่ 5 ตุลาคม 2519 ผมดูแลหน้าเวทีอยู่กลางสนามฟุตบอลธรรมศาสตร์พร้อมการ์ดรามคำแหง ระเบิด M79 ลงกลางสนาม ช่วงนั้นประมาณตีหนึ่งตีสองเริ่มมีการยิงเข้ามาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เราพยายามที่จะขอร้องไม่ให้ใช้อาวุธ ต่อมาช่วงเช้าเริ่มเคลียร์เพราะรู้สึกไม่ปลอดภัย เริ่มช่วยเด็กและผู้หญิงออกจากสนามบอลธรรมศาสตร์ไปที่ลานโพธิ์ แต่ขนย้ายกันไม่ทันเพราะกองกำลังอีกฝ่ายหนึ่งเข้ามาล้อมไว้ก่อน ตอนนั้นผมอยู่ที่หลังลานโพธิ์ร่วมกับรุ่นพี่การ์ดหลายคน”

“บาดเจ็บกันหลายคน ผมเองก็คิดว่าเราจะว่ายน้ำข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ไปยืนเกาะรั้วธรรมศาสตร์ คาดการว่าแม่น้ำเจ้าพระยาไม่น่าจะกว้างเท่าแม่น้ำมูลที่เราเคยไหว้ข้าม คำนวณว่าเราข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาได้แน่ๆ แต่ประเมินผิด เพราะเพื่อนและคนบาดเจ็บอยู่ด้วย 2-3 คน ก็เลยรู้ว่าเรือที่วิ่งข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาคือ เรือที่ยิงกระสุนเข้ามาในธรรมศาสตร์ เลยถอยกลับ เกิดเหตุการณ์ชุลมุน การ์ดของรามคำแหงเป็นร้อยๆ วิ่งกระเจิดกระเจิงไปคนละทาง ผมไปอีกทางหนึ่ง ถูกช่วยเหลือไว้จากร้านชาวบ้านแถวๆ ท่าพระจันทร์ อีกหลายคนไม่รอด ถูกจับได้ที่ประตูท่าพระจันทร์”

เจ้าของร้านกาแฟท่าพระจันทร์ช่วยชีวิต

“ต้องขอบคุณร้านกาแฟร้านหนึ่งที่ท่าพระจันทร์ ที่เปิดประตูให้นักศึกษาเข้ามาหลบในบ้านกว่า 20 คน ในเวลาต่อมาบ้านหลังนี้ก็โดนทหารพังประตูเข้ามาค้น ขณะเดียวกันนักศึกษาก็วิ่งออกมาหลังตึกแถวของเจ้าของร้านที่ช่วยไว้ เขาเอาบันไดมาให้ปีนขึ้นเพื่อข้ามไปอีกฝั่ง ทุกคนรอดหมด จนกระทั่ง 6 โมงเย็น เจ้าของร้านกาแฟก็เอาเสื้อผ้ามาให้เปลี่ยนและพาไปยังที่ปลอดภัย ผมไปถึงจุดนัดพบที่วัดภูเขาทองตอนห้าทุ่ม ตอนนั้นถึงได้รู้ว่าเพื่อนของเรา ใครอยู่ ใครรอด”

“พวกเราที่มาจากรามคำแหงด้วยกันนัดกันว่า หากเหตุการณ์ไม่ปกติให้พวกเราไปรวมตัวกันที่วัดภูเขาทอง ไปถึงก็ประมาณ 5 ทุ่มของวันที่ 6 ตุลาคม  คือ เหตุการณ์ 6 ตุลาเกิดขึ้นตั้งแต่ตีหนึ่งตีสองแล้ว เสียงปืนดังขึ้นเรื่อยๆ ไปจนถึงเช้า กระทั่งบ่าย 2-3 ถึงสงบลง จากนั้นผมก็เห็นภาพพี่น้องประชาชน เพื่อนนักศึกษา ถอดเสื้อแล้วคลานเต็มลานไปหมด เพื่อที่จะเคลื่อนไปขึ้นรถเมล์ ไม่ทราบว่าถูกคุมตัวไปที่ไหน เยอะมากๆ คลานออกมาตามตรอกซอกซอย เพื่อนที่มาด้วยกันก็ไม่สามารถติดต่อกันได้”

“เพื่อนที่เรานัดกันมีอยู่ 3 คน มายังจุดนัดพบแค่ 1 คน ที่เหลือไม่รู้ว่าเป็นยังไงบ้าง หลังจากทราบข่าวทีหลัง เราก็พยายามตามหา ไปที่โรงพยาบาลตำรวจ ไปทุกแห่งที่คิดว่าเพื่อนเราน่าจะเสียชีวิตตรงนั้น กลุ่มของผมเสียชีวิต 1 คนและบาดเจ็บอีกเยอะ”

จดจำเพื่อนผู้จากไป

นิกรเล่าว่า ในที่เกิดเหตุมีเพื่อนของเขาที่เสียชีวิต คือ ‘วัชรี เพชรสุ่น’ และอีกคนชื่อหนุ่ย เป็นคนชุมพร และเสียชีวิตตอนเข้าป่าก็หลายคน กรณีวัชรี เธอถูกล่วงละเมิดทางเพศหลังจากเสียชีวิต คุณพ่อของวัชรีเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่จังหวัดอุดรธานี เขาเสียใจมาก 

“วัชรีในความทรงจำของผมคือเป็นคนเรียบร้อยมาก เป็นศิลปิน ในวันเกิดเหตุ 6 ตุลา เธอไปหลบอยู่ที่ตึกบัญชี ตอนที่ชุมนุมผมก็อยู่ข้างกับเธอตลอด ดูแล ฟังเพลง ฟังเวทีปราศรัยด้วยกัน ก็ไม่คิดว่าเขาจะเสียชีวิต คิดว่าเขาน่าจะเสียชีวิตในช่วงเช้า ช่วงที่ทหารเข้าไปค้นตึกบัญชีและล้อมตึกไว้ แล้วลากตัวนักศึกษาออกมาทีละคน”

ส่วนกรณีของ ‘เต๋า – วสันต์ บุญรักษ์’ นักศึกษารามคำแหงอีกคนซึ่งเป็นชาวอุบลราชธานีที่เสียชีวิต นิกรสันนิษฐานว่าน่าจะปฎิบัติหน้าที่เป็นการ์ดอยู่หน้าหอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  เต๋าน่าจะเสียชีวิตบริเวณนั้นเป็นคนแรกๆ จากเหตุปะทะที่ประตูหน้าหอใหญ่ในตอนนั้นก็มีภาพของสล้าง บุนนาค ตำรวจปราบจลาจล อยู่ตรงนั้นด้วย

ไม่เข้าป่า แต่ตามหาเพื่อน 

“การเข้าป่าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเป็นทางเลือกที่น่าสนใจมากสำหรับผม แต่ในขณะเดียวกันเพื่อนที่อยู่ข้างนอก เพื่อนที่โดนตาม โดนจับ ถูกดำเนินคดี หนีกระเซอะกระเชิง ในฐานะที่เป็นประธานชมรมก็พยายามช่วยเหลือเพื่อนทุกคน ที่ยังมีชีวิตรอด เรามาปรึกษากับเพื่อนเราว่าไม่เข้าป่าก็สามารถช่วยเหลือเพื่อนได้ อีกอย่างวิถีชีวิตเราก็ไม่ชินกับการเข้าไปอยู่ในป่า”

“หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาเรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง ได้ยินแต่เสียงปืนที่อยู่ในสมองตลอด 1 เทอม แต่ยังคงทำกิจกรรมต่อโดยสืบหาเพื่อนว่าอยู่ที่ไหน ใครรอด และหาทางช่วยเหลือเพื่อนบางส่วน เหตุการณ์ครั้งนั้นเปลี่ยนวิถีชีวิตไปนานพอสมควร”

หลัง 6 ตุลาของนิกร ไม่มีเจ้าหน้าที่หรือฝ่ายความมั่นคงตามมาเฝ้าบ้าน หรือตามรังควาน เขาสันนิษฐานว่า ความเป็นเด็กรามคำแหงที่ไม่ใช่แกนหลักของการชุมนุมและตอนนั้นนักศึกษารามคำแหงก็ออกไปชุมนุมจำนวนมากจึงทำให้ไม่เป็นเป้าหมายของฝ่ายความมั่นคง

การเมืองไทยตั้งสร้างใหม่

“การเมืองปัจจุบันมันไม่ใช่การเมืองที่ภาคประชาชนเข้มแข็ง ต้องสร้างใหม่ ทำใหม่ ทำยังไงที่จะทำให้การเมืองที่ภาคประชาชนเข้มแข็งและสามารถกำหนดชะตาชีวิตตัวเองได้ ผมก็เลยมองว่าการเมืองภาคประชาชนไม่จำเป็นต้องทำฐานการเมืองใหญ่โต เหมือนนักการเมืองที่เขาทำ แต่เราทำงานเล็กๆ เป็นจิ๊กซอว์ เป็นก้อนอิฐที่ค่อยๆ ก่อฐานพีระมิด มันจึงจะมั่นคง” นิกรกล่าวทิ้งท้าย