“เขาหาว่านายประยุทธ์เข้าป่าไปเป็นคอมมิวนิสต์” 

ประยุทธ์ ชุ่มนาเสียว ในวัย 72 ปี ทบทวนถ้อยคำที่ผู้คนกล่าวถึงเขาหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่เขาซึ่งเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงทำหน้าที่เป็นเสนารักษ์ดูแลสนามที่ธรรมศาสตร์ ตอนนั้นอยู่กับ นิกร วีสเพ็ญ นักศึกษารามคำแหงที่เป็นชาวอุบลราชธานีด้วยกัน เป็นช่วงที่ระเบิด M79 ลงกลางสนามธรรมศาสตร์ ทั้งสองได้พากันเคลื่อนไปยังลานโพธิ์ ขณะนั้นเองก็ได้พบกับผู้หญิงคนหนึ่งถูกยิง เขาบอกกับนิกรว่า เราต้องช่วยผู้หญิงคนนี้

ประยุทธ์ ชุ่มนาเสียว

“เสนารักษ์มีหน้าที่ช่วยเหลือผู้คน จะมีอุปกรณ์ปฐมพยาบาล” ก่อนที่จะมาเป็นเสนารักษ์ประยุทธ์เล่าว่า เขาได้ถูกฝึกมาก่อนกับหมอที่จังหวัดนครราชสีมา เพื่อมาฝึกเป็นหมอสนาม “ตอน 6 ตุลามีเพื่อนผู้หญิงที่ถูกยิง ก็อุ้มมารักษา พันแผล ปฐมพยาบาลเบื้องต้น จากนั้นอุ้มไปไว้ตรงท่าเรือเพื่อจะข้ามไปยังโรงพยาบาลศิริราช” จากนั้นก็แยกย้ายกับนิกรแล้ว ผู้หญิงที่บาดเจ็บร่างกายอาบไปด้วยเลือด ขณะที่รอเรือมารับ “แต่เรือลำนั้นมีแต่ตำรวจ เราถึงได้คิดว่าจะไปกันยังไง โชคดีที่เห็นเพื่อนที่อยู่ชมรมครูช่วยสอนอยู่บนเรือ ถึงได้ฝากเธอไปที่โรงพยาบาล”

ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ประยุทธอยู่กับเพื่อนที่เป็นการ์ด 6 – 7 คนที่มาจากชมรมชาวเหนือ พากันไปซ่อนที่หลังกำแพงใหญ่ที่เป็นเหล็ก ขณะที่ซ่อนตัวก็ได้ยินเสียงปืนดังตลอด 

“ตำรวจเห็นก็พูดกับเราว่าออกมา มึงแอบอยู่ทำไม ถ้าไม่ออกมาจะยิง พวกเรากลัว ก็เลยพากันออกมา ปืนจี้อยู่ที่หลังเรา นี่คือสิ่งที่พวกเขาทำกับเรา พอออกมาก็สั่งให้เราคลานออกไปทางวัดมหาธาตุฯ ตรงที่เขาจับแล้วเอานักศึกษามารวมกันไว้ เราถูกสั่งให้ถอดเสื้อและคลานไปตามพื้น เศษแก้ว เศษอะไรต่างๆ ก็ไม่สนคลานอย่างเดียว พร้อมทั้งถูกเตะถูกเหยียบ กระเป๋าเงิน สร้อยทองเขาถอดของเราหมด เราคลานไปรวมกับเพื่อนที่ถนน จากนั้นจึงได้ยินเสียงปืนจากทางวันมหาธาตุและตึกสังคมศาสตร์ มธ. กระสุนแทบจะยิงผ่านหัวเราไป เราพยายามมอบให้ต่ำที่สุด”

 “ตอนนั้นมีกลุ่มขวาพิฆาตซ้าย กระทิงแดง ตะโกนด่าพวกเราตั้งแต่ต้นขบวนยันท้ายขบวน ไอ้เหี้ยหางแดง ไอ้คอมมิวนิสต์ พวกเขาขู่ว่าจะโยนระเบิด M26 มาทางพวกเรา มีผู้สื่อข่าวและนายกองค์การนักศึกษารามคำแหง สมพงษ์ สระกวี บอกไม่ต้องตกใจ เดี๋ยวพวกเขาจะคุยให้ ต้องขอบคุณที่ช่วยชีวิตพวกเราไว้ ถึงรอดตายมาได้ ขณะที่นิกรเองก็สันนิษฐานว่าผมคงตายแน่ๆ ”

“จากนั้นเขาไล่เราขึ้นรถเมล์ รถคันของผมมีอยู่ประมาณ 60 กว่าคน ตำรวจคุม 4 คน หน้า 2 คน หลัง 2 คนตอนนั้นเขาถอดหมวกเหล็กมาเคาะหัวนักศึกษา ผมนั่งใกล้หน้าต่าง พวกกลุ่มกระทิงแดงที่อยู่นอกรถก็เอาไม้หน้าสามฟาดเข้ามาที่รถจนกระจกแตก ผ่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิก็ถูกกลุ่มขวาพิฆาตซ้ายเขวี้ยงก้อนหินใส่ ตะโกนด่าทอ ระหว่างที่ผมและเพื่อนอยู่บนรถเมล์ ก็หวนนึกถึงเหตุการณ์ที่ตำรวจอินโดนีเซียกวาดล้างนักศึกษาอินโดนีเซียกว่า 3,000 คน เราก็คิดว่าวันนี้เราก็คงโดนแล้วเหมือนกัน” 

“หลังจากที่ถึงโรงเรียนพลตำรวจหลักสี่ บางเขน เขาให้เราเดินลงจากรถพร้อมเอากระบองฟาดเรียงคน เราถูกขังพร้อมถูกสอบสวนราว 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 6 – 10 ตุลาคม จากนั้นมหาวิทยาลัยก็มาประกันตัว คนละ 20,000 บาท อธิการบดีรามคำแหงชื่อ อาจารย์อภิรมย์ ณ นคร ถูกมอบหมายให้มาประกันตัวนักศึกษา ประกันตัวเสร็จก็มาประชุมเพื่อฟังอาจารย์ อาจารย์พูดกับเราว่า ‘อาจารย์ประกันตัวออกมาให้แล้วนะ เอาศักดิ์ศรีของมหาวิทยาลัยไปประกันทุกคน ขอให้ทุกคนกลับบ้าน’ นี่คือชีวิตในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาของผม” 

เข้าป่าจับปืน ถอดรหัสปฏิบัติการทางทหาร

“ผมนึกถึงได้แต่ความโหดร้าย ก่อนที่จะเข้าป่าเราปรึกษากับกลุ่มเพื่อนนักศึกษาว่าเราจะเข้าป่าจับปืนสู้ เพราะตอนที่อยู่ในห้องขังเราแถบไม่มีที่ยืน ตอนจะนอนก็ได้หันขาใส่กัน ตอนนั้นนอนได้ 3 ชั่วโมงแล้วสลับกับเพื่อนนอน ห้องน้ำมีห้องเดียว ตอนนั้นทุกคนที่ถูกขังจะได้กินข้าวมันไก่คนละห่อที่ห่อด้วยหนังสือพิมพ์ที่มีแต่รูปครอบครัวศักดินาแบบเดียวกันหมดทั้งหมด จากนั้นเขาก็บอกว่านักศึกษาที่ได้ประกันตัวหลังจากที่กลับบ้านไปแล้วให้กลับมารายงานตัวทุกเดือน เขาจะสอบสวนแต่ละคน เราก็คิดแล้วว่าหลังจากรายงานตัวกับตำรวจเสร็จแล้ว จะเข้าป่าจับปืน ผมได้ประสานไว้แล้วบอก สหายมารับเราหน่อยนะ เราไปแน่นอน

“จากนั้นผมก็เข้าป่า พอไปถึงเขาก็ถามว่าจะไปอยู่หน่วยไหน จะได้ส่งไป ก็บอกว่าหน่วยทหาร เขาถามอีกว่าเคยอยู่ทำงานเกี่ยวกับแพทย์ ทำไมไม่อยู่หน่วยแพทย์ ผมก็ปฎิเสธว่าจะไปอยู่หน่วยทหาร พอไปอยู่ก็ต้องฝึกการเป็นทหาร หลังจากการฝึกเขาก็มาพูดกับเราว่าดูจากร่างกายเราแล้วเขาไม่ส่งเราไปหน่วยจลยุทธ์ แต่จะให้อยู่หน่วยถอดรหัสจากคลื่นวิทยุและข่าวโทรทัศน์ทางทหาร เพราะรหัสจากทางเจ้านายที่เขาให้ปราบปรามคอมมิวนิสต์ เขาใช้รหัสแบบตัวเลข ผมกับเพื่อนจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ฝ่ายปฎิบัติการทหาร ไปตีค่ายของอส.ตรงไหน ยึดค่ายไหนได้ สิ่งหนึ่งที่ต้องจำให้ได้คือ เอาเอกสารการส่งข่าวหรือรหัสที่อยู่ในห้องส่งข่าวเอากลับมาด้วย เอามาให้พวกผมศึกษาและวิจัยค้นคว้า จนกว่าจะสามารถศึกษารูปแบบและวิธีการถอดรหัสของทางราชการทั้งหมดได้ ผมถอดรหัสได้จนคุ้นเคยกับตัวอักษรต่างๆ เพราะฉะนั้นการรบทางทหาร การเปิดยุทธการทางทหารของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย โดยกองทัพปลดแอกแห่งประเทศไทยเขตภาคอีสาน ระหว่างภูพานกับภูสระดอกบัว ใช้การสืบข่าวจากการถอดรหัสและวางแผนชิงยุทธการณ์ รุกทางฝ่ายนั้น”

“ความเป็น 6 ตุลาของผมคือความแค้นที่นำพามาและสามารถถอดรหัสจนได้ กระทั่งว่าการปฏิบัติการทหารที่สำคัญเกิดขึ้นอยู่เส้นถนนชยางกูรตั้งแต่อุบลราชธานีจนถึงมุกดาหาร รอยต่อระหว่างนิคมคำสร้อย เลิงนกทา คือจุดปฏิบัติการซุ้มโจมตีของทหารทั้งหมด นี่คือบทเรียนและประสบการณ์ของผม”

6 ตุลา อาชญากรรมโดยรัฐ

“6 ตุลาคม 2519 สำหรับผมมันเป็นอาญชกรรมโดยรัฐที่กระทำต่อนักศึกษา” ประยุทธ์กล่าวว่า สังคมไทยอยู่ในวังวนของระบบกษัตรย์นิยมและไสยศาสตร์ กระบวนการไสยศาสตร์ยังมีอิทธิพลต่อกระบวนการคิดของชนชั้นสูงอยู่ 

“สิ่งที่อยากจะชวนศึกษาก็คือ หนึ่ง – การปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 เป็นปรากฎการณ์การเมืองไทยที่เปลี่ยนแปลงที่นำโดยนายปรีดี พนมยงค์ จนมาถึงทุกวันนี้ สอง – เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ที่เปลี่ยนแปลงโดยนำไปสู่ระบบประชาธิปไตยเหมือนกัน มันเป็นเหตุการณ์ที่ฝ่ายอนุรักษนิยมพยายามจะลบทิ้ง ทั้งนี้ก็เพราะ 2 ปรากฏการณ์มันเป็นกระบวนการที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงให้เป็นประชาธิปไตยได้” ประยุทธ์กล่าวทิ้งท้าย