การเคลื่อนไหวทางการเมืองในยุค 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ไม่ได้มีแค่ในกรุงเทพฯ ในภาคอีสานของเราก็มีการเคลื่อนไหวของนักศึกษาเช่นเดียวกัน และหล้งเหตุการณ์ล้อมฆ่านักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่อุบลราชธานีก็มีการกวาดล้าง จับกุมคุมขัง นักศึกษา ปัญญาชนที่เคยเคลื่อนไหวทางการเมืองในจังหวัดอุบลราชธานี

“อุบลราชธานีในยุค 14 ตุลา นักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวกันเยอะ ประชาธิปไตยเบ่งบาน แต่หลัง 6 ตุลา ผมเป็นหนึ่งในคนที่ถูกตำรวจและทหารล้อมจับที่บ้าน” ทองดี ทองผาย แกนนำนักศึกษาจังหวัดอุบลราชธานีในยุค 14 ตุลาคม 2516 ที่ปัจจุบันเป็นรองผู้อำนวยการโรงเรียนกันทรารมณ์ จ.ศรีสะเกษ ได้เล่าถึงประสบการณ์การชุมนุมเคลื่อนไหวใน จ.อุบลราชธานี ที่เขาได้เข้าร่วมเรียกร้องปัญหาการตั้งฐานทัพอเมริกาและนั่งรถเมล์ฟรีหลัง 14 ตุลา อีกทั้งยังเป็นบุคคลที่ถูกตำรวจตามคุกคามหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา

ทองดี ทองผาย

14 ตุลาคม 2516 ในอุบลราชธานี

ช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ผมเรียนอยู่ชั้นปีที่ 2 ที่วิทยาลัยครูอุบลราชธานี (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี) ผมอยู่ในเหตุการณ์ที่นักศึกษาออกมาชุมนุมอยู่ที่สนามหน้าวิทยาลัย ผมได้เห็นบรรยากาศที่นักศึกษาออกมาชุมนุม น่าจะเยอะที่สุดเท่าที่เคยมีใน จ.อุบลราชธานี ซึ่งมันสอดคล้องกับการชุมนุมในกรุงเทพฯตอนนั้น มีการรวมกลุ่มและเคลื่อนขบวน การขอบริจาคเงินเพื่อช่วยส่วนกลาง ซึ่งตอนนั้นผมดูแลเวทีและขึ้นปราศรัย ในช่วงเวลานั้นนักศึกษาตื่นตัวเรื่องการเมืองกันเป็นอย่างมาก ผมอยู่ในมหาวิทยาลัยก็เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความตื่นตัวตามเหตุการณ์บ้านเมือง ซึ่งตอนนั้นมีรุ่นพี่ชาวศรีสะเกษสองคนที่เป็นแกนนำในตอนนั้นคือ คุณประพันธ์ ดอกไม้ และ คุณพงษ์ชัย พิชิตชยางกูรเป็นผู้นำการชุมนุมตอนนั้น ผมยังเก็บภาพตอนชุมนุมไว้อยู่เลย

ไล่ฐานทัพอเมริกา – เรียกร้องนั่งรถเมล์ฟรี

“บ้านผมเป็นร้านตัดผม จะมีหนังสือพิมพ์มาส่งตลอด ผมก็จะอ่านหนังสือพิมพ์เหล่านั้นเพื่อติดตามข่าวการเมืองในประเทศ ห้องสมุดประชาชนอุบลฯผมก็เข้าไปหาอ่าน เพราะตอนนั้นมีทหารอเมริกา ทหารจีไอเข้ามาอยู่กันเยอะและมีสงครามเวียดนามในขณะนั้น ผมเลยต้องตามอ่านหนังสือพิมพ์ทุกฉบับเพื่ออัพเดตข่าวการเมือง พอผมเริ่มเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยบรรยากาศในตอนนั้นข้อมูลข่าวสารก็เริ่มมีอะไรให้ติดตาม ผมกับเพื่อนและรุ่นพี่เราจะรวมตัวพูดคุยเกี่ยวกับเหตุการณ์บ้านเมืองในขณะนั้น เราก็เริ่มสนใจศึกษาในเรื่องเสรีภาพ เรื่องวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง” 

“บรรยากาศการชุมนุมในอุบลฯตอนนั้นสนุกมาก หลัง 14 ตุลาพอเคลื่อนไหวเสร็จก็มีการรวมกลุ่มกันของอาจารย์ สภากาแฟ นักศึกษา ร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุยกัน อาจารย์ตอนนั้นก็มีแต่คนหนุ่ม ๆ อย่างอาจารย์ชำนาญ แก้วคะตา อาจารย์ทรงกิต ภูมิราบ หลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาผ่านไป การเคลื่อนไหวของนักศึกษาก็ยังอยู่ ผมก็มาเป็นแกนนำเคลื่อนไหวเรื่องการไล่ฐานทัพอเมริกา เราจัดเวทีชุมนุมปราศรัยกันอยู่ 2 – 3 รอบ ที่ทุ่งศรีเมือง เราศึกษาเรื่องสิทธิ เสรีภาพ เราก็คิดว่าทำไมถึงอเมริกาถึงมาตั้งฐานทัพอยู่ที่บ้านเรา ตอนนั้นทหารจีไอ ทหารอเมริกาเยอะมาก”

“หลังจากนั้นก็มีการเคลื่อนไหวเรื่องนั่งรถเมล์ฟรี ตอนนั้นอุบลฯ มีรถเมล์วิ่งอุบลฯ – วารินฯ 3 สาย สายสีเทา ขาวและชมพู ในขณะที่คนกรุงเทพฯได้นั่งรถเมล์ฟรี แต่ที่อุบลฯกลับจะขึ้นค่ารถเมล์ก็เลยมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้ ผมเป็นตัวแทนของกลุ่มนักศึกษาและอาจารย์เข้าไปพูดคุยกับผู้ว่าราชการจังหวัดและรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ เป็นการรวมตัวชุมนุมครั้งใหญ่หลัง 14 ตุลา มีเครือข่ายมาร่วมชุมนุมเยอะมาก คนเต็มสนามไปหมด เราเรียกร้องว่าไม่ให้ขึ้นค่ารถ แต่ทางนั้นไม่ยอม เราก็กลับมาคุยกับกลุ่มว่าจะทำยังไง”

“เราก็เลยตั้งเงื่อนไขว่า ไม่ให้ขึ้นค่ารถเมล์และต้องได้นั่งรถเมล์ฟรี ประเทศไทยไม่ได้มีแค่กรุงเทพฯ คนเสียภาษีไม่ใช่แค่คนในกรุงเทพฯ คนอุบลฯก็เสียภาษี ในเมื่อคนกรุงเทพฯนั่งรถเมล์ฟรีได้ คนอุบลฯก็ต้องนั่งได้ การพูดคุยตอนนั้นก็สำเร็จ ช่วงหนึ่งคนอุบลก็ได้นั่งรถเมล์ฟรีทุกสาย”

“ความเสมอภาคอยู่ตรงไหน ความเท่าเทียมอยู่ตรงไหน ทำไมคนส่วนกลางได้สิทธิประโยชน์หมดทุกอย่าง และคนต่างจังหวัดอย่างเราไม่ได้อะไรเลย นี่เป็นเหตุการณ์ชุมนุมในอุบลฯ ก่อน 6 ตุลา”

หลัง 6 ตุลาคม 2519 นักศึกษาปัญญาชนถูกกวาดจับขังคุก 

“ช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ผมเรียนจบพอดี ตอนนั้นไปบรรจุเป็นครูที่ศรีสะเกษ ในวันที่ 15 ตุลาคม 2519 ผมกลับมาบ้านได้วันเดียว ตื่นเช้ามาถูกล้อมจับ มีทั้งตำรวจ ทหาร ถือปืน ล้อมบ้านไว้หมด ตอนนั้นผมนอนอยู่ด้านบน ถูกค้นบ้าน ยังจำเหตุการณ์ในวันนั้นได้ดี มีตำรวจขึ้นไปเรียกผมอยู่ที่ห้องนอน เจอหนังสือของผมอยู่เล่มหนึ่งที่แม่เก็บไปไม่หมด เป็นหนังสืออักษรศาสตร์วิจารณ์ ฉบับ จิตร ภูมิศักดิ์ จะมีรูปจิตร ภูมิศักดิ์สูบบุหรี่มีควันออกมาหนังสือเล่มนี้จะพูดถึงเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับการต่อสู้ และมีเอกสารหนึ่งที่ผมเอาออกมาตำรวจก็เห็นแล้วเก็บของผมไป มันเป็นรูปนักศึกษาชูรูปและถือธงเหมือนจะเกี่ยวกับพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย”

“สิ่งที่เขาทำวันนั้นคือ ค้นบ้านเรา เห็นอะไรที่ไม่ชอบก็จะเก็บไปหมด ทำให้ผมคิดว่าตำรวจไทยเป็นแบบนี้กันหรือ? หลังจากค้นบ้านเสร็จเขาก็มาคุยกับเรา มาสอนนั้นนี่เรา ซึ่งผมก็นั่งเงียบไม่ได้เถียงอะไร นั่งฟังอย่างเดียว เขาก็พูดว่าอาจจะเชิญไปที่สถานีตำรวจ ซึ่งตอนนั้นผมยังไม่รู้ว่าเพื่อนคนอื่นๆ ถูกจับกันไปหมดแล้ว ตอนนั้นที่รอดมาได้เพราะมีผู้ใหญ่ที่รู้จักกับผม เขาบอกเราก่อนว่าจะมีตำรวจมาจับผม โชคดีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดตอนนั้นไม่อนุมัติ เพราะด้วยว่าผมเป็นข้าราชการ ซึ่งถ้าไม่มีความผิดซึ่งหน้าต้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นคนอนุมัติว่าจะดำเนินการจับตัวได้หรือไม่ได้”

“ตอนนั้นผมตัดสินใจอยู่ 2 เรื่องระหว่างคือ อยู่กับหนีเข้าป่า เพราะว่าเพื่อนอย่างนิกรก็ไม่รู้ว่าเป็นหรือตาย ถ้าผมไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร (มศว.ประสานมิตร) เลยในตอนนั้น ถ้าผมไม่ถูกจับก็ต้องถูกฆ่าตายในธรรมศาสตร์ เป้าหมายของผมตอนนั้นคือ ต้องไปเรียนที่ มศว.ประสานมิตร แต่ด้วยอะไรหลายอย่างผมเลยต้องทำงานก่อนจะไปเรียนต่อ”

หลังจากนั้น ทองดีก็ไปเยี่ยมอาจารย์และเพื่อนที่ถูกจับที่โรงพัก “ยังจำได้อาจารย์บอกกับผมว่า ไอ้ทองดี จะไปไหนก็ให้รีบไป ไม่ต้องมาหา ไม่ต้องมาเยี่ยมอาจารย์ ซึ่งภายหลังอาจารย์คนนี้ก็ไปสอนที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตอนนั้นคนที่ถูกจับจะถูกขังไว้ที่สถานีตำรวจทั้งหมด จะถูกขังไว้ประมาณ 1 – 2 เดือน และอีกหนึ่งสิ่งที่ผมรอดมาได้ก็เพราะแม่ผมเก็บเอกสารและหนังสือเกี่ยวกับการเมืองตอนนั้นไปหมด ซึ่งตอนนั้นมันเป็นยุคแสวงหา หนังสือการเมืองตอนนั้นก็มีขายตามท้องตลาดเยอะมาก จะเป็นหนังสือเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ เหมาเจ๋อตง มาร์กซ์เยอะมาก”

แม่ผู้ห่อหนังสือฝังดิน ก่อนขุดขึ้นมาเผา ให้ลูกชายได้พ้นผิด

“ผมอ่านและเก็บไว้อยู่ที่บ้าน แม่ผมเก็บหนังสือของผมไว้ตั้งแต่คืนวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ผมไม่เคยบอกแม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่แม่คงรู้ว่าลูกเป็นคนรักหนังสือผมเป็นคนอ่านหนังสือเยอะ แม่ก็เก็บใส่ถุงพลาสติกและเอาไปฝังดินอยู่ตรงรอบบ้านแล้วเอากระถางดอกไม้วางทับไว้อีกที คือแม่รู้เรื่องการเคลื่อนไหวทางการเมืองของลูก ผมไปทำกิจกรรมอะไรมากับเพื่อน กลับบ้านมาดึกๆ แม่ก็ยังรอทำกับข้าวให้กิน ดูแลเลี้ยงเพื่อนในกลุ่มที่เคลื่อนไหวด้วยกัน แม่รู้ว่าลูกกำลังทำอะไรอยู่ ลูกสนใจเรื่องของการเมือง แต่เราไม่เคยพูดกับแม่เรื่องนี้”

“แม่พูดกับผมหลังเหตุการณ์ที่ตำรวจมาค้นบ้านว่า ตอนนั้นแม่ไปตลาดเพิ่งกลับมา เห็นตำรวจ ทหารเต็มบ้าน แม่เข่าอ่อนเลย พอตอนกลางคืนแม่ก็เอาหนังสือขึ้นมา แม่ขอเผาหนังสือทิ้งนะ ซึ่งแม่มาบอกผมก่อนจากนั้นก็เอาไปเผาทิ้ง ตอนนั้นหนังสือเกี่ยวกับการเมืองเรียกได้ว่ากวาดล้างเลย ซึ่งผิดกับตอนเหตุการณ์หลัง 14 ตุลาคม 2516 และเมื่อผมไปทำงานอยู่โรงเรียนแห่งหนึ่ง บรรณารักษ์ห้องสมุดของโรงเรียนก็เก็บหนังสือเรื่องเกี่ยวกับการเมืองแบบก้าวหน้าไปเผาทิ้งหมด”

ความเคลื่อนไหวหลัง 6 ตุลาคม 2519

“ผมตัดสินใจเรียนต่อที่มศว.ประสานมิตร หลังเหตุการณ์ก็จะมีเรื่องการต่อสู้เกิดขึ้นอีกเยอะ แต่เราก็ติดตามข่าวการเคลื่อนไหวตลอด ที่อุบลฯ ยังมีการเคลื่อนไหวที่ศรีสะเกษ ชื่อผมดังมากเพราะถูกตามจับ เนื่องจากตอนนั้นเขาตั้งข้อความให้ผมว่าเป็นพวกคอมมิวนิสต์ เป็นคนหัวรุนแรง มีอาจารย์พูดให้ผมว่า ทองดี ไอ้พลิกฟ้า พลิกแผ่นดิน ซึ่งถ้าถามว่ามีผลกระทบรุนแรงต่อชีวิตผมหรือไม่ สำหรับผมก็ไม่ถึงขนาดนั้น ผมก็ใช้ชีวิตตามปกติได้ แต่ผมไม่ได้โดนข้อหาภัยสังคมเหมือนกับคนอื่นๆ มีเพื่อนสนิทผมคนหนึ่งตัดสินใจเข้าป่า แต่ผมไม่เข้า เพราะหนึ่ง – เป็นห่วงแม่ ผมเป็นลูกชายคนโตที่ต้องดูแลครอบครัว สอง – อาจจะถูกจับไปด้วยเนื่องจากผมเป็นคนทำงานเปิด ผมเป็นผู้นำนักศึกษาเราเคลื่อนไหวแบบเปิดเผย ทุกคนรู้ว่าเราเป็นใคร เราทำอะไร เขาจะรู้ประวัติเราหมด ตอนที่ผมทำงานแล้ว เขาก็ยังตามไปคุกคามถึงที่บ้านอยู่เลย แม่บ้านเป็นคนเล่าให้ฟัง ก็เป็นกลุ่มเดิมยังเป็นแบบนี้อยู่ตลอด

“หลัง 6 ตุลา ตอนนั้นศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยถูกยุบไปหมดเลย เพราะการรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519  จากนั้น ‘องค์การนักศึกษา’ กลายมาเป็น ‘สโมสรนักศึกษา’ ผมกลับเข้าไปเรียนต่อที่ มศว.ประสานมิตร ผมก็ไปเคลื่อนไหวเรื่องนี้ ไปเรียกร้ององค์การนักศึกษากลับคืน เพราะองค์การนักศึกษากับสโมสรทำงานต่างกัน ด้วยรูปแบบองค์การนักศึกษาจะมีอิสระในการขับเคลื่อน มีการดูแลเรื่องงบประมาณที่เขาจัดสรรมาให้เราก็ดูแล แต่สโมสรภารกิจจะถูกจำกัด จะทำได้แค่กิจกรรมภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งเราไม่สามารถเคลื่อนไหวทางเมืองได้ และตอนนั้นมหาวิทยาลัยเริ่มรุนแรง เพราะว่ากลุ่มของกระทิงแดง กลุ่มนวพล ก็ส่งคนเข้าไปเรียนภาคค่ำที่มศว. ประสาทมิตรก็มีการเรียนแบบภาคค่ำก็ส่งกลุ่มทหารก็เข้าไปเคลื่อนไหวและเข้าไปเรียนด้วย ผมเข้าไปก็ไปอยู่ในองค์การนักศึกษา ตอนนั้นผมเป็นตัวแทนชั้นปีที่ 3 จากทุกคณะ ทุกชั้นปี นายกสโมสรตอนนั้นก็เป็นคนอุบลราชธานี เราเรียกร้ององค์การนักศึกษากลับคืน เรียกร้องประชาธิปไตรกลับคืนสู่มหาวิทยาลัย เราตั้งแนวร่วมนักศึกษา มี 26 สถาบัน”

“มีครั้งหนึ่งเราเคลื่อนไหวพร้อมกัน ทุกมหาวิทยาลัยติดโปสเตอร์เรียกร้ององค์การนักศึกษา แบ่งถนนกันอย่างประสานมิตรเริ่มต้นจากพระโขนงเข้าสุขุมวิทลงอโศก มาเพรชบุรีตัดใหม่ ไปจนถึงสนามหลวง เราก็เริ่มปฎิบัติการตอนกลางคืน ตอนเช้ามาทั่วกรุงเทพฯมีโปสเตอร์นักศึกษาเต็มพื้นที่ในคืนเดียว กลุ่มผมมีผู้ชาย 2 คน และผู้หญิงอีก 3 คน  ที่ประสานมิตรส่วนมากจะเป็นผู้หญิง ต้องทำอย่างเร็ว เพราะว่ากระทิงแดงตอนนั้นเขาเคลื่อนไหวเหมือนกัน ตอนที่เราจะประชุม เรานัดกันประชุมที่ดาดฟ้าของคณะวิทยาศาสตร์ แต่ละชั้นก็จะมีการ์ดเฝ้าชั้นละ 2 คน แกนนำจะขึ้นไปประชุมอยู่ด้านบน เพราะตอนนั้นการต่อสู้รุนแรงมาก มีการออกแถลงการณ์ ออกใบปลิวตามมหาวิทยาลัยเยอะแยะไปหมด จนกระทั่งได้องค์การนักศึกษากลับมา”

ทองดีกล่าวต่อว่า การเคลื่อนไหวทางเมืองในยุคนั้นจะไม่เกี่ยวข้องกับสถาบัน ต้องบอกอย่างนี้ก่อนว่า เมื่อก่อนความตื่นตัวของนักเรียน นักศึกษามันเกิดขึ้นด้วยบริบทของสังคม มันเกิดขึ้นด้วยจิตวิญาณของเราเอง เราจะไม่ด่าคนอื่น เราพุ่งเป้าให้เผด็จการและทหารอย่างเดียว อีสานไม่ค่อยอะไรกับรัฐส่วนกลาง เพราะเราถูกรัฐส่วนกลางเอาเปรียบ 

“ตอนที่ผมยังเรียนอยู่ที่ มศว.ประสานมิตร มีงานวัฒนธรรม 4 ภาค เราก็สะท้อนภาคอีสาน ความอดยาก ความแห้งแล้งและความทุกข์ยากของคนอีสาน เราจัดนิทรรศการ เอาหมอลำไปเล่น ผมจำได้อาจารย์เข้ามาบอกว่า ‘ทำไมพวกเราทำแต่เรื่อง negative มีแต่เรื่องความยากจน เรื่องดีๆ ทำไมไม่เอามานำเสนอ’ ผมก็บอกอาจารย์ว่า อันที่มันดีอยู่แล้วก็ให้มันอยู่ไป สิ่งที่เรานำเสนอเราอยากให้แก้ปัญหา  ผมไม่ได้สะท้อนมาให้เห็นแค่ว่ามันลำบาก แต่ผมต้องการสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลควรเข้าไปแก้ปัญหาเหล่านี้ ควรจะเข้าไปแก้ปัญหาให้คนอีสานยังไง สมัยก่อนนักศึกษาอีสานจะเป็นตัวหลักในการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สำคัญมาโดยตลอด”