ในงาน ‘คนอุบลใน 6 ตุลา’ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ณ ร้านกาแฟส่งสาร มีเวทีเสวนา เรื่อง ‘คนอุบลใน 6 ตุลา’ พร้อมรำลึกถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 พร้อมการแสดงดนตรีชุด ‘ปลิดปลิว’ โดย ณพล ผาธรรม และรุ่งทิวา วอทอง, อ่านบทกวีรำลึกโดย วิทยากร โสวัตร, การแสดงศิลปะเรื่อง ‘ศพหนังสือ’ โดย นราสิทธิ์ วงษ์ประเสริฐ กับ XOH และ ภัทรภณ โถชาลี ปิดท้ายกิจกรรมการจุดเทียนรำลึก และการแสดงดนตรีโดยวงสะเลเต

พริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.พรรคก้าวไกล กล่าวในการเสวนา เรื่อง ‘การรณรงค์การร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน’ ว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มีปัญหาเพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากรัฐประหารปี 2557 หลังจากการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็แต่งตั้งคณะกรรมการจำนวน 21 คน เพื่อมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่ผ่านการเห็นชอบจากประชาชน 

“รัฐธรรมนูญ 2560 ถูกออกแบบมาเพื่อสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร ถ้าไม่เชื่อผมพูดขอยกคำพูดของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ที่เคยกล่าวไว้ในสมัยที่ยังอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ ตอนหาเสียงบนเวทีเมื่อปี 2562 ว่า ‘รัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำมาเพื่อพวกเรา’ คำว่า ‘พวกเรา’ ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงประชาชน แต่เป็นกลุ่มของการเมืองกลุ่มหนึ่งที่เชื่อมโยงกับรัฐบาล”

พริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.พรรคก้าวไกล

“จริงอยู่ที่รัฐธรรมนูญ 2560 ผ่านกระบวนการประชามติในปี 2559 แต่เป็นประชามติที่ไม่เสรีและเป็นธรรม ตามมาตรฐานเสรีประชาธิปไตยสากล การรณรงค์ในตอนนั้นสิทธิเสรีไม่ได้เท่าเทียมกัน ใครจะรณรงค์โหวตรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับบนี้สามารถทำได้เต็มที่ ถึงขั้นกกต. ทำเอกสารเกี่ยวกับข้อดีของรัฐธรรมนูญ 2560 ส่งไปให้ทุกคนถึงบ้าน แต่พอมีคนออกมารณรงค์คัดค้านกับถูกดำเนินคดี อีกทั้งประชามติปี 2559 คำถามเกี่ยวกับประชามติก็ไม่ได้ตรงไปตรงมา”

พริษฐ์กล่าวว่าการเขียนคำถามในประชามติตอนนั้นไม่ได้ถูกเขียนอย่างตรงไปตรงมาเท่าไหร่ เช่น ท่านเห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้สว.มาร่วมโหวตนายก แต่เขียนว่า ท่านเห็นชอบหรือไม่ เพื่อให้การปฎิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ก็สมควรจะกำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติว่า ปีแรกให้รัฐสภาหรือให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นคนพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะถูกแต่งตั้งเป็นนายก 

“ถ้ามองในมุมของนักวิชาการและนักวิเคราะห์หลายคนก็จะมองว่า เป็นการเขียนข้อความที่ซับซ้อนและชี้ทางโดยเจตนา เราต้องมาจับตาดูว่า ประชามติที่จะเขียนอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าจะเขียนอย่างไร อีกทั้งรัฐธรรมนูญปี 60 ที่มีเนื้อหาทั้งหมด 279 มาตรา ก็มีปัญหาในเรื่องของเนื้อหาสาระที่ไม่เป็นไปตามมาตราฐานประชาธิปไตยสากล ถ้าเปรียบกับรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 เรามองว่ามีหลายอย่างที่ถดถอยทางประชาธิปไตย ยกตัวอย่าง เนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะประเทศไหนก็ตามควรจะทำหน้าที่อะไร 1) คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน 2) ต้องออกแบบสถาบันทางการเมืองโดยชอบธรรม คืออำนาจและที่มาต้องสอดคล้องกัน สถาบันทางการเมืองไหนมีอำนาจเยอะ ก็ต้องมีที่มายึดโยงกับประชาชนสูง เช่น การเลือกตั้ง เป็นต้น”

พริษฐ์กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่เป็นประชาธิปไตยจะต้องให้

ประชาชนมีส่วนร่วม ต้องเข้าคูหา 4 ครั้ง 1) ทำประชามติครั้งแรกก่อนยื่นร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เข้าสภาฯ 2) พอร่างที่เกี่ยวกับสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือสสร. ผ่าน 3 วาระแล้วก็ทำประชามติอีกรอบ 3) เลือกตั้ง สสร. 4) ไปโหวตรับรองรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่สสร.ร่างว่าจะรับหรือไม่ ซึ่งสามารถดำเนินการครั้งที่ 1 ได้ ภายใน 3 เดือนแรกได้เลย เราจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างเร็วคือ 2 ปี โมเดลนี้คือคิดตอนที่เราได้รับการเลือกตั้งเป็นรัฐบาลจากประชาชน พอเราไม่ได้เป็นรัฐบาลเราก็มาดูว่า รัฐบาลเพื่อไทยที่ถูกเลือกเป็นรัฐบาลเขามีวิธีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แบบเราไหม ซึ่งตอนแรกก็มองว่าสอดคล้องกับเรา อันนี้เป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทยก่อนที่จะถูกแต่งตั้งเป็นรัฐบาล แต่หลังจากถูกแต่งตั้งนโยบายหลายอย่างเปลี่ยนไป ไม่มีคำว่า สสร.ที่จะมาจากการเลือกตั้งจากประชาชน ต้องรอการจัดตั้งคณะกรรมการการศึกษาขึ้นมาก่อน ถึงจะมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่”พริษฐ์กล่าว

เหยื่อ 6 ตุลา 2519 – พฤษภาคม 2553 ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม

เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.พรรคก้าวไกลกล่าวในกิจกรรมจุดเทียนรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ว่าช่วงที่เธออายุ 17-18 ปีก็ได้เห็นภาพของคุณวิชิตชัย อมรกุลที่ถูกแขวนคอใต้ต้นมะขามและถูกใช้เก้าอี้ทุบตีอย่างทารุณจากอินเทอร์เน็ต ในใจตอนนั้นคิดว่าคงไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในไทย และคนในภาพก็คงไม่ใช่คนไทย แต่พอมารู้ว่าภาพดังกล่าวนี้เกิดขึ้นที่ประเทศไทย และทราบภายหลังว่า ศพที่ถูกทำร้ายนั้นเป็นคนอุบลฯ ก็รู้สึกค่อนข้างเจ็บปวด โดยเฉพาะการทำร้ายร่างไร้วิญญาณอันเป็นการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ด้วย นั่นคือความทรงจำครั้งแรก

เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.พรรคก้าวไกล

“ภาพเหตุการณ์ข 6 ตุลากลับมาตราตรึงอีกครั้ง คือ 2 ช่วงเวลาที่ทำให้คนในสังคมพูดถึงเหตุการณ์นี้เยอะมากคือ เหตุการณ์เดือนเมษายน – พฤษภาคม 2553 ที่คนเสื้อแดงถูกเข่นฆ่ากลางเมือง หลังจากนั้นมีการระลึกถึงเหตุการณ์คนเสื้อแดง และในขณะเดียวกันก็ได้ระลึกถึงคนในเหตุการณ์ 6 ตุลาด้วย กระแสสังคมเริ่มกลับมาให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ 6 ตุลาและเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงมากขึ้น”

“ไม่ว่าจะเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดง 2553 หรือเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลาคม 2519 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังไม่สามารถเอาคนผิดมาลงโทษ ที่ทุกวันนี้ก็ยังไม่เกิดขึ้น 47 ปีผ่านไปทำได้แค่ระลึกถึงแค่นั้นหรือไม่ แน่นอนการระลึกถึงไม่ได้สูญเปล่า ณ วันนี้สังคมมาไกลกันพอสมควรจากการระลึกถึง มีคณะทำงานด้านนี้อย่างเข้มแข็งในการสืบหาข้อมูลของคนในเหตุการณ์”

“สิ่งที่อยากเห็น คืออยากเห็นความยุติธรรม การคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กับคนในเหตุการณ์ 6 ตุลา ไม่ใช่แค่คนใน 6 ตุลา แต่ยังรวมไปถึงคนเสื้อแดง คนอื่นๆ ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากความรุนแรงที่เกิดจากรัฐ และฝากสังคมพิจารณาการพาประเทศไทยออกจากรัฐธรรมนูญปี 60 ที่เกิดจากคสช. เพราะหากไม่แก้ไข อาจเกิดเหตุการณ์วนเวียนซ้ำแล้วซ้ำเล่า” เบญจากล่าว 

นราสิทธิ์ วงษ์ประเสริฐ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในนามของ Ubon Agenda ผู้จัดงาน เปิดเผยกับ ‘เดอะลาวเด้อ’ ว่า การนำเสนอประเด็น ‘คนอุบลใน 6 ตุลา’ เพื่อให้คนอุบลได้รู้ว่ามีคนอุบลที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 หลายคน และอยากบันทึกประวัติศาสตร์ของคนเหล่านี้ไว้อย่างจริงจัง ทั้งคนอุบลที่เคยมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ 6 ตุลา และพบว่าแต่ละคนอายุมากแล้ว ต้องรีบรวบรวมข้อมูล อย่างน้อยต้องได้บันทึกเรื่องราวของพวกเขาไว้ 

นราสิทธิ์ วงษ์ประเสริฐ