หลังจากอ่านบทสัมภาษณ์ชุด คนอุบลใน 6 ตุลา ของเดอะลาวเด้อมา 5 – 6 ตอน ห้วงเวลากลางเดือนตุลาคม 2023 ที่ผ่านมา ผมได้รับมอบหมายจากอาจารย์ขรรค์เพชร ชายทวีป จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีให้ช่วยคุยเกี่ยวกับหนังเรื่อง ‘14 ตุลาสงครามประชาชน’ กำกับการแสดงโดย บัณฑิต ฤทธิ์ถกล ให้นักศึกษาฟังก่อนฉายหนังหน่อยได้ไหม นั่นทำให้ผมได้กลับไปดูภาพยนตร์เรื่องนี้อีกครั้งในรอบ 20 ปี ต่อไปนี้ คือ ประเด็นที่ผมนำเสนอ

14 ตุลาสงครามประชาชน’ สร้างปี 2001 หรือ 2544 หลังจากไทยมีรัฐธรรมนูญ 2540 มาสี่ปี และประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนก้าวหน้ามากที่สุดเท่าที่เคยมีและยังมีองค์กรอิสระเพื่อคานอำนาจรัฐบาล และมันกลายมรดกตกทอดมาถึงรัฐธรรมนูญ 2550 และ 2560 และองค์กรอิสระก็กลายเป็นมือตีนของอำนาจรัฐที่ทั้งเหนี่ยวรั้งและฉุดดึงความก้าวหน้าของประเทศชาติและเสรีประชาธิปไตย โดยเฉพาะในยุครัฐประหารตั้งแต่ปี 2014 จนกระทั่งปัจจุบันที่องค์กรเหล่านี้มีบทบาทอยู่

หากจากจะกล่าวถึงภาพยนตร์ไทยร่วมสมัยกับเหตุการณ์ทางการเมืองแล้ว เท่าที่ปรากฏก่อนหน้านี้คือ 1) เวลาในขวดแก้ว (1991) ดัดแปลงจากบทประพันธ์ของประภัสสร เสวิกุล ที่นำเสนอเรื่องราวความรักสามเศร้าที่มีเหตุการณ์ 14 ตุลาคม และ 6 ตุลาคม เป็นฉากหลัง 2) คู่กรรม 2 (1996 ) ดัดแปลงจากบทประพันธ์ของทมยันตี นักเขียนที่เคยปลุกระดมมวลชนทางสถานีวิทยุยานเกราะก่อนจะนำไปสู่การใช้ความรุนแรงกับนักศึกษาปัญญาชนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 6 ตุลาคม 1976 3) October Sonata ว่าด้วยความรักของคนหนุ่มสาวในเหตุการณ์เดือนตุลาคม นอกจากนี้ยังมีเรื่อง ลุงบุญมีระลึกชาติ (2010) ของอภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุล นำเสนอบาทแผลของชาวบ้านในพื้นที่การสู้รบในสงครามเย็น นอกจากนี้ยังมีเรื่อง ตั้งวง (2013) ของคงเดช จาตุรนต์รัศมี เรื่อง สิ้นเมษาฝนตกมาปรอยปรอย (2012) ของวิชชานนท์ สมอุ่มจารย์ ที่ให้เหตุการณ์ พฤษภาคม 2010 เป็นเพียงบรรยากาศบางเบา ภาพยนตร์เรื่อง ดาวคะนอง (2016) ที่นำเสนอชีวิตความฝันของคนที่เคยอยู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 1976 

ขณะที่ภาพยนตร์ของฝ่ายรัฐ ในยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม เน้นภาพยนตร์แนวสร้างชาติ อย่างเรื่อง บ้านไร่นาเรา (1942) พอเข้ายุคสงครามเย็นเต็มที่ (1960 – 1980) ภาพยนตร์กระแสหลักจำนวนมากสร้างภาพตัวผู้ร้ายของเรื่องเล่าเป็นผู้ก่อการร้าย (คอมมิวนิสต์) พระเอกเป็นตำรวจ ทหารทั้งในเครื่องแบบและปลอมตัวมา เช่น หนักแผ่นดิน (1977) แสดงนำและกำกับการแสดง โดยสมบัติ เมทะนี (บั้นปลายชีวิตเขาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของคนเสื้อแดง) และมีภาพยนตร์ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์และได้รับทุนสนับสนุนทุนจากสหรัฐอเมริกา เรื่อง ไฟเย็น (1965)

ส่วนภาพยนตร์ที่น่าจะเกี่ยวกับชุมชนริมน้ำโขงมากที่สุดที่อยากแนะนำให้ดูคือเรื่อง ‘ทองปาน’(1977) ที่นำเสนอชีวิตของคนที่ได้รับผลกระทบจาการสร้างเขื่อนปากชม ต้องระเหเร่ร่อนไปฉายที่ต่างประเทศหลายปี กว่าจะได้กลับมาฉายในประเทศไทยก็ต้องรอให้เหตุการณ์ทางการเมืองคลี่คลาย

14 ตุลาสงครามประชาชน นำเสนอความไม่ลงรอยของ 2 เหตุการณ์ที่ตัวละครเอกของเรื่องคื เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เข้าไปเกี่ยวข้อง คือ เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 1973 และห้วงเวลาที่เขาเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในช่วงปี 1975 – 1980 คือ 14 ตุลาคม 1973 เต็มไปด้วยความไม่ลงรอยของแกนนำที่นำโดย ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยกับแกนนำอย่างเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ขณะที่ชีวิตในป่า 5 ปีของเสกสรรค์ เขาก็ไม่ลงรอยกับฝ่ายนำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่สมาทานอุดมการณ์คอมมิวนิสต์จีน จนในที่สุด เขาต้องออกจากป่าเพื่อมามอบตัวกับทางการไทย 

14 ตุลา สงครามประชาชน เล่าเรื่องคู่ขนาน (parallel) ของ 2 ชุดเหตุการณ์ระหว่างสู้ในเมืองเป็นภาพขาวดำกับการต่อสู้ในป่าเป็นภาพสี ความดีของภาพยนตร์เรื่องนี้คือบทที่เขียนโดยเจ้าของเรื่องและเขาเป็นนักเลงโบราณขวานผ่าซาก มีความเป็นชายแท้แต่มีลีลาวรรณศิลป์คมคาย จนบางครั้งเรานึกว่ากำลังอ่านความเรียงอันเป็นงานเขียนที่ทรงพลังอย่างยิ่งของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 1973 ถือเป็นเหตุการณ์ทางการเมืองที่บุคคลที่เกี่ยวข้องโดยตรงและทางอ้อมต่างเชิดชูเป็นเหตุการณ์การลุกขึ้นสู้ของคนหนุ่มสาวที่ใฝ่ฝันถึงโลกเสรี ผู้ยอมพลีชีพเพื่อปลดปล่อยประชาชนจากอำนาจกดขี่ของเผด็จการทหารที่ปกครองประเทศไทยมายาวนานกว่า 20 ปี (นับตั้งแต่ 1950 – 1973) 

แต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 1973 ก็กลายเป็นแค่เครื่องรางของขลังของคนรุ่นนั้นจำนวนมากสำหรับเอาไว้คุยโม้โอ้อวดและกดข่มคนรุ่นอื่น อาจจะเป็นเพราะมันมีวีรกรรมและความโรแมนติกในชัยชนะมากกว่าเหตุการณ์ทางการเมืองอื่นๆ ส่วนลำดับรองลงมาก็จะเป็น เหตุการณ์พฤษภาคม 1992 ส่วนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 1976 ก็จะเป็นบาดแผลที่คนอยู่ในเหตุการณ์ลืมไม่ได้จำไม่ลง ส่วนเหตุการณ์ล้อมปราบคนเสื้อแดงในเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2010 นั้น คนเดือนตุลาทั้ง 1973 และ 1976 มองมันอย่างไร คนตุลาหลายคนแสดงตัวชัดเจนมากเมื่อมีการชุมนุมของ กปปส. เมื่อช่วงปลายปี 2013 – กลางปี 2014 และจากการชุมนุมของเยาวชนปลดแอก – ราษฎรในช่วงกลางปี 2019 – 2022 

วัฒน์ วรรลยางกูร (ต้องเนรเทศ,สำนักพิมพ์อ่าน, 2022) สรุปไว้อย่างเจ็บแสบแยบคายว่า 

‘14 ตุลา ไม่ใช่วันแห่งชัยชนะ และ 6 ตุลา ไม่ใช่วันแห่งความพ่ายแพ้

14 ตุลา คือวัน “เตะหมูเข้าปากหมา” และ 6 ตุลา คือวัน “หมาป่าขย้ำลูกแกะ” (หน้า 411)

และสามปีต่อมา สามปีต่อมา ในวันที่ 6 ตุลาคม ไอ้หมาป่าตัวเดิมนั้น ได้มาขย้ำเข่นฆ่าพวกเรา (คือคุณและผม)… (หน้า 414)

เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เคยบอกว่า ตัวเขาเองกลายเป็น ‘สิ่งชำรุดทางประวัติศาสตร์’ เขาเป็นเสรีนิยมที่อยู่ท่ามกลางสังคมที่ต้องเลือกระหว่างอยู่กับเผด็จการทหารภายใต้บงการศักดินาอนุรักษนิยมหรือเข้าป่าจับปืนภายใต้การชี้นำของพรรคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยภายใต้คอมมิวนิสต์จีน / โดยตัวเขาเองแล้วได้กำหนดชะตากรรมกับทุกเหตุการณ์ที่เขาได้มีส่วนร่วมอย่างกล้าหาญและหลังจากนั้นก็ทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวผ่านตัวหนังสืออย่างมีพลังและอยากแนะนำให้พวกคุณหาผลงานของเขามาอ่าน แม้จวบปัจจุบัน เสกสรรค์ ประเสริฐกุลก็ยังคงเป็นเสรีชนเสมอต้นเสมอปลาย

ส่วนคนเดือนตุลาคม ทั้ง 1973 และ 1976 มีจำนวนหนึ่งที่ยังยืนเด่นโดยท้าทาย หลายกลายเป็นผู้ลี้ภัย หลายคนเป็นกองหลังให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ แต่จำนวนมากกลายเป็น พคท.รอ.ในปัจจุบันที่ถูกตัวตนของเขาเองในอดีตจ้องตาและตั้งคำถามอยู่เป็นนิจ ส่วนพวกเขาในปัจจุบันจะหลบตาหรือกล้าสบตา หรือตอบคำถามตัวเองอย่างไรนั้น ผมไม่อาจรู้ได้