4 เมษายน 2567 Ubon Agenda ร่วมกับร้านส่งสาร กลุ่มคบเพลิง ตระการบ้านเฮาและเดอะอีสานเรคคอร์ด ได้จัดงานเสวนา “เรื่องราวหลากหลายในขบวนการผู้มีบุญ” ณ ร้านกาแฟส่งสาร Songsarn โดยภายในงานมีการร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยน เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ผู้มีบุญ ในหัวข้อ “จุดstart ผู้มีบุญ จากชัยชนะที่เขมราฐ สู่การสูญเสียที่สะพือ” และต่อด้วยหัวข้อ “ศิลปินรุ่นใหม่อุบลกับเรื่องราวประวัติศาสตร์ท้องถิ่น” และ “นักศึกษารุ่นใหม่นอกพื้นที่ที่สนใจประวัติศาสตร์ผีบุญ” ปิดท้ายด้วยการแสดง Residue in the River of Fear โดยนราสิทธิ์ วงษ์ประเสริฐ จากตรอกร้านส่งสาร ไปท่าน้ำมูล และแลนด์สไลด์อุบล 

วัชรินทร์ ผุดผ่อง
วัชรินทร์ ผุดผ่อง นักวิชาการที่สนใจเรื่องผู้มีบุญ

วัชรินทร์ ผุดผ่อง นักวิชาการที่สนใจเรื่องผู้มีบุญ กล่าวถึง จุดเริ่มต้นของขบวนการผู้มีบุญ จากชัยชนะที่เขมราฐ สู่การสูญเสียที่บ้านสะพือ อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานีว่า ตอนเด็ก ย่าได้เล่าถึงเหตุการณ์ที่มีญาติและคนรู้จักเข้าร่วมกับกบฏผู้มีบุญ ด้วยความที่ตนยังเด็กเลยไม่ได้สนใจอะไรมาก แต่พอโตขึ้นได้มีโอกาสอ่านหนังสือ กบฎผู้มีบุญ ด้วยความสงสัยเกี่ยวกับเหตุการณ์การต่อสู้ของชาวบ้านกับรัฐราชการที่ยาวนานเป็นปี ว่าทำไมรัฐถึงจัดการชาวบ้านไม่ได้  ทำให้ตัดสินใจศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์กบฏผีบุญเพิ่มเติม โดยตนได้มีโอกาสไปศึกษาหาข้อมูลที่หอจดหมายเหตุ มีเอกสารเกี่ยวกับกบฏผีบุญที่นักศึกษารวบรวมไว้ เป็นเอกสารเกี่ยวกับ โทรเลขที่สื่อสารระหว่างกรมสรรพสิทธิประสงค์และกรมพระดำรงกับส่วนกลาง พบว่าเริ่มมีการสื่อสารผ่านโทรเลขวันที่ 26 มีนาคม 2444 เหตุการณ์ตอนนี้มีการกระจายข่าวผ่านหมอลำ ผ่านกลอนลำ ผญา น่าสนใจตรงที่ว่าลำกันแบบไหนถึงรู้ว่าจะก่อกบฏขึ้น ข้อมูลที่อ่านเจอผ่านโทรเลข เมืองโขงเจียม เข้าปล้นเมืองเขมราฐ โดยยกทัพไปมากถึง 1000 คน และจับตัวเจ้าเมืองเป็นตัวประกัน อีกทั้งยังระบุข้อมูลเกี่ยวกับการเคลื่อนกองทัพในวันที่ 26 มีนาคมจากโขงเจียม 31 มีนาคมเคลื่อนจากตำบลเกษมมาโผล่ที่บ้านสะพือ 

ข้อมูลใหม่ที่ตนได้ศึกษาค้นพบเมื่อไม่นานจากทั้งนักวิชาการและหนังสือของไผท ภูธา พบว่า เจ้าเมืองเขมราฐ คือตัวตั้งตัวตี ข้อมูลใหม่ตรงนี้น่าสนใจ แต่ในทางราชการพบว่า ได้จับตัวเจ้าเมืองเป็นตัวประกัน เลยทำให้เราต้องไปศึกษากันต่อว่าเบื้องหลังของเจ้าเมืองเขมราฐกับกบฎผู้มีบุญ สรุปแล้วเป็นยังไง และเขมราฐในตอนนั้นมีสถานะเป็นเมืองหรือจังหวัด มีเมืองในสังกัดคือ อำนาจเจริญ โขงเจียม วารินชำราบ คำเขื่อนแก้ว ปัจจุบันคำเขื่อนแก้วอยู่ยโสธร วารินชำราบอยู่ในอุบลราชธานี แต่ทำไมถึงได้มาสังกัดในเขมราฐ คือสงสัยว่าโขงเจียมอยู่อีกฝั่งแต่ทำไมถึงได้ยกทัพไปตีอีกฝั่งที่อยู่อุบลราชธานี ทำไมไม่ลัดมาศรีเมืองใหม่ พอได้ไปศึกษาพบว่า คำเขื่อนแก้วอยู่ชานุมาน วารินชำราบอยู่ตรงศรีเมืองใหม่ โขงเจียมอยู่วังนาคอกเขตสี่เมืองใหม่ ตอนนั้นเจ้าเมืองเขมราฐไปอยู่บ้านนาแวงห่างจากเขมราฐประมาณ 10 กิโลเมตร 

ล่าสุดที่ได้ข้อมูลคือเจ้าเมืองโขงเจียมในพ.ศ.นั้น หนีข้ามฟากไปอยู่ลาว เพราะเกิดเหตุฝรั่งเศสเข้าครองเมืองที่อยู่แถบฝั่งช้าย อย่างชานุมานก็ต้องเป็นเขตของฝรั่งเศส และฝรั่งเศสเองก็ได้กำหนดเขตรัศมี 25 กิโลเมตรตลอดฝั่งแม่น้ำโขงเป็นเขตปลอดทหาร ทำให้สยามและส่วนกลางเข้าไปเขตรัศมีดังกล่าวไม่ได้ ฉะนั้น เขมราฐ โขงเจียม คำเขื่อนแก้ว เป็นเขตที่อยู่ในรัศมีที่ถูกปลดปล่อย 

“ถ้าย้อนกลับไปอีกเขตพื้นที่อีสานเกือบทั้งหมดคือเป็นลาว แม่น้ำโขงไม่ใช่เขตแดนแต่เป็นทางที่เชื่อมไปหากันของคนสองฝั่งโขงในอดีต ก่อนหน้านี้เราไม่ค่อยได้พูดถึงประวัติศาตร์ของอุบลราชธานีและท้องถิ่นเหมือนอย่างทุกวันนี้ คนสมัยก่อนก็ไม่มีการพูดถึงประวัติศาสตร์ของกบฎผีบุญ ถ้าเราได้ศึกษาประวัติศาสตร์ก่อนหน้าจะพบว่า ทำไมชาวบ้านในยุคนั้นอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง การเก็บภาษี เก็บส่วย จะเก็บแค่ชาวบ้าน ไม่เก็บเจ้าเมือง ไม่เก็บคนรวยแถมลดภาษีให้กับคนที่มีทรัพย์สินมาก ทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าทำไมถึงเก็บแค่เรา หลายคนบอกว่าไม่รู้จะรื้อฟื้นขึ้นมาทำไม ทำให้คนทะเลาะกัน สำหรับผมถ้าศึกษาประวัติศาตร์ต้องวางใจเป็นกลาง คิดภาพว่าถ้าเราไปอยู่ในพื้นที่ตรงนั้นและอยู่ในยุคนั้น จะยอมถูกขูดเลือดขูดเนื้อไหม ทั้งที่รู้อยู่เต็มอกว่ามันไม่ยุติธรรม” วัชรินทร์กล่าว

อภิรักษ์ สร้อยสวิง นักสะสมของเก่า

อภิรักษ์ สร้อยสวิง นักสะสมของเก่า กล่าวว่า เขาเติบโตมาพร้อมกับหนังเรื่องสุริโยไท พระนเรศวร สิ่งที่เจอในประวัติศาสตร์ไทย คือกรอบคิดแบบราชาชาตินิยม และถูกความคิดชาตินิยมแบบไทยไทยครอบมาตั้งแต่เด็ก จนได้มาสนใจเรื่องของเก่า จนทำให้ได้เข้ามาพูดคุยในหัวข้อ Items ผีบุญ  ใบลาน อาภรณ์ อาวุธ และRare items ผีบุญ 

จุดเปลี่ยนคือช่วงปี 2553 คือช่วงเรียนมหาวิทยาลัย เขาเริ่มตั้งคำถาม เริ่มฟังให้มากขึ้น จนเรียนจบ และได้มาใช้ชีวิตในอุบลราชธานี เริ่มสะสมของเก่า และได้เจอดาบเล่มแรกที่อยู่ในอุบลราชธานีคือ ดาบเหนือ เป็นดาบที่อยู่ในยุคปลายรัชกาลที่ 5 ซึ่งจะมากับพวกนายฮ้อยและสะสมมาเรื่อยๆ จนตั้งคำถามว่า อะไรคือดาบลาว 

ในช่วงแรกที่มีการสะสมไม่เจอดาบที่มาจากลาวเลย ใช้เวลาหลายเดือนมา กว่าจะเจอดาบลาวเล่มแรก พอศึกษาเรื่องของดาบไปเรื่อยๆ ก็เริ่มเข้าหาประวัติศาตร์ เกี่ยวกับสงคราม การรบในอีสาน มีเหตุการณ์การรบที่เรียกว่า ศึกโนนโพธิ์ กบฏผู้มีบุญ 

“เข้าใจว่ากลุ่มผู้มีบุญ เกิดในช่วงเดียวกันกับภาคเหนือตอนพระยาปราบสงคราม เราก็คิดว่าคนอีสานต้องภูมิใจมาก และเราก็เริ่มถามคนในยุคนั้นเมื่อ 5 ปีก่อน เกี่ยวกับผู้มีบุญ แต่สิ่งที่เราเจอคือ ความไม่กล้าพูดชาวบ้านที่ไม่รู้อะไรเลย รู้แค่ว่าชาวบ้านถือมีด ถือไม้ ไปไล่ตี เราก็เริ่มไม่มั่นใจ เพราะว่าทางเหนือ ตอนนั้นเกิด กบฏพญาผาบ ที่สยามไปจับคนที่ไม่จ่ายภาษี แต่พญาผาบรวบรวมพลแล้วไปช่วยคน คนในภาคเหนือยังมองว่า พญาผาบคือผีตนใหญ่ มีการเลี้ยงผี ทำบุญให้พญาผาบทุกปี ลูกหลานพญาผาบมีความภูมิใจต่อพญาผาบ เลยตกทอดมาที่คนล้านนา คนล้านนาจะภูมิใจเรื่องพวกนี้มาก แต่พอเป็นอีสาน ผมไม่เคยเจอเรื่องของดาบ ทำไมถึงไม่มีความภาคภูมิใจในเรื่องของศาสตราและเรื่องการต่อสู้ของตัวเองเท่าไหร่”อภิรักษ์กล่าว

จิรภัทร ศรีปราชญ์ เจ้าของเพจ avegee lllustrations

จิรภัทร ศรีปราชญ์ เจ้าของเพจ avegee lllusions ศิลปินที่สร้างสรรค์งานเกี่ยวกับผู้มีบุญกล่าวว่า ตนไม่ได้รู้ลึกเกี่ยวกับกบฏผีบุญมากเท่าไหร่ แต่ชอบศึกษาประวัติศาสตร์เกี่ยวกับท้องถิ่นและหยิบมากใช้ในการทำงานอยู่ตลอด ส่วนมากจะสืบหาข้อมูลจากหนังสือ อินเทอร์เน็ต คุยกับอาจารย์ ไม่ค่อยได้ลงพื้นที่ ตัวอย่างงานคอลเลคชั่นแรกจากผีบุญ ในหนึ่งคอลเลคชั่นจะเล่าเรื่องราวประมาณ 4 ภาพ เกี่ยวกับความเป็นมาของกบฏผีบุญ อย่างภาพคอนเลคชั่นแรกก็จะเป็นเรื่องราวในประวัติศาสตร์ก่อนจะเกิดกบฏผีบุญ คือชาวบ้านถูกเก็บภาษี 4 บาท ภาพนี้ก็จะสื่อออกมาประมาณว่าชาวบ้านกำลังพยายามจะขน วัว ควาย ไก่ เกวียน ไปขายเพื่อหาเงินมาจ่ายภาษีให้กับรัฐไทย ซึ่งถ้าจ่ายไม่ได้ ก็จะถูกเกณฑ์ไปเป็นแรงงาน ซึ่งเป็นภาพที่ชาวบ้านกลั้นน้ำตาหาเงินมาจ่ายภาษี ซึ่งถ่ายทอดออกมาเป็นภาพการ์ตูนเพื่อให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ 

“เราพยายามนำเสนออกไปเพื่อไม่ให้มันน่าเบื่อ นอกจากภาพนี้ที่เกี่ยวข้องกับกบฎผีบุญ ก็ยังมีภาพที่เกี่ยวกับการขุดบึง ภาพของชาวบ้านที่ถูกเกณฑ์ไปเป็นแรงงาน ทำงานจนเสียชีวิต หรือภาพของกบฏผีบุญที่ถูกตีขึงไว้ ซึ่งมันยังสะท้อนมาถึงยุคปัจจุบันเกี่ยวกับการถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร ผมก็เป็นหนึ่งในนั้น ตอนเป็นทหารก็ทำทุกอย่าง ไม่ได้พัก ผมก็เคยเป็นหนึ่งในแรงงานที่ถูกเกณฑ์ไป เลยทำให้เราเข้าใจความรู้สึกของคนที่ถูกเกณฑ์ไปเป็นแรงงาน จนเราได้มาทำงานศิลปะ เกี่ยวกับการเมือง การต่อสู้ และได้มาศึกษาเรื่องราวของกบฏผีบุญ ทำให้เราอินกับผลงานมาก ว่าครั้งหนึ่งการต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเองเคยเกิดมาแล้วและยังเกิดขึ้นอยู่”จิรภัทรกล่าว 

อิสเรศ เตชะเจริญกิจ นักศึกษาประวัติศาสตร์รุ่นใหม่ที่สนใจประวัติศาสตร์ผีบุญ

อิสเรศ เตชะเจริญกิจ นักศึกษาประวัติศาสตร์รุ่นใหม่ที่สนใจประวัติศาสตร์ผีบุญกล่าวว่า ความสนใจแรกที่มาศึกษาเรื่องผู้มีบุญ คือช่วงปี 2563 ที่มีการจัดงานชื่อว่า Ubon Agenda ซึ่งในงานมีการพูดถึงเรื่องผีบุญ แล้วมีสำนักข่าวหลายแห่งนำเสนอก็เจอตามอินเตอร์เน็ต แล้วมีงานที่ชื่อว่า 120 + 1 งานวันนั้นมีการแจกข้าว ในรูปผมเห็นว่ามีชาวบ้าน มีเด็ก คนแก่ ฝรั่ง มาฟังเรื่องผีบุญ มาแจกข้าวในงานเยอะมาก ทั้งทีเป็นประวัติศาตร์ 123 ปีที่ผ่านมา ทำไมต้องกลับมาพูดกันอีก หรือว่าการกลับมาพูดครั้งนี้คือการสื่อสาร สนทนาหรือสร้างไดอาล็อกใหม่ให้กับประวัติศาสตร์ชาติไทย ในกระแสหลักยังไง การมาเก็บข้อมูลในครั้งนี้คือการสนใจไปที่ นักเคลื่อนในอุบลฯ แหลนผีบุญ ทำไมถึงมีการสนทนาในร้านส่งสารกันในครั้งนี้ อยากมาเก็บบรรยากาศในการพูดคุยในวันนี้

การมาศึกษาเรื่องกบฏผีบุญ เกี่ยวข้องกับตัวเราในการเขียนงานประวัติศาตร์หรือประวัติศาสตร์นิพนธ์ ที่พูดถึงผีบุญกันใหม่ คือพอมาศึกษายังมีคนเข้าใจว่า ผีบุญ คือ โจร กบฏ หรือภาพผาหนังที่วัดบูรพา ที่มีรูปของผีบุญ ตั้งทัพ ทำร้ายชาวบ้าน ปล้น ก่อเหตุความรุนแรงกับทหาร อย่างเสวนาที่ขุหลุ ก็มีคนตั้งคำถาม ว่าทำไมต้องออกมาพูดเรื่องผีบุญทุกปี ในเมื่อผีบุญในความคิดเขาคือ โจร คนอื่น ใครก็ไม่รู้เข้ามาในตระการพืชผล ในความหมายของการจัดงานสำหรับผมคือการรำลึกและนึกถึง เลยทำให้ผมรู้สึกว่า ทำไมผีบุญถึงถูกฆ่าซ้ำแล้วซ้ำเล่า ฆ่าทั้งตัวตนและความคิด  ที่ผ่านมาก็ถูกฆ่าถึง 123 ครั้ง

“แล้วประวัติศาสตร์ชาติที่อยู่ในความเข้าใจของคนในท้องถิ่น พอได้มาศึกษาเราได้แง่มุมเกี่ยวกับการต่อสู้ของผีบุญ โดยใช้คำว่าเปิดหน้าดิน คำนี้สำหรับเราคือการที่เราจะทำให้เรื่องราวของผีบุญเป็นเรื่องราวอย่างหนึ่งที่เราจะถกเถียงเรื่องประวัติศาตร์ ผมเคยได้ยินอาจารย์ท่านหนึ่งบอกว่า การเขียนประวัติศาสตร์หรือการบันทึกทางประวัติศาตร์ เป็นเรื่องที่เราไม่สามารถบันทึกได้หมด ฉะนั้นประวัติศาตร์นิพนธ์ไม่ใช่ทั้งหมดของผีบุญ การที่มาพูดถึงผีบุญคือการสร้างพื้นที่ในการถกเถียงประวัติศาสตร์ ที่เกิดขึ้นในไทย ผีบุญสำหรับผมตอนนี้คือเปลี่ยนไปแล้ว ไม่ใช่แค่เหตุการณ์ความรุนแรง เมื่อ 123 ปีก่อน แต่ผีบุญอาจจะเป็นทุกคน เพราะคือประวัติศาสตร์การต่อสู้ของ ไพร่ การเรียนรู้เรื่องผีบุญคือการตอกย้ำความเป็นไพร่ของเราตัวเอง ซึ่งพอมองการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่กับผีบุญ เราได้มีโอกาสคุยกับพี่เจี๊ยบหรือแหลนของผีบุญ ชอบมีมุขขำๆ ที่คุยกันว่า นี่ก็ผีบุญ นู่นก็ผีบุญ หมาก็ผีบุญ คนก็ผีบุญ คือผีบุญกลายเป็นอัตลักษณ์ของการต่อสู้ ไม่ได้มีแค่การต่อสู้ที่แพ้ อย่างล่าสุดก็มีเพลงที่เป็นของผีบุญ เรามีงานอาร์ตที่เป็นงานผีบุญเยอะออกมาเยอะมาให้ได้ศึกษา” อิสเรศกล่าว