“เราได้รู้ว่าถึงความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ เราเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันกับมันอย่างเคารพ มนุษย์ไม่มีทางที่จะเอาชนะธรรมชาติได้ วันใดที่มนุษย์ทำร้ายธรรมชาติ แน่นอนว่าธรรมชาติจะหวนกลับคืนมาทำร้ายเรา”

เริ่มต้นเดือนเมษายนไปพร้อมกับเสียงของนักวิจัยอิสระ, นักธรรมชาติบำบัด และครูสอนโยคะ ในวัย 58 ปี ชื่อ ‘สดใส สร่างโศรก’ เป็นที่รู้จักดีของชาวบ้านในหลายหมู่บ้านใน อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี หรือรวมไปถึง อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ อันข้องเกี่ยวกับเขื่อนและการเรียกร้องให้หยุดทำลายสิ่งแวดล้อม 

สดใส สร่างโศรก นักวิจัยอิสระ

สดใส สร่างโศรก เป็นใคร

เป็นคนอุบลราชธานี เกิดและเติบโตที่วารินชำราบบ้านอยู่ใกล้ๆ สถานีรถไฟ จนกระทั่งได้ไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ เรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ในตอนแรกเรียนคณะบริหาร เรียนให้แม่ ผ่านไป 2 ปี บอกแม่ว่า ขอย้ายคณะมาเรียนเศรษฐศาสตร์การพัฒนา ขอเรียนเพื่อตนเอง  และจบปริญญาตรีมาก็ทำงานอยู่ที่อุบลราชธานีโดยเป็นนักพัฒนาเอกชน (NGO) ด้านทรัพยากรธรรมชาติ จากนั้นก็เรียนต่อจนจบปริญญาโทด้านการพัฒนาสังคม จากสถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า 

อะไรทำให้ได้เข้ามาเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ

คงเป็นเพราะการได้มีโอกาสได้ทำกิจกรรมในชมรมช่วงระหว่างที่เรียนที่รามคำแหง สำนึกการรับใช้สังคมและการเห็นคุณค่าทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  หลังเรียนจบปริญญาตรีตั้งใจกลับมาทำงานรับใช้สังคมที่บ้านเกิด  กลับมาหลังเหตุการณ์พฤษาคมพ.ศ.2535  โดยมาเป็นอาสาสมัครองค์กรกลาง หลังการเลืองตั้ง หลังจากนั้นก็มาทำงานด้านทรัพยากรป่าไม้ ที่ป่าดงนาทาม ซึ่งในปี 2536 -2537 ช่วงนั้น อดีตเจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติ  พระอาจารย์ปสันโน ภิกขุ ท่านไปสร้างวัดป่านานาชาติสาขาบ้านทุ่งนาเมือง ต.นาโพธิ์กลาง อ.โขงเจียม อุบลราชธานี  ท่านต้องการรักษาป่า และอยากให้ชาวบ้านอยู่กับป่าได้ด้วย ซึ่งมีปัญหาการลักลอบการตัดไม้ขาย และชาวบ้านมีปัญหาและความกังวลการถูกขับไล่เรื่องที่ทำกินในเขตป่าอุทยานแห่งชาติผาแต้ม  ซึ่งในความเป็นจริงแล้วอุทยานแห่งชาติผาแต้มประกาศตั้งปีพ.ศ.2533 แต่ชาวบ้านอยู่มาก่อนอุทยานนับร้อยกว่าปี 

เข้ามาทำงานก็เป็นส่วนหนึ่งที่ไปสร้างความร่วมมือให้คนก็รอดป่าก็รอด   ในตอนนั้นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติผาแต้มก็เป็นลูกศิษย์พระอาจารย์ปสันโน ความร่วมมือจึงเกิดขึ้นได้ ระหว่างพระ ชาวบ้าน เจ้าหน้าที่ของรัฐ คนทำงานพัฒนาอกชน เราเสนอให้แก้ปัญหาโดยให้ชาวบ้านทำแนวเขตป่าชุมชนของตนเองคือเขตที่ชาวบ้านจะเข้าไปใช้ประโยชน์และเขตที่ชาวบ้านจะกันไว้เลี้ยงวัวเขตที่จะกันไว้เพื่อรักษา ที่เหลือจากแนวเขตป่าชุมชน ก็เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ  และทำงานกับเด็กและเยาวชนสร้างจิตสำนึกในการรักษาป่าของตนเองต่อไป ทำเรื่องป่าอยู่ประมาณ 5 ปี จากนั้นพี่ทำงานกับชาวบ้านปากมูล ร่วมกับพี่น้องในเครือข่ายลุ่มน้ำมูล ก่อนหน้านี้ก็ทำงานเป็น NGO ด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะประเด็นเรื่องน้ำในภาคอีสาน

อยากให้ช่วยเล่าสักนิดถึงปัญหาของเขื่อนปากมูลที่ผ่านมา

เขื่อนปากมูล เริ่มสร้างปีพ.ศ. 2534 ก่อนก่อสร้างชาวบ้านทักท้วง เรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นและคัดค้านการก่อสร้าง   ต้นทุนสำหรับการสร้างเขื่อนที่มีการอนุมัติไว้ตอนแรกคือ 3,880 ล้านบาท ทว่าต้นทุนทั้งให้หมดในการก่อสร้างจริงอยู่ที่  6,600 ล้านบาท ซึ่งต้นทุนนี้ไมได้รวมดอกเบี้ยเงินกู้จากธนาคารโลก อีกทั้งการผลิตไฟฟ้าของเขื่อนเองก็ไม่ได้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ เขื่อนปากมูลสามารถเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้เพียง 40 เมกะวัตต์ จากที่ติดตั้งไว้ทั้งหมด 136 เมกะวัตต์   แค่นี้ก็ชี้ให้เห็นว่าโครงการเขื่อนปากมูลนั้นไม่มีความคุ้มทุน ถือเป็นโครงการที่ล้มเหลว ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน  รวมทั้งชีวิตชาวบ้านที่อยู่ 2 ฝั่งแม่น้ำมูล สูญเสียพื้นที่การทำมาหากิน ครอบครัวล่มสลาย แม้แต่สังคมในชุมชนก็แตกสลาย นี่คือความสูญเสียที่ไม่สามารถประเมินค่าได้ ข้อเสนอของชาวบ้านคือเรียกร้องให้เปิดเขื่อนถาวร ให้ปลากลับขึ้นมาวางไข่ในแม่น้ำมูลดังเดิม  ให้ชาวบ้านหาอยู่หากินได้เหมือนเดิม การไฟฟ้าหรือรัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบ ความเสียหายที่เกิดขึ้นนี้ รัฐต้องจ่ายค่าชดเชยให้ชาวบ้านเพื่อที่จะให้พวกเขาได้ไปตั้งตัว ขนาดข้าราชการทำงาน 50-60 ปียังได้บำนาญ แต่ชาวบ้านที่หากินกับน้ำมาหลายชั่วอายุคน แต่วันหนึ่งไม่สามารถเข้าไปหากินเพราะการสร้างเขื่อน นี่คือความไม่ยุติธรรม 

บริเวณรอบเขื่อนปากมูล

ตอนที่มีโครงการสร้างเขื่อนปากมูล สถานการณ์ในตอนนั้นเป็นอย่างไร

สถานการณ์ตอนนั้นมีการคัดค้านและการต่อสู่อย่างต่อเนื่อง โดยมีทั้งนักศึกษา นักพัฒนาองค์กรเอกชนทั้งด้านสิทธิมนุษยชนและด้านสิ่งแวดล้อมที่ร่วมกันลงไปหมู่บ้าน สนับสนุนชาวบ้าน ทั้งนี้ชาวบ้านที่อยู่รอบเขื่อนปากมูลได้มีการเคลื่อนไหวคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนปากมูล มาตั้งแต่เริ่มต้น เพราะเห็นบทเรียนจากเขื่อนสิรินธรที่ได้รับผลกระทบและไม่มีการชดเชยเยียวยา เลยทำให้ชาวบ้านตื่นตัวในการคัดค้านเขื่อนปากมูล เพราะกลัวสูญเสียที่ทำมาหากินเหมือนชาวบ้านที่เขื่อนสิรินธร 

ปีพ.ศ. 2533 ก่อนสร้างเขื่อนชาวบ้านเรียกร้องให้หยุดการสร้างเขื่อนและให้มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมที่จะเดินขึ้นต่อชาวบ้าน   

แต่การก่อสร้างเขื่อนปากมูลก็เดินหน้า เริ่มก่อสร้างปีพ.ศ.2534 และเริ่มมีการระเบิดแก่งที่บ้านหัวเหว่ ระหว่างนั้นทำให้มีปลาตายเป็นจำนวนมาก และทำให้ชาวบ้านไม่สามารถจับปลาได้เช่นเดิม ชาวบ้านมีการชุมนุมเรียกร้องมาอย่างต่อเนื่อง 

จากกลางเดือนตุลาคมพ.ศ. 2537 ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูลชุมนุมที่หน้าศาลากลางจังหวัดนานนับเดือนก่อนจะเดินเท้าจากศาลากลางจังหวัดกลับไปปักหลักชุมนุมที่สันเขื่อนปากมูลในเดือนธันวาคมยาวนานจนถึงเดือนมีนาคมพ.ศ. 2538 จึงได้รับคำตอบเรื่องการชดเชยค่าเสียโอกาสในการประกอบอาชีพประมงเป็นเวลา 3 ปีให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ โดยรัฐบาลจ่ายเป็นเงินชดเชยปีละ  3 หมื่นบาท จำนวน 3,955 ครอบครัว รวมครอบครัวละ 9 หมื่นบาท แต่รัฐบาลจ่ายเป็นเงินสดเพียง 3 หมื่นบาท เหลือ 6 หมื่นบาทให้นำมาตั้งสหกรณ์ปากมูล จำกัด  สุดท้ายสหกรณ์ปากมูลก็ล่มไม่สามารถการไปต่อได้ เพราะไม่ใช่ความต้องการของชาวบ้านที่แท้จริง  ซึ่งการจ่ายเงินนั้น มี 2กลุ่มคือกลุ่มสมัชชาคนซึ่งจะได้ 9 หมื่นบาท กลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้าน ได้ 6 หมื่นบาท (หลังสมัชชาคนจนได้เงิน กลุ่มกำนันก็ออกมาเรียนร้องตาม) ส่วนการชดเชยจากการสร้างเขื่อนนั้น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ในขณะนั้นได้กล่าวกับชาวบ้านว่าหลังจากเขื่อนปากมูลปิดไป 4 ปี ถ้าชาวบ้านจับปลาไม่ได้ จะจ่ายค่าชดเชยให้ชาวบ้านตามที่ชาวบ้านเรียกร้องมาแน่นอน เพราะกฟผ.เชื่อมั่นว่าจะมีปลาให้ชาวบ้านจับเพราะเขื่อนปากมูลมีบันได้ปลาโจน เป็นเส้นทางให้ปลาขึ้นจากแม่น้ำโขง แต่ผ่านมา 33 ปี ชาวบ้านยังไม่สามารถจับได้เช่นเหมือนที่เคยจับได้ก่อนมีเขื่อนปากมูล 

นอกจากนี้ผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูลกับสมัชชาคนจนยังได้ร่วมชุมนุม 99 วันหน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อปีพ.ศ. 2540

ปีพ.ศ. 2545 ผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ม.อุบลฯ) ที่ศึกษาผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูลมีข้อเสนอเรื่องการเปิด-ปิดเขื่อนเพื่อให้ปลาขึ้นมาวางไข่ในต้นฤดูปลาวางไข่ จากเดิมผลวิจัยมีข้อเสนอให้เปิดเขื่อน 8 เดือน ปิดเขื่อน 4 เดือน แต่มีการต่อรองให้มีการเปิดเขื่อน 4 เดือน ปิดเขื่อน 8 เดือน นับจากนั้นเป็นต้นมา เขื่อนปากมูลก็ต้องเปิดตามมติคณะรัฐมนตรีที่ยึดเอาผลการวิจัยของม.อุบลฯ แต่การเปิด – ปิดเขื่อนก็ไม่เป็นไปอัตโนมัติ ต้องให้ชาวบ้านกดดันหรือเรียกร้องเสมอ

จนถึงทุกวันนี้ ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูลก็ยังรวมตัวกันอยู่เพื่อเรียนร้องความเป็นธรรมให้กับตนเองและธรรมชาติ 

จนถึงทุกวันนี้ คนจะเข้าใจว่า ชาวบ้านปากมูลได้รับค่าชดเชยแล้ว ความจริง ยังเลยค่ะ ชาวบ้านเรียนร้องให้เปิดเขื่อนถาวร ถ้าไม่เป็นต้องชดเชยที่ดินให้ชาวบ้าน 15 ไร่ต่อครอบครัว อย่างที่กล่าวไป กฟผ.บอกว่า ถ้าจับปลาไม่ได้จริงๆ กฟผ.จะชดเชยให้ครอบครัวละ 15 ไร่ และเปิดเขื่อน 4 เขื่อนช่วงปลาวางไข่ รัฐไม่มีความจริงใจใดๆ ในการแก้ปัญหา ชาวบ้านจึงออกไปทวงสัญญาตลอด และทุกครั้งไปก็มีแต่ความว่างเปล่ากลับมา 

ปัจจุบันกำลังขับเคลื่อนในประเด็นใดบ้าง

ในประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม จะมีเรื่องการชดเชยสูญเสียรายได้จากการประกอบอาชีพจากป่าบุ่งป่าทาม กรณีเขื่อนราษีไศล คือรัฐบาลต้องจ่ายค่าชดเชยจากการเสียรายได้ สืบเนื่องมาจากการได้ร่วมทำงานเป็นหนึ่งในทีมวิจัยเรื่องการศึกษาการจ่ายค่าชดเชยจากการเสียรายได้เนื่องจากป่าบุ่ง ป่าทาม เขื่อนราษีไศล ผลการศึกษาพบว่าการสร้างเขื่อนราษีไศลได้สร้างผลกระทบต่อชาวบ้านและทรัพยากรธรรมชาติจริง กิจกรรมที่เคยทำในป่าบุ่งป่าทาม 20 กว่าอย่าง ได้ลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจน รายได้ที่ได้ก็สูญเสียไปด้วย  จนถึงวันนี้ยังไม่มีการจ่ายค่าชดเชย 

เขื่อนทุกเขื่อนในประเทศไทย ไม่เคยรับผิดชอบ ไม่เคยคิดถึงต้นทุนสิ่งแวดล้อมหรือสังคม ไม่เคยคิดถึงการสูญเสียที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นกับธรรมชาติ และชาวบ้านที่สูญเสียที่ทำมาหากิน

เรื่องต่อมาคือ เราควรจะเรียนรู้บทเรียนจากเขื่อนปากมูล เพราะเขื่อนเข้ามาเปลี่ยนแปลงธรรมชาติ ทำให้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชาวบ้านไปด้วย ทั้งปัจเจกบุคคล ชุมชน รวมไปถึงทรัพยากรธรรมชาติ ผลกระทบมากมายมาจากเขื่อนที่รัฐบาลไม่เคยคำนึงถึง เขื่อนปากมูลเป็นบทเรียนที่ดี เพราะเขื่อนภูงอยมีต้นแบบมาจากเขื่อนปากมูลที่จะสร้างเร็วๆ นี้ ในฐานะคนอุบลราชธานี เราได้รับรู้ประเด็นเรื่องน้ำท่วม น้ำอาจไม่ท่วมเราโดยตรง แต่ก็ท่วมคนอื่นๆ พี่น้องเครือข่ายที่เราทำงานด้วย คนอื่นๆ ที่เราเคยได้มีโอกาสช่วยเหลือ และเรื่องเขื่อนภูงอย ซึ่งจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง คนอุบลราชธานี ไปถึงราษีไศล น้ำจะไหลลงไปยังโขงเจียม ไปยังโขง ก็ไม่สามารถทำได้ นี่คือปัญหาที่เห็น จึงได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายจับตาน้ำท่วม อุบลราชธานีและแม่น้ำโขง และจึงอยากเชิญชวนให้ทุกคนร่วมลงชื่อคัดค้านเขื่อนภูงอย 

ความเป็นไปได้ในการดำเนินการสร้างเขื่อนภูงอย มีมากแค่ไหน

ประเทศลาวมีความพร้อมที่จะสร้าง แต่ต้องทราบก่อนว่าการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง จะมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากอีก 4 ประเทศซึ่งเป็นสมาชิกของคณะกรรมการลุ่มน้ำโขง ต้องผ่านกระบวนการนี้ แต่ตอนนี้ลาวทำ EIA ( Environmental Impact Assessment การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม) เสร็จแล้ว ลาวเคยยื่นหนังสือให้กับไทยเพื่อที่จะให้ไทยจัดเวที ซึ่งอย่างน้อยจะต้องจัดเวที 2 เวที ถ้าผ่านกระบวนการนี้เขาก็ไม่ได้สนใจว่าเวทีนั้นจะมีความคิดเห็นแบบไหน ถ้ามีข้อกังวลเขาก็บอกว่าจะไปแก้ปัญหา และเขื่อนจะสร้างต่อไป เท่ากับว่าเวทีที่จัดนั้นเป็นเวทีที่รับรองความชอบธรรมให้กับเขื่อนภูงอย กระบวนการนี้เป็นกระบวนการที่ไม่ชอบธรรม ในส่วนของไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบอกว่ายังไม่สามารถจัดเวทีนี้ขึ้นได้ เนื่องจากไทยเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นมากมาย  ไทยได้รับผลกระทบเต็มๆ แต่ในรายงานการศึกษาของเขื่อนภูงอยไม่มีการพูดถึงผลกระทบ ไม่มีการกล่าวถึงการแก้ไขปัญหาเมื่อผลกระทบเกิดขึ้นมา เป็นเหตุให้ไทยยังไม่จัดเวทีดังกล่าว ถ้าไทยเปิดเวทีเมื่อไหร่ ลาวได้สร้างแน่นอน และที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยไม่เคยแสดงความกังวลเรื่องผลกระทบจากเขื่อนมาก่อน มีแค่ครั้งนี้เท่านั้น นั่นแสดงว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รัฐบาลไทย รู้อยู่เต็มอกว่านี่คือหายนะอันใหญ่หลวงที่จะเกิดขึ้นกับไทย โดยเฉพาะชาวอุบลราชธานี เขื่อนสิรินธรสร้างมา 50 ปี เขื่อนปากมูลสร้างมา 30 กว่าปี ปัจจุบันยังแก้ปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านไม่ได้ และปัญหาใหม่ก็กำลังจะเกิดขึ้น

พื้นที่ใดบ้างที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากเขื่อนภูงอย 

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าเขื่อนภูงอยนั้นจะถูกสร้างที่ปากเซ ประเทศลาว ห่างจากเขื่อนปากมูลไปประมาณ 50-60 กิโลเมตร ระยะกักเก็บน้ำ 90 กิโลเมตร เพราะฉะนั้นผลกระทบจะเข้ามาที่แม่น้ำมูล แก่งตะนะ และเขื่อนปากมูล   ถ้าเกิดเลยขึ้นไปทางอ.โขงเจียม แม่น้ำโขงก็จะยาวไปถึงบ้านกุ่ม บ้านตามุย ซึ่งตรงนั้นเป็นพื้นที่จะวางแผนจะสร้างเขื่อนบ้านกุ่ม เป็นเขื่อนขั้นบันได นี่คือพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบเบื้องต้น และอุบลราชธานีทั้งจังหวัด น้ำที่ไหลจากแม่น้ำชี แม่น้ำชีไหลลงแม่น้ำมูลที่อ.วารินชำราบ แม่น้ำมูลก็ไหลมาจากโคราช ผ่านหลายๆ จังหวัด คิดดูว่าปริมาณน้ำมากมายขนาดไหนที่จะไม่สามารถไหลลงมาสู่น้ำโขงได้ และน้ำก็จะมากองอยู่ที่จ.อุบลราชธานี เพราะน้ำไม่สามารถไหลลงโขงได้ เนื่องจากเขื่อนภูงอยกั้นแม่น้ำโขง น้ำเต็มตลิ่งหรือพื้นที่เป็นลุ่มต่ำ ก็จะท่วมขังอยู่อย่างนั้น คนอุบลฯ เราเคยเห็นพื้นที่ที่ไม่เคยน้ำท่วมแต่ก็ยังท่วมมาแล้ว ครั้งล่าสุดที่น้ำท่วม 2 เดือนกว่าอย่างน้อยน้ำก็ไหลลงสู่โขงได้ เนื่องจากเขื่อนปากมูลเปิดประตู แต่หากมีเขื่อนภูงอย รับรองว่าน้ำไหลลงไม่ได้ พื้นที่ที่ไม่เคยท่วมก็จะท่วม พื้นที่เคยท่วมก็จะท่วมอย่างถาวร บอกหรือประเมินไม่ได้ว่าพื้นที่ไหนบ้างหรือจะท่วมในระดับใดบ้าง แต่อย่างน้อยเราเห็นร่องรอยว่ามันจะเกิดปัญหา ผลกระทบแน่นอน ชาวบ้านเขื่อนปากมูลหรือคนหาปลาก็จะหาปลาไม่ได้เพราะเขื่อนปิดกั้นทางขึ้นของปลาจากทะเลสาบกัมพูชา ผลกระทบจากเขื่อนภูงอยนี้เกิดขึ้นต่อคนทั้งภาคอีสานแน่นอน

ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าหรือไปจนถึงสิ้นปี เขื่อนภูงอยจะมีการเคลื่อนไหวอะไรหรือไม่ จากการคาดการณ์

ทางลาวก็คงจะมีความเคลื่อนไหว เพื่อที่จะทำให้เกิดการประชุมของคณะกรรมการลุ่มน้ำโขง ส่วนทางไทยก็คงต้องการเจรจาว่าทางลาวยังมีการศึกษาที่ไม่รอบด้าน ในส่วนของภาคประชาชนอย่างเราๆ ก็แสดงเจตนารมณ์ว่าไม่เห็นด้วย จะค้านการสร้างเขื่อนภูงอย 100%  หากในอนาคตการสร้างเขื่อนสำเร็จ คนที่จะต้องรับผิดชอบเมื่อเกิดผลกระทบกับประชาชนไทยคือ รัฐบาลลาว แต่สิ่งที่เราเรียกร้องให้รัฐบาลไทยทำคือ การหยุดซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนภูงอยและเขื่อนในแม่น้ำโขงทั้งหมด นี่คือสิ่งที่รัฐบาลไทยจะสามารถทำได้ และรับผิดชอบในฐานะรัฐบาลและเรียกร้องให้นายทุนไทยหยุดการสร้างเขื่อนที่ลาว 

อะไรเป็นแรงจูงใจให้ผู้หญิงตัวเล็กๆ เข้ามาทำงานในฐานะนักสิ่งแวดล้อมและปกป้องธรรมชาติร่วมกับชาวบ้าน

ตอนเด็กๆ มีโอกาสอ่านหนังสือพิมพ์ให้พ่อฟัง เนื่องจากที่บ้านเป็นร้านอาหาร ขายอาหารอีสาน เพราะฉะนั้นเราก็จะมีหนังสือพิมพ์ มีโอกาสได้ติดตามข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการเมือง ตั้งแต่เหตุการณ์ 6 ตุลาหรือ 14 ตุลาเองก็ตามและเหตุการณ์ทางการเมืองต่อจากนั้นมาเรื่อยๆ เห็นความไม่เป็นธรรมผ่านข่าวที่เราได้อ่าน บ้านเรายังมีความไม่เท่าเทียมกัน ชาวไร่ชาวนาถูกกดขี่ เราบ้านอยู่ที่วาริน ในตัวอำเภอ ได้มีโอกาสไปบ้านป้าที่เป็นเจ้าของโรงสีเห็นความทุกข์ยาก ตอนที่เราอ่านหนังสือพิมพ์ เรายังนึกภาพไม่ออก แต่พอเราไปที่นั่น เราเห็นของจริงกับตา ว่าแม้แต่ผ้าห่มที่จะใช้ทำให้ร่างกายอบอุ่นยังไม่มี และตั้งคำถามมาตลอดตั้งแต่เด็กว่า ทำไมคนถึงไม่เท่าเทียมกัน และตั้งคำถามกับตัวเองว่าคนเกิดมาทำไม  

จนกระทั่งได้มีโอกาสไปเรียนที่รามคำแหง ทำกิจกรรมต่างๆ เลือกชมรมค่ายลานนา เพราะเห็นสโลแกนของเขา ว่าด้วยเรื่องศึกษาปัญหาชนบท ไม่ทอดทิ้งชาวนา ก็ได้ไปทำกิจกรรม จบมาก็คิดว่าเราควรที่จะเป็นอีกคนที่ได้มารับใช้พี่น้อง ในฐานะที่มีโอกาสร่ำเรียนหนังสือ ภาษีของชาวไร่ชาวนา พูดง่ายๆ คือมีโอกาสมากกว่าคนทั่วไป ก็เลยกลับมาทำงานเป็น NGO ในประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม จริงๆ ก่อนหน้านั้นเคยทำงานกับคณะกรรมการองค์กรกลางการเลือกตั้ง  และหลังจากนั้นก็ได้เข้ามาทำงานกับชาวบ้านที่อยู่รอบๆ อุทยานแห่งชาติผาแต้ม ซึ่งในขณะนั้นชาวบ้านกับอุทยานก็กำลังมีปัญหากัน เรื่องพื้นที่อุทยาน ทับที่ชาวบ้าน ชาวบ้านอยู่มาก่อน แต่อุทยานประกาศเมื่อปีพ.ศ.2533 ดังนั้นจึงเป็นข้อขัดแย้งกัน แต่เราไปทำงานกับพระอาจารย์ท่านหนึ่ง ที่ท่านพยายามจะหาวิธีที่จะทำให้คนและป่าสามารถอยู่ร่วมกันได้ หน้าที่ที่ทำคือทำให้ทั้งสองฝ่ายเข้าใจกัน ทั้งชาวบ้านและอุทยานต้องอยู่ร่วมกัน และมีข้อตกลงว่าพื้นที่ไหนของชาวบ้านที่เคยทำมาหากิน พื้นที่ไหนที่ต้องเป็นป่าชุมชนและพื้นที่ไหนที่เป็นของอุทยานผาแต้ม เรามีการจัดการกันแบบนี้ในตอนที่ลงไปทำงาน

และจากนั้นก็ได้มาทำประเด็นเรื่องน้ำ ในตอนนั้นการชุมชุมเรียกร้องของพี่น้องเขื่อนปากมูล พี่น้องเขื่อนราษีไศล พี่น้องจากเขื่อนราษีไศลก็เป็นพี่น้องจากโครงการโขงชีมูล โครงการโขงชีมูลเป็นโครงการจะสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำมูล น้ำชี 20 กว่าเขื่อน เพื่อที่จะดึงน้ำโขงลงมาในแม่น้ำมูล น้ำชี เอาน้ำเข้าไปในพื้นที่ที่อยู่ห่างไกล แต่ปัญหาของเขื่อนราษีไศล พบว่าเมื่อสร้างเขื่อนแล้ว น้ำได้ไปท่วมพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ของชาวบ้าน ในขณะเดียวกัน ระยะเวลาของโครงการ 30 กว่าปี แต่พอสร้างขึ้นมาปีแรก พื้นที่ที่อยู่รอบๆ เขื่อนดันได้รับผลกระทบ และไปไม่ถึงระยะต่อๆ ไปที่จะดึงน้ำเข้าไปใช้ พื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์อย่างป่าทามของราษีไศล เป็นพื้นที่ที่แทบไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมี ฤดูน้ำหลาก น้ำมาไม่นานก็ลด และก็ทิ้งปุ๋ยอินทรีย์จากธรรมชาติไว้บริเวณนั้น แต่พอมีเขื่อนราษีไศล ซึ่งกักน้ำตลอดปี พื้นที่ที่ชาวบ้านเคยไปใช้ประโยชน์ ก็ทำไม่ได้ ทำให้ชาวบ้านต้องออกมาเรียกร้อง เราเองก็เคยได้ทำงานวิจัยว่าเขื่อนราษีไศลเกิดผลกระทบกับชาวบ้านอย่างไรบ้าง และพบว่าผลกระทบมีอยู่จริง และชาวบ้านก็นำวิจัยไปเสนอให้กับทางรัฐบาล งานวิจัยของราษีไศลออกทุกๆ 10 ปี 

ต่อมาในปีพ.ศ.2562 จึงเป็นที่มาของวิจัยว่าด้วยเรื่องการจ่ายค่าชดเชยให้กับชาวบ้านเท่าไหร่ ถึงจะเพียงพอและยุติธรรมกับชาวบ้าน

แม้กระทั่งเขื่อนปากมูล ก็ได้ศึกษาผลกระทบมิติด้านสุขภาพว่าเป็นอย่างไร และพบว่ามีผลกระทบเรื่องสุขภาพ ในที่นี้เราให้ความหมายใหม่ของคำว่ากระทบสุขภาพว่า ไม่ใช่แค่กาย แต่ยังเป็นสุขภาพใจด้วย มีข้อมูลชัดเจนว่าชาวบ้านที่อยู่ระแวกนั้น มีภาวะการป่วยทางสุขภาพใจ เปรียบเทียบกับอีกหมู่บ้านที่อยู่ห่างออกไปและไม่ได้มีผลกระทบ ขัดแย้งอะไร ไม่มีข้อมูลการไปพบหมอด้านสุขภาพจิต ทั้งหมดงานที่เราทำ มันก็ทำให้เราได้ใกล้ชิดกับชาวบ้าน ทั้งเป็นนักพัฒนาเอกชนและในบทบาทของนักวิจัย 

และจากคำถามและการร่วมกิจกรรมในเป็นนักศึกษา คิดว่าตัวเองได้คำตอบแล้ว จึงเลือกเส้นทางการทำงานกับชุมชนและทำงานด้านสิ่งแวดล้อม และสุดท้ายการใช้ชีวิตแบบใกล้ชิดกับธรรมชาติจนถึงทุกวันนี้

การออกมาจัดกิจกรรม วงเสวนา หรือการพานักข่าวลงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ มันสร้างการตระหนักให้ชาวบ้านมากน้อยแค่ไหน

มันสร้างความตระหนักและความเข้าใจมากขึ้น แบ่งเป็น 2 ส่วนคือคนที่อยู่ในตัวเมือง จะรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนชัดเจน ในขณะเดียวกันเมื่อก่อนมีเขื่อนปากมูล เขาอาจจะไม่สนใจ พอมีเขื่อนภูงอยเข้ามา เขารู้สึกถึงผลกระทบที่มันใกล้ตัวมากขึ้น และพี่น้องที่อยู่ปากมูลก็เคยมีประสบการณ์มากแล้ว ยิ่งให้กังวลเพิ่มมากขึ้น เพราะเขาลำบากกันอยู่แล้ว การที่ทุกคนมีโอกาสได้ไปเห็นไปสัมผัสข้อมูลข้อเท็จจริง มันสร้างการเรียนรู้โดยตรงอยู่แล้ว ความตระหนักเกิดขึ้นทั้งชาวบ้านและนักข่าว

สิ่งที่ทำให้ได้เรียนรู้ในการก้าวเข้ามาทำงานด้านนี้

เราได้รู้ว่าถึงความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ เราเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันกับมันอย่างเคารพ มนุษย์ไม่มีทางที่จะเอาชนะธรรมชาติได้ วันใดที่มนุษย์ทำร้ายธรรมชาติ แน่นอนว่าธรรมชาติจะหวนกลับคืนมาทำร้ายเรา อย่างกรณีน้ำท่วมจ.อุบลราชธานี อุบลราชธานีเป็นเมืองลุ่ม เป็นเมืองแม่น้ำจากทุกที่ไหลลงมารวมกันและไหลลงน้ำโขง แต่พอเราไม่ได้เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับความเป็นเมืองน้ำ เมื่อน้ำหลาก ท่วมไม่มากก็ลดลง ธรรมชาติมีทิศทางของมัน แต่พอมีเขื่อนเเข้ามากั้นทิศทางของน้ำ วันนี้เราคงได้เห็นว่าธรรมชาติลงโทษเราอย่างไร ธรรมชาติยิ่งใหญ่กว่าที่เราจะไปควบคุม  

คลิกเพื่อลงชื่อค้านเขื่อนพูงอย