การไล่รื้อชุมชน ยังคงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ปัจจุบันมีชุมชนที่ถูกไล่รื้อมากถึง 103 ชุมชน ข้อมูลจากเครือข่ายสลัมสี่ภาคระบุสาเหตุของการถูกไล่รื้อเกิดจากโครงการพัฒนาของรัฐและเอกชนที่ถือครองที่ดินเพื่อต้องการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ทำให้ชาวบ้านที่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าว ได้รับผลกระทบ เนื่องจากส่วนใหญ่คนในชุมชนเป็นแรงงานหาเช้ากินค่ำ รายได้ขั้นต่ำ ไม่สามารถหาที่อยู่ใหม่ได้เพราะไม่มีเงินมากพอที่จะหาบ้านใหม่ในราคาที่สูงกว่ารายได้  อีกทั้งคนในชุมชนมาบุกเบิกพื้นที่ตั้งแต่อดีต เข้ามาสร้างบ้าน สร้างครอบครัว ทำให้เกิดความผูกพันและมองว่าที่แห่งนี้คือ บ้านเกิดของตน 

“เราเกิดที่นี่ค่ะ รุ่นพ่อ รุ่นแม่ ก็เป็นคนที่นี่ ไม่ได้ย้ายมาจากที่ไหน ที่ผ่านมาเลยต้องต่อสู้เพื่อให้ได้อยู่ที่บ้านเกิดของเรา ทั้งจัดม็อบ โดนดำเนินคดี เดินประท้วง ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้อยู่ต่อ”

เสียงจากคนในชุมชนสะพานร่วมใจ แขวงสนามบิน เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร เล่าถึงความรู้สึกที่ผ่านมากับการต่อสู้เพื่อที่อยู่อาศัยและชีวิตที่เติบโตอยู่ในพื้นที่บ้านเกิดของตนกับปัญหาการถูกรื้อถอดที่อยู่อาศัยของคนจนเมืองในเขตกรุงเทพฯ ชุมชนแห่งนี้เริ่มมีมาตั้งแต่ พ.ศ.2474 โดยมีคนมาบุกเบิกเพื่อหาที่อยู่อาศัย สมัยก่อนบริเวณนี้เคยเป็นทุ่งนาและวิถีชีวิตของคนในชุมชนตอนนั้นคือการเป็นชาวนา 

จนเมื่อ พ.ศ.2504 มีการก่อสร้างถนนและเวนคืนที่ดิน เพื่อนำหน้าดินไปถมถนนวิภาวดีรังสิตและมีการสร้างโรงงานในพื้นที่ทำให้มีน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมไหลเข้าชุมชน วิถีชีวิตคนในชุมชนที่เคยทำนาต้องเปลี่ยนมาเป็นแรงงานแทน จากนั้นผู้คนก็เริ่มหลั่งไหลเข้ามาทำงานโรงงานมากขึ้น มีการสร้างที่อยู่อาศัยในชุมชน จนปีพ.ศ. 2542 มีการจดทะเบียนจัดตั้งชุมชน โดยคณะกรรมการชุมชนสำนักงานเขตดอนเมืองรับรองชุมชนแห่งนี้ โดยมีทั้งหมด 90 ครัวเรือน 

พ.ศ.2562 เริ่มมีการสร้างสำนักงานกรมทางหลวงในพื้นที่ชุมชน และประกาศให้ชุมชนย้ายออกจากพื้นที่ภายใน 15 วัน ซึ่งตอนนั้นมี 31 ครัวเรือนอยู่ในพื้นที่ของกรมทางหลวง 65 ครัวเรือนอยู่ในพื้นที่ลำรางสาธารณะ

ชาวบ้านได้รับจดหมายจากผู้อำนวยการแขวงการทาง ให้รื้อถอนและย้ายบ้านเรือนออกไป เพราะแขวงทางจำเป็นต้องก่อสร้างสำนักงานและบ้านพักพนักงาน ทำให้คนในชุมชนเริ่มประท้วงต่อต้านเพื่อบ้านเกิดของตนเอง “เดอะลาวเด้อ”ได้ลงพื้นที่สัมภาษณ์คนในชุมชนสะพานร่วมใจเกี่ยวกับประวัติความเป็นมา การต่อสู้ และผลกระทบที่ชาวบ้านต้องเผชิญ

เกิด เติบโต ใช้ชีวิตในที่แห่งนี้

ส่งศรี จิตต์สามารถ อายุ 68 ปี กล่าวว่า ตนเกิดและเติบโตมาในชุมชนแห่งนี้ไม่ได้ย้ายมาจากที่ไหน ชีวิตที่ผ่านมาพอเรียนจบก็มาทำงานที่โรงงานใกล้ชุมชน ตอนนั้นได้ค่าแรงวันละ 23 บาท ได้เงินเดือน 510 บาท 

“ตั้งแต่เด็กเราก็คิดมาตลอดว่าคงไม่มีใครมายึดที่ดินตรงนี้ เพราะบริเวณนี้เป็นบึงน้ำใหญ่ ยังไงก็ไม่มีใครมาเอา เราพูดแบบนี้กับพี่น้องทุกคน จนวันดีคืนดีมีรถขนดินมาถมบึงทุกวัน เป็นเพราะกรมทางหลวงเขาถูกไล่ที่มา ด้วยความที่เขาเป็นภาครัฐ มีเงิน มีอำนาจ มีทุกอย่าง แต่เราไม่มีอะไร จากนั้นก็ มีจดหมายส่งมาให้เราย้ายออกจากพื้นที่ พอเราไปพูดก็ไม่มีใครรับฟัง ยิ่งไปคนเดียวยิ่งไม่ได้อะไรเลย นักข่าวที่มาถามกี่รอบๆ คำพูดเราเหมือนเดิมทุกอย่าง ก็พ่อแม่เราเกิดที่นี้ เราเกิดที่ตรงนี้จะให้ทำยังไง ถ้าถามว่าท้อไหมคือท้อมาก เหนื่อยมาก คนเข้าใจเรื่องนี้ก็น้อยมาก”

เป็นคนกรุงเทพฯ แต่เป็นคนจน ไม่มีไฟฟ้า – ประปาใช้

“ในอดีตเราได้มีโอกาสไปเรียนหนังสืออยู่ที่อยุธยา มีเพื่อนบอกว่าอยากไปเที่ยวบ้านเราเพราะเป็นกรุงเทพฯ พอมาถึงบ้าน ไฟฟ้าก็ไม่มี น้ำประปาก็ไม่มี แถมเครื่องบินบินผ่านเสียงดังอีก เพื่อนถามว่าเรานอนได้ยังไง ก็เราเกิดที่นี่ตั้งแต่เด็กและชินไปแล้ว ทุกเย็นเราต้องไปหาบน้ำมาอาบวันละ 200 ลิตร หาบทุกวัน ถามว่าตอนนั้นเรามีความสุขไหม “เรามีความสุขนะ” เพื่อนบอกว่า เราคนกรุงเทพฯ ไม่มีไฟใช้ได้ยังไง “เพราะเพื่อนคิดว่าอยู่กรุงเทพต้องสบายมีพร้อมทุกอย่าง” “แต่ในความจริงแล้วไม่ใช่”  ไฟฟ้านี่เพิ่งได้ใช้ตอนขอเป็นชุมชนเมื่อปี 2532 ระหว่างนั้นเราก็ไปเสียบต่อจากที่อื่น ซึ่งค่าไฟแพงมาก เราไปทำเรื่องที่ไหน เขาก็ไม่มาจัดทำไฟฟ้าให้เรา เพราะเขามองว่าเป็นที่บุกรุก พอมีบ้านเลขที่ถึงมาติดตั้งไฟให้ ไปเดินเรื่องขอไฟกันเอง เริ่มเป็นชุมชนเข้ากับเขต ตั้งแต่เป็นชุมชนทุกอย่างก็ดีขึ้น

เมื่อรู้ว่าต้องถูกไล่ไปจากบ้านเกิด 

“ เราชุมนุมกันเองครั้งแรก ไม่มีความหวังว่าจะได้อยู่ต่อเลย แต่เราก็สู้ ทั้งจัดม็อบ ร้องเรียกถึงหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้เขาช่วย ไปหาตั้งหลายครั้ง เดินทางไปหากรมทางหลวงนับครั้งไม่ถ้วน พาไปไหนเราไปหมด เข้าไปถามเขาว่า “พื้นที่ตรงนี้ไม่มีทางที่จะแบ่งให้เราได้พักอาศัยสักนิดเลยหรือ? เขาบอกว่าไม่มี” เราก็ถามว่าแล้วจะให้เราไปอยู่ที่ไหน เราเกิดและเติบโตจากที่ตรงนี้ บ้านที่อื่นก็ไม่มี เราชาวบ้านคนธรรมดา ก็เลยขอว่าขอที่ดินไม่เยอะ แค่พออยู่กันได้ แค่ไหนก็เอา ต้นตระกูลหมู่บ้านก็ตรงที่เรายืนอยู่ตรงนี้ล่ะ”

“ไม่ใช่ว่าไม่คิดอยากย้าย แต่พอไปดูที่ใหม่  9 ไร่ 51 ล้านบาท เราจะหาเงินจากที่ไหนจ่าย คนในชุมชนก็ทำมาหากินในระดับล่าง ไม่ได้มีเงินเยอะ ไปไหนก็ไม่ได้ อีกอย่างลูกหลานก็เรียนตรงนี้ ให้ไปแถวหนองแขม แถวนวนคร เราก็ไปไม่ได้ บริบทของเรามันอยู่แค่ตรงนี้ ไปดูแถวสายไหมเขามีข้าราชการที่ดีอย่าง ดร.สมชาย เวรัชตระกูล เขาสามารถชื้อที่ปลูกบ้านให้คนในชุมชนได้อยู่ เพราะมีเงิน แต่เราไม่มีใคร แถวอื่นเขามีนักการเมืองที่อยู่ในพื้นที่และมีที่ดิน แต่นักการเมืองในพื้นที่เราเขาไม่ได้เป็นคนในพื้นที่ เขาไม่เคยมาช่วยเราเลย มาแค่หาเสียง เขาไม่เคยมาเดินดูเลยว่าชุมชนอยู่ยังไง”

สิ่งที่เรากังวลมากที่สุดที่ตอนนี้

“สิ่งที่กังวลคือช่วงที่เปลี่ยนรัฐบาล” ยอมรับเลยว่าตอนที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม อยู่คือดีมาก เราไปหาเขาไปยื่นหนังสือให้เขา ตอบรับทุกอย่าง ทำทุกอย่าง ให้ลูกน้องมาดู ทำ MOU ระหว่างกรมทางหลวง กรมธนารักษ์ ตั้งแต่เปลี่ยนรัฐบาลมา เรายังไม่เคยได้เข้าถึงรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมเลย ได้อยู่แต่ข้างนอก ไปอยู่ทั้งวันเข้าถึงได้แค่คนเดียวคือ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เขาบอกกับเราว่าจะช่วยผลักดันตรงนี้ให้ ไม่ต้องกลัว

“ที่ผ่านมาเรายังอยู่ที่ชุมชนได้เพราะมี “เครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ” (ชมฟ.) เข้ามาช่วยเหลือแนะนำว่าต้องทำยังไง ตอนนี้เราต้องเช่าพื้นที่เพื่อได้อยู่อาศัยต่อ แต่มีปัญหาตรงที่เขาคิดค่าเช่าเราแพง ที่อื่นจะประมาณ 2 บาท 50 สตางค์ แต่กับเราตอนแรกเขาบอกว่า 15 บาท ลดลงมา 13 บาท ตอนนี้ 8 บาท แต่เราก็ยังมองว่าแพงอยู่ดี ซึ่งตอนนี้กำลังจะไปยื่นขอ 5 บาท เขาบอกว่าที่คิดแพงเพราะที่ดินไม่มีโฉนด แต่ของเรามีโฉนด คือจะมาอ้างอย่างนี้กับชาวบ้านก็ไม่ถูกต้อง บางทีก็ท้อ 5 บาทสำหรับคนจนๆ อย่างเรา ถึงแม้เขาจะไม่ให้ที่ดินเราเยอะ แต่เราก็ต้องเช่าทั้งผืน เราต้องรับผิดชอบร่วมกัน”