ดวงแก้ว พรชิตา ฟ้าประทานไพร

หากพูดถึงอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ หลายคนอาจคิดถึงภูเขา พื้นที่ธรรมชาติที่สวยงาม แต่ทว่าพื้นที่อันสวยงามแห่งนั้นกำลังถูกรุกล้ำด้วยการเข้ามาของเอกชนที่พยายามจะสร้างเหมืองถ่านหิน ซึ่งอยู่ห่างจากชุมชนเพียง 1 กิโลเมตร 

‘กะเบอะดิน’ เป็นชุมชนที่จะได้ผลกระทบมากที่สุดหากมีการสร้างเหมืองแร่นี้ขึ้นมาเพราะ อยู่ห่างจากพื้นที่เหมืองแร่เพียง 1 กิโลเมตร  และการที่จะเข้าไปในเหมืองแร่ต้องผ่านหมู่บ้านซึ่งอาจทำให้ถนนที่ใช้สัญจรของคนในหมู่บ้านพังเสียหาย และเสี่ยงต่ออุบัติเหตูได้ง่าย

ดวงแก้ว พรชิตา ฟ้าประทานไพร หนึ่งในเยาวชนกะเบอะดินที่ออกมาเคลื่อนไหวเกี่ยวกับประเด็นการสร้างเหมืองแร่และเป็นผู้นำที่ออกมาต่อสู้เพื่อขับเคลื่อนเรื่องชาติพันธุ์ และการจัดการทรัพยากร

เดอะลาวเด้อ จึงคุยกับดวงแก้วถึงการต่อสู้เพื่อชุมชน การเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนเรื่องสิทธิต่างๆ และจุดเริ่มต้นของการเข้ามาเคลื่อยไหวครั้งนี้

ก่อนที่จะมาเคลื่อนไหว ทำอะไรมาก่อน

เรียนจบม.6 แล้วก็ไม่เรียนต่อ เพราะมีเรื่องเหมืองที่จะสร้างผลกระทบต่อชุมชน เลยตัดสิรใจร่วมต่อสู้กับคนในชุมชน

อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้รู้สึกว่าต้องออกมาเคลื่อนไหว

จริงๆ ตอนนั้นทุกคนลุกขึ้นมาไม่ใช่แค่กะเบอะดิน แต่ทั้งอำเภออมก๋อยลุกขึ้นมาว่าไม่เอาเหมือง และก็มีการเดินขบวน มีการยื่นหนังสือต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นอำเภอ ศูนย์ดำรงธรรม เพื่อที่จะคัดค้านในเรื่องนี้ ทุกคนต้องทำหน้าที่นี้ ต้องไปเดินขบวนเพื่อที่จะไปช่วยทีม 

เขาทำทั่วอำเภอ เราก็เป็นคนนึงที่ไปร่วม และมีภาคีเครือข่ายมาร่วมเป็นทีมที่มีความรู้เรื่องกฎหมาย หรือว่าทีมที่มีความรู้เรื่องการขับเคลื่อนขบวน เขาก็พาลงพื้นที่ เข้ามาคุย พาทำกิจกรรม ถามความรู้สึก บ้านเรามีปัญหาอะไร และเริ่มคิดว่าเราจะทำกิจกรรมอะไรดี เริ่มจากเยาวชนก่อน แต่ชาวบ้านก็มีการไปร่วมขบวนเหมือนกัน แต่เยาวชนเป็นหลักในการลุกขึ้นมา เราก็ได้ร่วมทำกิจกรรมตั้งแต่วันนั้นกับพี่ๆ 

ตอนแรกเราตั้งคำถามในใจ เข้าใจแค่ว่าไม่เอาเหมืองแล้วก็จบ เราก็ยื่นหนังสือให้นายอำเภอ หรือยื่นหนังสือที่ศูนย์ดำรงธรรมแล้วก็จบ ไม่ได้คิดว่าจะยืดเยื้อมาถึงปี 2567 ขนาดนี้

พอออกมาเคลื่อนไหว เรากลัวไหม

ตอนแรกกลัว เพราะมีการข่มขู่ว่าบริษัทเขามีอำนาจ เขามีเงิน มีมือปืนด้วย เข้าใจว่าก่อนที่เขาจะมามันมีการต่อสู้ก่อนหน้านั้น มีคนไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ มีการเล่ากันว่าบริษัทนั้นสั่งคนให้มาคุยกับคนที่ไม่เห็นด้วย เป็นเรื่องที่เล่าตั้งแต่เราลุกขึ้นมาต่อสู้ ที่พูดๆ กันว่ามีปืน เขามาคุยว่า ไม่เห็นด้วยเพราะอะไร เขามีงบประมาณที่จะมาซื้อนู้นนี่ให้ เขาไม่ได้ขู่ ไม่ได้จะฆ่า แต่เขาใช้วิธีเอาเงิน เอารถ มาให้มากกว่า หลังจากนั้นก็รู้จักสิทธิของตนเอง หมายถึงว่าหลังจากนั้นมันมีเครือข่ายที่ทำเรื่องกฎหมาย หรือมี case study ให้เราไปศึกษา ดูคลิปวิดีโอทำให้เรารู้สึกหายกังวล แต่ความกังวลก็มีบ้างในบางครั้ง บางครั้งที่ผู้นำพูดถึงเรื่องการต่อสู้ ว่าสู้ไปก็เสียเปล่า คนนี้ถูกจับตามานานแล้ว รู้หมดเรื่องของคนในครอบครัว แต่ก็ไม่กลัว ไม่แคร์

การออกมาต่อสู้ครั้งนี้มีปัญหาอะไรที่ติดขัดไหม

เยอะเลย เป็นสิ่งที่ตัวชุมชน รวมถึงตัวเอง ไม่เคยต่อสู้เรื่องนี้มาก่อน และไม่เคยรู้ว่าการต่อสู้มีอยู่บนโลกใบนี้ด้วย หมายถึงว่า ทุกคนเจอปัญหาเรื่องนี้หมด อย่างจังหวัดอุดร ลำปาง แม่เมาะ มีปัญหาเรื่องนี้หมด ซึ่งเราไม่เคยรู้ 

ปัญหาอีกอย่างก็คือเรื่องภาษา การสื่อสาร ไม่ได้ชำนาญ ไม่ได้เก่งเรื่องการสื่อสาร แต่ว่าก็ฝึกฝนตัวเองเพื่อที่จะสื่อสาร ภาษา อย่างชาวบ้านที่นี่เป็นกระเหรี่ยง การสื่อสารภาษาไทยกับภาษาถิ่นก็ค่อนข้างลำบาก อีกอย่างทีมเราอยากจะทำอะไร ก็ต้องพูดทั้งภาษาไทยและภาษาถิ่น รวมไปถึงการเดินทาง ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้ออกไปข้างนอก ไม่ชินกับการเดินทางเข้าเมืองเชียงใหม่ พอสู้ ก็ต้องเดินทางไปอบรมบ้าง เป็นความท้าทายอีกอย่างหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นเรื่องปากท้องของตัวเอง ต่อสู้ไปก็ต้องทำงาน ทำสวนไปเพื่อเลี้ยงชีพ ต้องแบ่งเวลาไปทำอย่างอื่นด้วย เวลาส่วนตัวแทบไม่มีเลยสำหรับคนที่ออกมาต่อสู้

ครอบครัวว่ายังไงบ้าง

ช่วงแรกๆ ก็กังวล เป็นห่วงเราในฐานะที่เป็นผู้หญิง และลุกขึ้นมาต่อสู้ แต่ก็มีเพื่อนหรือคนในชุมชนในพื้นที่ทางผ่านที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ไม่ใช่แค่เรา 

มีหลายคนที่ไม่เห็นด้วย ทำให้เขากังวลในที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้ พื้นที่เราไม่เคยมีเหตุการณ์ร้ายแรงเหมือนที่อื่น ไม่มีตำรวจสันติบาลมาลงพื้นที่ มาคุกคามครอบครัวหรือมาติดตาม มีแต่ขมขู่ด้วยการพูดให้หวาดกลัว และเรากับภาคีเครือข่าย ก็ประเมินความเสี่ยงมาโดยตลอด การทำกิจกรรมหรือทำอะไรต่างๆ ก็ประเมินตลอดว่าจะเข้าข่ายโดนคดีไหม การจะไปไหนมาไหนเราต้องรายงานกันและกันตลอด เป็นความปลอดภัยเบื้องต้น

อะไรเป็นสาเหตุสำคัญให้ผู้หญิงลุกขึ้นมาสู้

จริงๆ มีทั้งหญิงและชายที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ แต่เราน่าจะสื่อสารด้วยบุคลิกส่วนตัว เรามีความสามารถในการสื่อสารกับการสื่อสารกับคนนอกหรือคนในภาคีเครือข่ายประเมินมาแล้วว่าสามารถสื่อสารได้ ช่วงแรกๆ ที่เราทำ ก็ยังไม่มั่นใจในการสื่อสารของเรา รู้สึกว่าตัวเองพูดไม่ได้

จุดแข็งของผู้หญิงในชุมชนของเราคืออะไร 

กล้าแสดงออก กล้าพูด ผู้ชายก็เช่นกัน แต่ด้วยบทบาทของผู้ชายจะอยู่ในแนวหลังมากกว่า เป็นทีมการ์ด ดูแลความปลอดภัย จัดสถานที่ ผู้หญิงมีบทบาทในแนวหน้าคือการวางแผนทำกิจกรรม การพูด การสื่อสาร

ก่อนที่จะมีการต่อสู้เกิดขึ้น ผู้หญิงในชุมชนมีบทบาท/หน้าที่อะไรบ้าง

ก็ทั่วไป ไปทำงาน ทำงานบ้าน ทำครัว แต่เรารู้สึกว่าหลายๆ เรื่องบางคนก็ช่วยกัน บางครอบครัวผู้หญิงก็ทำเยอะกว่า บางครอบครัวผู้ชายก็ทำเยอะกว่า

ผู้ชายในชุมชนเขาคิดเห็นหรือแสดงออกอย่างไรที่ผู้หญิงเป็นผู้นำในการเคลื่อนไหว

เขาไม่ได้คิดเห็นอย่างไร บางคนเขาก็ให้เกียรติเรา มีข้อมูลหรือการเคลื่อนไหวอะไรก็แชร์กัน บอกต่อกัน หรือถ้าเขามีอะไรที่ค้างคาใจเขาก็จะถามเรา ปรึกษากับเรา ทำแบบนี้ โอเคไหม หรือแม้กระทั่งเรื่องคนเข้ามาในพื้นที่ ถ้าเขารู้สึกไม่ปลอดภัย เขาจะถามเราก่อน

คิดเห็นอย่างไรกับคำว่า เฟมมินิสต์ในชุมชนชาติพันธุ์ 

เราไม่ค่อยเข้าใจคำว่าเฟมมินิสต์คืออะไร อาจจะต้องขอคำอธิบายเพิ่มเติม เราเคยได้ยินว่าถ้าเป็นกระเหรี่ยงภูถ้ามีปัญหาอะไรผู้หญิงจะลุกขึ้นมาเป็นแนวหน้า ถ้าเป็นกระเหรี่ยงสะกอผู้ชายจะลุกขึ้นมาอยู่แนวหน้า เราเองก็ไม่รู้ว่ามันมีความเกี่ยวข้องกันยังไง 

หลังจากที่ได้เห็นหรืออยู่ในชุมชนนี้มา ผู้หญิงเป็นใหญ่กว่าผู้ชายอีก หมายถึงว่าผู้ชายเขาจะเชื่อผู้หญิงมากกว่า มีอะไรเขาจะรับฟัง หรือแม้กระทั่งการเงินในครอบครัว ส่วนใหญ่ผู้หญิงเป็นคนจัดการ ในความเชื่อผู้หญิงเป็นเจ้าของบ้าน ถ้าผู้หญิงย้ายไปอยู่ที่อื่นหรือว่าตาย ผู้ชายจะไม่สามารถอยู่ที่บ้านหลังนั้นได้ กลับกันถ้าผู้ชายตาย ผู้หญิงยังสามารถอยู่บ้านหลังเดิมได้ ก็จะมีความเชื่อประมาณนี้

อะไรคือความภูมิใจที่สุดของเรา

ก็คือการที่เราสามารถคัดค้านหยุดเหมืองแร่ทัน โดยยังไม่มีเหมืองเกิดขึ้น เวลาที่เราไปข้างนอก ไม่ว่าเพื่อนหรือใครก็ตาม เขาจะชื่นชมในตัวเราว่าเก่ง กล้า มีความเป็นผู้นำ เราเองไม่ได้อยากให้ทุกคนมองแบบนั้น เราอยากให้มองว่าเราคือคนธรรมดาที่กล้าพูด กล้าคุยแบบนี้มากกว่า เราไม่ได้รู้สึกว่าตนเองเด่นไปกว่าใคร ถ้าความภูมิใจก็ดีใจที่สามารถพาชุมชนมาถึงจุดนี้ได้ ตัวชุมชนเองก็สามารถคัดค้านโครงการเหมืองแร่ได้ 

เมื่อก่อนเราไม่รู้อะไรเลย ในเรื่องของการวางแผนหลังจากที่ต่อสู้มา 4 ปี แค่มองตาก็รู้ใจ ทีมเยาวชนรู้ว่าต้องทำอะไร เวลาไหน อีกทีมต้องทำอย่างนี้ แบบนี้ มีอะไรบ้าง ทุกคนมีทีม รู้หน้าที่ว่าทีมต้องทำอะไรในกิจกรรมนี้ แคมเปญนี้ โดยที่ไม่ต้องคอยบอก

เราอยากปกป้องอะไรที่สุด

พื้นที่ตรงนี้ ชุมชน อำเภออมก๋อยของพวกเรา ไม่ใช่แค่กะเบอะดินอย่างเดียวที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับเรา มีชุมชนทางผ่านที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับเรา ผู้คนเหล่านั้นก็เป็นส่วนสำคัญที่เราอยากปกป้องเขา ปกป้องความเป็นอยู่ของเขา ปกป้องชีวิตของเขา ชีวิตที่ไม่มีอะไรมารบกวน 

คิดว่าอะไรควรที่จะปรับปรุงในการต่อสู้ครั้งนี้ ทั้งเรื่องเหมืองและความเท่าเทียมทางเพศ

ถ้าเป็นเรื่องเหมืองเราอยากจะให้ชาวบ้านหลายๆ คน หรือว่าเยาวชนสามารถสื่อสารเรื่องนี้ได้ พวกเขาสามารถสื่อสารได้แต่อาจจะไม่ค่อยกล้าเท่าไหร่ในเรื่องของการพูด มันต้องฝึก และเรื่องภาษา ถ้าสามารถสื่อสารได้เยอะมันจะมีพลัง ความเห็นคิดในเรื่องเหมืองทุกคนคิดตรงกันอยู่แล้วว่า ไม่เอาเหมือง

เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ในชุมชนของเรามองว่าทุกวันนี้มีความเท่าเทียมอยู่แล้ว แต่ถ้าหากเป็นภายนอกหรือเรื่องชาติพันธุ์ มันไม่มีเลย ชาติพันธุ์เป็นพลเมืองชั้น 2 จริงๆ ถูกทิ้ง ปล่อยให้ไม่พัฒนา ไม่สามารถเข้าถึงสาธารณูปโภคที่ควรจะได้รับ และมีโครงการที่เข้าไปทำแล้วกระทบต่อความเป็นอยู่ของพวกเขา เป็นเรื่องที่แย่มาก พวกเขาเจอทั้งกฎหมายและ พ.ร.บ.ป่าสงวน ข้างหลังก็รัฐบาลที่ไม่ยอมพัฒนา ของหน้าก็ไม่สามารถเข้าถึงจุดที่ดีกว่านี้ได้

เยาวชนรุ่นใหม่มาร่วมต่อสู้บ้างไหม

จริงๆ ในปีนี้มีแผนที่จะทำค่าย เราเองก็อาจจะไม่ได้อยู่ไปตลอด แต่เยาวชนควรที่ได้เริ่มรู้จักชุมชน อนาคตข้างหน้าของชุมชนจะเป็นยังไง เพราะพวกเขาคือบุคคลที่จะต้องอยู่ในชุมชนนี้ต่อไป  เยาวชนเองก็มีทั้งหญิงและชาย เริ่มมีปริมาณที่เท่าๆ กัน หลังๆ ก็อยากจะเอาผู้ชายมาพูดมากขึ้น กล้าแสดงออกมากขึ้น ผู้หญิงที่มาอยู่แถวหน้าความรุนแรงก็อาจจะน้อยกว่าผู้ชาย เจรจาง่าย แต่ถ้าผู้ชายก็จะเสี่ยงต่อการปะทะกับเจ้าหน้าที่ได้ รวมไปทั้งการพร้อมปะทะกันได้ตลอด