โอกาสการทำงานของเด็กจบใหม่

เป็นปกติของคนทั่วไป ที่เมื่อเรียนจบก็ต้องเริ่มมองหางานทำเพื่อเลี้ยงชีพตัวเอง โดยใช้ความรู้ความสามารถที่ได้สะสมมาเป็นเวลานับสิบปีเป็นใบเบิกทาง บางคนสมหวังในความฝัน บางคนนั้นต้องเปลี่ยนสายอาชีพต่างไปจากเดิมที่ตนร่ำเรียนมา แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร เป้าหมายสำคัญที่สุดล้วนเป็นการได้มีชีวิตที่มันคง

ปัจจุบันงานนับว่าเป็นสิ่งที่หาได้ยากอยู่ไม่ใช่น้อย เพราะด้วยสภาพทางเศรษฐกิจที่ไม่มีความคล่องตัว ประกอบกับทั่วทั้งโลกเพิ่งเผชิญกับวิกฤตโรคระบาดอย่างร้ายแรง ที่สร้างความเสียหายไปในหลายมิติ ทั้งจำนวนของแรงงานที่ลดลง และสภาพการเงินที่ถดถอย จึงทำให้บริษัทต่างๆ ต้องปรับตัวมากยิ่งขึ้นเพื่อฟื้นฟูตนเองจากสิ่งที่เจอ ซึ่งหนึ่งในปัญหาหาที่เกิดขึ้นนั้นคือ คนจำนวนมากต่างตกงานจากการถูกเลิกจ้าง ลามไปถึงการเริ่มต้นหางานทำของเด็กจบใหม่ที่เป็นไปได้ยากเหลือเกิน

ซึ่งถึงแม้ว่าสภาพของสังคมจะแย่เพียงใด แต่ปัญหาของปากท้องก็เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ นักศึกษาจบใหม่ไฟแรงจำนวนไม่น้อยต้องเผชิญกับภาวะว่างงานที่นานมากเกินไป จนกลายมาเป็นความกังวลของสังคมที่ต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพราะจากการคาดการณ์ของสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) พบว่าอาจมีจำนวนของนักศึกษาจบใหม่ที่ว่างงานถึง 500,000 คน เนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่วุฒิการศึกษาไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน

ด้วยเหตุนี้บางคนจึงตัดสินใจเปลี่ยนทางเดินของชีวิต ผ่านการเลือกใช้แรงงานแลกเงิน และทำอาชีพที่ตนเองไม่ได้เลือกมาตั้งแต่ต้น อย่างเช่น โรงงานหรืองานบริการต่างๆ ที่ไม่ได้ใช้ความรู้จากศาสตร์ที่เรียนมา หรือย้ายเข้าสู่เมืองใหญ่ที่อยู่ไกลบ้าน เพราะอย่างน้อยก็คงจะดีกว่าหากตนมีรายได้มาใช้จ่ายส่วนตัว โดยที่ไม่ต้องตกเป็นภาระของครอบครัวมากนัก แต่กลับกัน โอกาสเหล่านี้ล้วนมีอยู่แค่ในเมืองใหญ่ การทำงานใกล้บ้านก็อาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีมากนัก เนื่องจากค่าตอบแทนที่ได้ไม่เพียงพอต่อความจำเป็นที่มี

แต่นั่นก็ใช่ว่าทุกคนจะมีทางเลือกเหมือนกันหมด เมื่อปัจจัยด้านสุขภาพไม่เอื้ออำนวยให้ตนสามารถทำงานต้องใช้แรงได้อย่างหนัก อีกทั้งสภาพจิตใจที่บางคนไม่สามารถปรับให้เข้ากับบริบททางสังคมที่เปลี่ยนไป สิ่งที่ทำได้จึงมีเพียงแค่การคงสถานะของการเป็นผู้ว่างงานที่ต้องยื่นสมัครงานในสายที่ตนเองเรียนมาไปเรื่อยๆ และรอโอกาสที่ตนนั้นจะได้กลายเป็นผู้ที่ถูกเลือกเข้าไปร่วมงานในองค์กรที่ใฝ่ฝันบ้างยื่น จนทำให้บางครั้งต้องเจอกับคำถามมากมายจากครอบครัวที่คาดหวัง ทั้งเมื่อไหร่จะได้งาน หรือทำไมตนเองยังไร้อนาคตอยู่ทั้งที่เพื่อนคนอื่นมีงานทำ

แน่นอนว่าตลอดระยะเวลาสิบกว่าปีที่อยู่ในระบอบการศึกษา บุคคลที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายทั้งหมดย่อมเป็นพ่อแม่ที่มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบเลี้ยงดูลูกให้เติบโตมาได้มีชีวิตที่ดี ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่มักจะถูกตั้งความหวังไว้สูง พร้อมกับนำความรู้ความสามารถมาใช้พัฒนาสังคม และสร้างชื่อเสียงให้แก่วงศ์ตระกูล แต่ด้วยวัยที่กำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การเป็นผู้ใหญ่ ความหวังดีเหล่านั้นอาจกลายมาเป็นความกดดันที่ตัวของลูกต้องแบกรับไว้ จนกลายเป็นพลังงานลบที่สร้างความบั่นทอนต่อจิตใจ

นอกจากนี้ ด้วยค่านิยมของสังคมที่ต้องประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อง ยังเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เหล่านักศึกษาจบใหม่บางคนรู้สึกว่าตนเองนั้นไร้ค่า และไม่สามารถใช้ชีวิตได้ในแบบฉบับที่ทุกคนอยากให้เป็น ถึงแม้ว่าสิ่งเหล่านั้นจะเป็นเพียงมายาคติที่ถูกสร้างขึ้นมาก็ตาม ความเครียดที่เพิ่มมากขึ้นกลายมาเป็นกำแพงแห่งอุปสรรคที่ทำให้คนเหล่านี้เริ่มทำตัวหนีห่างออกจากสังคม เพื่อเลี่ยงความวุ่นวายและการตอบคำถามที่ต้องเจอ 

และไม่เพียงเท่านั้น อีกเรื่องที่มีความสำคัญไม่แพ้กันเลย คือรายจ่ายในครัวเรือนที่มีเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อันเนื่องจากการปรับขึ้นราคาสินค้าตามสภาพของเศรษฐกิจที่มีความย่ำแย่ลง หากต้องเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยตนเองเพียงอย่างเดียว คงเป็นเรื่องที่ยากไม่ใช่น้อยสำหรับนักศึกษาที่เพิ่งผ่านพ้นการใช้ชีวิตอย่างอิสระในรั้วมหาวิทยาลัยที่ปราศจากการจับจ้องของสายตาพ่อแม่ แต่ถ้าหากต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากครอบครัว ก็คงจะเป็นความเกรงใจที่เกินกว่าจะกล้าเอ่ยปากขอ

ด้วยวัย 20 ต้นๆ ที่อย่างน้อยควรมีความสามารถมากพอที่จะจัดการชีวิตได้ด้วยตนเอง แต่กลับยังไม่สามารถพิสูจน์ตนเองให้สังคมรอบข้างได้อย่างพอใจ เด็กที่จบใหม่คงมีพื้นที่น้อยแสดงตัวตนน้อยลงไปเรื่อยๆ เพราะการสื่อสารที่ผิดพลาดในบางครั้งอาจนำไปสู่ปัญหาทางความสัมพันธ์ที่เหินห่าง และกลายเป็นว่าคนที่อยู่ในสถานะผู้แบกรับไว้ซึ่งความคาดหวังต้องเผชิญกับแรงกดดันที่ยากเกินกว่าจะทลายมันลงไปจากใจ

อ้างอิง

เด็กจบใหม่ 5 แสนคนเสี่ยงเตะฝุ่น เพราะวุฒิการศึกษาไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน