หลังงานรำลึกผีบุญและเปิดตัว แบบอนุสรณ์สถานศึกโนนโพธิ์ (ผู้มีบุญ) บ้านสะพือ ต.สะพือ อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาจนถึงสิงหาคม 2566 ที่กำลังย่างเข้าสู่กันยายน ดูจะเป็นสี่เดือนอันแสนธรรมดาของใครต่อใคร ต่างแยกย้ายไปทำตามหน้าที่ มีชีวิต มีบทบาทตามวิถีที่พึงไป มีทั้งชีวิตที่ดำเนินไปอย่างราบเรียบและผาดโผนตามแต่แบบฉบับชีวิตของแต่ละคนจะประสบพบเจอ ตามแต่ช่วงวันและเวลาที่พบพาน
หากแต่ว่าในช่วงเวลาสี่เดือนนี้เองก็ได้มีสิ่งหนึ่ง กำลังถูกประกอบสร้างขึ้นจากผืนดินอันรกร้างข้างถนนบริเวณหน้าร้านหนังสือในสวนดอกไม้ ‘ฟิลาเดลเฟีย’ โดยคนตัวเล็กตัวน้อยที่สัญจรและแวะเวียนมาร่วมกันสลักเสลาบางสิ่งที่มี ถูกนิยามและเรียกขานในนาม ‘ห้องสมุดผีบุญ’ อย่างไม่ขาดสายราวกับว่า นิวาสถานแห่งสวนอักษรอย่างฟิลาเดลเฟีย ที่ได้กลายสถานภาพเป็นกึ่งไซต์ก่อสร้างแห่งนี้นั้น เป็นเสมือนเชือกที่ร้อยรัดเอาผู้คนแปลกหน้าและหน้าแปลกให้มาพบเจอก่อนจะผูกสัมพันธ์กัน
บ้างเป็นนักเขียนในบทบาทสถาปนิก บ้างเป็นกรรมกรผู้วางโครงสร้าง บ้างก็เป็นนายช่างจากเมืองกะสิน (กาฬสินธุ์) ผู้ใคร่รู้ในสวนอักษรผู้ซึ่งเป็นพี่ชายแท้ๆ ของเจ้าของร้านหนังสือผู้คิดอ่านจะประกอบสร้างห้องสมุดเป็นทุนเดิม บ้างก็เป็นอิสรชนผู้การตกงานหลังจากจบการศึกษาใหม่หมาดในนามของจิตอาสานอกเครื่องแบบและรูปแบบ ซึ่งได้ก่อตัวเป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงานเฉพาะกิจในการประกอบสร้างห้องสมุดผีบุญ
หลังการงานอันเหนื่อยอ่อน ราวกับฉากดื่มเครื่องดื่มมีฟองบรรจุขวดในหนังแห่งมิตรภาพอย่าง The Shawshank Redemption
ครั้นติดตั้งประตูเลื่อนแลสิ้นเสียงลูกหมูในการขัดเจียระไนแผ่นกระดานในจุดที่เป็นระเบียงชั้นสอง ‘วิทยากร โสวัตร’ และนายช่างอย่าง ‘สุวิทย์ โสวัตร’ พร้อมด้วยตัวผู้เขียนในฐานะลูกมือของเขา ต่างก็ร่วมกันร่ำดื่มน้ำมีฟองจากวังเวียงที่มีเพียงกระป๋องเดียวบนระเบียงชั้นสองที่เพิ่งแล้วเสร็จ อันเป็นหมุดหมายว่าการงานในตัวอาคารนั้นใกล้ถึงฝั่งฝันแล้ว แล้วก็ทยอยอพยพลงมายังโต๊ะกินข้าวกลางลานปูนที่ถูกจัดเตรียมไว้เพื่อซักซ้อมการเฉลิมฉลองซึ่งก็เป็นการซ้อมอยู่ทุกวันเป็นปกติวิถี และวิทยากร โสวัตร หรือ ‘เจี๊ยบ ฟิลาเดลเฟีย’ ในฐานะผู้วาดหวังถึงรูปเงาของห้องสมุดในฝันของเขาจึงได้เริ่มให้ปากคำถึงที่มาของสิ่งที่เขาเรียกว่า ‘ห้องสมุดผีบุญ’
Concept ห้องสมุดและที่มาของชื่อ
โดย Concept ของห้องสมุดมันเป็นเรื่องของการเก็บข้อมูล ความรู้และหนังสือที่มันอยู่นอกกระแสของรัฐชาติ
ถ้าเป็นลักษณะของประวัติศาสตร์ก็คือ ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ชาตินิยม
เป็นเรื่องราวที่ศูนย์กลางอำนาจรัฐส่วนกลาง ไม่ต้องการให้คนได้ยิน แต่เราเสือกรู้เรื่องนี้และได้อ่านมันมาเยอะ แล้วก็มีเอกสาร มีหนังสือที่เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้
Dangerous Knowledge ลักษณะของห้องสมุดจากสายตารัฐชาติ
วิทยากรเล่าว่า ในยุคหลังๆ มาจาก ยุคคสช. มีการชูสามนิ้วและเคลื่อนไหวทางการเมือง ลักษณะของหนังสือมีการพูดถึงแบบตาสว่างมากขึ้น มันไม่ต้องค้นหากันแบบเดิมที่เป็นแบบลับๆ แล้ว แต่ว่า แม้แต่การที่ตาสว่างขึ้น เอกสารที่เป็นข้อมูลชั้นต้น หรือว่าข้อมูลนอกกระแสวิชาการและมีความ ‘ก้าวหน้า’ แต่กลับไม่ถูกนำมาอ้างอิงหรือกล่าวถึงเมื่อเทียบกับงานวิชาการในกระแสหลัก
เป็นงานนอกกระแสวิชาการแต่ก้าวหน้าด้วยซ้ำ.. เขาย้ำด้วยแววตาและน้ำเสียงที่หนักแน่น ก่อนจะเล่าต่อไปว่า
ซึ่งมักจะเป็นข้อมูลที่ถูกมองข้าม หลุดหูหลุดตา แต่ขณะเดียวกันมันก็เป็นข้อมูลที่มีเป้าหมายเดียวกันคือว่า มันเป็นการบันทึกที่เป็นเสียงของคนที่นี่ นี่คือลักษณะของห้องสมุดแห่งนี้..
พูดง่ายๆ นี่คือคำๆ หนึ่งได้มาจากการไปอินเดียเมื่อไม่นานมานี้ที่เรียกกันว่า Dangerous Knowledge ซึ่งถือเป็นความรู้ที่อันตราย เป็นอันตรายในสายตาของรัฐ เฉพาะในสายตาของรัฐ แค่นั้นเอง..
ทำไมต้องเป็นผีบุญ?
จากคำถามวิทยากรแทบจะตอบทันทีว่า
ผีบุญเป็นประวัติศาสตร์ในพื้นที่อีสาน ห้องสมุดแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นในอีสาน โดยเอกชน และต้องการทำเรื่องประวัติศาสตร์ ต้องการทำเรื่องสังคมในแผ่นดินอีสานและลุ่มน้ำโขง
ก่อนที่เขาจะเน้นเสียงอย่างหนักแน่นว่า
ทีนี้มันจะมีเหตุการณ์ไหนเหรอ? ที่เราจะแทน Concept ของเราที่กล่าวมาทั้งหมดนี้..
แล้วเขาจึงเริ่มไล่เรียงย้อนกลับไปว่า
ไม่ว่าจะในประเด็น Dangerous Knowledge ก็ดี หรือว่าประเด็นประวัติศาสตร์ที่มันย้อนแย้ง เป็นตราบาป หรือเป็นบาดแผลของส่วนกลางอำนาจรัฐส่วนกลางก็ดี ที่เขาพยายามปิดบังไม่ให้สาธารณชนรับรู้..
หรือถึงขั้นว่าเขาพยายามจะพูดด้วยน้ำเสียงใหม่ และสะกดคนให้อยู่ แม้แต่คนในอีสานเองก็ให้เชื่อตามเขา และก็พูดตาม ‘เสียง’ ของเขา..
สิ่งนั้นก็คือเรื่อง “ผีบุญ” ที่จะต้องเป็นเสียงของผีบุญจริงๆ
ก่อนที่วิทยากรฉายภาพความน่าจะเป็นหลังเหตุการล้อมปราบกบฏผีบุญว่า
อย่างที่ผมเคยพูดไว้แล้วว่า จริงๆผีบุญ ในประวัติศาสตร์ของรัตนโกสินทร์ มีการตายเยอะมาก.. เป็นการล้อมฆ่าประชาชนครั้งแรก เป็นโมเดลแรก..
ล้อมยิงครั้งแรกเลย.. เขาเน้นเสียงก่อนจะกล่าวต่อว่า
แล้วตายมากสุดไม่ต่ำกว่า 400 คน ภายในช่วงเวลานั้น ซึ่งนี้เรายังไม่นับการตามฆ่าอีกนะ..
อาจจะเป็นพันก็ได้.. แต่วันนั้นแน่ๆ ในตัวที่เขาบันทึกไว้เลยคือ 400 คน
แต่จริงๆ แล้วมันอาจจะมากกว่านั้นก็ได้ เพราะว่ามันต้องมีการบาดเจ็บมีอะไรก็อาจจะตายระหว่างนั้นก็ได้
ซึ่งสิ่งที่กล่าวมานี้ มันกลับเป็น การตายที่เงียบหายไป.. วิทยากรกล่าวในประโยคสุดท้ายด้วยน้ำเสียงแผ่ว แล้วจึงให้เหตุผลถึงการเงียบหายไปนั้นว่า
หนึ่ง เป็นโมเดลแรกในการล้อมฆ่าประชาชนของรัฐชาติ
สอง มีการตายที่เยอะที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของชาติไทย หรือของชาติสยาม ตามแต่จะเรียก..
“ฉะนั้นการใช้คำว่า ‘ผีบุญ’ มันจึงค่อนข้างตรงกับ Concept และคำว่า ผีบุญ มันเป็นคำที่ทางการสยาม เป็นคนเรียกนะ..”
“เรียกว่ามึงเป็นผี มึงไม่ใช่คน ฆ่าได้..” วิทยากรเน้นเสียง
แล้วก็ใช้เรื่องเล่า หรือเสียงตัวเองในนามรัฐสยาม เล่าเรื่องของตัวเองในน้ำเสียงของสยาม ส่งต่อให้แก่คนอีสานที่เป็นชนชั้นนำ นำไปเล่าต่อว่า กบฏผีบุญมันเป็นคนเลวร้าย อะไรยังไงก็ว่าไป..
ฉะนั้น ถ้าเราตั้งคำว่า ผีบุญ ขึ้นมา มันเป็นการพูดถึงคำที่ ‘คุณ’ ให้ร้าย ‘เรา..’ แล้วก็ย้อนแย้งกลับไป
และในขณะที่เราค้นคว้าข้อมูลมากขึ้น ก็จะเห็นว่า ‘คุณ’ กระทำแบบ ‘อำมหิต’ อ่ะ…
“นี่เป็นคำที่คุณตั้งขึ้นมาเอง แต่มันจะกลับมาแทงใจคุณอ่ะ เหมือนคำว่า 2475 ที่มันแทงใจคุณไง…” วิทยากรกล่าวอย่างออกรสออกชาติในขณะที่กำปั้นก็ทุบโต๊ะเบาๆ ไปพลาง..
“ในฐานะผู้ศึกษาเรื่องขบวนการผีบุญ…”
วิทยากรเล่าต่อว่า อีกประการหนึ่งคือ เราเป็นคนเขียนเรื่องผีบุญออกสื่อ กระจายเป็นแมสค่อนข้างมาก แต่ก่อนนั้นมีวิจัยเกี่ยวกับเรื่องผีบุญดีๆ เยอะแยะ ที่อยู่ในห้องสมุด แต่มันก็เป็นหนังสือที่ไม่ค่อยจะมีใครได้รู้ได้เห็นมากนัก
แต่เราก็เป็นคนที่นำมาใช้เขียนเรื่องราวมันออกมาหลายตอนมาก ซึ่งหลักๆ อยู่ใน The Isaan Record ช่วงที่เราเป็นคอลัมนิสต์
ซึ่งมันก็ทำให้หน้าตาของเรากลายเป็น ‘ผีบุญ’ ไปแล้ว นึกออกไหม? วิทยากรกล่าวอย่างติดตลกก่อนจะลุกเดินออกจากลานปูนไปทำธุรกรรมตามแบบฉบับผู้ค้าหนังสือ โดยปล่อยให้นายช่างหนุ่มใหญ่ไทกะสินที่ฟังอยู่นานได้พูดคุยแลกเปลี่ยน
โดย ‘ใหญ่วิทย์’ สุวิทย์ โสวัตร หนุ่มใหญ่ในวัยย่าง 54 ปีจากเมืองกะสินดินดำน้ำซุม อ้ายซายแท้ๆของเจี๊ยบ วิทยากร โสวัตร ในช่วงจังหวะพักใหญ่ที่ ‘ใหญ่วิทย์’ ได้เข้ามาพัวพันกับงานก่อสร้างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยความที่เขาสมาทานอาชีพผู้ใช้แรงงานมาตั้งแต่อายุ 15 ปี และหน้าที่การงานตรงหน้าของเขาในขณะนี้คือ ห้องสมุดผีบุญ ที่ไม่ใช่แค่ห้องสมุดผีบุญ..
สมมติฐานบรรพบุรุษจากเมืองอุบลฯของสุวิทย์ โสวัตร
ช่างสุวิทย์ในชุดตัวเก่งหลังจากกรำงานในโค้งสุดท้ายของห้องสมุดผีบุญได้ประทับลงที่นั่งและบรรจงละเลียดน้ำดื่มมีฟองอยู่สักพัก จึงได้เริ่มเปิดเผยสมมติฐานด้วยภาษาชาติพันธุ์ตนเองเป็นประโยคที่ว่า
ในความรู้สึกเฮากะคือลูกหลานพุนึงคือกัน
ญ้อนว่าหยัง? สุวิทย์ตั้งคำถามพร้อมกับเลิกคิ้ว ก่อนจะกล่าวต่อโดยไม่รอคำตอบว่า
‘ปู่ของเฮาบอกกับย่าว่าปู่เป็นคนมาจาก อุบลฯ แต่..’ เขาชะงัก
มันมีคำถามจั่งซี่.. ในวันที่ลูกซายคนเล็กของปู่ ซึ่งเป็นอาหมู่เฮา ขณะอยู่ในท้องย่า
ปู่หายโตไป.. กะคือ บ่ได้หายแบบอีหยังดอก มีข้อมูลแค่ว่า นั่งหลังม้าลงไทยไปค้างัว เพราะว่าเป็นนายฮ้อย
แต่ว่า ลาวบ่เคยกลับมาอีกเลย..
จนตอนนี่ อาของเฮาพุนี่จนสิ 90 ปีแล้ว ยังบ่เคยเห็นหน่าพ่อเลย..
มาถึงจุดนี้ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้อง หากแต่ช่างสุวิทย์ได้เล่าต่อไปอีกว่า
ที่สำคัญและน่าสนใจเลยกะคือว่า ขั่นวาเป็นคนมาแต่เมืองอุบลฯ แต่เป็นหยังลูกเมีย (ลุงป้าน่าอา และย่า) บ่เคยได้มายามไทพี่น้องของปู่เลย บ่ฮู้เลยว่าปู่เป็นคนหมู่บ้านได๋..
บ่เคยได้มายาม..
แล้วทีนี่บังเอิญว่านับไปนับมาบังเอิญว่าปู่มีอายุ ในช่วงที่เกิดการปะทะ 2445 ในช่วงปราบกบฏผีบุญ ปู่คือสิมีอายุอยู่ประมาณซัก 18 ถึง 25 ปี ซึ่งอยู่ในวัยที่คาบเกี่ยวพอดี..
18 ถึง 25 คาบเกี่ยวกัน.. เขากล่าวซ้ำอย่างแผ่วเบา ก่อนจะสะกิดขึ้นมาด้วยประโยคที่ว่า
คำถามก็คือว่า อีหยังเฮ็ดให่ลาวบ่เคยพาลูกเมียมาอุบลฯ บ่เคยพามาฮู้จักญาติพี่น้องทางนี่..
ตรงนี่เองที่เฮ็ดให่เกิดสมมติฐานว่า หรือลาวสิเป็นหนึ่งในขบวนการผีบุญที่รอดมาได้แล้วแตกหนีมาหลังการปราบ
เฮาเลยรู้สึกว่า งานห้องสมุดผีบุญที่กำลังสร่างอยู่นี่ ถือเป็นงานที่เฮ็ดเพื่อบรรพบุรุษ กะเลยอยากสิเฮ็ดให่ออกมาดี อย่างสุดฝีมือ..
ช่างสุวิทย์กล่าวก่อนจะเดินไป ‘คนปูนในครุถัง’ ที่ผสมไว้ก่อนการสนทนา แล้วตรงไปยังจุดที่ยังจุดประทับของเหล็กกล่องที่ยังอุดรูไม่สมบูรณ์ดี แล้วบรรจงกวาดปูนอุดรอยรั่วอย่างเงียบสงบไปกับงานที่ดูเบามือกว่างานนาประการก่อนที่ห้องสมุดผีบุญจะถึงโมงยามที่ลุล่วงขนาดนี้
ห้องสมุดในฝันที่มาก่อนวันที่วาดไว้
วิทยากรกลับมาประทับยังเก้าอี้ของตนแล้วจึงเล่าถึงลำดับขั้นตอนที่วาดไว้กับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงว่า
จริงๆ การทำห้องสมุดมันอยู่ใน Step ของการทำร้านหนังสือฟิลาเดลเฟียอยู่แล้ว ซึ่งจะมี Step เป็นช่วงๆ หนึ่งในนั้นคือการทำห้องสมุดหรือการบริการสาธารณะ
ตอนระยะแรกที่ต้องสร้างฐานะของร้านให้สามารถอยู่ได้ หนังสือในร้านก็จะมีราคาที่ค่อนข้างสูง แต่ด้วยที่ร้านมีกลุ่มผู้ที่ติดตาม เป็นลูกค้าประจำ เขาก็ยินดีซื้อ
พอถึงวันหนึ่งเราอยู่ได้ ซึ่งมันเริ่มขึ้นในช่วงที่มีม็อบปี 2563 นี่แหละ อาจจะก่อนม็อบสักหน่อย สังเกตว่าหนังสือเราหลังจากนั้น คือหลังจากที่เราอยู่ได้ทุกวันนี้ ราคามันลดลง บางทีลดลงมากด้วย ซึ่งมันจะมีวันหนึ่งที่เราต้องการให้หนังสือในร้านมีราคาไม่เกิน 50% ทุกเล่ม
ยกเว้นหนังสือที่มันเป็นงานหาไม่ได้อีกแล้วจริงๆ ถึงจะมีการตั้งราคาแบบ บ้าๆบอๆ แบบไม่อยากขาย เพราะว่าอยากให้หนังสือมันมีอยู่ในร้าน แต่ถ้ามีคนบ้าซื้อ อันนี้ก็ต้องขาย
แล้วทีนี้ Step ต่อมา เราต้องการให้คนมาใช้พื้นที่ร้าน คุณอยากมาทำงานศิลปะปีหนึ่ง คุณมาเลย คุณอยากมาทดลองเป็นพ่อค้าร้านหนังสือ คุณมาได้เลย ในช่วงที่ผมเดินทางกับแฟนผม ในช่วงที่ลูกผมจบการศึกษาแล้ว อะไรอย่างนี้..
มันเป็น Step หลังจากที่ลูกผมจบการศึกษาแล้ว ผมไม่มีภาระแล้ว คุณมาอยู่ได้ ในช่วงที่ผมออกเดินทาง คุณก็ขายของที่ว่านี้ หนังสือเล่มนี้ต้นทุนราคาอยู่ที่ 100 คุณขาย 150 คุณก็หัก 50 บาทไป อีก 100 บาทคุณกันไว้เป็นทุน เพื่อใช้ในการซื้อหนังสือใหม่เข้า อะไรประมาณนี้..
ซึ่งใน Step นี้แหละที่เราถึงจะเริ่มทำห้องสมุด เพื่อต้องการให้คนมาค้นคว้าเอกสารที่เรามี หรือหนังสือที่คนให้มาที่ตรงกับ Concept อีสานและลุ่มน้ำโขง
มันเป็น Step หลังจากลูกของผมทุกคน จบปริญญาตรี.. วิทยากรกล่าว ก่อนจะเล่าถึงมูลเหตุที่ได้เริ่มสร้างในปีนี้ทั้งที่ลูกๆ ยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมว่า
ที่ได้ทำในปีนี้ มีเงื่อนไขเดียว คือ จริงๆ ตั้งใจจะทำโรงรถ ซึ่งไม่ได้ใช้โครงสร้างอะไรมากนักและไม่ได้ซื้อที่ดินเพิ่ม
แต่หลังจากอาจารย์ถนอม ชาภักดี เสียชีวิตเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมานั้น ทางอาจารย์ในกลุ่ม Ubon Agenda ที่อาจารย์ถนอมได้ร่วมตั้งขึ้นร่วมกันกับพวกเราซึ่งมีหลายคน หลังจากงานศพแก ทางญาติเขาก็บอกว่าบ้านอาจารย์ถนอมที่อยู่ในกรุงเทพ มันมีหนังสือส่วนตัวแก เขาก็จะอยากจะเอาหนังสือมาให้ทาง Ubon Agenda ดูแล
ทาง Ubon Agenda เลยมาปรึกษาว่าอยากจะเอามาเก็บไว้ที่ร้านหนังสือของเรา
ซึ่งเราบอกว่า ‘ให้ไม่ได้’ วิทยากรกล่าวสั้นๆ ก่อนจะอธิบายเหตุผลว่า
หนึ่ง ตรงนี้เป็นร้านหนังสือ
สอง ข้างบนชั้นสองก็เป็นงานส่วนตัว และเป็นพื้นที่ Stock หนังสือเราด้วย
แล้ววิทยากรจึงเล่าถึงข้อเสนอของเขาว่า
ทางที่ดีก็คือว่า ถ้าทำโรงรถ มันไม่ได้ใช้โครงสร้างอะไร ซึ่งตอนนั้นก็ยังไม่ได้ซื้อที่ดินเพิ่ม เลยเสนอว่าจะให้ชั้นสอง ซึ่งถ้าทำชั้นสอง โรงรถนี้จึงจำเป็นต้องมีโครงสร้าง ฉะนั้นช่วยกันหาเงินมาซื้อเสาเหล็ก หรือเสาปูนก็แล้วแต่ เพื่อให้ชั้นสองมันมั่นคง
ตีงบประมาณไว้ที่หนึ่งแสน ซึ่งผมให้เลยสำหรับชั้นสอง เป็นพื้นที่ของอาจารย์ถนอม เก็บหนังสือของอาจารย์ถนอม ซึ่งทุกคนก็รับปาก
ต่อมาเราก็ซื้อที่ขยายที่ดินเพิ่ม แล้วหลังจากงานผีบุญครั้งล่าสุด เราก็ไปกินข้าวที่ร้านอาหารของน้องอาจารย์ถนอม ซึ่งเป็นคนว่าจะให้หนังสือเก็บไว้ ตามที่ว่าจะให้ทาง Ubon Agenda
แกก็พูดเอง ว่าจะเอาหนังสือมาให้ ‘*ร้านดินสอ’ ดูแล วิทยากรกล่าว..
*(ตัวตึกร้านหนังสือฟิลาเดลเฟียมีรูปทรงเป็นดินสอ จึงมีชื่อเล่นตามลักษณะของตึกว่า ร้านดินสอ)
ก่อนจะเล่าต่อว่า
ประจวบเหมาะกับจังหวะนั้นเรากำลังจะเซ็นสัญญาซื้อที่ มีการจ่ายมัดจำ เราก็เลยตัดสินใจเริ่มทำเลย ไม่รอได้งบสนับสนุน โดยเราเอาเงินของร้านที่มีเงินกองกลาง ที่มาจากการขายหนังสือแล้วลูกค้าเราโอนเข้าบัญชีและที่มาจากการทำงานพิเศษต่างๆ ในนามปัจเจก ซึ่งในทุกเดือนก่อนหน้านี้เราจะหักกำไรมาไว้ในบัญชีของร้านหนังสือ โดยเราทำอย่างนี้มาหลายปีตั้งแต่ตอนยังอยู่ไม่ได้ด้วยการขายหนังสือ เราก็หักไว้ทีละพัน ทีละห้าร้อย ทีละร้อย โอนเข้าและหักเข้าเรื่อยๆ หรือช่วงตอนที่มีรายรับเข้ามาเยอะเราก็หักเข้าบัญชีของเมียและบัญชีของลูก เพื่อให้เขาได้เอาไปต่อยอดหลังเรียนจบ
เราเลยเอาเงินตรงนี้ของร้านหนังสือประมาณแสนกว่าบาทเกือบสองแสนกว่าบาท โดยไม่ได้คาดหวังเลยว่าจะมีทุนเป็นก้อนเข้ามารึเปล่า แต่ได้ใช้ชื่ออาจารย์ถนอม ชาภักดี ร่วมอยู่ด้วย เป็นห้องสมุดผีบุญ – ศูนย์ปฏิบัติการทางศิลปะถนอม ชาภักดี แค่นั้นเอง
นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่า ห้องสมุดจึงได้สร้างปีนี้.. ซึ่งไม่ใช่ว่าจะเป็นโครงการในตอนนี้เลย แต่มันจะเป็นโครงการเมื่อลูกเรียนจบแล้ว..
ซึ่งเมื่อสร้างไปแล้ว ถึงแม้จะมีปัญหาอะไรก็ตามแต่ เมื่อใช้ชื่ออาจารย์ถนอม ไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร เพราะเมื่อได้ทำแล้ว เราก็แค่ทำให้จบ..
ท่อน้ำเลี้ยงที่ต่อเติมรูปทรงให้ห้องสมุดผีบุญปรากฏกาย..
ก็มีกลุ่มเพื่อนอาจารย์ถนอมมาซื้อหนังสืออยู่ประมาณ 4 – 5 คน และมีอาจารย์จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีท่านหนึ่ง ชื่ออาจารย์ราม (ขอสงวนนามสกุล) ซึ่งเอาหนังสือส่วนตัวของเขามาขายและใช้ชื่อที่เราใช้ในตอนนั้น ก็ได้เงินมาห้าพันกว่าบาทโดยประมาณก็โอนมาให้..
แต่เงินทั้งหมดส่วนใหญ่ที่ไม่นับเงินส่วนตัวนั้นเกิดจากการขายหนังสือในแคมเปญ ‘หนึ่งร้อยก้าว’ ซึ่งเป็นแคมเปญการขายหนังสือ หนึ่งร้อยโพสต์
เรามั่นใจว่าถ้าขายหนังสือ ‘หนึ่งร้อยโพสต์’ ที่นับเป็น ‘หนึ่งร้อยก้าว’ เราจะได้ห้องสมุดหนึ่งห้องดีๆห้องหนึ่ง น่ารักๆสวยๆ
ซึ่งตอนนั้นยังไม่ถึงหกสิบก้าว ก็มีปัญหากันแล้วจากกรณีเรื่องชื่อ
แต่ถึงอย่างไรนั้น แม้ว่าจะมีหรือไม่มีปัญหา เราสามารถบอกได้ว่าคนกว่า 98% ที่ซื้อหนังสือเรา เป็นคนที่เป็นลูกค้าเราแต่เดิม ฉะนั้นเงินทำห้องสมุดผีบุญจึงมี 3 ส่วนคือ
หนึ่ง เป็นเงินส่วนตัวของเราเองที่เก็บสะสมมาในนามบัญชีร้านฟิลาเดลเฟีย ร้านหนังสือในสวนดอกไม้ บัญชีกรุงไทย สามารถตรวจสอบได้
สอง เงินที่เราทำแคมเปญจากการขายหนังสือ ‘หนึ่งร้อยก้าว’
ซึ่งโดยปกติเราขายหนังสืออยู่แล้ว ขายทุกวันวันละสามโพสต์ พอมาทำห้องสมุดผีบุญ เราก็โพสต์หนังสือขายในส่วนของแคมเปญไปด้วย หนึ่งโพสต์บ้าง สองโพสต์บ้างต่อวัน..
และส่วนที่สาม เป็นเงินที่ได้มาจากคนที่ช่วยเหลือเปล่าๆ สูงสุดคือ หนึ่งหมื่นบาท ซึ่งในภาษาพระ เฮาเอิ้นวา แม่ออกค้ำ นึกออกบ่ครับ?
ซึ่งแม้ว่าแกจะไม่รู้จักอาจารย์ถนอมเลย แต่แกเป็นคนมีฐานะ แกให้มาแทบจะทันทีหมื่นหนึ่ง..
หรือเพื่อนของเรา (ไม่ประสงค์ออกนาม) ซื้อเสาสำหรับโครงสร้างให้ในราคา หมื่นกว่าบาท หรือจะเป็นพี่สาวอีกคนหนึ่งจบอักษร จุฬาฯ ให้มาเปล่าๆ หกพันบาท อะไรทำนองนี้..
ซึ่งที่กล่าวมานั้นล้วนแต่เป็นคนที่รับรู้ว่าเรากำลังทำอะไร มี Step อะไร มี idea อย่างไร เพราะเราพูดกับเขามาตลอดในเรื่องการทำห้องสมุด..
ฉะนั้น เราจึงไม่สามารถเปลี่ยนชื่อจาก ห้องสมุดผีบุญ เป็นชื่ออื่นได้..
เพราะเราบอกกับพวกเขาเหล่านี้มาโดยตลอด เพียงแต่เราทำมันเร็วขึ้นเท่านั้นเอง..
ในที่ที่กำลังจะไป คือการกระจายหนังสือสู่มือประชาชน เมื่อทุกบ้านก็สามารถเป็นห้องสมุดได้..
วิทยากรเล่าต่อถึงปลายทางที่อยากจะเห็นไว้ว่า ห้องสมุดนอกจากลดราคาหนังสือแล้ว มันก็จะมีหนังสือที่มันล้นร้าน และหนังสือที่คนให้มา เราอยากจะทำตรงนั้นให้เป็นสาธารณประโยชน์ นอกจากขายถูกลงเกินครึ่งแล้ว เราอยากผันหนังสือไปหาคนที่เขาจะมาหยิบไปได้ ห้องสมุดผีบุญจึงไม่ใช่แค่ห้องที่จะมาเก็บหนังสือเท่านั้น เว้นแต่เอกสารสำคัญต่างๆ ที่อาจจะหาไม่ได้แล้ว หรือหนังสือที่หายาก อันนี้จะสงวนไว้
แต่ห้องสมุดผีบุญ จะเป็นทางผ่านหนังสือไปสู่มือประชาชน ไม่ว่าจะให้ฟรี หรือตามแต่ที่เขาจะให้ เหมือนกับในวัดหนองป่าพง ที่จะมีจุดสำหรับหยอดเหรียญสำหรับเป็นค่าบำรุงห้องสมุด แล้วในมือคนเมื่อเขารับไป เมื่อเขาอ่านหนังสือติด ในบ้านเขาก็จะมีหนังสือมากขึ้น
“ก็ให้บ้านเขาเป็นห้องสมุดสิ!” วิทยากรกล่าวด้วยน้ำเสียงกระชับแล้วจึงกล่าวต่อว่า
ห้องสมุดผีบุญ เป็นห้องสมุดที่จะเป็นทางผ่านหนังสือไปสู่มือประชาชน แล้วประชาชนจะไปสร้างห้องสมุดในบ้านเขาเอง ซึ่งเรามี Concept กระทั่งว่า
ถ้าบ้านหลังไหน พ่อแม่คนไหน หรือเด็กคนไหนสามารถอ่านหนังสือในบ้านได้ยี่สิบเล่มขึ้นไปเนี่ย เราจะหาเงินมาทำชั้นหนังสือติดบ้านเขาไว้เลย เพื่อให้หนังสือมันกระจายไปสู่มือคน
เราฝันแบบนี้มานานแล้ว และก็บอกความฝันนี้กับมิตรสหายลูกค้าเรา ทั้งแม่ออกพ่อค้ำมาโดยตลอด
ขณะที่วิทยากร เดินไปจัดการกับธุระในร้านหนังสืออย่างเงียบงันหลังการพูดคุย เพียงชั่วครู่ ช่างสุวิทย์ที่เสร็จจากการเก็บงานก็เดินกลับมายังลานปูนที่เขาและลูกทีมเพิ่งปรับภูมิทัศน์ก่อนจะผสมและเทปูนใหม่กว่า 14 กระบะ และแต่งแต้มสีสันราวภาพ Stary Night ของแวนโก๊ะก็ไม่ปาน พร้อมด้วยกีตาร์ Enya ของทางร้านที่เขาบรรจงเปลี่ยนลูกบิดและสายเองทั้งชุด สัมผัสอย่างทะนุถนอมแม้จะร้างลาจากถนนสายดนตรีเมื่อครั้งวัยหนุ่มมายาวนาน..
ตลอดสี่เดือนกับห้องสมุดผีบุญในฐานะผู้ประกอบสร้าง ปลายทางที่ต้องการคือสิ่งใด?
ช่างสุวิทย์ได้เล่าถึงภาพที่วาดไว้หลังจากผจญกับก้อนอิฐ กระสอบปูน และเสียงคำรามของลูกหมูและสว่านตัวเก่งมาตลอดสี่เดือนกับห้องสมุดผีบุญมีใจความว่า
คำว่าห่องสมุดผีบุญ เฮากะอยากให่หม่องนี่ได้เป็นหม่องเรียนรู้ หม่องให่คนได้มาศึกษาจากหม่องนี่ เพื่อที่สิได้เดินทางไปสู่หม่องอื่น ซึ่งเป็นจุดหมายในขั่นต่อไป
“จากทีแรกว่าเฮ็ดโรงรถ บ่ได้บอกว่าเฮ็ดห่องสมุด พอมาฮอดกะว่าเฮ็ดห่องสมุดผีบุญ ซึ่งผีบุญเป็นผุได๋เฮากะยังบ่ฮู่จัก” ใหญ่วิทย์ได้กล่าวอย่างเรียบๆ ก่อนจะเล่าต่อว่า
ตอนเถี่ยวแรกที่จัดงานอยู่บ้านสะพือ (2565) อาจารย์ถนอม ชาภักดี กะเคยชวนไปบ้านสะพือ ซึ่งเป็นปีที่มีการบุกเบิก กะบอได้ไป..
แต่ว่าหลังจากนั่นพอเฮามาเรียบเรียงดีๆ ปรากฏว่ามันมีความเป็นไปได้วาเฮาอาจสิเป็นทายาทพุนึงของผีบุญอย่างที่บอกไปก่อนหน่า
เฮากะเลยภูมิใจในสิ่งที่เฮากำลังเฮ๊ดลงไป เพื่อให่มีพื้นถี่สำหรับคนมาศึกษาหาความฮู้
แม้ว่าตลอดสี่เดือนที่เทียวไปเทียวมาแต่ละรอบ สิเมื่อยล่าปานใด กะทน กะอดเอา เพื่อว่าให่ห่องสมุดมันแล้วเสร็จ ให่ลูกหลานได้มาศึกษา
คนสะพือ (บางคน) เพิ่นบ่ผิดดอกที่ว่าเป็นหยัง เพิ่นจั่งบ่ยอมรับตัวตนของบรรพบุรุษในจุดที่อยู่นั่น เพราะว่าปู่ย่าตายายของเพิ่นกะคงมีความจำเป็นต้องปิดบังเรื่องนี่ ด้วยว่าตอนนั่นบ่อยากให่ถืกฆ่าตาย แต่ถามว่ามาฮอดตอนนี่ข่อยย่านบ่ ข่อยบ่ย่านแหล่ว เพราะว่ามันบ่มีการประหารผีบุญอีกแล้ว..
หรือแม่นตอนนี่เจ้าสิมาประหารข่อย ข่อยกะบ่ย่าน.. ช่างสุวิทย์กล่าวด้วยแววตากระจ่างใสและยิ้มอ่อนด้วยฟันทั้งหมดที่ยังเหลืออยู่ ก่อนจะผ่อนคลายไปกับกีตาร์ตัวโปรดอันเป็นช่วงเวลาที่นายช่างใหญ่มักจะทำหลังว่างเว้นจากงานอันหนักหน่วงในบางวัน หากสองฝ่ามือนั้นไม่ได้มีหนังสือโฉมหน้าศักดินาไทย ของจิตร ภูมิศักดิ์ ก็จะมีกีตาร์ Enya ตัวเก่งของร้านเป็นเพื่อนผ่อนคลายเมื่อยเสมือนหนึ่งยากะสัยเส้นอยู่บนสองฝ่ามืออันหยาบกร้านนั้น
ปัจจุบันขณะ แม้ห้องสมุดผีบุญจะประสบปัญหาในเรื่องที่ใหญ่กว่าชื่ออย่างเช่นการปรับแบบจากการท้วงติงของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ซึ่งก็ทำให้มีความติดขัดและล่าช้าออกมาจากเดิมจนกระทั่งกินระยะเวลากว่าสี่เดือน แต่ถึงกระนั้นช่างสุวิทย์กที่เคยได้ผละงานก่อสร้างกลับภูมิลำเนาไปดูแลทุ่งนาเพื่อจะได้มีข้าวสำหรับบริโภคในปีหน้า ก็ได้ประเมินและให้เปอร์เซ็นของความสำเร็จในขณะนี้อยู่ที่‘90%’ โดยเหลือเพียงงานทำชั้นหนังสือที่จะกลับมาทำอีกทีในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้
จากอิฐนับพันๆก้อน ปูนซีเมนต์นับสิบๆกระสอบ จากทรายและหินกรวดคันแล้วคันเล่า ที่มาจากการอุดหนุนของกัลยามิตรแห่งร้านหนังสือฟิลาเดลเฟียในฐานะผู้บริโภคหนังสือ ได้ส่งผลประหนึ่งว่า
ผนังทุกผนังถูกก่อและฉาบขึ้นจากหนังสือ โดยหนังสือ เพื่อหนังสือโดยแท้ ซึ่งได้หนุนส่งให้ห้องสมุดผีบุญได้ปรากฏรูปสู่สายตาสาธารณชนอย่างทะนงและงดงามใต้ร่มจานไร้ดอกในที่สุด
โดยเบื้องต้นห้องสมุดผีบุญ จะมีการจัดกิจกรรมและพิธีเปิดใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 13 มกราคม 2567
หากมีรายละเอียดเพิ่มเติมจะแจ้งให้ทราบในลำดับถัดไป..