เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 ณ ร้านหนังสือพิลาเดลเฟีย Amnesty International Thailand (แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย) ร่วมกับร้านหนังสือฟิลาเดลเฟียจัดเสวนาหัวข้อ ‘ย้อนถอดบทเรียนเสรีภาพในการชุมนุมภาคอีสาน ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่ออย่างไร’ เพื่อย้อนถึงเหตุการณ์การชุมนุมที่เกิดขึ้นตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ขับเคลื่อนให้การใช้สิทธิในการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ ได้รับอิสรภาพ ไม่ถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก

แอมเนสตี้
วงเสวนา ‘ย้อนถอดบทเรียนเสรีภาพในการชุมนุมภาคอีสาน ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่ออย่างไร’ รูปภาพโดย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

ธีระพล อันมัย กรรมการแอมเนสตี้ประเทศไทย กล่าวในงานเสวนาครั้งนี้ว่า ต้องการทำให้สมาชิกและผู้เข้าร่วมกิจกรรม รวมไปถึงผู้เข้าฟังทางออนไลน์ร่วมแลกเปลี่ยนและแสดงความเห็นว่าจะทำอย่างไรให้การเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมและภาคประชาชนในรัฐบาลชุดใหม่ ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี สามารถใช้สิทธิเสรีภาพได้อย่างอิสระโดยไม่ถูกปิดกั้น เพื่อทำให้นักกิจกรรมรุ่นใหม่ที่สนใจขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมและการเมืองมีสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมได้อย่างแท้จริง หากรัฐบาลชุดนี้เปิดกว้างและเข้าใจเชื่อว่าจะทำให้การทำงานทั้งในและนอกสภานำไปสู่การก่อร่างสร้างตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าที่เคยเป็นในรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร และสืบทอดอำนาจมานานถึง 8 ปี 

สินีนาฏ เมืองหนู ผู้จัดการฝ่ายสมาชิกและการระดมทุน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า กิจกรรมที่จัดขึ้น ต้องการสร้างพื้นที่ให้สมาชิกในภูมิภาคต่างๆ ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและพบปะกันในเรื่องการขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนรูปแบบต่างๆ โดยในครั้งนี้ ผ่านวงคุย “ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่ออย่างไร” ถือเป็นโอกาสดี ที่ทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย มีร้านหนังสือฟิลาเดลเฟีย จังหวัดอุบลราชธานี เป็น Partner Shop ที่ช่วยเป็นพื้นที่ในการจัดกิจกรรมขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนให้เป็นเรื่องของทุกคน เป้าหมายของงานคือการทำให้ทุกคนมีพื้นที่ปลอดภัยในการเรียนรู้ รับฟัง และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องสิทธิมนุษยชน ปัจจุบันมีเว็บไซต์ MOB Data Thailand เก็บข้อมูลการชุมนุมทั่วประเทศ และได้นำข้อมูลดังกล่าวมาจัดทำหนังสือภาพชื่อว่า ‘There’s Always Spring’ ที่สะท้อนเรื่องราวสิทธิในเสรีภาพการชุมนุมรูปแบบต่างๆ ผ่านภาพถ่ายจากช่างภาพและผู้สังเกตการณ์การชุมนุม ของโครงการจากการชุมนุมกว่า 1,000 ครั้ง วงคุยครั้งนี้เราต้องการถอดบทเรียนเรื่องเสรีภาพในการชุมนุมภาคอีสาน ว่ามีจุดแข็ง จุดอ่อน หรือควรรับมืออย่างไรให้คนรุ่นใหม่เข้าใจเรื่องสิทธิในการแสดงออกผ่านการชุมนุมประท้วงโดยสงบ

เฝาซี ล่าเต๊ะ เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์เชิงนโยบาย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เล่าถึงเหตุการณ์ภาพรวมของการชุมนุมที่เกิดขึ้นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ปี 2563 ว่า มีจุดเริ่มต้นจากการจัดการชุมนุม ‘วิ่งไล่ลุง’ ซึ่งการชุมนุมในครั้งนั้น มีการใช้พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 กันอย่างแพร่หลาย ทำให้แอมเนสตี้ ประเทศไทย จุดประกายให้เกิดโครงการ MOB Data Thailand ขึ้น เพื่อนำไปสู่การทบทวนแก้ไขพระราชบัญญัติดังกล่าว มีจุดเริ่มต้นจากการลงพื้นที่สังเกตการณ์ชุมนุมตามจุดต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร โดยมี ‘ผู้สังเกตการณ์ชุมนุม’ ทำหน้าที่เก็บประเด็น ข้อมูล และเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการชุมนุมปี 2563 จากการเก็บข้อมูลยังพบว่าการชุมนุมที่ทำให้คนออกมาสนใจมากที่สุด คือปรากฏการณ์ยุบพรรคอนาคตใหม่ ที่ทำให้เกิดการชุมนุมขึ้นหลายพื้นที่ สะท้อนให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่สนใจการใช้เสรีภาพในการชุมนุมอย่างชัดเจน

“รัฐมองว่าการชุมนุมเรียกร้องต่างๆ เป็นภัยความมั่นคงของรัฐ แต่รัฐลืมไปว่าสิทธิมนุษยชนต่างหากที่เป็นความมั่นคงของรัฐ และทำให้อำนาจของรัฐมั่นคงมากขึ้น หน้าที่ของรัฐใช่สลายการชุมแต่ต้องทำให้การชุมนุมมันปลอดภัย”

เฝาซี แสดงความคิดเห็นถึงรัฐบาลในการชุมนุมครั้งนั้น

หลังจากนั้น เฝาซี เล่าว่า ได้เกิดกลุ่มต่างๆ ขึ้น ในการใช้สิทธิการชุมนุม พบการใช้กระสุนยางครั้งแรกในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ที่กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ราบ 1) มีการใช้อาวุธโดยไม่เลือกหน้า มีเยาวชนอายุ 15 ปี ถูกยิงด้วยกระสุนยางในการชุมนุมครั้งนั้น หลังจากการชุมนุมครั้งนั้น ได้มีการปราบปรามการชุมนุมมาอย่างต่อเนื่อง และตั้งแต่ปี 2563 มีการสลายการชุมนุม 74 ครั้ง ปี 2564 มีการสายการชุมนุมมากที่สุด จำนวน 60 ครั้ง รูปแบบการสลายการชุมนุมคือ ใช้กระสุนยาง 29 ครั้ง ใช้แก๊สน้ำตาอย่างน้อง 13 ครั้ง ใช้รถฉีดน้ำ 16 ครั้ง และในการฉีดน้ำ มี 5 ครั้งที่มีสารเคมี นอกจากนั้นยังส่งผลกระทบที่เป็นวงกว้าง การเก็บข้อมูลจะเห็นได้ว่า มีผู้ชุมนุมโดนคดีละบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก บาดเจ็บกว่า 600 คน และคนทุถูกดำเนินคดีกว่า 1,800 คน

อนุวัฒน์ พรหมมา อาสาสมัคร Mob Data Thailand เล่าว่า ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมามีการชุมนุมมากกว่า 200 ครั้ง ประเด็นการเคลื่อนไหวก็เหมือนกับที่กรุงเทพฯ แต่จะมีประเด็นทรัพยากร ปัญหาชาวบ้าน จังหวัดในอีสานมีเวทีที่พูดถึงข้อเสนอปฏิรูปสถาบัน 10 ข้อ มีเวทีวิพากย์วิจารณ์การทำงานของรัฐ เวทีที่พูดถึงเรื่องปากท้อง เวทีความหลากหลายทางเพศ และเวทีพูดถึงประเด็นที่อยู่ในภูมิภาค ซึ่งทำให้ประเด็นค่อนข้างหลากหลาย

อนุวัฒน์ เล่าต่อว่า การถูกคุกคามหลังจากการเคลื่อนไหว และถูกคุกคามอย่างหนักหน่วง รูปแบบการคุกคามคือเข้ามาพูดคุยกับผู้ชุมนุม ใช้เครื่องขยายเสียงประกาศว่าการชุมนุมผิด พ.ร.บ. เจ้าหน้าที่ตามมาถ่ายรูปและวิดีโอ ทั้งแกนนำและผู้เข้าร่วม หลายพื้นมีการติดกล้องวงจรปิดล่วงหน้าในบริเวรโดยรอบพื้นที่การชุมนุม มีเจ้าหน้าที่ทั้งนอกเครื่องแบบและในเครื่องแบบไปเฝ้าที่หน้าบ้าน หรือหอพักของนักกิจกรรมหรือแกนนำ มีการเข้าไปคุยกับพ่อ แม่ ญาติ ผู้นำชุมชน และเจ้าหน้าที่ตำรวจไปติดตั้งกล้องวงจรปิดตรงข้ามบ้านพักของนักกิจกรรมและได้มีการส่องกล้องเข้ามาที่บริเวรบ้านเพื่อดูความเลื่อนไหว บางคนถูกดำเนินดี ซึ่งมีเด็กที่ถูกคดีอายุต่ำสุดอายุประมาณ 14 ปี และในการชุมนุมมีผู้ที่เข้าร่วมการชุมนุมถูกทำร้ายร่างการ

ผศ.ดร.เสาวนีย์ ตรีรัตน์ อเลกซานเดอร์ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้เล่าว่า จุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวทางการเมือง เริ่มจากความไม่พอใจ ความขัดแย้งทางการเมือง การเกิดรัฐประหารทำให้ทหารเข้ามาแทรกแซงการเมือง และเป็นที่มาของการเพิ่มความขัดแย้งระหว่างประชาชนและรัฐ ในปี 2562 เกิดรัฐธรรมนูญที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม ประชาชนไม่พอใจอีก ความขัดแย้งก็มาอีก ก่อนปี 2653 ก็เกิดความขัดแย้งจนนำไปสู่การเลือกตั้งในครั้งนี้ ถึงที่สุดมันชี้ให้เห็นว่า ความขัดแย้งมันกระจายลุกลาม คนอยากแสดงออกถึงการเมืองไม่ใช่ว่าเป็นคนวัยทำงานอย่างเดียวกลายเป็นว่าเป็นคนที่อายุน้อยลงๆ ทุกๆ วัน

ผศ.ดร.เสาวนีย์ เล่าว่าได้มีการทำวิจัยเรื่องหนึ่งและทำออกมาเป็นหนังสื่อที่มีชื่อว่า ‘ให้มันจบที่รุ่นเรา’ ออกมาเพื่อบอกเล่าว่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นมันมีรูปแบบขัดแย้ง ไม่ได้แก้ไข ให้ทหารเข้ามาแทรกแซง ปกครองสักพักหนึ่งก็ขัดแย้งต่อ มันก็กลับไปที่การเลือกตั้ง และมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แล้วก็วนอยู่อย่างนี้เรื่อยๆ

ณัชปกร นามเมือง  ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ เล่าถึงการพัฒนาการของการชุมนุมและข้อสรุปเกี่ยวกับว่าการชุมนุมหายไปหรือไม่ แต่ข้อสรุปที่ได้คือการชุมนุมไม่ได้หายไปแต่เปลี่ยนรูปแบบหรือแปลงสภาพให้เข้ากับรูปแบบที่กำลังเผชิญ และเล่าถึงการพัฒนาของข้อเรียกร้อง การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การยุติการคุกคามประชาชน รวมไปถึงการปฏิรูปสถาบัน